เปิดข้อมูลเด็ด! มัดบิ๊ก อสมท เซ็นอนุมัติใบคิวแต่ปล่อย? โฆษณาเกินเวลาคดีไร่ส้ม
“…คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดต่าง ๆ รวมทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ตรวจสอบแต่เฉพาะรายการโฆษณาเกินกว่าข้อตกลงของฝั่งบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น และพยานที่เกี่ยวข้องที่เป็นพนักงานและบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จึงไม่สามารถอธิบายถึงข้อตกลงและแนวทางปฏิบัติในการออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินในรายการคุยคุ้ยข่าวอย่างชัดเจน เพราะเกรงว่าจะส่งผลให้ผู้บริหารและพนักงานจำนวนมากของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุ ปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อระเบียบและข้อบังคับของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ข้อตกลงตามสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์ และต้องมีความรับผิดทางกฎหมาย…”
หลายคนคงทราบไปแล้วว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวบรวมข้อเท็จจริง กรณีการโฆษณาเกินเวลาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด พบพยานหลักฐานใหม่ที่ส่อให้เห็นว่า ผู้บริหารระดับสูงใน อสมท มีส่วนรู้เห็นมาตลอดกับการโฆษณาเกินเวลาในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ดำเนินรายการโดยนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา (พิธีกรชื่อดัง และกรรมการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด) คิดเป็นเงินกว่า 237 ล้านบาท
โดยมีประเด็นสำคัญว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจสอบในชุดต่าง ๆ รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเฉพาะการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เพียงอย่างเดียว แต่ไม่เคยตรวจสอบในส่วนของ อสมท เลย นั่นจึงอาจทำให้การไต่สวนข้อเท็จจริงของคดีนี้ในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาจมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากการนำรายการโฆษณาส่วนเกินมาแทรกในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ล้วนเป็นการกระทำของ อสมท ทั้งสิ้น มิได้เกิดจากการที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ส่งคิวโฆษณาเกินเวลาให้แก่ อสมท แต่อย่างใด (อ่านประกอบ : ส่อเจตนาทุจริตร้ายแรง!พฤติการณ์บิ๊ก อสมท ‘จงใจตลอดมา’ โฆษณาเกินเวลาคดีไร่ส้ม?, กมธ.สื่อฯพบหลักฐานใหม่คดีไร่ส้ม อสมท โฆษณาเกินเวลาด้วย-บิ๊กพัวพันอื้อไม่เคยถูกสอบ)
คราวนี้มาดูในส่วนของการพิจารณาอนุมัติ และรับรองใบคิวโฆษณาของ อสมท ที่แสดงให้เห็นกันอย่างชัดเจนว่า ผู้บริหารของ อสมท ทราบถึงการออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินของทั้งสองฝ่ายอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงจากรายงานของ กมธ.สื่อฯ สนช. ให้ทราบ รายละเอียด ดังนี้
จากการตรวจสอบสัญญาจ้างงานของเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริต พบว่ามีการระบุตำแหน่งงานไว้ว่า “พนักงานพิมพ์ดีด” แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วได้ความว่า บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าผู้นั้นจัดทำใบคิวโฆษณารวมในรายการต่าง ๆ ที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ร่วมดำเนินการผลิตกับเอกชน แล้วส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติเพื่อออกอากาศตามขั้นตอน
เมื่อได้ตรวจสอบใบคิวโฆษณารวมของรายการคุยคุ้ยข่าวที่เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าผู้นั้นได้จัดทำขึ้นเพื่อเสนอให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติแล้ว พบว่าได้มีการระบุรายการโฆษณาทั้งของฝ่ายบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และฝ่ายบริษัทไร่ส้ม จำกัด ถูกต้องตรงกับคิวโฆษณาที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ส่งมาให้ทำใบคิวโฆษณารวม โดยไม่มีการปกปิดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข และได้มีการเสนอใบคิวโฆษณารวมแก่ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าในขณะนั้น หรือเจ้าหน้าที่ระดับบริหารที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าและผู้บริหารสำนักกลยุทธ์การตลาดตามลำดับการบังคับบัญชา ให้พิจารณาและลงลายมือชื่ออนุมัติการออกอากาศ เมื่อผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าในขณะนั้น หรือเจ้าหน้าที่ระดับบริหารที่ได้รับมอบหมายลงลายมือชื่ออนุมัติให้ออกอากาศแล้ว จะมีการจัดทำสำเนาใบคิวโฆษณารวมจำนวน 16 ชุด แจกจ่ายไปยังแผนกหรือฝ่ายต่าง