เจาะงบดุล-ภาษีค้าง 'บ.โอเอฯ-เสี่ยธงชัย'ทัวร์ศูนย์เหรียญ ก่อนรัฐเปิดฉากยึดทรัพย์4.6 พันล.
"..การลงมาสืบสภาพทรัพย์ที่ถูกอายึดไว้ในวันนี้ ว่า และมีทรัพย์สินอะไร ที่จะต้องดำเนินการหลังจากนี้ ซึ่งการตรวจสภาพทรัพย์ที่ถูกอายัดในวันนี้ เป็นที่น่าพอใจ ทรัพย์ยังอยู่ในสภาพคงเดิมทั้งหมด และในขณะนี้ผู้ประกอบการยังสามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ เนื่องจากตามคำสั่งศาลแพ่งให้ยึดอายัดทรัพย์เฉพาะที่ดินและอาคารเท่านั้น ส่วนสินค้ายังสามารถจำหน่ายได้เหมือนเดิม และหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ ปปง.จะเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เช่น ในเรื่องของสัญญาเช่าว่าได้ดำเนินการกับใครไว้บ้าง เป็นต้น..."
ชื่อของ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง
หลังจากเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รองเลขาธิการฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ร่วมกับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พล.ต.ท.ธีรพล คุปตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พล.ต.ท.พงษ์วุฒิ พงศ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่สรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินที่ศาลแพ่งมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินในรายคดี นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี กับพวก รวมมูลค่ากว่า 4,600 ล้านบาท
โดย พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จากนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และดำเนินคดีกับกลุ่มบริษัทและห้างร้านที่มีพฤติการณ์เกี่ยวพันกับเรื่องภาษีเพื่อลดการผูกขาดและการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสำนักงาน ปปง. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพากร เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยในการดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินในรายคดี นายธงชัย รุ่งโรจรังสี กับพวก หรือ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ในครั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำ ฟ.158/2561 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 และคดีหมายเลขดำที่ ฟ.84/ 2561 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีคำสั่งให้เลขาธิการ ปปง.เป็นผู้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว ประกอบด้วย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั้ง ภูเก็ต ชลบุรี นนทบุรี นครปฐม ซึ่งมีทั้ง อาคารชุด โรงแรมหรูในจังหวัดชลบุรี บริษัทจำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณีในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 97 รายการ มูลค่า 2,964 ล้านบาท เงินฝากในบัญชีธนาคาร จำนวน 30 รายการ มูลค่า 136 ล้านบาท และสลากออมสิน จำนวน 2 รายการ มูลค่า 1,500 ล้านบาท รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดและอายัดทรัพย์ ทั้งสิ้น 4,600 ล้านบาท
ขณะที่ ในคดีนี้ สำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจาก กรมสรรพากร ให้ดำเนินการตรวจสอบ เนื่องจากมีพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำความผิดในเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่ง กรมสรรพากร ได้ตรวจสอบการชำระภาษีของ บริษัทโอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554 -2559 พบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นวงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท อันเป็นความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามมาตรา37 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
น่าสนใจว่า ข้อมูลทางธุรกิจ ณ ปัจจุบัน ของ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด เป็นอย่างไร
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ล่าสุด พบว่า จดทะเบียน 23 มีนาคม 2536 ทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 739/3 ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทุกประเภท นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2560 นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี ถือหุ้นใหญ่เท่ากัน คนละ 20 % หุ้นที่เหลือกระจายอยู่ในชื่อคนนามสกุล โรจน์รุ่งรังสี ทั้งหมด
โฟกัสข้อมูลงบการเงินตั้งแต่ปี 2554-2559 ที่กรมสรรพากรตรวจสอบพบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นวงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท พบว่า
ปี 2554 แจ้งว่า มีรายได้รวม 89,996,314.61 บาท รวมรายจ่าย 86,720,681.45 บาท กำไรสุทธิ 2,562,621.65 บาท ข้อมูลงบดุลระบุว่า มีสินทรัพย์รวม 105,119,925.59 บาท มีหนี้สินรวม 93,505,309.61 บาท แจ้งยอดภาษีเงินได้นิติบุคคลค้างจ่าย 1,009,944.66 บาท
