กม.มีผล 9 ม.ค. ห้ามผลิต-นำเข้า ‘ไขมันทรานส์’ -อย.เล็งสุ่มตรวจ ฝ่าฝืนจำคุกสูงสุด 2 ปี
จับตาหลังบังคับใช้กม. 9 ม.ค. 62 ห้ามนำเข้า ผลิต จำหน่าย “ไขมันทรานส์” อย.ชี้ไม่ได้หมายความว่า “ปราศจาก 0%” เล็งสุ่มตรวจ พบผู้ฝ่าฝืนโทษจำคุก 6 ด.-2 ปี ปรับสูงสุด 2 หมื่นบาท แนะผู้ประกอบการติดฉลากระบุตามข้อเท็จจริง
วันที่ 4 ม.ค. 2562 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เครือข่ายลดการบริโภคไขมัน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และมูลนิธิหมอชาวบ้าน จัดเสวนา “จับตาไขมันทรานส์หลังกฎหมายบังคับใช้” จากการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ม.ค. 2562
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย. กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 มีสาระสำคัญห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันหรือไขมันประเภทหนึ่งที่ผ่านกระบวนการไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นน้ำมันหรือไขมันประเภทนี้เป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ช่วง 180 วัน ก่อนที่ประกาศจะใช้บังคับ ตั้งแต่ ก.ค. ส.ค. และ 18 ธ.ค. ได้เรียกผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ที่ผลิตน้ำมันที่มีไฮโดรเจนบางส่วน มาพูดคุยเพื่อย้ำให้มั่นใจในกระบวนการผลิตไม่เติมโฮโดรเจนแล้ว ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้บังคับเฉพาะผู้ผลิตในประเทศเท่านั้น แต่บังคับผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศด้วย ถ้าพบมีการนำเข้าจะสั่งยกเลิกทันที
“แม้จะห้ามนำเข้าหรือผลิต แต่ไม่ได้หมายความว่าอาหารจะมีไขมันทรานส์เป็นศูนย์ เพราะไขมันทรานส์มีในธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้น้ำมันเติมไฮโดรเจนบางส่วน จะมีไขมันทรานส์น้อยมาก” ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย.กล่าว และว่า หากผู้ประกอบการหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ฝ่าฝืนกระทำผิดใช้น้ำมันเติมไฮโดนเจนบางส่วน จะมีโทษตามมาตรา 50 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน -2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท
ภญ.สุภัทรา กล่าวย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้ใช้คำว่า ห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่าย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า สินค้าผลิตก่อน 9 ม.ค. 2562 ห้ามนำมาจำหน่ายหลังวันที่กฎหมายบังคับใช้ หากสุ่มตรวจพบจะถูกดำเนินคดี ขณะที่ผู้บริโภคจะสังเกตฉลากสินค้า โดยอย.ได้หารือกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับข้อความแสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเขียนว่า “ปราศจากไขมันทรานส์” ไม่ได้ เพราะไขมันทรานส์มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ต้องเขียนข้อความตามข้อเท็จจริงว่า “ปราศจากไขมันหรือน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน”
ด้านดร.พิเชฐ อิฐกอ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความกังวลกับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้น้ำมันประเภทดังกล่าวทอด จำเป็นต้องเปลี่ยนภายหลังมีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งต้องยอมรับว่า ในสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดี อาจมีคนรู้กฎหมายแล้วไม่อยากทำ หรือผู้ไม่รู้กฎหมายว่าห้ามใช้ ดังนั้นจึงกังวลกลุ่มนี้มาก เนื่องจากมีความรู้ในเรื่องกฎหมายน้อย และไม่ได้อยู่ในกลุ่มเครือข่ายเหมือนสภาอุตสาหกรรม ภาคประชาชนจึงต้องช่วยกันกระจายความรู้สร้างความเข้าใจให้มากขึ้น
ขณะที่ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่า อย.ควรดูใบยืนยันส่วนผสมในสินค้าที่ด่านนำเข้าและสถานประกอบการผลิตอาหาร โดยจะสุ่มตัวอย่าง หากเป็นน้ำมันเนยจากธรรมชาติ ไขมันทรานส์ต้องอยู่ที่ประมาณ 6% หากเป็นน้ำมันหรือไขมันที่ได้มาจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนจะมีไขมันทรานส์สูงถึง 40-50% ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ แม้จะมีการปรับปรุงสูตรการผลิตไขมันแล้ว สิ่งสำคัญต้องระวัง คือ ไขมันอิ่มตัว ที่อาจเพิ่มขึ้นเพื่อมาทดแทน และสิ่งที่ภาครัฐต้องเฝ้าระวัง คือ การกล่าวอ้างว่า ปลอดจากไขมันทรานส์ 0% หากจะกล่าวอ้างต้องใช้เกณฑ์ร่วมกับไขมันอิ่มตัว โดยไขมันอิ่มตัวต่อหน่ายบริโภคต้องไม่เกิน 5 กรัมต่อมื้อ และไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อมื้อ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/