ฉบับเต็ม! ผลสอบสตง.ชำแหละแอร์ประหยัดไฟพันล. ว่าด้วยปมเอื้อปย.จ้างที่ปรึกษา
"...ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานดำเนินการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวข้างต้น และหากพบว่าทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ให้หาผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และตามพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามควรแก่กรณี แต่ถ้าพบว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของ พพ. ให้ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมทั้งควบคุม กำกับดูแล และสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดในโอกาสต่อไปเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของหน่วยงาน และเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น..."
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า นอกจากการดำเนินงานในส่วนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จำนวน 4 สัญญา ใน โครงการปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศชนิด Variable speed/Inverter ทดแทนของเดิมอาคารควบคุมภาครัฐ ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) คือ สัญญาเลขที่ 184/2559, 185/2559 , 186/2559 และ 187/2559 รวมวงเงินกว่า 1,222,756,740 บาท ที่บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นคู่สัญญา ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่ามีการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาและมีความล่าช้า โดย ณ วันสิ้นสุดสัญญา ผู้ขายยังไม่สามารถส่งมอบงานได้ เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้ง พพ. ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดทำโครงการ พร้อมสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่นำเสนอข้อมูลไปแล้ว (อ่านประกอบ : เช็คสถานะโครงการเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ 1.2 พันล. หลัง สตง.สั่งสอบ พพ.ทำอะไรบ้าง? , ฉบับเต็ม! สตง.สั่งพพ.สอบเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ1.2 พันล.-ซัยโจเด็นกิฯ ได้งาน 4สัญญารวด)
โดย สตง. ตรวจสอบพบว่า งานว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ จำนวน 5 สัญญา คือ 1. สัญญาเลขที่ 308/58 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2558 คู่สัญญา คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 12,932,000 บาท 2. สัญญาเลขที่ 309/58 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2558 คู่สัญญา คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงเงิน 12,932,720 บาท 3. สัญญาเลขที่ 310/58 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2558 คู่สัญญา คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร วงเงิน 12,930,500 บาท 4. สัญญาเลขที่ 311/58 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2558 คู่สัญญา คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี วงเงิน 12,932,720 บาท และ 5. สัญญาเลขที่ 312/58 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2558 คู่สัญญา คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วงเงิน 12,932,720 บาท
ซึ่งที่ปรึกษาจะต้องเริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 29 ก.ย. 2558 และจะต้องปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 ก.ย. 2559 พบข้อสังเกตดังนี้
1. งานจ้างที่ปรึกษาทั้ง 5 สัญญา มีการกำหนดราคากลางค่าใช้จ่ายดำเนินการ ค่าจ้างตรวจวัดประสิทธิภาพระบบปรับอากาศ โดยไม่มีเอกสารชี้แจงรายละเอียดการกำหนดราคากลาง
2. จากการตรวจสอบคุณสมบัติบุคลากรของที่ปรึกษา พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นบุคลากรของคู่สัญญา และไม่พบเอกสารแสดงความยินยอมของผู้ว่าจ้าง ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษทอื่นเข้ามาทำงานที่ปรึกษา โดยอาศัยสิทธิพิเศษจากการเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานของรัฐของที่ปรึกษาที่เป็นคู่สัญญา และยังพบว่า บุคคลากรดังกล่าวเป็นบุคลากรภายนอกของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ อีกทั้ง ยังมีการกำหนดคุณสมบัติบุคลากรของที่ปรึกษาสูงมาก ทั้งในด้านวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ การทำงานเฉพาะด้าน
3. การติดตั้งแอร์ทั้ง 5 สัญญา มีปริมาณงานมากเฉลี่ยอยู่ที่แห่งละ 8 พันเครื่องถึง 1 หมื่นเครื่อง แต่มีระยะเวลาในการดำเนินงานเพื่อตรวจวัดประสิทธิภาพหลังจากที่สัญญาซื้อขายเสร็จสิ้น ประมาณ 1 เดือน ซึ่งไม่สอดคล้องกับเนื้องาน ขณะที่การปฏิบัติงานล่าช้ากว่ากำหนด ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา
