- Home
- Isranews
- เกาะติดเลือกตั้ง 2562
- บทวิเคราะห์สื่อฮ่องกง : อนาคต 'บิ๊กตู่' หลังศึกเลือกตั้งได้นั่งนายกฯต่อ แต่ลำบากไร้ ม.44
บทวิเคราะห์สื่อฮ่องกง : อนาคต 'บิ๊กตู่' หลังศึกเลือกตั้งได้นั่งนายกฯต่อ แต่ลำบากไร้ ม.44
"...แต่แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้ถือครองอำนาจต่อไป แต่ก็จะเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่มีมาตรา 44 ใช้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกรณีนี้นักวิเคราะห์เชื่อกันว่าในสภาวะที่ไร้ ม.44 นั้น พล.อ.ประยุทธ์จะไม่สามารถทำตัวเป็นผู้นำที่มีอำนาจเต็มที่เหมือนเดิมได้..."
ศึกเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. กำลังเข้าใกล้มาทุกขณะ พร้อมบรรยากาศการเมืองที่เริ่มกลับมาคึกคัก
แต่ดูเหมือนว่า โฟกัสทางการเมืองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไฮไลท์สำคัญจะไปอยู่ที่บทบาทและท่าที ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) ที่หลุดพูดประโยค “มึงลองมาไล่ดูสิ” หลังมีกระแสกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐทาบทามให้อยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรค
ล่าสุด สำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ของฮ่องกง ได้นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับอนาคตทางการเมือง ของพล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า จะได้เป็นนายกฯ แน่นอนหลังจากการเลือกตั้ง แต่ในภาวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีมาตรา 44 นั้น อาจจะส่งผลกระทบต่ออำนาจการเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์เหมือนที่เคยเป็นมา
สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงบทวิเคราะห์ดังกล่าวมานำเสนอ ดังนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกแรงกดดันตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา จากสถานการณ์หมอกควันที่ปกคลุมไปทั่วกรุงเทพมหานครว่าต้องหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องใช้กลวิธีแบบเดียวกับที่เคยใช้ทุกครั้งเวลาที่ต้องพบกับข้อครหาทางสังคมซึ่งก็คือการออกมาตรการที่มีความเข้มข้นในการบังคับใช้ทางกฎหมาย
โดยหนึ่งในมาตรการที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้นำเสนอออกมาก็คือการขอความร่วมมือให้หยุดใช้ยานพาหนะดีเซลโดยทันที มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทางกฎหมายไปสำรวจในเรื่องของปริมาณรถยนต์ และการเสนอให้มีมาตรการสลับวันใช้รถยนต์
ซึ่งการออกมาตรการเหล่านี้นั้นมีบางมาตรการที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านคุณภาพอากาศ แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมีอำนาจสุงสุดในฐานะผู้นำรัฐบาลทางทหารในการสั่งการให้แก้ไขปัญหาต่างๆอยู่
ขณะที่ ผู้สังเกตการณ์ทางด้านการเมือง มีความเห็นว่า ในช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ เฝ้ารอเพื่อที่จะแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมือง และสร้างโอกาสในการได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปภายหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.
แต่แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้ถือครองอำนาจต่อไป แต่ก็จะเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่มีมาตรา 44 ใช้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกรณีนี้นักวิเคราะห์เชื่อกันว่าในสภาวะที่ไร้ ม.44 นั้น พล.อ.ประยุทธ์จะไม่สามารถทำตัวเป็นผู้นำที่มีอำนาจเต็มที่เหมือนเดิมได้
นาย Kevin Hewison นักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย วิเคราะห์ พล.อ.ประยุทธ์เอาไว้ว่าเป็นผู้มีอารมณ์ร้อนและพยายามจะทำตัวเป็นพ่อไปเสียทุกเรื่อง และยังเป็นที่รู้กันอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์นั้นชอบระเบิดอารมณ์กับทั้งผู้ที่วิจารณ์การทำงานและสื่อมวลชน แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการเลือกตั้งแล้ว พล.อ.ประยุทธ์คงจะต้องลดพฤติกรรมเหล่านี้ลงอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อไม่มีกฎหมายพิเศษแล้ว
ในตอนนี้พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่ออกตัวว่าสนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างชัดเจนได้ออกมาแสดงท่าทีตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ม.ค.แล้วว่าจะส่งชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ทางพรรคพลังประชารัฐเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อต้องต่อสู้กับพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองของตระกูลชินวัตรที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
นักวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองนั้นมีความเชื่อเป็นอย่างมากว่า กลไกทางรัฐธรรมนูญที่กำหนดองค์ประกอบของสมาชิกวุฒิสภาว่าจะต้องถูกเลือกจากทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้นจะเป็นส่วนสำคัญว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
นายพอล เชมเบอร์ส (Paul Chambers) นักวิเคราะห์ทางการเมืองจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า “ถ้าหากตัวเลือกของพรรคพลังประชารัฐ คือ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป หลังจากการเลือกตั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะพบว่าความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆโดยใช้กำปั้นเหล็กตัดสินใจเหมือนที่ผ่านมานั้น จะถูกแทนที่ด้วยกลไกทางรัฐสภาที่เต็มไปด้วยข้อถกเถียงและโต้แย้งกันไปมา”
นายปีเตอร์ มัมฟอร์ด (Peter Mumford) ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงจากบริษัท Eurasia Group สัญชาติสหรัฐอเมริกาก็ออกมาวิเคราะห์เช่นกันว่า กลไกรัฐสภานั้นเป็นสิ่งที่จะทดสอบความอารมณ์ร้อนและความอดทนต่ำของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะยังมีความเหมาะสมในฐานะนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว
ขณะที่นายฐิติพล ภักดีวานิช นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้กล่าวว่าที่ผ่านมานั้นสังคมเฝ้ารอตลอดว่าใครจะได้เป็นรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐที่จะเป็นนายกรัฐนตรี แต่พอรูปการณ์ออกมาเป็นแบบนี้ก็ถือว่าพรรคพลังประชารัฐนั้นเล่นเกมที่อันตรายมาก เพราะภาพจะออกมาว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนทางการเมืองของรัฐบาลทหารต่อไป แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เองจะยังสงวนท่าทีทางการเมืองอยู่ แม้กระทั่งตอนที่พรรคพลังประชารัฐไปเทียบเชิญถึงทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอเสนอรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
“ตอนนี้มีท่าทีเดียวที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้สื่อสารออกมาให้กับสังคมได้รับรู้แน่ชัด ก็คือจะไม่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างแน่นอน”
นาย Kevin Hewison นักวิเคราะห์ทางการเมือง ระบุว่า “พล.อ.ประยุทธ์จะหาวิธีการควบคุมกับทั้งสื่อและฝ่ายตรงข้าม ด้วยรูปแบบแนวทางของผู้ที่เป็นเผด็จการ มากกว่าแนวทางที่ปฏิบัติในสังคมประชาธิปไตย”
ผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง ยังได้วิเคราะห์ว่า พล.อ.ประยุทธ์นั้นน่าจะทำแบบเดียวกับ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเคยชนะการเลือกตั้งและได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2512 โดยในเวลานั้น พรรคการเมืองซึ่งสนับสนุนจอมพลถนอมก็คือพรรคสหประชาไทย แต่อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น จอมพลถนอมก็ทำรัฐประหารตัวเอง โดยอ้างว่าต้องการจะกวาดล้างกลุ่มคอมมิวนิสต์แทรกซึมอยู่ในอำนาจฝ่ายบริหาร
ซึ่งกรณีนี้ก็เคยมีบุคคลที่ส่งคำเตือนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์เช่นกันว่า วันหนึ่งอาจจะต้องทำแบบเดียวกับจอมพลถนอม เว้นแต่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องปรับตัว ไม่ก็ลาออกไปเลย
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์การเมืองหลายคน มองเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์กับทหารนั้นจะเป็นตัวกำหนดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งไปแล้ว ซึ่งภาพเหตุการณ์ที่จะออกมาดีที่สุดสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์นั้น ก็คงจะเป็นการที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นผู้นำพรรคการเมืองที่มีจุดยืนสนับสนุนทหารและต่อต้านตระกูลชินวัตรในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการสนับสนุนจาก ส.ว. 250 ที่ คสช.ได้แต่งตั้งมา
โดยมีการคาดการณ์กันว่า ส.ว.จำนวน 250 คนดังกล่าวซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนยุทธศาสตร์การปฏิรูปให้เกิดขึ้นนั้นจะโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีกันทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง พรรคพลังประชารัฐก็ต้องการแค่เพียง 126 เสียงเท่านั้น เพื่อจะสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
(เรียบเรียงจาก:https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/2183707/thailand-pivoting-away-us-chinese-arms-deals)
ทั้งหมดนี่ เป็นมุมมองจากสื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ของประเทศไทย กับบทบาทและท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจบศึกการเลือกตั้งครั้งนี้
ส่วนบทสรุปสุดท้ายของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/