ๆ แล้ว จึงจะมีการออกอากาศรายการโฆษณาตามใบคิวโฆษณาดังกล่าว และภายหลังจากที่มีการออกอากาศรายการโฆษณาแล้ว ฝ่ายออกอากาศของสถานีโทรทัศน์จะจัดทำรายการรับรองผลการออกอากาศ (Master Control) ระบุรายละเอียดเวลาโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และเวลาโฆษณาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด อย่างชัดเจนส่งไปยังผู้บริหารฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า และผู้บริหารสำนักกลยุทธ์การตลาดในขณะนั้น กำกับดูแลอยู่เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนให้บริการจัดทำเอกสารแสดงหลักฐานการโฆษณาทางโทรทัศน์ประจำวันของสถานีโทรทัศน์ตามที่ออกอากาศจริง (Monitor Advertising หรือ BR) เพื่อเป็นหลักฐานให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปตรวจสอบการทำธุรกรรมของตนว่าได้มีการออกอากาศจริงตามข้อตกลงหรือไม่
จึงสรุปได้ว่ารายการโฆษณาส่วนเกินในรายการคุยคุ้ยข่าวทั้งของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เป็นรายการที่เปิดเผยปรากฏอยู่ในเอกสารใบคิวโฆษณารวมซึ่งมีการส่งไปยังแผนกหรือฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทุกครั้งก่อนแพร่ภาพออกอากาศ หลังจากออกอากาศแล้วก็ปรากฏในเอกสารรายงานรับรองผลการออกอากาศ (Master Control) ซึ่งมีการพิจารณาและลงลายมือชื่อรับรองอนุมัติโดยเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฝ่ายกลยุทธ์การตลาดและฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบและข้อบังคับของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แล้ว โดยไม่มีการปกปิดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลรายการโฆษณาแต่อย่างใด
จากการศึกษาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว มีความเห็นว่าใบคิวโฆษณารวมที่เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริตจัดทำขึ้นและรายงานรับรองผลของการออกอากาศ (Master Control) ที่ฝ่ายออกอากาศของสถานีจัดทำ ได้เสนอให้เจ้าหน้าที่ระดับบริหารพิจารณาลงลายมือชื่ออนุมัติและตรวจสอบ เป็นหลักฐานอันหนักแน่นที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและตามระเบียบและข้อบังคับของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ต้องทราบและได้อนุมัติให้มีการออกอากาศรายการโฆษณาเกินเวลาทั้งของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัทไร่ส้ม จำกัด ตลอดมา โดยไม่เคยถูกปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโฆษณาเกินของทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด
ส่วนข้อที่อ้างว่าไม่ทราบว่ามีโฆษณาเกิน เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าไม่รายงานการออกอากาศโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ให้ทราบนั้น มีความเห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวมีความไม่สมเหตุผล เพราะเมื่อใบคิวโฆษณารวมและรายการรับรองผลการออกอากาศ (Master Control) ปรากฏรายการโฆษณาเกินเวลาทั้งของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ตามที่ได้มีการออกอากาศจริงแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้พิจารณาและลงลายมือชื่ออนุมัติให้ออกอากาศรายการโฆษณาดังกล่าวและผู้บริหารสำนักกลยุทธ์การตลาดในขณะนั้น ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบโฆษณาทั้งหมดรวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุ อาทิ ผู้บริหารฝ่ายขายผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ และผู้บริหารบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง จะไม่ทราบถึงรายการโฆษณาเกินเวลาไปได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก ใบคิวโฆษณารวมและรายงานรับรองผลการออกอากาศ (Master Control) มีรายละเอียดการโฆษณาเกินเวลาของทั้งสองฝ่ายตามที่ออกอากาศจริง
จึงมีความเห็นว่าเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นหลักฐานที่ชัดเจนแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฝ่ายงานต่าง ๆ ที่มีอำนาจและหน้าที่ตามระเบียบและข้อบังคับของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นั้น ได้ทราบถึงการโฆษณาเกินเวลาของทั้งสองฝ่ายตลอดมา โดยที่ไม่จำต้องได้รับรายงานใด ๆ เพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีก การที่มีรายการโฆษณาเกินเวลาของทั้งสองฝ่ายในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริหารของบริษัทบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุมิใช่การถูกผู้ใต้บังคับบัญชาปกปิดไม่รายงานโฆษณาส่วนเกินแต่อย่างใด
