ล้อมวงคุยกับ ‘ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์’ ปั้นศูนย์ฝึกฯ คนพิการ สู่ ‘ทัวริซึม ฟอร์ ออล’
ล้อมวงสนทนากับ ‘ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์’ คืบหน้าก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เน้นท่องเที่ยว-การโรงแรม ปั้นสู่ ‘ทัวริซึม ฟอร์ ออล’ คาดเปิดปี 63
ปัจจุบันมีความพยายามผลักดันสร้างโอกาสให้คนพิการได้มีงานทำมากขึ้น เพื่อมีรายได้เพียงพอและยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของ “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” ที่มี “ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” เป็นประธาน
นำมาสู่การจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” บนพื้นที่ 33 ไร่ ในอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยเมื่อแล้วเสร็จจะกลายเป็นต้นแบบศูนย์ฝึกอาชีพฯ ใหญ่ในระดับอาเซียน พัฒนาผู้พิการ ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศในอนาคต
ศ.วิริยะ เปิดเผยในคราวพาสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความคืบหน้าในการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุถึงเหตุผลในการทุ่มเท หลังจากก่อนหน้าได้ต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิประโยชน์คนพิการมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ว่าเราต่อสู้เรื่องระบบโควต้าการจ้างงาน เพื่อให้นายจ้างจ้างคนพิการทำงานตามหลักเกณฑ์นายจ้างที่มีลูกจ้าง 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน
ถ้าไม่จ้างจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำให้ที่ผ่านมามีเงินไหลเข้ากองทุนฯ อย่างที่เราต้องการร่วม 1 หมื่นล้านบาท แต่การใช้เงินกลับพบว่ามีน้อย ทำให้รัฐบาลยึดเงินไป 2 พันล้านบาท เพราะฉะนั้น จึงต้องจัดทำศูนย์ฝึกอาชีพฯ ขึ้น เพื่อใช้เงินจากกองทุนฯ
ศูนย์ฝึกอาชีพฯ นอกจากเป็นสถานที่ฝึกอาชีพด้านการเกษตรแล้ว การณรงค์หางบประมาณในปีนี้ ประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า จะนำไปใช้ก่อสร้างโครงการ “ทัวริซึม ฟอร์ ออล” ขับเคลื่อนให้สภาพแวดล้อมในสังคมเอื้อต่อการท่องเที่ยวของทุกคน ซึ่งจะมีการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพท่องเที่ยวและการโรงแรม
“ตอนนี้เรามีแบบก่อสร้างและขออนุญาตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างวางผังประมูล เพื่อให้คนเข้ามาก่อสร้างอาคาร”
ศ.วิริยะ อธิบายต่อว่า พื้นที่ใช้ก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพฯ เหมาะสมและเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ของ จ.เชียงใหม่ เริ่มต้นจากตัวเมืองเชียงใหม่ มายัง อ.เชียงดาว ต่อด้วยดอยอ่างขาง ไต่ตามสันเขา ไปค่ำที่แม่สาย จากนั้นวันรุ่งขึ้นเที่ยวถ้ำหลวงและดอยตุง ดังนั้น หากมีการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ให้เหมาะกับทุกคนแล้ว เชื่อมั่นว่า จะสามารถดึงดูดให้เครือข่ายผู้สูงอายุและคนพิการจากต่างประเทศที่สนใจมาท่องเที่ยวในประเทศเข้ามาในพื้นที่ได้
“จะใช้งบประมาณทั้งหมด 150 ล้านบาท ปัจจุบันมีอยู่ 32 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้วราว 10 ล้านบาท และจะต้องทุ่มเทหาเพิ่มอีกก้อนหนึ่งเพื่อใช้จ่ายค่อก่อสร้าง เพราะเราออกแบบเรียบร้อยแล้ว ปักหมุดเรียบร้อยแล้ว”