เบื้องต้น สตง. ได้ส่งผลการตรวจสอบให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากพบว่าทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ให้หาผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามควรแก่กรณี และถ้าพบว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต หรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของ พพ. ให้ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมทั้งควบคุม กำกับดูแล และสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดในโอกาสต่อไป เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของหน่วยงาน และเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น (อ่านประกอบ : เปิดปมใหม่! โครงการปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟพันล. สตง.พบข้อสังเกตเอื้อปย.จ้างที่ปรึกษา)
สำนักข่าวอิศรา นำผลสอบดังกล่าวของ สตง. ฉบับเต็มมานำเสนอ
--------
หนังสือด่วนมาก ที่ ตผ 0018/2994 ลงวันที่ 14 ก.ค. 2560
เรื่อง งานจ้างที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศชนิด Variable Speed/Inverter ทดแทนของเดิมในอาคารภาครัฐ
เรียน อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบการบริหารพัสดุและสืบสวนที่ 2 ได้ตรวจสอบงานจ้างที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศชนิด Variable Speed/Inverter ทดแทนของเดิมในอาคารภาครัฐ ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษพลังงาน (พพ.) จำนวน 5 สัญญา ดังนี้
1. สัญญาเลขที่ 308/58 ลงวันที่ 29 กันยายน 2558 คู่สัญญา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวงเงิน 12,932,000 บาท (กลุ่มที่ 1)
2. สัญญาเลขที่ 309/58 ลงวันที่ 29 กันยายน 2558 คู่สัญญา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วงเงิน 12,932,720 บาท (กลุ่มที่ 2)
3. สัญญาเลขที่ 310/58 ลงวันที่ 29 กันยายน 2558 คู่สัญญา มหาวิทยาลัยนเรศวร วงเงิน 12,930,500 บาท (กลุ่มที่ 3)
4. สัญญาเลขที่ 311/58 ลงวันที่ 29 กันยายน 2558 คู่สัญญา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี วงเงิน 12,932,720 บาท (กลุ่มที่ 4)
5. สัญญาเลขที่ 312/58 ลงวันที่ 29 กันยายน 2558 คู่สัญญา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วงเงิน 12,932,720 บาท (กลุ่มที่ 5)
สัญญาดังกล่าวข้างต้นทั้ง 5 สัญญา ที่ปรึกษาจะต้องเริ่มปฏิบัติงานภายในวันที่ 29 กันยายน 2558 และจะต้องปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 กันยายน 2559
จากการตรวจ ปรากฏว่า มีข้อสังเกต ดังนี้
1. การกำหนดราคากลาง
งานจ้างที่ปรึกษาตามสัญญาดังกล่าวข้างต้นทั้ง 5 สัญญา มีการกำหนดราคากลางค่าใช้จ่ายดำเนินการ ลำดับที่ 3 ค่าจ้างตรวจวัดประสิทธิภาพระบบปรับอากาศ โดยไม่มีเอกสารชี้แจงรายละเอียดการกำหนดราคากลาง ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุดที่ กค 0421.3/ว 111 ลงวันที่ 17 กันยายน 2556 เรื่อง ซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติในการเปิดเผยราคากลางของทางราชการ และหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0907/12725 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2556 เรื่อง หลักเกณฑ์ราคากลางการจ้างที่ปรึกษา ที่กำหนดให้มีการประกาศเปิดเผยราคากลาง รวมทั้งรายละเอียดของการคำนวณราคากลางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้สนใจทั่วไปได้ทราบ
2.จากการตรวจสอบคุณสมบัติบุคลากรของที่ปรึกษา พบว่า
2.1 บุคลากรของที่ปรึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นบุคลากรของคู่สัญญา และไม่พบเอกสารแสดงความยินยอมของผู้ว่าจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามสัญญา ข้อ 2.5.1 ที่กำหนดว่า “ที่ปรึกษาต้องไม่ให้ช่วงงาน มอบหมายงาน โอนงานหรือละทิ้งงานให้ผู้อื่นเป็นผู้ทำงานตามสัญญานี้แทน ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนด้วยประการใดๆ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ว่าจ้างก่อน...” และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทอื่นเข้ามาทำงานที่ปรึกษา โดยอาศัยสิทธิพิเศษจากการเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานของรัฐ ของที่ปรึกษาที่เป็นคู่สัญญา และจากการตรวจสอบหนังสือรับรองการทำงานและแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังพบว่า บุคลากรดังกล่าวเป็นบุคลากรภายนอกของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง ดังนั้น คุณสมบัติบุคลากรของที่ปรึกษาจึงไม่เป็นไปตาม TOR ข้อ 8.1 ที่กำหนดว่า “เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษากับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษากระทรวงการคลัง...” ได้แก่
