เปิดมาตรการทดแทน พบชาวสวนปาล์ม-ยางพารา ใช้เครื่องตัดหญ้าสะพายหลังกำจัดวัชพืชแทนพาราควอต
เปิดมาตรการทดแทน ‘พาราควอต’ ข้อมูลของคกก.บริหารการพัฒนาฯ พบ ‘ อ้อย-มันสำปะหลัง-ข้าวโพด’ เกษตรกรนิยมใช้เครื่องจักรกล ‘ปาล์ม-ยาง-ผลไม้’ เครื่องตัดหญ้าสะพายหลัง ขณะที่มาเลย์-อินโดฯ พื้นที่ปาล์มรวม 15 ล้านไร่ ทยอยเลิก
สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 ยืนยันมติเดิมไม่ยกเลิกนำเข้าและใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ‘พาราควอต’ จนกว่าจะมีสารหรือมาตรการทดแทน ออกไปอย่างน้อยอีก 2 ปี ตามข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ที่ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีสารทดเเทนที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าพาราควอต เเต่อาจใช้มาตรการหลาย ๆ ด้านร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรอยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งยังต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง (อ่านประกอบ:มติคกก.วัตถุอันตราย ไม่เเบน 'พาราควอต' สั่งกรมวิชาการเกษตรหามาตรการทดเเทน-คาดเลิกถาวรใน 2 ปี)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 นอกจากข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรเเล้ว ยังมีข้อมูลจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ ได้จัดทำรายงานข้อเสนอมาตรการทดแทนเเละข้อเสนอเเนะในการกำจัดศัตรูพืชประกอบการพิจารณาทบทวนการยกเลิกการใช้พาราควอต ถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
โดยเกี่ยวกับมาตรการทดเเทนพืช 4 กลุ่ม มีดังนี้
1.อ้อย ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมพบว่า โดยส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนการใช้สารพาราควอตอยู่แล้ว โดยเกษตรกรที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่สามารถใช้รถแทรกเตอร์ติดจอบหมุน ส่วนเกษตรกรกรรายย่อยสามารถรวมตัวกันใช้แทรคเตอร์ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ หรือจะใช้รถไถเดินตามขนาดเล็กแทนก็ได้
โดยต้นทุนการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมีต้นทุนใกล้เคียงกับการใช้พาราควอต แต่ผลผลิตจะมีโอกาสได้ผลผลิตมากกว่าเพราะพืชหลักไม่ได้รับผลกระทบจากพาราควอต
ในเชิงประสิทธิภาพนั้น งานวิจัยพบว่าส่วนใหญ่พบว่าการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร หรือการใช้สารอื่นส่วนใหญ่ให้ผลดีกว่าการใช้พาราควอต
2.มันสำปะหลัง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมให้ข้อมูลว่า การใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่เพื่อกำจัดวัชพืชทำได้ยากกว่า แต่สามารถใช้รถไถเดินตามขนาดเล็ก ซึ่งอาจร่วมกับการใช้สารเคมีที่มีอันตรายน้อยกว่าพาราควอต
งานวิจัยของสำนักวิจัยการพัฒนาการอารักขาพืช ร่วมกับศูนย์วิจัยของกรมวิชาการเกษตร ใน 7 จังหวัด พบว่า มีวิธีการใช้การกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ในการทดแทนพาราควอตได้ และให้ประสิทธิภาพดี สามารถทดแทนพาราควอตได้
3.ข้าวโพด สามารถใช้รถไถเดินตามขนาดเล็กในการกำจัดวัชพืชได้ โดยอาจร่วมกับการใช้สารเคมีที่มีอันตรายน้อยกว่าพาราควอต หรือใช้วิธีการเดียวกันกับมันสำปะหลัง
ส่วนกรณีข้าวโพดหวานนั้น พื้นที่การผลิตยังค่อนข้างน้อย (ประมาณ 230,000 ไร่) โดยขณะนี้ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก เช่น บริษัท โดล ซึ่งมีพื้นที่การผลิตข้าวโพดหวานเพื่อส่งออกในประเทศไทย มีข้อกำหนดมิให้มีการใช้พาราควอต เนื่องจากแนวโน้มของตลาดในต่างประเทศจะคำนึงถึงการผลิตที่ผลกระทบต่อสิทธิของเกษตรกร/แรงงานทางการเกษตร และปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
