มีแล้วไม่ดี ไม่มีดีกว่า ‘กม.ตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค’ ล้าหลัง-จี้สนช. ยุติพิจารณา
ภาคประชาสังคมค้าน ร่างกม.จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ล้าหลัง ขาดอิสระ จี้สนช.ยุติพิจารณา หากจำเป็นเสนอใช้ฉบับ สคบ. แทน ขณะที่ 9 ม.ค. เตรียมยื่นหนังสือถึง ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’
วันที่ 10 -11 ม.ค. 2562 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ...หรือเดิมคือร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายหลังผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ แล้วเสร็จ และส่งกลับไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
ทั้งนี้ แนวคิดการจัดตั้ง “องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค” ที่เป็นอิสระ มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งร่างกฎหมายในขณะนั้น คือ ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... ได้รับการผลักดันจนถึงชั้นการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่มีการยุบสภาและรัฐประหารเสียก่อน ทำให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ถูกประกาศบังคับใช้
จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 46 บัญญัติว่า “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ครม. จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นเจ้าภาพในการจัดทำร่างกฎหมายตามมาตรา 46 และได้มีการยกร่างกฎหมายขึ้นมา ซึ่งขณะนั้นยังไม่ระบุชื่อ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทั่วประเทศ ระหว่าง พ.ย.-ธ.ค. 2560 โดยใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” ต่อมา เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ปรับเปลี่ยนหลักการของกฎหมายใหม่เป็น “ร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค”
หากแต่ประเด็นที่มีการถกเถียงและถูกมองว่าเป็นความล้าหลังของการออกกฎหมายดังกล่าว คือ การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคไม่ได้มาจากสภาเดียวหรือองค์กรเดียว ทำให้ขาดความเป็นอิสระและพลังในการขับเคลื่อนทำงานเพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยถูกนำเสนอไว้เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 เวที 222 องค์กร ค้านการพิจารณาร่างกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
‘สุภัทรา นาคะผิว’ กรรมการในคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ชำแหละความล้าหลังของร่างกฎหมายไว้อย่างละเอียด โดยระบุร่างกฎหมายที่กำลังจะถูกเสนอเข้าไปสู่การพิจารณาของ สนช. ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริโภคที่ได้ผลักดันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 หรือ 22 ปีที่ผ่านมา โดยประเด็นสำคัญ คือ ชื่อของกฎหมายสะท้อนให้เห็นว่ารับรองเฉพาะการจัดตั้งสภาฯ เท่านั้น แต่ไม่ได้รับรององค์กรระดับประเทศของผู้บริโภค ซึ่งเราต้องการเห็นกฎหมายที่ให้การรับรองสภาองค์กรผู้บริโภคระดับชาติเพื่อให้มีที่นั่งเหมือนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ สภาหอการค้าไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่มีสภาเดียว เป็นปากเป็นเสียงของผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกันเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เขียนให้มีสภาเดียว พูดง่าย ๆ คือมีโอกาสเกิดสภาองค์กรผู้บริโภคหลายสภา ซึ่งบทเรียนของการมีหลายสภา ยกตัวอย่าง สภาองค์กรลูกจ้าง พบว่า เกิดความขัดแย้ง ไม่มีเอกภาพ เวลารัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจะคัดเลือกคนไปทำงาน จะคัดเลือกเฉพาะคนที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกัน ภาษาชาวบ้านเรียกว่า เตะตัดขากันไปมา ทำให้ไม่มีความเจริญเท่าที่ควร
“เราอยากเห็นความเป็นเอกภาพเหมือนสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีสภาเดียวและกฎหมายรองรับชัดเจน แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง”
