กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ : เปรียบเทียบการให้สินเชื่อกับการขายหุ้นกู้
"...ผมขอใช้โอกาสนี้ในการอธิบายเปรียบเทียบสินเชื่อกับหุ้นกู้ บางท่านมองว่าผู้ลงทุนในหุ้นกู้นั้น ได้ตกลงยอมรับเงื่อนไขไปแล้วว่าการลงทุนมีความเสี่ยงจึงไม่น่ามีสิทธิ์เรียกร้องอะไรมาก ผมเลยขอชี้แจงรายละเอียดเพิ่มครับ ว่ามาตรฐานของธนาคารในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ไม่ควรด้อยหรือน้อยไปกว่าการปล่อยสินเชื่อ เพราะการปล่อยสินเชื่อกับหุ้นกู้คือการระดมทุนให้กับลูกค้าเหมือนกัน แตกต่างกันที่ผู้ลงทุนของสินเชื่อคือธนาคาร และผู้ลงทุนของหุ้นกู้คือนักลงทุนรายย่อยซึ่งพึ่งพาการกลั่นกรองและคัดสรรหุ้นกู้ที่มีคุณภาพมาให้ลงทุน ในกรณีของเอิร์ธ ทั้งสองกลุ่มได้รับความเสียหายไม่ต่างกัน..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว(Kittiphun Anutarasoti) แสดงความเห็นต่อกรณีถูกคณะกรรมการสอบสวนของธนาคารกรุงไทย แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดร้ายแรง เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ในการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงในการเสนอปล่อยสินเชื่อ ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย เป็นตอนที่ 3
...............................
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสำนักงานกลต.ที่ได้มีการพูดถึงเรื่องบทบาทที่มีความสลับซับซ้อนของธนาคารในกรณีเอิร์ธซึ่งสำนักงานกลต.ได้แตะประเด็นที่สำคัญว่าด้วยกระบวนการของธนาคารในการคัดกรองสินค้าเพื่อมาขายนักลงทุนรายย่อย ซึ่งผู้บริหารที่รับผิดชอบเรื่องจัดจำหน่ายหุ้นกู้ให้แก่ประชาชนได้ปฏิบัติตามาตรฐานทางวิชาชีพที่ดีหรือไม่ในการป้องกันความเสี่ยงให้นักลงทุน ซึ่งในกรณีของเอิร์ธ ผมได้จัดส่งเอกสารที่อาจเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบให้ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินไปแล้ว เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบเพิ่มเติมว่าทีมงานที่นำหุ้นกู้ของบริษัทเอิร์ธไปขายรู้หรือไม่ว่าเครดิตลูกค้ารายนี้มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน มีการตรวจสอบหรือปกปิดวัตถุประสงค์การใช้เงินในการออกหุ้นกู้หรือไม่ ผมคิดว่าประเด็นนี้ทางสำนักงานกลต.และธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีการตรวจสอบอย่างชัดเจนเพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงและอย่างที่ผมได้เคยแชร์ไปก่อนหน้านี้ครับว่าการตรวจสอบนั้นผมคิดว่าต้องตรวจสอบโดยองค์กรที่เป็นกลางเท่านั้นถึงจะได้คำตอบที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย
สืบเนื่องจากที่ผมได้โพสต์ไปตอนที่แล้ว มีเพื่อนๆหลายท่านสงสัยและโทรมาถามว่ามาตรฐานของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อกับการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ต่างกันอย่างไร ทำไมมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อแต่ไม่มีการพูดถึงการตรวจสอบการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ของเอิร์ธซึ่งมีนักลงทุนซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกัน
ผมขอใช้โอกาสนี้ในการอธิบายเปรียบเทียบสินเชื่อกับหุ้นกู้ บางท่านมองว่าผู้ลงทุนในหุ้นกู้นั้น ได้ตกลงยอมรับเงื่อนไขไปแล้วว่าการลงทุนมีความเสี่ยงจึงไม่น่ามีสิทธิ์เรียกร้องอะไรมาก ผมเลยขอชี้แจงรายละเอียดเพิ่มครับ ว่ามาตรฐานของธนาคารในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ไม่ควรด้อยหรือน้อยไปกว่าการปล่อยสินเชื่อ เพราะการปล่อยสินเชื่อกับหุ้นกู้คือการระดมทุนให้กับลูกค้าเหมือนกัน แตกต่างกันที่ผู้ลงทุนของสินเชื่อคือธนาคาร และผู้ลงทุนของหุ้นกู้คือนักลงทุนรายย่อยซึ่งพึ่งพาการกลั่นกรองและคัดสรรหุ้นกู้ที่มีคุณภาพมาให้ลงทุน ในกรณีของเอิร์ธ ทั้งสองกลุ่มได้รับความเสียหายไม่ต่างกัน
