มติสนช. เห็นด้วย 182 เสียง ผ่านวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค
มติ สนช.เห็นด้วย 182 เสียง รับหลักการวาระแรก ร่างกม.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ตั้งกมธ.วิสามัญ พิจารณาภายใน 45 วัน ‘มณเฑียร บุญตัน’ ชำแหละกฤษฎีกาแก้สาระสำคัญฉบับ สคบ.หายไป ด้าน ปธ.สุรชัย กำชับนำความเห็นค้านของภาคปชช. ประกอบพิจารณา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 10 ม.ค. 2562 ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานในการประชุม มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ... วาระที่ 1 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอเป็นเรื่องเร่งด่วน
โดยที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นด้วยในวาระที่ 1 รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว 182 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง จากทั้งหมด 190 เสียง
ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 17 คน ดังต่อไปนี้ นายอำพล วงศ์ศิริ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, นายถนัดกิจ นิวาทวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง สำนักงานกฤษฎีกา, พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต, นายฉัตรชัย ปิยะสมบัติกุล, นายประมุท สูตะบุตร, นายพรศักดิ์ เจียรณัย, นายภาณุ อุทัยรัตน์, นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์, นายสมพล เกียรติไพบูลย์, รศ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์, พล.อ.สรรชัย อจลานนท์, พล.อ.สุชาติ หนองบัว, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี, นายธีรวัฒน์ จันทรสมบูรณ์, น.ส.สารี อ๋องสมหวัง และพล.อ.เสรี วงศ์ประจิตร โดยมีกำหนดเวลาพิจารณาภายใน 45 วัน นับแต่มีมติแต่งตั้ง และกำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 15 วัน นับถัดจากวันที่มีมติ
สำหรับหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ...นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีทั้งหมด 20 มาตรา โดยเป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”
กฎหมายฉบับนี้ตั้งขึ้นบนพื้นฐานของความจริงว่า คนตัวใหญ่กับคนตัวเล็กมีอำนาจไม่เท่ากัน จะเห็นบริษัทใหญ่จำนวนมาก ทำหน้าที่ผลิต มีทนาย มีอำนาจเงิน อำนาจต่าง ๆ มากมาย แต่ผู้บริโภคตัวเล็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่สามารถต่อสู้ในเชิงกฎหมายกับบริษัทเหล่านั้นได้ ซึ่งมีกรณีหลากหลายเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น การเช่าซื้อ นำไปสู่การยึด ไฟแนนซ์ ค่าธรรมเนียมมากมาย อสังหาริมทรัพย์ ซื้อบ้านไม่ได้บ้าน หรือได้บ้านร้าว เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีความทุกข์ใจ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องและคนตัวเล็ก ๆ อย่างประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค 60 ฉบับ อย่างไรก็ตาม ในการคุ้มครองดังกล่าวมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคปัจจุบันต่อเนื่อง และการละเมิดของผู้บริโภคดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบการทำธุรกิจ เทคโนโลยี และความซับซ้อนต่างๆ เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้การให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแลผู้บริโภคเท่านั้นอาจไม่ทันต่อการละเมิดสิทธิผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับเอกชนและภาคประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคเสริมการทำงานของภาครัฐ
“ปัจจุบันมีองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นองค์กรของภาคประชาชนดำเนินการหลายองค์กร แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องกำหนดกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อให้สิทธิกับองค์กรเหล่านั้นในการรวมตัวเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง อิสระ เกิดพลังเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเหมาะสม”นายกอบศักดิ์ ระบุ
ด้านนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช. กล่าวว่า สิ่งแปลกประหลาด คือ ครม.ให้ความเห็นชอบใน ร่าง กม. ฉบับ สคบ.ยกร่าง และประชาชนเห็นด้วยถ้วนหน้า แต่เมื่อผ่านครม.นัดแรก และเข้าสู่การพิจารณาปรับแก้โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กลับออกมาคนละเรื่อง จึงห่วงใย ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมาย หลังจากประชาชนรอมา 22 ปี แต่สาระสำคัญขาดหายไป เป็นสาระสำคัญที่ปรากฎในร่างฉบับ สคบ. คือ มีสภาเดียว เป็นสภาแห่งชาติ ระดับประเทศ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความเป็นอิสระ แต่ฉบับที่นำเสนอต่อ สนช. มาตรา 9 กลับไม่ปรากฎหลักฐานใดเลยที่เป็นหลักประกันว่า จะมีสภาที่ทรงพลังคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้แห่งชาติแห่งเดียว เกิดจากการรวมตัวอย่างเหนียวแน่น
ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ในฐานะประธาน กล่าวว่า เนื่องจากร่าง กฎหมาย ฉบับนี้ มีเครือข่ายภาคประชาชนยื่นหนังสือไม่เห็นด้วยไว้หลายประเด็น ดังนั้นจะให้เจ้าหน้าที่ทำสำเนาแจกให้คณะกรรมาธิการให้รับทราบ เพื่อนำความคิดเห็นดังกล่าวประกอบการพิจารณาด้วย .
มีแล้วไม่ดี ไม่มีดีกว่า ‘กม.ตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค’ ล้าหลัง-จี้สนช. ยุติพิจารณา
เข้าสนช. 10 ม.ค.! ภาคประชาสังคมยันร่างกม. จัดตั้งองค์กรผู้บริโภคต้องมีสภาเดียว เป็นเอกภาพ
ภาพประกอบ:เว็บไซต์เเนวหน้า
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/