- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ปั่นไม่ทิ้งกัน เปลี่ยนความพิการจาก'กรรมมหาชน'เป็นพลัง สร้างสังคมเท่าเทียม
ปั่นไม่ทิ้งกัน เปลี่ยนความพิการจาก'กรรมมหาชน'เป็นพลัง สร้างสังคมเท่าเทียม
หากพูดถึงคนพิการในสายตาของคนทั่วไป เชื่อว่าหลายๆ คน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งคงมองด้วยสายตาสงสาร และนั่นมักตามมาด้วยความรู้สึกเวทนา จนหลายๆ ครั้งสิ่งเหล่านี้กดทับให้พวกเขาไม่กล้าออกมาใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนปกติแต่ถ้าวันนี้จะบอกว่าพวกเขาปั่นจักรยานทางไกลจากกรุงเทพฯไปอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ระยะทาง 867 กิโลเมตรคงแทบไม่มีใครเชื่อหากได้ยินอย่างนั้นในครั้งแรก แต่เพื่อพิสูจน์ว่าศักยภาพของคนพิการนั้นมีมากพอที่จะอยู่ร่วมกันผู้อื่นได้สบาย พวกเขาจึงทำให้เราคนตาดี ร่างกายครบสมบูรณ์ได้เห็น
กม.ที่ 0 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เช้าวันที่ 28 มกราคม 2561 เป็นวันแรกที่คณะทีมนักปั่น ในโครงการที่มีชื่อว่า “ปั่นไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind” คนตาดี ช่วยคนตาบอด จำนวน 40 ชีวิต เริ่มออกสตาร์ท
การออกเดินทางไกลครั้งนี้แน่นอนว่าเป้าหมายหลักเพื่อการพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในคนพิการ และอีกเป้าหมายคือการปั่นระดมทุนเพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” โดยเป้าหมายหลักของศูนย์แห่งนี้ คือการสร้างความเป็นเลิศให้คนพิการ ให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และก้าวพ้นจากความยากจน
ความคิดยิ่งใหญ่นี้จะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีก้าวแรกของ ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่เป็นผู้ริเริ่มงานหลายๆ อย่าง เพื่อทวงสิทธิที่คนพิการในสังคมไทยพึงต้องมี ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย เงินกองทุน การบังคับการจ้างงาน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างให้เกิดความเท่าเทียมเพื่อให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตในระนาบเดียวกันกับคนปกติ และหลุดพ้นจากความคิดที่ว่า เกิดมาใช้กรรม
กม.ที่101 ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
แต่ละวันคณะทีมปั่นจักรยาน 40 ชีวิตที่ประกอบไปด้วยคนตาดีขี่นำ ส่วนคนตาบอด หูหนวกจะคอยช่วยอยู่ข้างหลัง บนจักรยานสองตอนที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ
ความล้าหลังจากหนึ่งที่กดทับคนพิการให้ยิ่งพิการอีกในสังคมไทย คือการมองว่าคนเหล่านี้มีบาปกรรมที่ต้องชดใช้ นี่คือสิ่งที่คนพิการโดยเฉพาะในสังคมไทยต้องต่อสู้มาโดยตลอด เรียกว่าอยู่ในระบบ “กรรมมหาชน”
“ทั้งจริงๆ แล้วมันเป็นกรรมของคนในสังคมที่หยิบยื่นให้คนพิการต่างหาก” ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าว
ด้วยเหตุนี้เองที่ทางมูลนิธิฯจึงได้พยายามขับเคลื่อนสังคมไทยได้ให้โอกาสกับผู้พิการหรือที่เรียกว่า impairment (การด้อยค่า) เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นให้ได้รับโอกาสการพัฒนาศักยภาพและได้รับโอกาสในการทำงานหรือ empowerment(เพิ่มขีดความสามารถ) และการขับเคลื่อนให้เกิดbarrier free ไม่ให้มีอุปสรรคต่างๆ ในการเดินทางและใช้ชีวิตในสังคมของผู้พิการ