สุภัทรา กล่าวยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของ ครม. จัดรับฟังความคิดเห็นจากทั่วประเทศ และผู้บริโภคมีส่วนร่วม ในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เขียนถึงสำนักงาน ซึ่ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อ้างว่า ให้เป็นเรื่องภายใน ตั้งสภาฯ แล้ว ให้ออกระเบียบข้อบังคับเอง ขณะที่เรากำลังนำเสนอว่า การระบุให้มีสำนักงานในกฎหมาย หมายถึงการมีงบประมาณนำมาใช้สนับสนุนการขับเคลื่อนสภาองค์กรผู้บริโภคระดับชาติ ภาษากฎหมายเรียกว่า ให้ช้าง ม้า ลา รถ ถ้าไม่ให้เครื่องมือเหล่านี้ โอกาสที่จะขับเคลื่อนงานจะเป็นไปตามยถากรรม ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นหลายที่
“แม้ไม่มีกฎหมาย พวกเราได้รวมตัวกันเป็นองค์กรผู้บริโภคแล้ว ในระดับภาค สมาคม สมาพันธ์ เป็นไปได้ด้วยดี ในแง่บทบาทหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นคิดว่า ถ้ามีกฎหมายฉบับที่จะเข้า สนช. แบบนี้ ไม่มีดีกว่า เพราะไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับผู้บริโภคเลย ส่วนที่รัฐบาลอ้างว่าจะมีการเลือกตั้งในเร็ว ๆ นี้ หากตามมารยาททั่วไป สนช. ควรหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ถ้าไม่สำคัญจริงๆ จึงให้หยุดการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ หากจะพิจารณาให้นำฉบับผ่านครม.เมื่อ 5 มิ.ย. มาแทน” สุภัทรา กล่าวในที่สุด
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ไม่เห็นด้วยเช่นกันที่จะให้ร่างกฎหมายเข้าไปสู่การพิจารณาของสนช. เนื่องจากไม่ได้รักษาหลักการของกฎหมายเดิมที่ ครม.เห็นชอบ และมีสคบ.เป็นเจ้าภาพ และผ่านความเห็นชอบของผู้บริโภคทั่วประเทศแล้ว แต่ปรากฎว่า เมื่ออยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ กลายเป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเปลี่ยนไปมาก ทำให้ขาดความชอบธรรม
“เนื้อหาของกฎหมายไม่สื่อถึงความเป็นตัวแทนของผู้บริโภค แต่มุ่งเน้นกระบวนการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ในการทำงาน และภาระหน้าที่ยังไม่สอดคล้องกับงบประมาณที่ขาดการระบุไว้อย่างชัดเจน ไม่มีความอิสระและพลังของผู้บริโภค ดังนั้น เสนอให้หยุดการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน” เครือข่ายนักวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค เรียกร้อง
บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนรัฐธรรมนูญไว้เหมือนว่า ไทยไม่มีองค์กรเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเลย ทั้งที่มีการรวมตัวอยู่แล้ว นี่คือความล้าหลัง ไม่แน่ใจว่า ตั้งใจล้าหลังหรือวางยาอะไรไว้ เพราะเราไม่ทราบว่า มังกรทางกฎหมายซ่อนอะไรไว้บ้าง
“เหตุผลที่อยากได้กฎหมาย เพื่อต้องการหลังพิง แต่หากได้มาแล้ว นอกจากพิงไม่ได้ ยังมาล้มทับการทำงาน จึงไม่อยากได้กฎหมายฉบับนี้” นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าว และมองว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ชอบมาพากล เพราะสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ สคบ. เป็นเจ้าภาพในการยกร่าง จนผ่านหลักการครม. แต่กลับถูกคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ รื้อทั้งหมด โดยอ้างว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่แน่ใจว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์หรือไม่
บุญยืน ยืนยันว่า สภาองค์กรผู้บริโภคต้องมีสภาเดียว องค์กรเดียว เพราะอยากให้มีพลังเป็นตัวแทนของผู้บริโภคได้ ไม่ใช่มีหลายสภา แล้วรัฐคัดเลือกสภาใดสภาหนึ่งไปเป็นตัวแทน ถ้าคนไปเป็นตัวแทนไม่ได้ทำงานเพื่อผู้บริโภคจริง ๆ เราจะต้องไปทะเลาะกับคนที่เป็นตัวแทนอีก ฉะนั้น สิ่งที่เราไม่ต้องการเลย คือการไปทะเลาะกับกฎหมายฉบับนี้เอง โดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ถ้ามีกฎหมายแล้วไม่มีใครได้ประโยชน์ ถ้ามีแล้วไม่ดี จะมีทำไม ไม่มีเสียดีกว่า
“ขอส่งเสียงไปถึง สนช. ให้ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่ได้เร่งด่วน ขนาดถ้าไม่มีแล้วบ้านเมืองไปต่อไม่ได้” นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าว
************************************
ทั้งปวงนี้ วันที่ 9 ม.ค. 2562 ผู้แทนองค์กรต่าง ๆ จะเดินทางไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ให้ยุติการนำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวพิจารณาทันที .
อ่านประกอบ:เข้าสนช. 10 ม.ค.! ภาคประชาสังคมยันร่างกม. จัดตั้งองค์กรผู้บริโภคต้องมีสภาเดียว เป็นเอกภาพ
ภาพประกอบ:มีชัย ฤชุพันธุ์ -ผู้จัดการออนไลน์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/