ประธานมูลนิธิฯ นำเสนอว่า ศูนย์ฝึกอาชีพท่องเที่ยวและการโรงแรม จะเริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค. 2562 และเปิดให้บริการภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งจะเริ่มทยอยก่อสร้างในเฟสแรก คือ โรงอาหาร และโรงแรม 1 หลัง 26 ห้อง จากทั้งหมด 2 หลัง รวมกว่า 50 ห้อง
“โรงแรมจะล้อมรอบไปด้วยวิวทิวทัศน์ของดอยนาง และดอยหลวง เรียกว่า ลมจะพัดเมฆแล้วเปลี่ยนวิวทิวทัศน์ไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะไม่ซ้ำซาก และเป็นจุดที่เห็นดอยนางเป็นรูปผู้หญิงครบที่สุด มีหน้าผาก แก้ม ดวงตา จมูก ปาก แต่หากไปดูจุดอื่น จะเห็นไม่ครบ พื้นที่นี้จึงเหมาะสมในการทำทัวริซึม ฟอร์ ออล”
แล้วยังเหมาะสมทำเกษตรกรรม รวมถึงในอนาคตจะพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชน บริการลานจอดรถนักท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงให้นักท่องเที่ยวไปพบกับสินค้าของชุมชน
ศ.วิริยะ กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของคนพิการในศูนย์ฝึกอาชีพท่องเที่ยวและการโรงแรมคนพิการว่า ใช้เป็นที่ฝึกอาชีพคนพิการ และให้ฝึกดูแลร่วมกับโรงแรมทั่วไป เมื่อมีความชำนาญอยากไปทำงานในโรงแรมอื่นก็ได้ เพราะโรงแรมต่าง ๆ ยินดีจ้างคนพิการ ด้วยหลักเกณฑ์ตามโควต้า
“เหมือนเราฝึกทำกาแฟที่กรุงเทพ ส่งไปขายที่ธรรมศาสตร์ พอเก่งก็ไปร้านอื่น ๆ เพราะจุดมุ่งหมายของเราไม่หวังผลกำไรสูงสุด แต่หวังว่าทำอย่างไรให้คนพิการมีงานทำมากที่สุด และระบายคนพิการออกไปทำงานให้มากที่สุด”
พร้อมยืนยันคนพิการทุกประเภทสามารถฝึกการโรงแรมได้ทั้งหมด ซึ่งอยากให้ไปดูตัวอย่างที่พัทยา จ.ชลบุรี มีโรงแรมเน้นคนพิการทางกาย แม้แต่คนไม่มีแขน ยังทำหน้าที่ต้อนรับ ใช้ปากจิ้มสั่งรายการได้ ฉะนั้นยืนยันว่าคนพิการฝึกได้ทั้งหมด โดยจะดูว่าทำอะไรได้บ้าง แล้วจะให้ทำเรื่องนั้น
“มีคนพิการตาบอด รับโทรศัพท์ คนพิการหูหนวก ดูแลรักษาความสะอาดและปูที่นอน ส่วนคนพิการทางกายเคลื่อนไหว ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น”
ทั้งนี้ โครงการฯ ร่วมมือกับนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการดูแล และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเรื่องทฤษฎี
ประธานมูลนิธิฯ ยังมองว่า ปัจจุบันภาคเอกชนเปลี่ยนทัศนคติจ้างงานคนพิการไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ปัญหาคือ ยังมีคนพิการหลายคนขาดโอกาสพัฒนาการเรียนตั้งแต่เริ่มแรก
“วันนี้โรงเรียนต่าง ๆ ยังไม่ยอมให้คนพิการตาบอดเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะสังคมเชื่อว่าคนพิการทำไม่ได้ เมื่อเรียนไม่ได้ คนตาบอดจะตามทันโลกดิจิทัลอย่างไร เพราะขาดโอกาสพัฒนาตั้งแต่แรก ทำให้การเข้าสู่ตลาดแรงงานลำบาก จึงต้องมาดูจะฝึกอาชีพอะไร เพื่อเข้าไปในตลาดแรงงานได้ง่าย สิ่งนั้นคือเน้นเรื่องอาหาร กาแฟ เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว”
สุดท้าย หากประสบความสำเร็จ จะขยายไปยัง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ต่อไป .
อ่านประกอบ:“มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” เปิดตัวโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2”
ปั่นไม่ทิ้งกัน เปลี่ยนความพิการจาก'กรรมมหาชน'เป็นพลัง สร้างสังคมเท่าเทียม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/