“ถ้าเราสามารถขับเคลื่อนทั้ง 2 เรื่องนี้ได้ คนพิการก็อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเหมือนคนปกติทั่วไป ความพิการจะเป็นแค่เรื่องน่ารำคาญและความไม่สะดวกเท่านั้นเอง” ศาสตราจารย์ วิริยะ บอกถึงความคิดในการสร้างศูนย์ฝึกคนพิการให้พวกเราฟัง
“คำว่า impairment จะไม่มีความหมาย หากเราสามารถทำ empowerment และ barrier free ให้เกิดขึ้นได้ แต่ทุกวันนี้สังคมไทยยังไม่สามารถทำ 2 เรื่องนี้ได้ จึงทำให้ impairment มันโดดเด่นขึ้นมาก ทำให้คนพิการลำบากยากเข็นในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งทั้งการ empowerment และ barrier free ถ้าเราสามารถทำ 2 เรื่องนี้ให้สำเร็จได้ ก็จะทำให้คนพิการสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมนี้ได้อย่างปกติสุข หรือที่เรียกว่า inclusive society”
กม.ที่ 199 ศาลากลางจังหวัดชัยนาท
ถ้าคุณเคยปั่นจักรยานทางไกลจะรู้ว่า ช่วงกิโลเมตรที่ 80- 100 กว่าๆ นั้นเป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการ บวกกับสภาพอากาศเมืองไทย และยิ่งไม่ใช่นักปั่นอาชีพด้วยแล้ว หากใจไม่เด็ดพอ โอกาสถอดใจทิ้งเป็นเรื่องง่ายมาก แต่พวกเขาปั่นมาเข้าวันที่สาม ระยะทางเพิ่มขึ้นมาเป็นสองร้อยกว่ากิโลเมตร ขณะที่ในชีวิตจริงคนพิการทั่วประเทศกำลังต่อสู้ในสิ่งที่รุนแรงกว่าแดดในกลางวัน และเหนื่อยกว่าการปั่นขึ้นเนินหลายสิบลูก
สถิติของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เดือนมิถุนายน 2560 พบว่า มีผู้พิการทั่วประเทศที่จดทะเบียน 1,802,375 คน คิดเป็นร้อยละ 2.72 ของประชากรทั้งหมด โดยมีคนพิการที่อยู่ในวัยแรงงานอายุระหว่าง 15-60 ปี จำนวน 802,058 คน หรือร้อยละ 44.5 มีผู้พิการที่มีงานทำแล้วจำนวน 227,924 คน หรือร้อยละ 28.42 มีผู้พิการที่สามารถทำงานได้แต่ยังไม่มีงานทำ 455,990 คน หรือร้อยละ 56.58 และมีผู้พิการ 118,144 คน หรือร้อยละ 14.73 ที่อยู่ในวัยทำงานแต่ทำงานไม่ได้เนื่องจากพิการรุนแรงซึ่งต้องพึ่งพาผู้ดูเเล
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จำนวนผู้พิการที่ทำงานได้แต่ยังไม่มีงานทำ และผู้ดูแลคนพิการรุนแรงเมื่อรวมกันแล้วจะมีจำนวนมากถึง 574,134 คน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าเราจะช่วยคนกลุ่มนี้ให้มีอาชีพและรายได้อย่างไร
ปัจจุบันคนพิการร้อยละ 39.04 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 39.28 รับจ้างทั่วไป เมื่อรวมอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไปจะมีมากถึงร้อยละ 78.32 นอกนั้นประกอบอาชีพอิสระส่วนตัว ร้อยละ 7.33 ลูกจ้างภาคเอกชนร้อยละ 7.21 รับราชการทำงานในรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 1.2 และประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น เก็บของเก่าขายร้อยละ 5.94
“จะเห็นได้ว่าคนพิการส่วนใหญ่ของประเทศอยู่กันตามหมู่บ้าน ตำบล และชนบทต่าง และประกอบอาชีพเกษตร รับจ้างทั่วไปเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าเขาเหล่านั้นก็จะมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือใดๆ ที่รัฐจัดให้และเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด” ศาสตราจารย์ วิริยะ ระบุ