ผมมีความคิดเห็นว่าธนาคารผู้นำหุ้นกู้มาขายควรเป็นผู้ให้ความกระจ่างกับสังคมและผู้กำกับดูแลว่าได้ใช้มาตรฐานที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เหตุไฉนในส่วนการอำนวยสินเชื่อนั้นมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับการกล่าวโทษ แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงการตรวจสอบผู้ที่ทำให้นักลงทุนเสียหาย ว่าได้ตรวจสอบโดยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ มีการการกล่าวโทษผู้ที่เกี่ยวข้องเหมือนกันหรือไม่ ในกรณีนี้เข้าใจว่าน่าจะมีนักลงทุนเกิน 1 พันรายที่ลงทุนในหุ้นกู้ของเอิร์ธ หลายๆคนใช้เงินออมที่เก็บมาตลอดชีวิต วันนี้ได้รับความเสียหายและความลำบากเป็นอย่างมาก ผมเชื่อว่านักลงทุนเหล่านี้คงรอคำตอบอยู่
ผมขอใช้หนึ่งในข้อกล่าวหาที่ผมถูกกล่าวหามาเป็นตัวตั้งคำถามต่อเรื่องมาตรฐานการตรวจสอบระหว่างสินเชื่อและหุ้นกู้ ข้อกล่าวหาข้อนี้มีว่า ผมเป็นผู้กำหนดวงเงินส่วนหนึ่งเป็น Permanent Working Capital ที่เป็นวิธีทางการเงินที่สลับซับซ้อน โดยไม่มีหลักประกันเพิ่ม เป็นสาเหตุให้ธนาคารควบคุมวงเงินได้ยาก และไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอำนวยสินเชื่อตามปรกติ จนทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงมากขึ้น…. ผิดถูกเรายังไม่พูดถึงนะครับ แต่หุ้นกู้กับวงเงินนี้มีลักษณะเหมือนกันทุกประการ หากธนาคารมีความเชื่อแบบนี้และมีการกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องที่ทำสินเชื่อด้วยเรื่องดังกล่าว ก็ชวนให้สงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงนำผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนกันมาขายให้นักลงทุนรายย่อย ประเด็นนี้นักลงทุนรายย่อยอาจจะต้องคอยคำตอบจากคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยเพื่อให้ได้คำอธิบายอย่างชัดเจน ว่ามาตรฐานต่างกันอย่างไร รวมถึงขอความเป็นธรรมไปที่ผู้กำกับดูแลต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานกลต. เพื่อให้ทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
วันนี้เราควรต้องมีคำตอบให้นักลงทุนที่ได้รับความเดือดร้อนว่าสาเหตุความเสียหายคืออะไร มาตรฐานต่างหรือเหมือนกันอย่างไร และสังคมควรจะได้รับรู้ว่าคนที่นำผลิตภัณฑ์นี้มาจำหน่ายคือใคร บุคคลเหล่านี้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบทีมงานสินเชื่อหรือไม่ ถ้าเป็นคนเดียวกันยิ่งน่ากังวลและน่าสงสัยขึ้นไปอีกว่าทำได้หรือไม่ และถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้สังคมค่อนข้างคลางแคลงใจ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ผู้กำกับดูแลได้เข้ามาตรวจสอบและให้คำตอบแก่สังคมอย่างไร ผมจึงยืนยันว่าการตรวจสอบกับทุกคนกับทุกสถาบันที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องจำเป็น แต่การตรวจสอบต้องทำโดยสถาบันที่เป็นกลางเท่านั้น
#ขอความเป็นธรรม
#บทพิสูจน์ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน
#มาตรฐานการตรวจสอบสถาบันการเงินไทย
#จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
เบื้องลึก! 'กิตติพันธ์' ขอพักงาน ซีไอเอ็มบี 2 ด. สู้ข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธฯ-ตอนนี้มีอะไรในมือบ้าง?
ซีไอเอ็มบี แจ้งตลาดฯ 'กิตติพันธ์' ขอพักงาน 2 ด. ไปต่อสู้ข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธฯ
กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ : ศักดิ์ศรีจรรยาบรรณวิชาชีพนายธนาคาร กับ กรณีปล่อยกู้เอิร์ธฯ
กรุงไทย ยันไม่เคยหารือเอิร์ธฯออกมติเชิญเป็นกก.ย้ำสถานะผู้เสียหายฟ้องแพ่ง-อาญา
ก.ล.ต. กล่าวโทษ ก.ก. EARTH 11 ราย ยินยอมให้ลงข้อความเท็จหนี้เพิ่ม2.6หมื่นล้าน
ตั้ง บ.อีวายฯ ทำแผน! ศาลสั่งฟื้นฟูกิจการ‘เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ’-หลังปมหนี้ 2.6 หมื่นล.
ถ้าผิดจริงคุก240ปี! กรุงไทยเตรียมแจ้งดีเอสไอเพิ่ม-พบปลอมใบขนถ่านหิน80ฉบับเกือบหมื่นล.
ใช้1.5หมื่นล.แลกเหมืองถ่านหิน! เปิดรายงานตรวจสอบบ.เอิร์ธฯ สัญญาซื้อ3หมื่นล.ล่องหน
แนะกสิกรไทย-กรุงศรี-ธสน.ตรวจสอบใบขนถ่านหิน 'เอิร์ธ' หวั่นเจอเหมือนกรุงไทย!
ฉ้อโกงกรุงไทยหลายพันล.ปลอมใบขนถ่านหิน บ.เอิร์ธกู้เงิน-แจ้งดีเอสไอลุยสอบ