ศาลอุทธรณ์ฯให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่คดีพนักงานธ.ออมสินถูกย้ายไม่เป็นธรรม
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางคดี รอง ผอ.ฝ่ายธุรกิจสินเชื่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฟ้องแบงก์ออมสิน-ผอ. สั่งย้าย 2 ครั้งใน 15 วันไม่เป็นธรรม เหตุรับฟ้องข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ลดตำแหน่ง ให้พิพากษาคดีใหม่ว่าใช้อำนาจบริหารถูกต้องหรือไม่ ก่อนหน้าสั่งคืนตำแหน่ง-ชดใช้เงิน 3 แสน
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2560 ศาลแรงงานกลาง มีคำพิพากษา ให้ธนาคารออมสินเพิกถอนคำสั่ง กรณี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มีคำสั่ง ย้าย นางสีชมภู จักรวาลอาชาชาติ รองผู้อำนวยการฝ่าย ส่วนการตลาดสินเชื่อธุรกิจ SMEs ศูนย์ธุรกิจสินเชื่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายงานการตลาด (รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs 4 ภาคขอนแก่น สายงานลูกค้าธุรกิจ SMEs กลุ่มลูกค้าธุรกิจภาครัฐ) ไปดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายสายงานลูกค้าธุรกิจ SMEs กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ ประจำสำนักงานใหญ่ และในวันที่ 13 ส.ค. 2558 ผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้มีคำสั่งอีกครั้ง ย้าย นางสีชมภู ไปดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล กลุ่มทรัพยากรบุคคล ประจำสำนักงานใหญ่ ช่วยปฎิบัติงาน ณ ธนาคารออมสินภาค 11 ขอนแก่น โดยให้ธนาคารออมสินบรรจุแต่งตั้ง นางสีชมภูในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งที่สูงกว่าเดิมและให้ธนาคารชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ (คดีหมายเลขแดงที่ 2618/2560)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2562 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอำนาจในการบริหารโยกย้ายของจำเลยที่ 1 (ธนาคารออมสิน) ว่าดำเนินการไปถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของธนาคาร หรือไม่ อย่างไร แล้วพิจารณาคดีใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาระบุว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยทั้งสอง ว่า เป็นประการแรกว่า คําสั่งของจําเลยทั้งสองที่สั่งย้ายโจทก์ตามฟ้องนั้นเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า การที่จําเลยที่ 2 มีคําสั่งธนาคารออมสิน ที่ บค. – 10/2558 ย้ายโจทก์จากตําแหน่งรองผู้อํานวยการฝ่าย ศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs 4 (ต่อมาเป็น SMEs 11) ภาคขอนแก่น ไปดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการฝ่าย สายงานลูกค้าธุรกิจ SMEs กลุ่มลูกค้าธุรกิจ และภาครัฐ ประจําสํานักงานใหญ่ อันเป็นตําแหน่งที่ไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชา ต่างจากตําแหน่งเดิม จึงเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์รายงานความคืบหน้าภาระหนี้ค้างชําระ ของลูกค้าจําเลยที่ 1 ราย น.ส.นันทภัท ศรีจินดา และเสนอให้ดําเนินคดีแก่บุคคลดังกล่าว แต่นางพัชรีพร วรวิบูลย์สวัสดิ์ ผู้อํานวยการภาค 11 ซึ่งสนิทสนมกับนายนําพร ยมนา รองผู้อํานวยการจําเลยที่ 1 ในขณะนั้นไม่เห็นด้วย ประกอบกับระหว่างเวลานั้น จําเลยที่ 1 ออกระเบียบธนาคารออมสินฉบับที่ 550 ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและกําหนดหน้าที่หน่วยงาน ของธนาคารออมสิน กับคําสั่งธนาคารออมสินที่ 37/2558 เรื่องกําหนดหน้าที่ของหน่วยงานย่อย ในสังกัดหน่วยงานส่วนกลาง ซึ่งมีผลให้ศูนย์ธุรกิจ SMEs 1- 6 เป็นส่วนงานในสายงานลูกค้าธุรกิจSMEs โดยมีฝ่ายบริหารศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs แทนศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs 1 - 6 กับยกเลิก ศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs 1-6 โดยเพิ่มเป็นศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs 1-18 และบันทึกข้อความ ที่นายระวี อุ่นภัทร ลูกจ้างจําเลยที่ 1 ตําแหน่งผู้ช่วยผู้อํานวยการจําเลยที่ 1 และนายนําพร ตามลําดับ เสนอเรื่องต่อจําเลยที่ 2 เพื่อให้ความเห็นชอบการโยกย้ายพนักงานระดับรองผู้อํานวยการฝ่ายรวม 4 คน ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โดยในส่วนโจทก์ให้ย้ายจากตําแหน่งรองผู้อํานวยการฝ่าย ศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs 4 (ต่อมาเป็น SMEs 11) ภาคขอนแก่น ไปดํารงตําแหน่งรองผู้อํานวยการฝ่าย สายงานลูกค้า ธุรกิจ SMEs กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ ประจําสํานักงานใหญ่ และการที่จําเลยที่ 2 มีคําสั่ง ธนาคารออมสินที่ บค.2 (2) – 27/2558 ย้ายโจทก์จากตําแหน่งรองผู้อํานวยการฝ่าย สายงาน ลูกค้าธุรกิจ SMEs กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ ประจําสํานักงานใหญ่ ไปดํารงตําแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล สายงานบริหารทรัพยากรบุคคล กลุ่มทรัพยากรบุคคล ช่วยปฏิบัติงาน ณ.