ด้วยเหตุนี้มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จึงได้มุ่งเน้นไปที่การ empowerment ผู้พิการ ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างให้เขามีรายได้ สร้างให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือให้คนพิการก้าวพ้นความยากจน ให้เขาสามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกคนพิการก้าวพ้นความยากจน ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการที่อำเภอแม่ริมจังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบันศูนย์ฝึกแห่งนี้ได้เปิดอบรมคนพิการไปแล้วถึง2 รุ่นด้วยกัน และปัจจุบันรุ่นที่ 3 กำลังอยู่ในกระบวนการฝึกอาชีพ
โดยในปี 2560 มีครอบครัวคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมรวมทั้งสิ้น 260 ครอบครัว ประกอบไปด้วยคนพอการที่อาศัยอยู่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน
สำหรับคนที่เข้ามาฝึกในศูนย์แห่งนี้จะได้ฝึก การเพาะเห็ดนางฟัาภูฐาน การเลี้ยงจิ้งหรีด การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรอบการผลิตต่ำใช้เวลาเพียง 45 วัน และมีความต้องการของตลาดสูง
กม.ที่ 259 อุทยานสวรรค์หนองสมบุญ จ.นครสววรค์
“ช่วยๆ กันออกแรงปั่น” นั่นคือสิ่งที่กาจณา เสลาคุณ ผู้พิการทางสายตา ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ ดีแทค หนึ่งในผู้พิการที่ร่วมปั่นในกิจกรรมครั้งนี้เล่าให้เราฟัง เธอยังบอกด้วยว่า ตอนที่ครอบครัวรู้ว่าจะมาร่วมกิจกรรมนี้ ทางบ้านก็กลัวว่าจะทำไม่ได้ แต่ตัวเองยืนยันว่ายังไงก็ทำได้แน่นอน
และคงเหมือนกับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ที่ออกมาแสดงพลังให้สังคมได้เห็น แน่นอนว่า นี่คือการ empowerment ที่ชัดเจนมากอย่างหนึ่ง
ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ ของมูลนิธิ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่แม่ริม เชียงใหม่ มีพื้นที่คับแคบ และไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ให้กับผู้พิการ ทางมูลนิธิฯ โดยการนำของ ศาสตราจารย์ วิริยะ จึงมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการร่วมกันสานต่องานที่พ่อทำ ด้วยการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม ผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะมีพื้นที่มากถึง 33 ไร่ สามารถรองรับผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นต้นแบบของศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับคนพิการในระดับภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถรองรับการฝึกอาชีพที่หลากหลาย ทั้งเรื่องของอาชีพทางเกษตรต่างๆ รวมไปถึงอาชีพในเรื่องการท่องเที่ยว และการโรงแรม ที่ผู้พิการสามารถทำได้ เพื่อพัฒนาผู้พิการให้เป็นประชากรที่สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ตามแนวคิด “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ศาสตราจารย์ วิริยะ มองเห็นว่าทางออกหรือแนวทางที่จะสามารถช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจนและไม่มีอาชีพที่แน่นอนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามารถก้าวพ้นความยากจนได้นั้น จะต้องให้ผู้พิการและครอบครัวได้ประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคงยั่งยืน และเป็นอาชีพที่ทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี ที่สำคัญเมื่อทำแล้วต้องขายได้ มีรายได้เพียงพอกับการดูแลตนเองและคนในครอบครัว จึงได้มีการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้พิการขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “ยิ้มสู้” เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับคนพิการ
ปัจจุบันได้นำสินค้าเข้าวางจำหน่ายให้ห้างแม็คโครในเขตจังหวัดภาคเหนือและมีแผนขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการสนับสนุนสินค้าต่างๆ ภายใต้แบรนด์ยิ้มสู้ ก็เท่ากับว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้พิการนั่นเอง
สำหรับจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างในการฝึกอบรมด้านอาชีพของ “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ก็คือเป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อ คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และครอบครัวของผู้พิการ และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหลักสูตรอาชีพที่ใช้เวลาการฝึกอบรมนานที่สุดกล่าวคือ ใช้เวลาในการอบรมภาคทฏษฎี 93 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติอีก 507 ชั่วโมง รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน หรือ 100 วัน ที่ผู้พิการและครอบครัวจะต้องอาศัยและใช้ชีวิตกินนอนและพักอาศัยอยู่ภายในศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อให้เกิดการปรับตัว ปรับวิธีคิด ควบคู่ไปกับการเรียนรู้งานในอาชีพต่างๆ อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนทั้ง การเพาะปลูก การผลิต การบริการต้นทุนรายรับ-รายจ่าย การแปรรูป การตลาด และการจัดจำหน่าย โดยมุ่งเน้นไปที่อาชีพที่สามารถมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน โดยผู้พิการสามารถทได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี
ที่สำคัญเมื่อทำแล้วต้องขายได้ มีรายได้เพียงพอกับการดูแลตนเองและคนในครอบครัว
กม.ที่ 392 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก
การปั่นเดินทางได้เกือบครึ่งของระยะทางทั้งหมด เข้าสู่วันที่ 5 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 9 วัน แน่นอนว่าหลายคนเริ่มปรับตัวเข้ากับสภาพการใช้ชีวิตบนสองล้อ ที่เข้านอนแต่หัวค่ำ เก็บแรงให้มากที่สุด เพื่อตื่นเช้าและออกสู่ถนนที่ขอเรียกว่าเป็นสายชีวิต เช่นเดียวกันกับ ผู้เข้าฝึกอบรมที่แม่ริมทั้งสองรุ่น
ลุงแอ หรือทวีศักดิ์ อินทรชัย อายุ 62 ปี ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมอาชีพรุ่นที่ 1 เล่าให้ฟังว่า เมื่อหลายปีก่อนป่วยด้วยโรคกระดูกเอวซ้ายยุบ จะทำงานหรือเดินไม่ค่อยไหว ยิ่งพอเกษียนอายุจากการเป็นลูกจ้าง ออกมาก็ทำงานไม่ได้ สวัสดิการไม่มี จึงเริ่มเครียดและหันมากินเหล้าอย่างหนัก แต่พอได้รับการชักชวนให้เข้ามาฝึกอาชีพที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อำเภอแม่ริม เนื่องเพราะ ลุงแอนอกจากตัวเองจะป่วยแล้ว ยังต้องดูแลแม่ซึ่งเป็นผู้พิการด้วยโรคเส้นเลือกในสมองตีบ
