ย้อนประวัติ-ภาพถ่าย ปิดตำนาน 49 ปี ‘รร.ดุสิตธานี”
5 ม.ค. 62 ปิดตำนาน 49 ปี ‘รร.ดุสิตธานี’ กรุงเทพฯ สู่โครงการมิกซ์ยูส มูลค่าเกือบ 4 หมื่นล. รองรับนักท่องเที่ยวในโลกยุคดิจิทัล
วันที่ 5 ม.ค. 2562 เป็นวันปิดตำนานอย่างเป็นทางการของ “โรงแรมดุสิตธานี” สีลม กรุงเทพฯ หลังจากเปิดให้บริการมายาวนานร่วม 49 ปี
ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (มิกซ์ยูส) มูลค่า 3.67 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โรงแรม อาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย ศูนย์การค้า พื้นที่สีเขียว ภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า เพื่อตอบรับความเป็นดิจิทัลและรสนิยมของนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ต้องการเฉพาะที่พักอาศัยและคาดหวังให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางเมืองหลวง
ทั้งนี้ โรงแรมดุสิตธานี ถือกำเนิดขึ้นมา จากความมุ่งมั่นของ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ซึ่งทำเลเดิมคือ “บ้านศาลาแดง” ที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ราชเสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมีสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ สมาคมนักเรียนแพทย์ สมาคมเภสัชกรรม และสมาคมพยาบาลตั้งอยู่
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ได้เจรจาขอเช่าที่ดินผืนดังกล่าว แล้วได้จัดตั้งบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท โดยใช้ชื่อ “ดุสิตธานี” ซึ่งนึกขึ้นได้ระหว่างสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ที่ลานหน้าลุมพินี
ชุดยูนิฟอร์มเเรก เมื่อปี ค.ศ.1969
“หลายฝ่ายแนะนำให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ เพราะโรงแรมจะต้องบริการแก่ชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้เรียกง่ายและเข้าใจง่าย แต่ดิฉันคิดว่าดิฉันเป็นคนไทย โรงแรมนี้อยู่ในประเทศไทย ควรใช้ชื่อไทย การออกเสียงก็ไพเราะ มีความหมาย และชื่อก็เป็นมงคลแก่ผู้ที่มาเข้าพักด้วย คือ ได้อยู่บนสวรรค์ชั้น 4 ทีเดียว และเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน” ท่านผู้หญิงชนัตถ์ เคยบอกเล่าไว้
ขณะที่ตราสัญลักษณ์ของโรงแรม ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ได้ติดต่อบริษัท แลนดอร์ ซึ่งตั้งอยู่ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ให้ออกแบบให้ โดยเป็นอักษรโรมัน มีความอ่อนช้อย ลีลาลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะแบบไทย และยังเป็นบริษัทแรก ๆ ของไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย
“ดุสิตธานี” ได้รับการขนานนามให้เป็น “แลนด์มาร์ก” ช่วงหนึ่งของกรุงเทพฯ เพราะในเวลานั้น นับเป็นอาคารสูงถึง 23 ชั้น มีห้องพักมากกว่า 500 ห้อง ตั้งบนฐานสามเหลียมลดหลั่นสอบเข้าทีละชั้นทีละน้อย บนยอดแต่งกรวยปลายแหลมเรียวคล้ายยอดเจดีย์
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นโรงแรมแห่งแรกในไทยที่เปิดให้บริการห้องอาหารชั้นบนสุดของอาคาร ชื่อว่า “ห้องเทียร่า” ในรูปแบบซัปเปอร์ คลับ นั่งกินข้าว ฟังเพลง โดยมีนักร้องหรือนักดนตรีที่มีชื่อเสียงสลับหมุนเวียนกันมาแสดงทุกสองสัปดาห์ ท่ามกลางบรรยากาศดื่มด่ำกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน ซึ่งสมัยนั้นสามารถมองเห็นไกลถึงแม่น้ำบางปะกงทีเดียว
ล่าสุด ได้นำเสนอความเป็นไทยและเอกลักษณ์อันโดดเด่นของโรงแรมสู่สายตาคนทั่วโลกกับการต้อนรับผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 กว่า 90 ประเทศทั่วโลก เก็บตัวและทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ ฐานะเจ้าภาพถือว่า ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะรอบไทยไนท์ ซึ่งผู้เข้าประกวดแต่งชุดไทยจากการออกแบบของดีไซเนอร์ชื่อดังของไทย เดินแบบให้ยลโฉมบนเวทีที่ถูกเนรมิตขึ้นภายในโรงแรมแห่งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจสุดท้ายปิดฉากอย่างสวยหรู หลังจากก่อนหน้านี้เคยต้อนรับผู้มีชื่อเสียงจากทั่วทุกสารทิศแดนไกลมาอย่างต่อเนื่อง
ไทยไนท์ มิสยูนิเวิร์ส 2018
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการปิดดุสิตธานี เมื่อครั้งครบรอบ 48 ปี ของโรงแรมแห่งนี้ว่า โครงการรูปแบบผสมที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า ไม่ใช่การพัฒนาโครงการที่มีมูลค่าทางการเงินเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาโครงการที่มีมูลค่าทางจิตใจ เพราะพื้นที่ 23 ไร่ เป็นของสำนักงานทรัพย์สินฯ ดังนั้น จึงตั้งใจทำให้กลับมาเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ อีกครั้ง เหมือนเมื่อ 48 ปีก่อน
การพัฒนาจึงยังคงผสมผสานแนวคิดการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และสถาปัตยกรรมไทยที่โดดเด่น โดยจะนำบางส่วนของโรงแรมเดิมไปใช้ในโครงการใหม่ รวมถึงต้นลีลาวดีที่ปลูกอยู่ในโรงแรมจะขุดไปไว้ในโครงการด้วย ดังนั้น รูปแบบจึงไม่ทิ้งความเป็นบริบทของดุสิตธานี และนอกจากจะยังเป็นจุดศูนย์กลางทางธุรกิจและค้าปลีกแล้ว ยังต้องเชื่อมต่อโครงข่ายการจราจรเข้ากับระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ทั้ง รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที เพื่อหวังให้ชุมชนโดยรอบกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง
น้ำตกจำลองในโรงเเรมดุสิตธานี
ขณะที่สุกัญญา จันทร์ชู ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ระบุ หากไม่มีการพัฒนาโครงการจะไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจโรงแรมได้ เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น และต้องการโรงแรมที่ไม่ได้เป็นแค่ที่พักอาศัยเท่านั้น แต่ต้องมีทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในนั้น เช่น ร้านอาหาร แหล่งช้อปปิ้ง ธนาคาร ไปรษณีย์ และคาดว่า โครงการแบบผสมที่กำลังได้รับการพัฒนาจะเพิ่มให้มีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น
จากความมุ่งมั่นของท่านผู้หญิงชนัตถ์ เมื่อเกือบ 49 ปีที่แล้ว กลายเป็นความสำเร็จจวบจนวันนี้ และนับเป็นความท้าทายอีกครั้งหนึ่งกับการตัดสินใจปิดฉากเพื่อสร้างใหม่รองรับความเจริญของโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า .
หมายเหตุ:เรียบเรียงจากหนังสือ DUSIT THANI 48TH ANNIVERSARY จัดทำโดย โรงแรมดุสิตธานี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/