1) สัญญาเลขที่ 308/58 คู่สัญญา คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่บุคลากรที่ปรึกษาส่วนใหญ่เป็นบุคลากรภายนอกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เช่น นาย จ. (นามสมมติ) ผู้เชี่ยวชาญ เป็นเจ้าหน้าที่ของ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด, นาย อ (นามสมมติ) ผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญ เป็นเจ้าหน้าที่ของ บริษัท อินโนเวชั่น เทคโนโลยี จำกัด, นาย พ (นามสมมติ) ผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญ เป็นเจ้าหน้าของ บริษัท เค ซีเอส สมาร์ท เอนเนอร์จี จำกัด เป็นต้น ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง
2) สัญญาเลขที่ 309/58 คู่สัญญา คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่บุคลากรที่ปรึกษาทั้งหมด จำนวน 34 คน เป็นเจ้าหน้าที่ของ บริษัท เฟื่องสิริ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จำนวน 31 คน,เจ้าหน้าที่ของบริษัท 504 แอล เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 2 คน, เจ้าหน้าที่ของบริษัท ฟีนิกซ์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำนวน 1 คน ทั้งนี้ บริษัท 504 แอล เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง
3) สัญญาเลขที่ 310/58 คู่สัญญา คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร แต่บุคลากรที่ปรึกษาส่วนใหญ่เป็นบุคลากรภายนอกมหาวิทยาลัยนเรศวร อีกทั้ง หน่วยงานภายนอก จำนวน 11 หน่วยงานไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม, มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่, บริษัท แอคทีฟ เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแท้นท์ จำกัด, หสม.เอ็นเนอร์ยี่ สตัดดี แอนด์ รีเสริช, บริษัท สมาร์ท แอนด์ แพรคทิเคิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, บริษัท อภิชฌา จำกัด, เทศบาลเมืองต้นเปา, บริษัท เอ็ม เจ อาร์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็นเค เทคนิค เอ็นจิเนียริ่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
4) สัญญาเลขที่ 311/58 คู่สัญญา คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แต่บุคลากรที่ปรึกษาส่วนใหญ่เป็นบุคลากรภายนอกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้แก่ วิศวกรอิสระ จำนวน 7 คน, บุคลากรของบริษัท ดีวิน (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 6 คน, บุคลากรของมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำนวน 1 คน, บุคลากรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จำนวน 1 คน, บุคลากรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จำนวน 1 คน, บุคลากรของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เทคโนโลยี แอนด์ คอนโทรล จำกัด จำนวน 2 คน, บุคลากรของบริษัท เอ็มเค กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนซัลแท้นท์ จำกัด จำนวน 2 คน รวมทั้งหมด 20 คน มีบริษัท ดีวิน (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ออกหนังสือรับรองผลงานให้ และจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ดีวิน (ไทยแลนด์) จำกัด ไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง
5) สัญญา เลขที่ 312/58 คู่สัญญา คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่บุคลากรที่ปรึกษาส่วนใหญ่เป็นบุคลากรภายนอกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกทั้ง หน่วยงานภายนอกจำนวน 9 หน่วยงานไม่ได้จดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง ได้แก่ บริษัท สมอาทิตย์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนซัลแทนต์ จำกัด, ,มหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์, บริษัท เซนจ์ แมเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท ไอ อี ชี กรีนเอนเนอยี่ จำกัด, บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ เอ็นเนอร์ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท เนเจอร์เทค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท แพรคติเคิล เทค โซลูชั่น จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคทีพี เซอร์วิส เอ็นจิเนียริ่ง และ วิทยาลัยเทคนิคยะลา
2.2 กำหนดคุณสมบัติบุคลากรของที่ปรึกษาสูงมากทั้งในด้านวุฒิการศึกษา ประสบการณ์การทำงานเฉพาะด้าน เมื่อเทียบกับลักษณะการทำงานของที่ปรึกษา ที่งานส่วนใหญ่เป็นการควบคุมการติดตั้งเครื่องปรับอากาศฯ เพื่อทดแทนของเดิม และการตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศฯข้อกำหนดดังกล่าวอาจเป็นการกีดกันการเข้าเสนอราคาของหน่วยงานอื่น
