ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อเกม Fortnite กลายเป็นเครื่องมือฟอกเงินของอาชญากรไซเบอร์?
"...ปัญหาสำคัญที่ตรวจสอบพบในขณะนี้คือ เงินที่ถูกใช้ไปในเกมเพื่อซื้อเสื้อผ้า อาวุธ อุปกรณ์ต่างๆ อาจจะมีความเชื่อมโยงไปถึงอาชญากรรมไซเบอร์ โดยวิธีการของอาชญากรไซเบอร์นั้นจะขโมยข้อมูลบัตรเครดิต จากนั้นก็จะนำข้อมูลนี้ไปซื้อ V Bucks แล้วขายต่อให้กับผู้เล่นด้วยราคาส่วนลดพิเศษ ซึ่งวิธีเหล่านี้ถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการฟอกเงิน..."
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกมของเด็กเยาวชน!
โดยสำนักข่าว Independent รายงานลักษณะกิจกรรมของอาชญากรรมไซเบอร์ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน โดยใช้เกม Fortnite ซึ่งเป็นเกมที่ถูกพัฒนาภายใต้ค่ายวีดีโอเกม Epic Games เป็นเครื่องมือสำคัญ ผ่านข้อบทความชื่อว่า "การที่เด็กเล่นเกม Fortnite จะไปสนับสนุนอาชญากรรมได้อย่างไร"
Intependent ระบุว่าเกม Fortnite ดังกล่าวนี้เป็นเกมออนไลน์แนวแบทเทิลรอยัล (แนวให้ผู้เล่นสู้กันเองจนเหลือผู้ชนะแค่คนสุดท้าย) ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่เยาวชนเพราะว่าเล่นได้ฟรี และอยู่ในแทบทุกอุปกรณ์การเล่น อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องเพลย์สเตชั่น 4 เครื่องเอ็กซ์บอกซ์ วัน เครื่องแมคอินทอช เครื่องนินเทนโด้ สวิตช์ และเครื่องสมาร์ตโฟน
แต่ปัญหาสำคัญที่ตรวจสอบพบในขณะนี้คือ เงินที่ถูกใช้ไปในเกมเพื่อซื้อเสื้อผ้า อาวุธ อุปกรณ์ต่างๆ อาจจะมีความเชื่อมโยงไปถึงอาชญากรรมไซเบอร์
โดยวิธีการของอาชญากรไซเบอร์นั้นจะขโมยข้อมูลบัตรเครดิต จากนั้นก็จะนำข้อมูลนี้ไปซื้อ V Bucks แล้วขายต่อให้กับผู้เล่นด้วยราคาส่วนลดพิเศษ ซึ่งวิธีเหล่านี้ถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการฟอกเงิน (V Bucks ซึ่งเป็นค่าเงินในโลกเสมือนเพื่อใช้ซื้ออุปกรณ์ในเกม โดยแหล่งที่ขายอุปกรณ์เหล่านี้ก็มาจากร้านค้าที่อยู่ในเกม Fornite เอง )
เบื้องต้น นักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของ Independent ได้ไปสำรวจตลาดมืดในโลกออนไลน์ซึ่งขาย V Bucks ควบคู่ไปกับการใช้ข้อมูลวิจัยของบริษัท Sixgill ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ พบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินเพิ่มเติมว่า การขาย V Bucks ด้วยราคาส่วนลดพิเศษเพิ่มเติมนั้น แหล่งที่ขายนั้นจะอยู่ในดาร์กเว็บ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ลับที่มีการขายสิ่งผิดกฎหมายในอินเตอร์เน็ต การเข้าถึงจะต้องใช้โปรแกรมพิเศษ สำหรับการขาย V Bucks นั้นถือว่าอยู่ในลิสต์ยอดนิยมของดาร์กเว็บเช่นกัน และนอกจากนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขาย V Bucks ด้วยราคาพิเศษ บนสื่อโซเชียลมีเดีย อาทิ ทวิตเตอร์ และอินสตราแกรม ด้วย
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ของบริษัท Sixgill ซึ่งได้แฝงตัวเป็นลูกค้าที่ต้องการจะซื้อ V Bucks พบข้อมูลอีกว่าการขาย V Bucks ด้วยส่วนลดดังกล่าวนั้น ได้กระทำกันในหลายประเทศทั่วโลก และในหลายภาษา อาทิ ภาษาจีน ภาษารัสเซีย ภาษาอารบิก และภาษาอังกฤษ
โดยนายเบนจามิน พรีมินเจอร์ (Benjamin Preminger) นักวิเคราะห์ข้อมูลอาวุโสของบริษัท Sixgill เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมกับ Independent ว่าพฤติกรรมของอาชญากรไซเบอร์นั้นถือได้ว่าเยาะเย้ยต่อระบบรักษาความปลอดภัยที่มีจุดอ่อนของค่ายวีดีโอเกม Epic Games เป็นอย่างมาก และยังสะท้อนให้เห็นว่า ทางค่ายเกมนั้นไม่ได้สนใจที่มีผู้เล่นไปโกงระบบและไปซื้อ V Bucks ที่ลดราคาเลยแม้แต่น้อย