นั่นจึงเป็นที่มาของจุดเปลี่ยนชีวิตที่ทำให้ชายคนหนึ่งที่ใครๆ ต่างมองว่าเป็นลุงขี้เมาไร้ค่าได้กลายเป็นเจ้าของ ฟาร์มจิ้งหรีดยิ้มสู้ ที่สร้างรายได้ดีจนหลายๆ คนต้องอิจฉา
“ที่ไปอบรมก็เพราะว่าอยากมีรายได้เสริม แต่พอเข้าอบรมได้เห็นคนที่เขาลำบากกว่าเรา ความคิดก็เลยเปลี่ยน แล้วก็ค่อยๆ เลิกเหล้าเพราะอยากตั้งใจเลี้ยงจิ้งหรีด หลังจากจบการอบรมทางศูนย์ฝึกอาชีพ ก็สนับสนุนการเลี้ยงจิ้งหรีดมาบางส่วน ตอนนั้นขายจิ้งหรีดได้เกือบ 20 กิโลกรัม จึงคิดว่าตรงนี้สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว จึงไปกู้ ธกส.มาทำอย่างจริงจัง เปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดที่บ้านโดยใช้ชื่อว่าฟาร์มจิ้งหรีดยิ้มสู้"
ตอนนี้มีกล่องเลี้ยงจิ้งหรีด 10 กล่อง และมีบ่อปูนอีก 12 บ่อ หักต้นทุนแล้วเหลือกำไรเดือนละ 15,000 บาท ส่วนสุขภาพก็ยังทรงๆ แต่ไม่ได้แย่ลง เพราะเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ต้องใช้แรงมาก และตอนนี้มีคนมาศึกษาดูงานเยอะมาก ก็ยินดีสอนต่อให้ทุกคนได้มีความรู้ เพราะทุกวันนี้แค่ในหมู่บ้านก็ไม่พอขายแล้ว มีคนมาจองซื้อตั้งแต่ยังเล็กๆ แล้วก็ไม่กลัวเรื่องล้นตลาด เพราะทางศูนย์ฝึกอาชีพ ประกันราคาในราคากิโลกรัมละ 100 บาท และพร้อมที่จะรับซื้อไปแปรรูปทั้งหมด
ขณะที่ รุ่งรวิภา โปธิวงค์ หรือ แอ๋ม อายุ 33 ปี ชาวอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า การเข้าฝึกอาชีพที่ศูนย์ฝึก ได้เปลี่ยนชีวิตของเธอไปอย่างสิ้นเชิง โดยก่อนหน้านี้เธอประสบอุบัติเหตุจากการขับมอเตอร์ไซด์ ทำให้ต้องดามเหล็กที่ขา และขาก็ใช้งานไม่สะดวกจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ต่อมาได้เข้าอบรมวิชาชีพกับศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อคนพิการอาเซียนที่แม่ริม ทั้งการปลูกผัก การเพาะเห็ดและเลี้ยงจิ้งหรีด รวมถึงการตลาด การขาย การทำบรรจุภัณฑ์ ทำให้ทุกวันนี้เธอมีอาชีพมั่นคงและชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ
กม.ที่ 502 อนุเสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก จ.อุตรดิตถ์
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำรงชีวิตย่อมมีสิ่งที่เรียกว่าต้นทุน การออกปั่นทางไกลครั้งนี้ก็เช่นกัน อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ระหว่างทางจะเปิดให้มีการบริจาคเพื่อระดมทุนในการก่อสร้างศูนย์ฝึกแห่งใหม่ และการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังจากการฝึกอาชีพ ย่อมต้องใช้ต้นทุนที่เรียกว่า เงิน
ปัจจุบันมีคนพิการอีกจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสในการรับการพัฒนาทักษะ และอาชีพต่างๆ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมี “กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” อยู่เเล้ว แต่ปัญหาสำคัญคือ เงินจากกองทุนนี้จะนำมาใช้ได้ เฉพาะเป็นค่าดำเนินการฝึกอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการเท่านั้น ไม่สามารถใช้สนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพได้