3. สัญญาเลขที่ 308/58, 309/58, 311/58 และ 312/58 กำหนดให้ติดตั้งจำนวน 10,970 เครื่อง, 11,915 เครื่อง, 9,298 เครื่อง และ 8,822 เครื่อง ตามลำดับ แต่มีระยะเวลาในการดำเนินงานเพื่อตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ภายหลังจากที่สัญญาซื้อขายเสร็จสิ้นเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก ดังนั้น การวางแผนการดำเนินงานและการกำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน อาจไม่เหมาะสมกับลักษณะของเนื้องานที่มีปริมาณงานจำนวนมาก และอาจทำให้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของสัญญาได้
4. จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 พบว่า การทำงานมีความล่าช้ากว่ากำหนดและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา ดังนี้
1) สัญญาเลขที่ 308/58 กำหนดให้ ส่งรายงานเบื้องต้นภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2558, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 ภายในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 2 ภายในวันที่ 28 มีนาคม 2559, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 3 ภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2558 โดยที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานเบื้องต้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 และฉบับแก้ไข เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ตามลำดับ และคณะกรรมการการตรวจรับการจ้างได้ตรวจรับเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 แต่ยังไม่มีการส่งรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 2-3
2) สัญญาเลขที่ 309/58 กำหนดให้ ส่งรายงานเบื้องต้นภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2558, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 ภายในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 2 ภายในวันที่ 28 มีนาคม 2559, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 3 ภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2559 โดยที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่พบเอกสารรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1-3
3) สัญญาเลขที่ 311/58 กำหนดให้ ส่งรายงานเบื้องต้นภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2558, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 ภายในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 2 ภายในวันที่ 28 มีนาคม 2559, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 3 ภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2559 โดยที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานเบื้องต้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 และฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 และ 2 ของรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 และวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ตามลำดับ แต่ยังไม่ส่งรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 2-3
4) สัญญาเลขที่ 312/58 กำหนดให้ ส่งรายงานเบื้องต้นภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2558, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 ภายในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 2 ภายในวันที่ 28 มีนาคม 2559, รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 3 ภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2559 โดยที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานเบื้องต้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 และรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 ฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 แต่ยังไม่ส่งรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 2-3
กรณีดังกล่าวเป็นการบริหารสัญญาที่มีความล่าช้ากว่ากำหนดมากและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา ทำให้โครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และไม่สามารถเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ได้ตามกำหนดระยะเวลาเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ข้อ 17 ประกอบข้อ 26 ที่กำหนดว่า “ให้ผู้เบิกเงินกองทุนใช้จ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตามโครงการได้ภายในวงเงินและระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติ...”
