ทอท.แจงผูกซื้อ-ซ่อมเครื่อง FOD 880ล. เหตุ บ.ไทยขายได้เจ้าเดียว-รับเคยเสียปี 55 เจอน้ำขัง
ผอ.ฝ่ายสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ทอท. แจง อิศรา ปมผูกจัดซื้อ-ซ่อมเครื่องเอฟโอดี 880 ล. ทำตามระเบียบ ยัน บ.แดนไทย เป็นตัวแทนอิสราเอลขายได้เจ้าเดียวในไทย ของมีประสิทธิภาพมาก กิ้งก่าอยู่บนรันเวย์ ยังตรวจจับได้ ยอมรับช่วงปี 55 เคยเจอปัญหาเครื่องเสียขัดข้องจริง เหตุปัญหาน้ำขัง แต่ไม่เยอะ ปัจจุบันแก้ไขหมดแล้วใช้งานได้ตามปกติ
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการทำสัญญาจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบและอุปกรณ์ตรวจจับวัสดุแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ท่าอากาศยาน หรือ เอฟโอดี ระหว่าง บริษัท การท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. และ บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด พบว่า นับตั้งแต่ ทอท. จัดซื้อระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดี จากบริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด สัญญาแรก วงเงิน 668.75 ล้านบาท เมื่อปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ทอท. ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด เข้ามาซ่อมบำรุง รักษาระบบตรวจจับเอฟโอดี เพิ่มเติมอีก 5 สัญญา รวมวงเงิน 212 ล้านบาท นับรวมจำนวนงานเกี่ยวกับการจัดซื้อซ่อมบำรุงรักษาระบบตรวจจับเอฟโอดี ที่บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด ได้รับจากทอท. ไปทั้งหมด 6 สัญญา รวมวงเงินทั้งสิ้น 880 ล้านบาท
โดยในช่วงเดือนเม.ย.2555 ทอท. ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด เข้ามารับงานจ้างรื้อถอนพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ตรวจับเอฟโอดี ตามสัญญาที่ 6CP4-551032 เป็นจำนวนเงิน 13,482,000 บาท ระยะเวลาดำเนินงาน 150 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.2555 ถึง 29 ส.ค.2555 หลังตรวจสอบสถานะระบบและอุปกรณ์ตรวจจับเอฟโอดี ณ วันที่ 11 ก.ย.2555 พบว่า อุปกรณ์ SDU ทางวิ่งฝั่งทิศตะวันออก อุปกรณ์ทั้งหมด 132 ตัว มีเหตุขัดข้อง 52 ตัว ใช้งานได้ 80 ตัว ส่วนอุปกรณ์ SDU ฝั่งทิศตะวันตก อุปกรณ์ทั้งหมด 120 ตัว มีเหตุขัดข้อง 79 ตัว ใช้งานได้ 41 ตัว เบื้องต้น ยังไม่ปรากฎข้อมูลชัดเจนว่า สาเหตุความขัดข้องดังกล่าว เกิดจากเครื่องมือ หรือเกิดการปฏิบัติงานของสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่มีกำหนดรับประกันผลงาน 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2555 ถึง 28 ก.พ.2557(อ่านประกอบ : ข้อมูลลับ 'ทอท.' จัดซื้อเครื่องตรวจรันเวย์ 668 ล้าน เฉลี่ยตัวละ1.4 ล.- เคยขัดข้องปี 55?, ซื้อ 668 ล้าน ซ่อมบำรุงอีกปีละ49ล.! เบ็ดเสร็จ ทอท.จ้างติดตั้งเครื่องตรวจรันเวย์ 880 ล.)
