- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ชัด ๆ คำพิพากษาศาล! คดี‘สรยุทธ-พวก’โฆษณาเกินเวลา 138 ล.
ชัด ๆ คำพิพากษาศาล! คดี‘สรยุทธ-พวก’โฆษณาเกินเวลา 138 ล.
“…จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดลบรายการโฆษณาที่เกินเวลาในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากใบคิวโฆษณารวม แสดงถึงการปกปิดข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่เป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์และรับเงินตามเช็ค เป็นการต้องห้าม … ส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาโดยตลอด ดังนั้นจำเลยที่ 3 น่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การใช้เงินแม้จะให้โดยเสน่หา แต่ไม่รายงานให้ทราบก็เป็นการสนับสนุน…”
ทราบบทสรุปกันไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับคดี ‘ไร่ส้ม’ !
โดยศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท ไร่ส้ม จำกัด นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานบริษัท ไร่ส้มฯ กรณีถูกกล่าวหายักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อสมท กว่า 138 ล้านบาท
โดยศาลพิพากษาจำคุกนางพิชชาภา 30 ปี ลดโทษเหลือ 20 ปี จำคุกนายสรยุทธ กับ น.ส.มณฑา 20 ปี นำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 13 ปี 4 เดือน และสั่งปรับบริษัท ไร่ส้มฯ เป็นเงิน 1.2 แสนบาท โดยมีความผิดตามมาตรา 6, 8 และ 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
ล่าสุด นายสรยุทธ-พวก อยู่ระหว่างยื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยนายสรยุทธ วางเป็นเงินสด 2 ล้านบาท อย่างไรก็ดีโทษดังกล่าวค่อนข้างหนัก ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ต้องให้ศาลสูงเป็นผู้พิจารณาหลักทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น นายสรยุทธจะต้องถูกคุมขังอยู่ที่ศาลอาญาก่อน
(อ่านประกอบ :ไม่รอลงอาญา! ศาลสั่งจำคุก‘สรยุทธ-พวก’ 13 ปี 4 เดือนคดีไร่ส้ม)
เพื่อขยายความให้ชัดเจนขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำพิพากษาบางส่วนให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การร่วมผลิตรายการ จำเลยที่ 2 (บริษัท ไร่ส้มฯ) ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต ส่วนจำเลยที่ 3 (นายสรยุทธ) เป็นพิธีกรจัดรายการทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุชัดว่าถ้ามีโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่ง จำเลยที่ 2 ต้องขอซื้อโฆษณาส่วนเกินย้อนหลังและชำระค่าโฆษณาเกินให้แก่บริษัท อสมทฯ โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิ์แบ่งค่าโฆษณาส่วนเกินคนละเท่า ๆ กับบริษัท อสมทฯ
ขณะเดียวกันศาลปกครองสูงสุดยังมีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินและไม่มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดทางการค้าปกติร้อยละ 30 จากค่าโฆษณาส่วนเกิน 138,790,000 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขณะที่ จำเลยที่ 1 (นางพิชชาภา) ซึ่งมีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา แต่ไม่รายงานการโฆษณาที่เกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้บริษัท อสมทฯ ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ศาลได้ใช้พยานหลักฐานสำคัญคือ รายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ อสมทฯ 2 ชุด โดยคณะกรรมการฯดังกล่าว มีความเห็นทำนองว่า จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดลบรายการโฆษณาที่เกินเวลาในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากใบคิวโฆษณารวม แสดงถึงการปกปิดข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่เป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์และรับเงินตามเช็ค เป็นการต้องห้าม จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8 และ 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาโดยตลอด ดังนั้นจำเลยที่ 3 น่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การใช้เงินแม้จะให้โดยเสน่หา แต่ไม่รายงานให้ทราบก็เป็นการสนับสนุน
ในทางนำสืบศาลเห็นด้วยกับสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าจำเลยจ่ายเช็คเพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการใด ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย
การที่จำเลยที่ 2-4 นำเช็คไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายเพราะการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 บริษัทไร่ส้มได้ชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน จำนวน 138,790,000บาท แก่บริษัท อสมทฯ แล้วจึงลงโทษสถานเบา
พิพากษาจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ มาตรา 6 ,8 และ 11 จำเลยที่ 2-4 มีความผิดฐานสนับสนุนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 6 ,8 และ 11 การกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม มาตรา 6 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษสุด รวม 6 กระทง ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 หมื่นบาท รวมปรับ 1.2 แสนบาท จำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 (น.ส.มณฑา) กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 คนละ 20 ปี แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3และ 4 คนละ 13 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 8 หมื่นบาท ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1, 3 และ 4
ทั้งหมดคือความเห็นบางส่วนของศาลอาญา ซึ่งถือเป็น 'ชั้นต้น' เท่านั้นในกระบวนการยุติธรรม ยังเหลือการพิจารณาในชั้นศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา กันอีก
อ่านประกอบ :