ขณะเดียวกันปัญหาของกองทุนนี้ คือการเข้าถึง จากข้อมูลพบว่า คนพิการที่ผ่านการฝึกอบรม 90% ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนนี้ได้ เพราะหลักเกณฑ์ที่ไม่เอื้อ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ของผู้ค้ำประกันที่ไม่สามารถเอาทรัพย์สินไปค้ำประกันได้ ต้องใช้คนที่น่าเชื่อถือ ซึ่งถูกวิพากษ์ว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่กว้างไป และถูกตีความว่าบุคคลที่น่าเชื่อถือ คือ ข้าราชการ
เรื่องนี้ ศาสตราจารย์ วิริยะ กล่าวว่า กฎหมายกำหนดให้เรามีสิทธิ พอมีกองทุนวันนี้มีเงินหมื่นล้านบาทแต่ไม่สามารถเอามาใช้ได้ เราขาดหน่วยบริการ แบบศูนย์ฝึกอาชีพแห่งนี้ เอาเงินจากกองทุนไหลมาที่ศูนย์เพื่อฝึกอาชีพ สิทธิ มีเงินมี แต่ไม่เป็นจริง ฝึกเสร็จคนที่ผ่านการฝึกอาชีพ อยากกลับไปลงทุน ตามสิทธิเขาไปกู้เงินได้โดยไม่เสียดอกแต่ติดเรื่องระเบียบ
“เราพยายามผลักดันว่าช่วยแก้ระเบียบ เป็นคนค้ำได้ ทุกวันนี้คนพิการจะไปกู้เงิน ต้องหาคนค้ำ พอหาคนค้ำยาก ให้ศูนย์ค้ำ จะได้กรองคุณภาพคนด้วย ถ้าทำแล้วล้มเหลวก็ตัดหนี้มาที่ศูนย์ไปจะได้ไม่เป็นภาระของพวกเขา ปัจจุบันกระทรวงการคลังเห็นด้วย เพราะกองทุนอื่นทำได้ ทำไมคนพิการทำไม่ได้ ถ้าเราทำสองตัวนี้ได้จะดีมาก”
กม.ที่ 577 ลานกาดสามวัย หน้าศาลากลางจังหวัดแพร่
ไม่ใช่ทุกคนจะเดินทางมาที่เชียงดาว สถานที่ก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนได้ ดังนั้นโจทย์ใหญ่กว่าคือทำอย่างไรให้คนพิการทั้งประเทศเข้าถึงแนวคิดการสร้าง empowerment และการขับเคลื่อนให้เกิด barrier free ได้จริง
ศาสตราจารย์ วิริยะ มองว่า อยากให้เกิดศูนย์บริการทั่วทั้งประเทศในเร็ววัน จึงพยายามผลักดันในรัฐบาลไปตั้งศูนย์คนพิการจังหวัด และเอาคนพิการไปอยู่ที่นั่น ทำเป็นศูนย์ฝึกอาชีพร่วมกัน แต่เรื่องนี้ไม่ค่อยได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลเท่าที่ควร ซึ่งจากการคำนวนจะใช้เงิน 30 ล้านบาทในการตั้งศูนย์พวกนี้ ขณะเดียวกันเอกชนไปใช้ได้ตามสิทธิของกฎหมาย
กม.ที่ 680 แยกหอนาฬิกา ลำปาง
อีกสองวันเท่านั้น พวกเขา 40 ชีวิตบนจักรยานจะเดินทางเข้าสู่เป้าหมาย แต่นั่นอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่างเท่านั้น
คำถามใหญ่เมื่อพวกเขามีสินค้าเป็นของตัวเองแล้ว การแข่งขันในตลาดนั้นย่อมเป็นเรื่องท้าทาย และครั้นจะให้คนมาช่วยซื้อด้วยสายตา หรือความรู้สึกเวทนา ย่อมไม่สร้างความยั่งยืนได้จริงๆ แต่การจะพาสินค้าพวกเขาไปถึงมือผู้บริโภคได้ นอกจากขายในซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่อย่างแม็คโคร ที่ปัจจุบันรับผักไฮโดรโปนิกส์ไปขายแล้ว
โลกออนไลน์คือช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเข้าถึงได้ง่าย และลดต้นทุนในการสต็อคของ แก้ปัญหาหน้าร้านได้ แน่นอนว่าโลกดิจิทัลคือสิ่งที่ทางมูลนิธิกำลังเดินไป นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่องท่องเที่ยวแบบดาวกระจาย ชวนคนพิการที่มีบ้านในพื้นที่ท่องเที่ยวทำโฮมสเตย์ ทำให้คนพิการคิดทำบ้านให้เอื้อกับตัวเองด้วย ต่อไปคนไทยจะได้คิดเรื่องการออกแบบบ้านที่เอื้อต่อทุกคน