ล่าสุด ทอท. ได้มอบหมายให้ นายธวัชชัย รัตนทองคง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้กับสำนักข่าวอิศรา โดยนายธวัชชัย กล่าวยืนยันว่า "เครื่องเอฟโอดีเป็นเทคโนโลยีจากประเทศอิสราเอล มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาก ขนาดกิ้งก่าเดินอยู่บนรันเวย์ ก็ยังสามารถตรวจจับได้ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทแดนไทยเพียงแค่เจ้าเดียวเท่านั้นที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องเอฟโอดีในประเทศไทย"
ส่วนข้อมูลการตรวจสอบพบปัญหาเครื่องเสียขัดข้องในปี 2555 นั้น นายธวัชชัย ระบุว่า ขอเรียนข้อเท็จจริงว่าสาเหตุที่เครื่องเสียขัดข้อง เป็นเพราะสภาพภูมิประเทศของสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะแม้ว่าตัวเครื่องจะระบุคุณสมบัติว่ากันน้ำได้ แต่เนื่องจากประเทศไทยเวลาฝนตกหนัก ก็จะมีน้ำขังอยู่ในแอ่ง ทำให้เครื่องเอฟโอดีต้องแช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน เครื่องก็เลยมีปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอิสราเอล ดังนั้นทางบริษัทแดนไทยฯ และบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี จึงได้ซ่อมแซมเครื่องเอฟโอดีที่มีปัญหาให้ นำเอาเครื่องไปปรับปรุง จนสามารถแช่ในน้ำที่ขังได้แล้ว ขณะที่ทาง ทอท. ไม่ได้เสียเงินให้กับการปรับปรุงคุณภาพหรือว่าการซ่อมเครื่องในกรณีนี้แต่อย่างใด เพราะถือว่าเครื่องยังอยู่ในประกัน และตามเงื่อนไขในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างก็ระบุชัดเจนว่าเครื่องจะต้องใช้งานได้ตามสภาพแวดล้อมของสนามบิน
"ส่วนที่มีการรายงานว่ามีเครื่องขัดข้องในฝั่งตะวันออกจำนวน 52 ตัว และฝั่งตะวันตก 79 ตัวนั้น ต้องขอเรียนข้อเท็จจริงว่าเครื่องไม่ได้เสียเป็นจำนวนมากตามที่ระบุแต่อย่างใด แต่เป็นปัญหาที่การวางสายวงจรซึ่งส่งพลังงานไปยังเครื่อง โดยวงจรเหล่านี้มีความเชื่อมต่อกันเป็นลำดับ เช่นมีอยู่ 132 เครื่อง เรียงกันอยู่ตามรันเวย์ สมมติถ้าหากมีเครื่องเอฟโอดีหมายเลขที่ 81 ใช้การไม่ได้แค่เครื่องเดียว หมายความว่าเครื่องเอฟโอดีลำดับที่ 82-132 ก็จะใช้การไม่ได้ตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ปัจจุบันได้รับการแก้ไขแล้ว โดยมีการวางวงจรเครื่องเป็นวงกลม ให้เชื่อมโยงกับเครื่องอื่นๆด้วยเพื่อที่ว่าเครื่องใดเครื่องหนึ่งเสีย เครื่องลำดับหลังๆจะได้ไม่มีปัญหาตามกันไปด้วย"
เมื่อถามว่า แต่มีข้อมูลว่า ทอท.มีการทำสัญญาว่าจ้างบริษัท แดนไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด เข้ามารับงานจ้างรื้อถอนพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ตรวจับเอฟโอดี ตามสัญญาที่ 6CP4-551032 เป็นจำนวนเงิน 13,482,000 บาท ระยะเวลาดำเนินงาน 150 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.2555 ถึง 29 ส.ค.2555
นายธวัชชัย ยืนยันว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วมีการโอเวอร์เลย์หรือการเสริมสร้างเนื้อผิวของรันเวย์เครื่องบินส่วนหนึ่งให้มีความหนายิ่งขึ้น ส่งผลทำให้เครื่องเอฟโอดีที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว ต้องมีการรื้อถอนออกไป และติดตั้งกลับเข้ามาใหม่ จึงต้องจ้างทางบริษัทแดนไทยให้เข้ามาทำหน้าที่ในการรื้อถอนตรงนี้ โดยใช้งบประมาณ 13,482,000 บาทดังกล่าว แต่เงินจำนวนนี้ไม่ได้มีแค่ค่ารื้อถอนและติดตั้งเครื่องเอฟโอดีใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการวางวงจรเครื่องเป็นวงกลม เพื่อป้องกันในกรณีว่าเครื่องใดเครื่องหนึ่งเสีย เครื่องลำดับหลังๆจะไม่เกิดปัญหาว่าใช้การไม่ได้ตามกันไปด้วย