ปี 2555 แจ้งว่ามี รายได้รวม 126,734,960.37 บาท รวมรายจ่าย 120,711,750.04 บาท กำไรสุทธิ 4,629,530.15 บาท ข้อมูลงบดุล ระบุว่า มีสินทรัพย์รวม 105,567,639.25 บาท หนี้สินรวม 89,323,493.12 บาท แจ้งยอดภาษีเงินได้นิติบุคคลค้างจ่าย 1,630,351.76 บาท
ปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้รวม 122,959,077.97 บาท รวมรายจ่าย 106,443,513.01 บาท กำไรสุทธิ 12,441,773.46 บาท ข้อมูลงบดุล ระบุว่า มีสินทรัพย์รวม 114,730,378.92 บาท หนี้สินรวม 86,044,459.33 บาท แจ้งยอดภาษีเงินได้ค้างจ่าย 3,225,891.61 บาท
ปี 2557 แจ้งว่า มีรายได้รวม 80,126,948.84 บาท รายจ่ายรวม 71,520,890.38 บาท กำไรสุทธิ 6,852,563.57 บาท ข้อมูลงบดุล ระบุว่า มีสินทรัพย์รวม 185,948,099.90 บาท หนี้สินรวม 150,403,175.84 บาท แจ้งยอดภาษีเงินได้ค้างจ่าย 892,460.14 บาท
ปี 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 88,636,843.68 บาท รวมรายจ่าย 83,801,397.69 บาท กำไรสุทธิ 3,701,939.13 บาท ข้อมูลงบดุล ระบุว่า มีสินทรัพย์รวม 413,747,751.25 บาท หนี้สินรวม 374,500,888.06 บาท แจ้งภาษีเงินได้ค้างจ่าย 146,629.86 บาท
ปี 2559 แจ้งว่า มีรายได้รวม 219,950,127.37 บาท รวมรายจ่าย 190,932,656.69 บาท กำไรสุทธิ 6,824,033.77 บาท ข้อมูลงบดุล ระบุว่า มีสินทรัพย์รวม 839,115,380.14 บาท หนี้สินรวม 793,044,483.18 บาท แจ้งภาษีเงินได้ค้างจ่าย 3,861,694.45 บาท
ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2554-2559 ตัวเลขรายได้ และสินทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นจำนวนมากทุกปี ขณะที่ตัวเลขหนี้สินก็เพิ่มสูงตามขึ้นด้วย ส่วนตัวเลขภาษีเงินได้ค้างจ่ายอยู่ที่หลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อปี โดยปี 2559 ค้างจ่ายภาษีมากสุดอยู่ที่ 3,861,694.45 บาท
ขณะที่ในช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. ได้เผยแพร่คำสั่งอายัดทรัพย์สินรายนายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี กับพวก จำนวน 125 รายการ มูลค่า 4,246,569,770 บาท เนื้อหาระบุว่า นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี กับพวก มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงและฉ้อโกงภาษีอากร ได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือที่เป็นเครือข่ายโดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร และมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ ตามการประสานงานจากอธิบดีกรมสรรพากร ที่พิจารณาว่า นายธงชัย กระทำความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าแต่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ครบถ้วนตามจำนวนรายได้ที่แท้จริง สำหรับปีภาษี 2554-2559 เข้าลักษณะเป็นการกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบายหรือโดยวิธีอื่นใดทำนองเดียวกัน จึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว
นอกจากนี้เจ้าพนักงานได้ประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 2,180,121,957.69 บาท เบี้ยปรับ 4,360,246,915.38 บาท และเงินเพิ่ม 1,247,993,274.82 บาท ซึ่งเป็นจำนวนภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป
สำหรับการกระทำในลักษณะที่เป็นขบวนการหรือเป็นเครือข่ายโดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมิน หรือรายได้เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากรด้วยการกระจายเงินที่ได้รับจากการประกอบกิจการขายสินค้าที่ร้านทั้ง 4 ไปยังหน่วยภาษีอื่นซึ่งตนเองได้สร้างขึ้นโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นอันเป็นความเท็จ มีการกระทำอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อมิให้ต้องเสียภาษีจากเงินได้ซึ่งตนเองได้สร้างขึ้นโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นอันเป็นความเท็จ มีการกระทำอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อมิให้ต้องเสียภาษีจากเงินได้ที่ตนเองได้รับมาจากการขายสินค้า
มีพฤติกรรมปกปิดซ่อนเร้นทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิได้ติดตามทรัพย์สินได้ โดยนายธงชัย ได้โอนเงินจากบัญชีร้านค้าทั้ง 4 ไปให้นายบุญชัยหรือบุคคลอื่นนั้นเข้าลักษณะเป็นการปกปิดทรัพย์สินเพื่อมิให้กรมสรรพากรสามารถติดตามทรัพย์สินได้ แม้มีการประเมินเรียกเก็บภาษีจากนายธงชัยแล้ว แต่กรมสรรรพากรไม่สามารถติดตามเอาทรัพย์สินจากนายธงชัยได้ กรมสรรพากรจึงส่งเรื่องมาให้ ปปง.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
สำหรับทรัพย์สินที่ ปปง. มีคำสั่งอายัด ประกอบด้วยห้องชุด 4 รายการ และโฉนดที่ดิน 121 รายการ ในชื่อ นายธงชัย 40 รายการ และบริษัทในเครือข่ายของนายธงชัย 11 บริษัท จำนวน 81 รายการ อาทิ บริษัท รอยัล เจมส์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท เจมส์ คอลเลคชั่น อินเตอร์ชั่นแนล จำกัด บริษัท รอยัลพาร์ค พัทยา จำกัด บริษัท รอยัลพาราไดซ์ จำกัด บริษัท รอยัลพารากอน รีสอร์ท จำกัด บริษัท รอยัล ริเวอร์ พาราไดซ์ จำกัด บริษัท ตลาดน้ำคุ้มเกล้า จำกัด บริษัท รอยัล พาราไดซ์ บีช จำกัด บริษัท รอยัล จอมเทียน บีช จำกัด บริษัท รอยัล นาคา รีสอร์ท จำกัด และ บริษัท รอยัล ครอคโคไดล์ ฟาร์ม จำกัด
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ถูกระบุว่า เป็นผู้ให้บริการรถบัสโดยสาร กับ บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด และ บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด ในการนำนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวที่ต่างๆ โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่ารถบัสโดยสาร
แต่มีข้อตกลงและเงื่อนไขจะต้องพานักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าตามร้านหรือสถานที่ตามที่ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด กำหนดไว้ 4 ที่ คือ 1.บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด2.บริษัทรอยัล พาราไดซ์ จำกัด 3.บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด 4.บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด
ขณะที่ มัคคุเทศก์ใช้วิธีบังคับ ล่อลวง ขู่เข็ญนักท่องเที่ยว ให้ซื้อสินค้าในราคาสูงเกินจริง โดย บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด (ซึ่งมีนางนิสา โรจน์รุ่งรังสี นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี กับพวก เป็นประธานกรรมการและกรรมการ) จะจ่ายเงินค่าตอบแทนจำนวน 20-30% จากยอดขายที่นักท่องเที่ยวซื้อสินค้า และหากไม่เป็นไปตามข้อตกลง บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด และ บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด จะต้องถูกปรับค่าเสียหาย
เบื้องต้น คณะกรรมการปปง. จึงมีมติยึดและอายัดทรัพย์สิน เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารของผู้เกี่ยวข้องบริษัทโอเอทรานสปอร์ต รวม 2,247 รายการ แบ่งเป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร 92 บัญชี เป็นเงิน 4,200 ล้านบาท และรถบัสโดยสาร จำนวน 2,155 คัน มูลค่า 9,000 ล้านบาท รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด 2,274 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 13,200 ล้านบาท
ขณะที่ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ กล่าวย้ำกับสื่อมวลชนที่มาติดตามทำข่าวการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ต เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินที่ศาลแพ่งมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินในรายคดีนายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี กับพวก รวมมูลค่ากว่า 4,600 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า การลงมาสืบสภาพทรัพย์ที่ถูกอายึดไว้ในวันนี้ ว่า และมีทรัพย์สินอะไร ที่จะต้องดำเนินการหลังจากนี้ ซึ่งการตรวจสภาพทรัพย์ที่ถูกอายัดในวันนี้ เป็นที่น่าพอใจ ทรัพย์ยังอยู่ในสภาพคงเดิมทั้งหมด และในขณะนี้ผู้ประกอบการยังสามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ เนื่องจากตามคำสั่งศาลแพ่งให้ยึดอายัดทรัพย์เฉพาะที่ดินและอาคารเท่านั้น ส่วนสินค้ายังสามารถจำหน่ายได้เหมือนเดิม และหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ ปปง.จะเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เช่น ในเรื่องของสัญญาเช่าว่าได้ดำเนินการกับใครไว้บ้าง เป็นต้น
บทสรุปการยึดและอายัดทรัพย์สิน นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี กับพวก ในเครือข่ายธุรกิจโอเอ ทรานสปอร์ต รวมมูลค่ากว่า 4,600 ล้านบาท จะเป็นเช่นไร ชวนให้น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
เลี่ยงภาษี 7.7 พันล.! ปปง.โชว์อายัดทรัพย์ ‘ธงชัย’ทัวร์ศูนย์เหรียญ 4.2 พันล.
จำแนกชัดๆ รายชื่อกลุ่มเครือข่าย'ทรานลี่&ฝูอัน'ทัวร์ศูนย์เหรียญ หลังโดนอายัดทรัพย์หมื่นล.
โกย 8.1พันล.! เปิดครบรายได้ขุมธุรกิจ11บ. เครือข่ายทัวร์ศูนย์เหรียญ 'โอเอทรานสปอร์ต'
สั่งอายัดทัวร์ศูนย์เหรียญ 'ฝูอัน' เพิ่ม245ล. เฉพาะทอง10ล.-เงินพุ่ง 13,435ล.
ตีแผ่ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ปรสิต (ร้าย) กัดกร่อนทำลายอาชีพไกด์
ผ่าขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญหมื่นล.'ฝูอัน & โอเอ'-บริษัทไหนจะถูกเช็คบิลรายต่อไป?
องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองเลขที่ 140 หมู่ 2 ถนนสุขุมวิท ตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง 21000 โทรศัพท์ : 0-3861-7430
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ถนนสวรรค์วิถี อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 60000 โทร. (056) 803 567-70 แฟกซ์. (056) 803 505
องค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหารถนนวิวิธสุรการ ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร 49000โทรศัพท์ 0-4261-5377