ฐิติพล ภักดีวานิช : ปชป.ตัวแปรสำคัญชี้ชะตา 'บิ๊กตู่' ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อหรือไม่?
"...เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐนั้นยังเป็นพรรคการเมืองที่เข้ามาใหม่การจะได้จำนวน ส.ส.ถึง 100 คนนั้นจึงถือเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ตัวแปรสำคัญอีกตัวแปรหนึ่งที่จะส่งผลทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นก็อาจจะเห็นภาพของการที่ตัวแทนจากทางฝั่งที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์จะเข้าไปติดต่อกับทางพรรคประชาธิปัตย์..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอรายงานพิเศษของสำนักข่าวเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ ที่วิเคราะห์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. มาเผยแพร่ ซึ่งเนื้อหาในรายงานตอนหนึ่ง นำเสนอบทวิเคราะห์นักวิชาการที่ ระบุว่า ส.ว.จำนวน 250 เสียง ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนยุทธศาสตร์การปฏิรูปให้เกิดขึ้นนั้นจะโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีกันทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พรรคพลังประชารัฐก็ต้องการแค่เพียง 126 เสียงเท่านั้น เพื่อจะสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี (อ่านประกอบ: บทวิเคราะห์สื่อฮ่องกง : อนาคต 'บิ๊กตู่' หลังศึกเลือกตั้งได้นั่งนายกฯต่อ แต่ลำบากไร้ ม.44)
ทั้งนี้ จากรายงานบทวิเคราะห์ดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ให้ความเห็นต่อสำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิดคตนายกรัฐมนตรีเอาไว้ว่าเป็นเกมที่อันตราย เพื่อให้ขยายความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม
โดย นายฐิติพล ได้กล่าวถึงเรื่องสภาพการณ์หลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นว่า ต้องยอมรับในอีกกรณีหนึ่งว่าพรรคพลังประชารัฐอาจจะไม่ได้เสียงถึงจำนวน 126 เสียง เพื่อจะผนึกกำลังกับทาง ส.ว. อีก 250 คนเพี่อจะได้เสียงในสภาจำนวน 376 เสียง ซึ่งเป็นเสียงข้างมากที่จะโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี
เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐนั้นยังเป็นพรรคการเมืองที่เข้ามาใหม่การจะได้จำนวน ส.ส.ถึง 100 คนนั้นจึงถือเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ตัวแปรสำคัญอีกตัวแปรหนึ่งที่จะส่งผลทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นก็อาจจะเห็นภาพของการที่ตัวแทนจากทางฝั่งที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์จะเข้าไปติดต่อกับทางพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะติดต่อกับทางสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ใกล้ชิดหรือเป็นกลุ่ม กปปส.เดิม ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เคยประกาศจุดยืนไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามต่อว่า ถ้าหากสถานการณ์ออกมาในรูปแบบนี้จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ประสบความแตกแยกกันอย่างรุนแรงหรือไม่ เพราะว่ามีสมาชิกส่วนหนึ่งที่ประกาศว่าอย่างไรก็ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อย่างเด็ดขาด
นายฐิติพลกล่าวว่า "เชื่อว่าพอถึงเวลาแบบนั้นจริง เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับจุดยืนตรงนี้มากนัก และจะเปลี่ยนจุดยืนไปสนับสนุนทางฝั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ได้"
นายฐิติพล ยังกล่าวต่อว่า "เชื่อว่าทางฝั่งขั้วการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์นั้น เขาสามารถหาเสียงสนับสนุนจากทางฝั่งส.ส. ให้ได้ 126 เสียง จากพรรคการเมืองต่างๆคงไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไรนัก แต่อย่างไรก็ตามเขาคงไม่หยุดแค่ 126 เสียงอย่างแน่นอน แต่น่าจะต่อรองให้ได้เสียงสนับสนุนให้เกินครึ่งหนึ่งของสภาด้วยเพื่อจะทำให้ไม่มีอุปสรรคในการเสนองบประมาณต่างๆ ซึ่งทางเดียวที่ทางขั้วของทางพรรคเพื่อไทยจะเข้ามาเป็นรัฐบาล โดยสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้นั้น ก็คือการต้องไปจับมือกับพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยที่แยกออกมาอีก 3-4 พรรค เพื่อให้ได้จำนวนเสียง ส.ส.ที่สนับสนุนในสภาให้ได้ 376 เสียง เป็นอย่างน้อยจึงจะสามารถเป็นรัฐบาลได้"
“อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน เพราะเชื่อว่าทางพรรคเพื่อไทยน่าจะได้คะแนนเสียงน้อยกว่าในตอนการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะขณะนี้ทางขั้วรัฐบาลทหารนั้นเขาก็มีการออกกติกาต่างๆ เอาไว้ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการหาเสียงของทางพรรคเพื่อไทยได้” นายฐิติพลกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ เป็นแค่ความเห็นในเชิงวิชาการเท่านั้น ข้อเท็จจริงในการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้ง จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น หลังวันที่ 24 มี.ค. 2562 สาธารณชนคงได้รับทราบกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/