ความในข้อนี้ยังปรากฏจากรายงานการประชุมบันทึกคำชี้แจงของนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบันที่ระบุว่ากรณีรายการคุยคุ้ยข่าวมีโฆษณาเกินเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายและผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่ดูแลด้านนี้อนุมัติหรือปล่อยให้มีโฆษณาเกินเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอันเป็นการสนับสนุนความเห็นดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2548 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แจ้งให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มาชำระเงินโฆษณาส่วนเกิน ซึ่งนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้ทั้งท้วงบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ในเรื่องบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินของตนเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา และเกินกว่าจำนวนรายการโฆษณาส่วนเกินของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด
ต่อมาจึงมีข้อตกลงว่าบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะให้เครดิตการออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินแก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยจะนำเครดิตดังกล่าวไปหักกลบกับเวลาออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้นำรายการคุยคุ้ยข่าวซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ไปขายเวลาโฆษณาเกินกว่าข้อตกลงในสัญญาร่วมดำเนินการโทรทัศน์ในแต่ละสัญญาทุกสิ้นเดือน หากกลบกันแล้ว รายการโฆษณาส่วนของเกินของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีมากกว่าของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะไม่เรียกให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ชำระเงิน แต่หากรายการโฆษณาส่วนเกินของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีมากกว่าของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แล้ว บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะแจ้งให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ทราบ และให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มาชำระเงินโดยทำหนังสือขอซื้อเวลาออกอากาศรายการโฆษณาเฉพาะส่วนที่ล้ำจำนวนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยให้ชำระราคาภายใน 1 เดือน
ผลจากข้อตกลงดังกล่าว ปรากฏหลักฐานในเอกสารบันทึกภายในของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 21 มีนาคม 2548 หลังจากบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ทำหนังสือของซื้อเวลาโฆษณาและขออนุมัติเครดิต ลงวันที่ 2 มีนาคม 2548 เพื่อให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พิจารณาอนุมัติเครดิตและส่วนลดค่าเวลาโฆษณา ซึ่งผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้มีการพิจารณาอนุมัติไปตามลำดับขั้นตอนจนเสร็จสิ้น และในเดือนมีนาคม 2548 บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ออกอากาศรายการโฆษณาเกินกว่าที่กำหนดในสัญญาเป็นเวลา 7 นาที 15 วินาที แต่ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าได้แจ้งเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ากระทำการทุจริต ให้แจ้งแก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ว่าให้มาชำระเงินค่ารายการโฆษณาส่วนเกินเพียง 3 นาที 30 วินาที และได้มีการทำสัญญาซื้อเวลาโฆษณาในเดือนพฤษภาคม 2548 ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด
นอกจากนี้ในการที่มีเวลาโฆษณาเกินที่กฎหมายกำหนดเกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะรายการได้รับความนิยมจากผู้ชมจำนวนมาก หากผู้บริหารฝ่ายขายและฝ่ายกลยุทธ์การตลาด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีความเห็นว่าสมควรจะขายเวลาการออกอากาศรายการคุยคุ้ยข่าวจากระยะเวลา 30 นาที เป็นระยะเวลา 60 นาที เป็น 90 นาที หรือจาก 60 นาที เป็น 90 นาที ระยะเวลา 60 นาที เป็นระยะเวลา 90 นาที หรือ 120 นาที ดังเช่นรายการถึงลูกถึงคนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ก็อยู่ในอำนาจของผู้บริหารของฝ่ายงานกลยุทธ์การตลาด ฝ่ายขายและฝ่ายงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะนำเสนอให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะดำเนินการได้ตามอำนาจและหน้าที่ที่มีอยู่ และนำไปสู่การแก้ไขสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์ที่มีอยู่ต่อไป
ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีข้อตกลงว่าหากบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินมากกว่าแล้ว บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ต้องเป็นฝ่ายแจ้งให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ทราบเพื่อเรียกเก็บเงิน เพราะการกำกับดูแลการออกอากาศโฆษณาเป็นฝั่งบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แต่ผู้เดียว
แต่ผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฝ่ายกลยุทธ์การตลาดและผู้บริหารฝ่ายขายในขณะเกิดเหตุ กลับละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว อันส่อให้เห็นถึงพิรุธที่น่าสงสัยว่าสาเหตุที่ไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าโฆษณาส่วนเกินตลอดมานั้น สืบเนื่องจากผู้บริหารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุละเลยหรือจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับการนำเข้าและออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งล้ำจำนวนกว่าของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เป็นอันมาก ครั้นพอมีการสอบสวนจนพบข้อเท็จจริงว่าบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีโฆษณาเกินข้อตกลง ก็กลับไม่มีการตรวจสอบโฆษณาเกินข้อตกลงในฝั่งบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดต่าง ๆ รวมทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็ตรวจสอบแต่เฉพาะรายการโฆษณาเกินกว่าข้อตกลงของฝั่งบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น และพยานที่เกี่ยวข้องที่เป็นพนักงานและบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จึงไม่สามารถอธิบายถึงข้อตกลงและแนวทางปฏิบัติในการออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินในรายการคุยคุ้ยข่าวอย่างชัดเจน เพราะเกรงว่าจะส่งผลให้ผู้บริหารและพนักงานจำนวนมากของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในขณะเกิดเหตุ ปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อระเบียบและข้อบังคับของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ข้อตกลงตามสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์ และต้องมีความรับผิดทางกฎหมาย
จึงมีความเห็นว่าสมควรให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงในการลงโฆษณาส่วนเกินเวลาในส่วนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในการนำรายการคุยคุ้ยข่าวซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ไปขายเวลาโฆษณาในส่วนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในการลงเวลาโฆษณาในส่วนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และนำเวลาโฆษณาที่ขายนั้นมาลงโฆษณาในรายการคุยคุ้ยข่าวมีจำนวนเวลาโฆษณาในส่วนของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เกินกว่าข้อตกลงตามที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์แต่ละฉบับระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีจำนวนเพียงใด และจำต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในการนำรายการคุยคุ้ยข่าวไปขายเวลาโฆษณาให้แก่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด จำนวนเพียงใด ตามสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์แต่ละฉบับและตามที่กฎหมายกำหนด
นี่คือรายละเอียดฉบับเต็มในส่วนของพยานหลักฐานสำคัญ ได้แก่ ใบคิวโฆษณา 16 ใบที่ถูกจัดทำโดย อสมท และผู้บริหารระดับสูงของ อสมท รับทราบ และเป็นผู้เซ็นอนุมัติทุกอย่าง แต่กลับปล่อยปละละเลยให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นได้ ?
แต่รู้กันหรือไม่ว่า นอกเหนือจากคิวโฆษณา 16 ใบดังกล่าวแล้ว กมธ.สื่อฯ สนช. ยังพบว่า มีโฆษณาที่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นเจ้าของ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ‘โฆษณาผี’ โผล่ในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ด้วย
รายละเอียดเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอในตอนถัดไป!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ศาลรับฎีกา-ตีหลักทรัพย์5ล.ให้ประกัน 'สรยุทธ-พวก'คดีไร่ส้ม มีเงื่อนไขห้ามไป ตปท.
ฎีกาไม่ให้ประกันตัว'สรยุทธ-พวก'หลังยื่น4ล.-ศาลอุทธรณ์ยืนคุก13ปี4เดือนคดีไร่ส้ม
ถ้าทุจริตคงไม่ร่วมมือ อสมท สอบ! คำต่อคำ‘สรยุทธ’หลังศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีปลอมเอกสาร
ศาลอุทธรณ์ตัดสินคดี‘สรยุทธ’โฆษณาเกินเวลา 29 ส.ค.-ยืนชั้นต้นจำหน่ายคดีปลอมเอกสาร
ชัด ๆ คำพิพากษาศาล! คดี‘สรยุทธ-พวก’โฆษณาเกินเวลา 138 ล.
ไม่รอลงอาญา! ศาลสั่งจำคุก‘สรยุทธ-พวก’ 13 ปี 4 เดือนคดีไร่ส้ม
ช่อง 3 โยน บ.ไร่ส้ม ตัดสินใจ เปลี่ยนพิธีกร 'เรื่องเล่าเช้านี้'