ธนาคารออมสินภาค 11 ขอนแก่น ที่ไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชาให้สั่งงานได้ ทั้งทางปฏิบัติยังให้โจทก์ ไปช่วยงานผู้ช่วยผู้จัดการสาขาอันเป็นระดับผู้ใต้บังคับบัญชา จึงเป็นการลดตําแหน่งและกลั่นแกล้งโจทก์ คําสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองคําสั่งดังกล่าวมีการตระเตรียมกันมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 แล้ว โดยจําเลยทั้งสองไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าบุคคลอื่นที่อยู่ในตําแหน่งระดับเดียว กับโจทก์มีคุณสมบัติดีกว่าโจทก์อย่างไร เมื่อโจทก์มีหนังสือขอความเป็นธรรม ก็มีการเสนอตําแหน่งรองผู้อํานวยการฝ่าย ศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs 12 จังหวัดอุบลราชธานีให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ก็ฟ้องคดีนี้ เสียก่อน คําสั่งทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการประพฤติผิดสภาพการจ้าง มีเหตุให้เพิกถอนคําสั่งทั้งสอง ดังกล่าว ถือเป็นการทําละเมิดต่อโจทก์ และกําหนดให้จําเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์
เห็นว่าตําแหน่งเดิมของโจทก์คือตําแหน่งรองผู้อํานวยการฝ่ายศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs 4 (ต่อมาเป็นSMEs 11) ภาคขอนแก่น กับตําแหน่งใหม่คือตําแหน่งรองผู้อํานวยการฝ่าย สายงานลูกค้าธุรกิจ SMEs กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ ประจําสํานักงานใหญ่ และตําแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล สายงานบริหารทรัพยากรบุคคล กลุ่มทรัพยากรบุคคล เป็นตําแหน่งที่อยู่ในระดับเดียวกัน อัตราค่าจ้างค่าตอบแทนก็ไม่แตกต่างกัน การจะมีผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ ไม่ใช่สาระสําคัญ ในการพิจารณาว่าเป็นการลดตําแหน่งแต่อย่างใด การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าเป็นการลดตําแหน่งโจทก์จึงขัดต่อพยานหลักฐานในสํานวน ส่วนเหตุผลอื่นที่ศาลแรงงานกลางพิจารณา ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่โจทก์เคยเสนอให้ดําเนินคดีต่อนางสาวนันทภัท ศรีจินดา ลูกค้าจําเลยที่ 1 แต่นางพัชรีพร วรวิบูลย์สวัสดิ์ ผู้อํานวยการภาค 11 ซึ่งสนิทสนมกับนายนําพร ยมนา รองผู้อํานวยการ จําเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วย หรือคําสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองดังกล่าวมีการตระเตรียมกันมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 แล้ว โดยจําเลยทั้งสองไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าบุคคลอื่นที่อยู่ในตําแหน่ง ระดับเดียวกับโจทก์มีคุณสมบัติดีกว่าโจทก์อย่างไร หรือเมื่อโจทก์มีหนังสือขอความเป็นธรรม ก็มี การเสนอตําแหน่งรองผู้อํานวยการฝ่าย ศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs 12 จังหวัดอุบลราชธานีให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ก็ฟ้องคดีนี้เสียก่อน ก็ล้วนไม่ใช่พฤติการณ์ที่สามารถเชื่อมโยงแสดงให้เห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ดังที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยมา หากแต่เป็นเพียงการใช้อํานาจหน้าที่ในกรอบ ของการบริหารจัดการองค์กรของจําเลยทั้งสองที่เป็นนายจ้างโจทก์เท่านั้น โดยศาลแรงงานกลางไม่ได้มีเหตุผลอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทําโดยไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้งโจทก์
ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวประกอบกัน แล้ววินิจฉัยว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 104 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 กรณีจึงต้องย้อนสํานวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงให้ถูกต้อง แล้วพิพากษาคดีใหม่ตามรูปคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ส่วนอุทธรณ์ของจําเลยทั้งสองข้ออื่นไม่จําต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทําให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษายกคําพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอํานาจในทางบริหารโยกย้ายพนักงานของจําเลยที่1 ว่าดําเนินการไปถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจําเลยที่ 1 หรือไม่ อย่างไร แล้วพิพากษาคดีใหม่ตามรูปคดี
ศาลนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งวันที่ 28 ก.พ.2562
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า คดีนี้ นางสีชมภู จักรวาลอาชาชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธนาคารออมสิน และ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการเป็นจำเลยที่ 1-2
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:บิ๊ก ธ.ออมสินแพ้คดีย้าย รอง ผอ. 2 ครั้งใน 15 วัน ปมรายงานหนี้ลูกค้า ศาลสั่งชดใช้ 3 แสน