4.ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และไม้ผล นิยมใช้เครื่องตัดหญ้าสะพายหลังในการกำจัดวัชพืชได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเมื่อพืชมีอายุตั้งแต่ 4-5 ปีขึ้นไป จะมีร่มเงาปกคลุมลดปัญหาของวัชพืช ทางเลือกที่เหมาะสมคือการส่งเสริมการปลูกพืชคลุมดิน เพราะจะได้ประโยชน์พร้อมกันหลายด้าน
การยางแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อมูลต่อคณะทำงานฯ ว่า ปัจจุบันการยางฯ ไม่แนะนำและไม่สนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารพาราควอต แต่จะแนะนำให้ใช้เครื่องมือกลหรือสารอื่นทดแทนพาราควอตในการป้องกันกำจัดวัชพืช
ส่วนในกรณีปาล์มน้ำมันนั้น ขณะนี้มีการใช้มาตรฐานที่เรียกว่า RSPO-Next (Round Table on Sustainable Palm Oil) ซึ่งกำหนดห้ามการใช้พาราควอต ส่งผลให้ผู้ผลิตขนาดใหญ่ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีพื้นที่การผลิตรวมกันประมาณ 15 ล้านไร่ยุติการใช้พาราควอตในการผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อส่งออก โดยได้ทยอยยกเลิกการใช้ก่อนการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวมาเป็นลำดับ
สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร แนะนำให้มีการใช้พืชคลุมดินในพื้นที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยจากการศึกษาพบว่าสามารถผลิตปุ๋ยธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยไนโตรเจนตั้งแต่ 69.9 กิโลกรัมต่อไร่ – 81 กิโลกรัม/ไร่ ผลิตฟอสฟอรัสได้ 3.4-5.9 กิโลกรัมต่อไร่ และผลิตโปตัสเซียมได้ 15 กิโลกรัม/ไร่ – 24.8 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น หากรวมมูลค่าผลการปลูกพืชคลุมซีรูเลียมเป็นพืชคลุมดินระยะเวลา 5 ปี สามารถเพิ่มอินทรียวัตถุ และธาตุอาหาร N-P-K รวมคิดเป็นมูลค่าถึง 9,238 บาท/ไร่ หรือเฉลี่ย 1,847.6 บาท/ไร่/ปี
ดังนั้น การยกเลิกการใช้พาราควอตจะเป็นโอกาสสำคัญของเกษตรกรที่จะเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชคลุมดิน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับแล้วคุ้มค่ากว่าการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าว
สำหรับในการปลูกไม้ผล ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่ามีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชน้อยมากอยู่แล้ว โดยคณะทำงานฯ ได้รับทราบว่า แม้แต่อดีตนายกสมาคมผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ก็ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช แต่แนะนำให้ใช้เครื่องตัดหญ้าแทนเพื่อรักษาความชื้นและรักษาหน้าดิน
อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และหน่วยงานอื่น ๆ พบว่า ชนิดของพืชที่มีการใช้พาราควอตในสัดส่วนตั้งแต่ 1 ใน 4 จนถึงครึ่งหนึ่ง (ประเมินจากจำนวนไร่นาที่ใช้พาราควอตกับจำนวนไร่นาทั้งหมด) คือ อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด
ส่วนพืชอื่น ๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และไม้ผลใช้น้อยมาก ส่วนข้าวนาปรังแม้จะมีการใช้พาราควอต แต่มักพบว่ามีการใช้ในบริเวณคันนาหรือรอบแปลงนาเป็นส่วนใหญ่ มีการใช้กำจัดวัชพืชโดยตรงในนาน้อยมาก .
อ่านประกอบ:เปิดจุดยืน 3 พรรคสู้ศึกเลือกตั้ง 62 'ปชป.-พท.-อนาคตใหม่' กรณีค้านต่ออายุใช้ 'พาราควอต'
เปิดเหตุผลยื้อต่ออายุ ‘พาราควอต’ รอประกาศฯ 5 ฉบับ กำหนดเงื่อนไข ก่อนแบนถาวร
686 องค์กร แถลงผิดหวังมติไม่แบนพาราควอต ลั่นเดินหน้าหนุนผู้ตรวจการฯ ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.
1 ใน 5 มาตรการ พบกรมวิชาการเกษตร ทำสื่อให้ความรู้ ‘พาราควอต’ แค่ 1 คลิป เผยแพร่ 3 ช่องทาง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/