แต่อย่างไรก็ดีการมีหน้าร้านที่เข้าถึงง่ายก็ยังคงจำเป็น ผอ.มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ มองว่าตามมาตรา 35 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้บริษัท ห้างร้าน หน่วยงานที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป ต้องมีการจ้างงานคนพิการ 1% ถ้าไม่จ้างต้องจ่ายเงินสมบทเข้ากองทุนจำนวนเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำสุดของประเทศคูณด้วย 365 วัน
สถานที่ราชการคือพื้นที่ที่เหมาะสมในการเปิดพื้นที่ให้มีการขายสินค้าของคนพิการ ในเมื่อสถานที่ราชการไม่จ้างคนพิการทำงาน ก็ต้องปฎิบัติตามมาตรา 35
“เราเลยจะลองติดต่อสถานที่ราชการแล้วให้คนพิการเช่า ใช้มาตรา 35 โดยไม่คิดค่าเช่า เพราะโดยหลักแล้วต้องให้ที่ขายได้ เพื่อแลกกับการไม่ต้องจ้างงาน” ศาสตราจารย์วิริยะ ระบุ
นอกจากนี้ กฎหมายม.35 สมมติเราเป็นศูนย์กลางรวบรวมสินค้าคนพิการจำนวนมาก มีบริษัทที่มาซื้อ บริษัทนั้นมีสิทธิ์ให้ตีว่าสินค้าที่เราขายมีกำไรเท่าไหร่ สมมติว่ามี20% เขาสามารถเอา 20% ไปหักกลบเงินเข้ากองทุนได้ ซึ่งปัจจุบันมีบางบริษัทใช้ลักษณะแบบนี้
กม.ที่ 779 พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์
วันสุดท้ายของการปั่นจักรยานจากนี้ไปอีก 88 กิโลเมตร ปลายทางคือเชียงดาวสถานที่ก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพฯ แม้ว่าในการปั่นก่อนหน้า อาจารย์วิริยะจะประสบอุบัติเหตุรถล้ม แต่ด้วยสปิริตนักสู้ ท่านยังคงกลับขึ้นสองล้อ มุ่งสู่ปลายทางพร้อมๆ กับคณะ
กม.ที่ 867 เชียงดาว
แสงอาทิตย์ยามเย็น กำลังลับ กลุ่มจักรยาน 40 ชีวิตและอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นักปั่นขาจรที่ร่วมก๊วนตามจากเชียงใหม่ เดินทางมาถึงที่นี่เป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่น
แม้ว่าโครงการ “ปั่นไม่ทิ้งกัน สานต่องานที่พ่อทำ No One Left Behind” ที่คณะนักปั่นจักรยาน “คนตาดี ช่วยคนตาบอด” จำนวน 40 ชีวิต จะได้พิสูจน์ตนเองให้สังคมไทยได้เห็นว่า “คนพิการทำอะไรได้มากกว่าที่คิด” โดยได้รวมพลังสามัคคีปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ 9 วัน 9จังหวัด เป็นระยะทางรวมกว่า 867 กิโลเมตร ได้ประสบความสำเร็จโดยเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางหรือสถานที่ก่อสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แต่ภารกิจของ “มูลนิธิเพื่อคนพิการ” ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังของกิจกรรมนี้กลับยังไม่สิ้นสุด เพราะเงินบริจาคส่วนหนึ่งที่ได้รับจากประชาชนชาวไทยในครั้งนี้ ซึ่งมียอดรวมเกือบ 30 ล้านบาทนั้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการสร้างกระแส “สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” เพื่อให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปสู่การเป็นสังคม “ไม่ทิ้งใครข้างหลัง” สอดคล้องกับนโยบาย “ประชารัฐ” ของรัฐบาลที่ต้องการให้คนไทยทุกระดับมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้