5. จากการตรวจสอบสังเกตการณ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559 พบว่า บุคลากรของที่ปรึกษาที่มาปฏิบัติงาน ณ ที่ทำการสำนักงานที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ไม่ปรากฏชื่อตามข้อเสนอทางเทคนิค ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตาม TOR ข้อ 9.7 และข้อเสนอเทคนิคที่กำหนดในสัญญาจ้างที่กำหนดว่าจะต้องมีผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ และเจ้าหน้าที่โครงการ จำนวน 4 คน ต้องมาปฏิบัติงานประจำที่ พพ. ดังนี้
1) สัญญาเลขที่ 308/58 พบว่า บุคลากร 3 คน จาก 4 คน ที่มาปฏิบัติงานไม่ใช่บุคลากรตามรายชื่อในข้อเสนอเทคนิค คือ นาย จ (นามสมมติ), นางสาว ป (นามสมมติ) และนางสาว ก (นามสมมติ)
2) สัญญาเลขที่ 311/58 พบว่า บุคลากร 2 คนจาก 4 คนที่มาปฏิบัติงานไม่ใช่บุคลากรตามรายชื่อในข้อเสนอเทคนิค คือ นาย ส (นามสมมติ) และนาย ธ (นามสมมติ)
3) สัญญาเลขที่ 312/58 พบว่า มีบุคลากรมาปฏิบัติงานเพียง 3 คน และบุคลากร 2 คน จาก 3 คน ไม่ใช่บุคลากรตามรายชื่อในข้อเสนอเทคนิค คือ นางสาว ธ (นามสมมติ) และนาย ช (นามสมมติ)
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 พิจารณาแล้วเห็นชอบกับผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานดำเนินการ ดังนี้
1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวข้างต้น และหากพบว่าทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ให้หาผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และตามพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามควรแก่กรณี แต่ถ้าพบว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของ พพ. ให้ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมทั้งควบคุม กำกับดูแล และสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดในโอกาสต่อไปเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของหน่วยงาน และเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
2. ควบคุมตรวจสอบการดำเนินงานของที่ปรึกษา เพื่อให้การดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าวเป็นไปตามสัญญาด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายโดยเคร่งครัด
3. เร่งรัดการทำงานของที่ปรึกษาให้เป็นไปตามสัญญากรณีการบริหารสัญญาล่าช้า และในโอกาสต่อไปหากมีการจัดทำสัญญาในลักษณะเช่นนี้อีก เห็นควรให้มีการกำหนดค่าปรับในสัญญาเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 134 วรรคสอง
4. ทบทวนการจัดทำสัญญาจ้างที่ปรึกษา (กลุ่มที่ 3) สัญญาเลขที่ 310/58 ซึ่งยังไม่สามารถหาตัวผู้ขายในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศของกลุ่มดังกล่าวโดยเร็ว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบภายใน 60 วัน ตามนัยมาตรา 44 แห่งราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า หนังสือ สตง. ที่แจ้งผลตรวจสอบงานจ้างที่ปรึกษาโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศดังกล่าว ลงวันที่ 14 ก.ค. 2560 แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้เป็นทางการไปแล้วหรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดปมใหม่! โครงการปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟพันล. สตง.พบข้อสังเกตเอื้อปย.จ้างที่ปรึกษา
ติดตั้งครบ30ตัวไม่เย็นเครื่องเดียว! ศูนย์วิจัยข้าวโพดฯ สรุปผลเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟส่งพพ.
เช็คสถานะโครงการเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ 1.2 พันล. หลัง สตง.สั่งสอบ พพ.ทำอะไรบ้าง?
ฉบับเต็ม! สตง.สั่งพพ.สอบเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ1.2 พันล.-ซัยโจเด็นกิฯ ได้งาน 4สัญญารวด
เผยชื่อ บ.ซัยโจเด็นกิฯ คู่สัญญา พพ. เปลี่ยนแอร์1.2พันล.-ผู้บริหารขอตรวจสอบข้อมูลก่อน
สตง.สั่งสอบโครงการเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ 1.2 พันล.-เจอเครื่องติดตั้งมีปัญหา ส่งมอบงานล่าช้า
ฉบับเต็ม! สตง.สั่งพพ.สอบเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ1.2 พันล.-ซัยโจเด็นกิฯ ได้งาน 4สัญญารวด