ส่วนการทำสัญญาจ้างบริษัทแดนไทย ฯ มาซ่อมบำรุงเครื่องปีละ 49 ล้านบาทนั้น นายธวัชชัย ชี้แจงว่า "ประกันของเครื่องเอฟโอดีนั้นจริงๆหมดไปตั้งแต่หลังจาก 3 ปีที่ ทอท.ได้รับส่งมอบเครื่องเอฟโอดีแล้ว ดังนั้น จึงต้องมีการจ่ายเงินว่าจ้างและบำรุงรักษาเพื่อให้เครื่องเอฟโอดีที่มีอยู่เพื่อใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง"
“ก็เหมือนเวลาที่เราซื้อคอมพิวเตอร์ มันก็จะมีประกันสินค้ามาให้ระยะเวลาหนึ่ง พอหมดประกัน มันก็จะมีแพคเกจเรื่องการต่อประกันใหม่ที่จะต้องจ่ายเงินค่าประกันเป็นรายๆปีไป ซึ่งกรณีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อบำรุงรักษาเครื่องเอฟโอดีนี้ก็เช่นกัน แต่ของเรานั้นเหนือกว่าประกันเหล่านี้มาก เพราะว่ามีการดูแลเครื่องเอฟโอดีทั้งเชิงรับและเชิงรุก คือ มีการไปตรวจสอบเครื่องเอฟโอดีอยู่สม่ำเสมอว่าใช้งานได้หรือไม่ มีประสิทธิภาพเต็มที่หรือไม่ หรือว่ามีปัญหาตรงไหนที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง ส่วนเครื่องที่เสีย ทางสนามบินสุวรรณภูมินั้นมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทแดนไทยประจำอยู่ จะต้องทำหน้าที่ตามสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างซ่อมเครื่อง โดยจะต้องซ่อมเครื่องให้เสร็จภายใน 12 ชั่วโมงนับตั้งแต่เครื่องเสีย ซึ่งตรงนี้ผมว่าคุ้มมากถ้าเทียบกับความปลอดภัยของผู้โดยสารบนเครื่องบิน” นายธวัชชัยกล่าว
พร้อมระบุว่า "ส่วนสาเหตุที่ต้องเป็นบริษัทแดนไทยนั้น ก็ต้องยอมรับว่าทางบริษัทเอกชนเขาก็หวงความรู้ในการดูแลบำรุงรักษาผลิตภัณฑ์ของเขา เลยไม่ยอมถ่ายทอดความรู้ตรงนี้ให้กับทาง ทอท. เพราะกลัวความลับของผลิตภัณฑ์จะหลุดลอดออกไปได้ ดังนั้น ทอท.ก็เลยต้องจัดซื้อจัดจ้างเขามาด้วยวิธีพิเศษ"
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าจ้างซ่อมบำรุงรายปีจำนวน 49,755,000 บาทนั้น จริงๆแล้วประมาณ 46 กว่าล้านบาท แต่ต้องไปบวกภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยก็เลยได้ราคาดังกล่าวออกมา ซึ่งราคานี้ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดเอาไว้ว่าราคาค่าซ่อมบำรุงรายปีจะต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของการซื้อขายระบบ โดยไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของ 688 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาของเครื่องเอฟโอดีและค่าติดตั้งอุปกรณ์"
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ทอท. ยังระบุด้วยว่า การใช้งานเครื่องเอฟโอดีในปัจจุบันนั้นทุกตัวสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่ก็ยังคงมีปัญหาเครื่องเสียอยู่บ้าง แต่ไม่เท่ากับตอนที่เครื่องเอฟโอดีประสบปัญหาน้ำขังต้องแช่น้ำเป็นระยะเวลานาน
"สาเหตุของการเสียนั้นก็มาจากรถในสนามบินไปชนกับตัวเครื่องบ้าง หรืออาจจะมีอะไรอย่างอื่นมากระแทกตัวเครื่องบ้าง แต่พอเกิดปัญหาก็ต้องมีการซ่อมแซมกันโดยเจ้าหน้าที่ของบริษัท ซึ่งส่วนตัวแล้วก็อยากจะแก้ไขในเรื่องน้ำขังในสนามบินพื้นที่ที่มีเครื่องเอฟโอดีในระยะยาว แต่เรื่องนี้คงจะต้องหารือกับทางฝ่ายโยธาธิการที่ทำหน้าที่ในเรื่องของการก่อสร้างปรับปรุงสนามบินด้วย" ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ของทอท. ระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
ข้อมูลลับ 'ทอท.' จัดซื้อเครื่องตรวจรันเวย์ 668 ล้าน เฉลี่ยตัวละ1.4 ล.- เคยขัดข้องปี 55?
พบ ทอท.จ้างแดนไทยฯซ่อมบำรุงเครื่องตรวจรันเวย์49 ล. หลังขายให้เมื่อ 8 ปีก่อน 668 ล.