ทั้งนี้ มีรายงานว่ามีผู้เล่นมากกว่า 200 ล้านคนเล่นเกมนี้ทั่วโลก โดยตัวเกม Fortnite นั้นทำกำไรให้กับบริษัท Epic Games สูงถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 95,238 ล้านบาท ในปี 2561 ที่ผ่านมา
แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าอาชญากรไซเบอร์นั้นสามารถทำกำไรไปได้เท่าไรจากกระบวนการฟอกเงินนี้ ขณะที่ บริษัท Sixgill ได้ตรวจพบว่าอุปกรณ์ในเกม Fortnite นั้นสามารถขายได้มูลค่ารวมถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.9 ล้านบาทบนเว็บไซต์อีเบย์ ในช่วงเวลาแค่ 60 วัน ในปี 2561 เท่านั้น
independent ยังได้ตรวจสอบข้อมูลบนดาร์กเว็บ พบข้อความของผู้ขาย V Bucks รายหนึ่งโพสต์ข้อความในส่วนแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ขายว่าตอนนี้ ฉันรวยโ***ๆ ดังนั้นถึงเวลาจะคืนส่วนลดจำนวนมหาศาลนี้กลับไปบ้าง
โดยผู้ขาย V Bucks รายดังกล่าวยังได้เสนอว่าพร้อมจะรับเงินบิทคอยน์ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกเข้ารหัส ซึ่งลักษณะสกุลเงินนั้นจะถือว่าเป็นแบบกึ่งปิดตัวตน และยากต่อหน่วยงานด้านกฎหมายจะติดตามข้อมูลทางธุรกรรมได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่านักวิจัยบางส่วนจากบริษัทรักษาความปลอดภัยด้านไอที Zerofox ยังได้สืบค้นข้อมูลว่า มี 53,000 กรณีฉ้อโกงบนโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเกม Fortnite ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือน ก.ย.-ต.ค. ในช่วงปี 2561 และมีการคาดการณ์ว่าร้อยละ 86 ของการฉ้อโกงนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม และทวิตเตอร์
ขณะที่นายเบนจามินเองก็ออกมาระบุว่า ดูเหมือนว่าทาง Epic Games นั้นจะไม่สนใจที่จะออกมาตรการเพื่อป้องกันกิจกรรมฟอกเงินที่เกิดขึ้นโดยใช้ระบบเกมของค่ายเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆที่การป้องกันการฟอกเงินนั้นแม้ว่าจะยาก แต่ก็มีมาตรการอื่นที่พอจะทำได้ เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมที่น่าสงสัย อาทิ การตรวจสอบการซื้ออุปกรณ์มูลค่าสูงภายในเกม การตรวจสอบผู้เล่นที่สะสม V Bucks ไว้เป็นจำนวนมาก และการแชร์ข้อมูลกับหน่วยที่รักษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง (เรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์ :https://www.independent.co.uk/news/fortnite-v-bucks-discount-price-money-dark-web-money-laundering-crime-a8717941.html)
ทั้งหมดนี่ ถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญซึ่งหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศไทยไม่ควรมองข้าม เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เล่นเกมจำนวนมากในทุกระบบ การเฝ้าระวังการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวเกมจึงนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อปธ.คกก.จัดโอลิมปิกญี่ปุ่น ถูกอัยการฝรั่งเศสสอบปมจ่ายสินบน73ล.?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบ.ส่งเสบียงให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกสอบปมฉ้อโกงสัญญา 8 พันล.เหรียญ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อบ.ลูกโฟล์คสวาเกน ยอมรับมีเอี่ยวโกงทดสอบค่าปล่อยมลพิษสหรัฐฯ ด้วย
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดกรณีสินบนจัดซื้อ 'กริพเพน' แสนล.กระทบปมทุจริตอดีตผู้นำบราซิล
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯสอบสวน ปมเอี่ยวฟอกเงินเกาหลีเหนือ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ปธ.ANOC ลงจากตำแหน่ง หลังถูกสอบปลอมแปลงกระบวนการอนุญาโตฯ จัดโอลิมปิก