- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เศรษฐกิจ การเงิน การคลัง
- ตีแผ่ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ปรสิต (ร้าย) กัดกร่อนทำลายอาชีพไกด์
ตีแผ่ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ปรสิต (ร้าย) กัดกร่อนทำลายอาชีพไกด์
“มัคคุเทศก์ต้องบีบบังคับให้นักท่องเที่ยวจ่ายเพิ่มมากสุดเท่าที่จะมากได้ พูดได้ว่าเมื่อรวมกันแล้วจะต้องให้ได้รับเข้ามาคุ้มกับที่เสียค่าหัวไป เพื่อเหลือแล้วจะได้กำไร แต่มัคคุเทศก์ไทยไม่ทำ จึงทำให้ต้องนำเข้าชาวต่างชาติเข้ามาทำหน้าที่นี้ และเกิดการบังคับขู่เข็ญสารพัด”
1 ส.ค. 2560 สมาพันธ์สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย จะยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ละเลยการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อมัคคุเทศก์ ซึ่งตามกฎหมายระบุชัดให้เป็นอาชีพของคนไทย
รวมถึงเตรียมจัดเวทีเสวนาพูดคุยถึงประเด็นปัญหา ทางออก ของมัคคุเทศก์ ในต้น ส.ค. โดยจะเชิญมัคคุเทศก์สมาคมต่าง ๆ รมว.การท่องเที่ยวฯ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
ขบวนการ ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ ถือเป็นปัญหาที่สั่งสมเรื้อรังมานาน แม้นายจารุพล เรืองเกตุ ประธานสมาพันธ์สมาคมมัคคุเทศก์ฯ พยายามจะสะท้อนปัญหา แต่ดูเหมือนนางกอบกาญจน์ จะปิดตาข้างหนึ่ง ไม่ยินดีรับฟัง ยิ่งทำให้กังวลว่า การปฏิเสธไม่พูดถึงปัญหาในอดีตนั้นจะยิ่งทำให้ปัญหาที่มีอยู่เน่าเหม็นคละคลุ้งมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับข้อมูลจากผู้คร่ำหวอดในแวดวงมัคคุเทศก์มาหลายสิบปี เปิดเผยขบวนการของทัวร์ศูนย์เหรียญให้ฟังว่า เกิดขึ้นระหว่างไทย-จีน โดยไทยจะมีบริษัททัวร์ (บริษัทแม่) ที่จดทะเบียนจัดตั้งกับกรมการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจะจัดตั้งบริษัทเครือข่าย (นอมินี) ไว้อีก 10-20 บริษัท ใช้ชื่อภาษาจีน ทำหน้าที่เสนอขายทัวร์ให้จีน แต่ใช้เลขจดทะเบียนเดียวกันกับบริษัทแม่
ยกตัวอย่าง บริษัทแม่ ชื่อว่า A จดทะเบียนเลขที่ 55555 และจะมีบริษัทนอมินี ชื่อว่า B ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนเลขที่ แต่ใช้เลขจดทะเบียนเดียวกันกับบริษัทแม่ ทำหน้าที่ประกาศขายทัวร์เป็นภาษาจีนให้กับนักท่องเที่ยวแทน ซึ่งพฤติการณ์ของบริษัทส่วนมากจะขายขาดทุน
“แพคเก็จ 6 วัน 5 คืน บริษัทขายทัวร์ให้ในราคา 999 หยวน หรือประมาณ 5,000 บาท ในจำนวนนี้รวมค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารถนำเที่ยว ค่ามัคคุเทศก์ ค่าเข้าชมสถานี ซึ่งในความเป็นจริง ราคาจำนวนนี้ยังไม่เพียงพอสำหรับค่าตั๋วเครื่องบินเลย”
ตั้ง บ.นอมินี ขายขาดทุน-ไกด์รับช่วง เสียค่าหัวสูงหลักหมื่น
เมื่อกลุ่มทัวร์เดินทางมาถึงไทย บริษัทจะนำนักท่องเที่ยวมาขายต่อให้มัคคุเทศก์ ในราคา 4,000-18,000 บาท/คน แหล่งข่าวรายนี้ถามว่า จะมีมัคคุเทศก์ไทยคนไหนรับได้!!! เพราะต้องหาเงินมาจ่ายให้แก่บริษัทที่นำนักท่องเที่ยวมาให้ ยิ่งทัวร์ศูนย์เหรียญด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีการจ่ายเงินมาให้เลย เรียกอีกอย่างว่า กินฟรี อยู่ฟรี
มัคคุเทศก์ไทยจึงไม่ทำ เพราะหากรับนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมา พวกเขาต้องบังคับขู่เข็ญให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงินเพิ่มในทัวร์ทางเลือกที่เพิ่มเติมเข้ามา เช่น ดูโชว์ลามก ซื้อของแพง ซื้อทัวร์ราคามหาโหด เหมือนปกติขายให้ราคา 500 บาท/คน คราวนี้ต้องบวกเพิ่มเป็น 1,500 บาท/คน
“มัคคุเทศก์ต้องบีบบังคับให้นักท่องเที่ยวจ่ายเพิ่มมากสุดเท่าที่จะมากได้ พูดได้ว่าเมื่อรวมกันแล้วจะต้องให้ได้รับเข้ามาคุ้มกับที่เสียค่าหัวไป เพื่อเหลือแล้วจะได้กำไร แต่มัคคุเทศก์ไทยไม่ทำ จึงทำให้ต้องนำเข้าชาวต่างชาติเข้ามาทำหน้าที่นี้ และเกิดการบังคับขู่เข็ญสารพัด”
เป็นไกด์ต้องมีเงิน สำรองจ่ายทำทัวร์ หลักครึ่งแสน
อีกรูปแบบหนึ่ง มัคคุเทศก์รายนี้ ระบุว่า บริษัทนำเข้านักท่องเที่ยวเข้ามาให้มัคคุเทศก์ แม้ไม่ได้ขายค่าหัว แต่ก็ไม่มีค่าจ้าง หรือเงินสำรองทำทัวร์ให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเข้าชม ค่าอาหาร ค่าทางด่วน ค่าที่พัก ดังนั้น มัคคุเทศก์ต้องสำรองเงินขั้นต่ำ 4,000 บาท/คน หรือ 50,000-80,000 บาท/กรุ๊ปทัวร์
ขณะที่กรมการท่องเที่ยวกำหนดค่าจ้างมัคคุเทศก์รายวันขั้นต่ำ 1,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ เมื่อสภาพแวดล้อมบังคับให้มัคคุเทศก์ต้องสำรองจ่าย ทำให้การกู้เงินทั้งในและนอกระบบเกิดขึ้น เสียดอกเบี้ยร้อยละ 5-10 เพื่อมาสำรองจ่ายข้างต้น
แม้เงินที่สำรองไปจะเบิกได้ แต่ต้องเข้าใจว่า บางบริษัทมีระยะเวลาเบิกจ่ายเงิน เช่น ทุกวันที่ 5 วันที่ 10 วันที่ 15 หากได้รับตรงเวลาโชคดีไป แต่บางรายเบิกไม่ได้ เช็คเด้ง จะต้องนำไปเปลี่ยน และถูกยืดเวลาไปอีก เชื่อหรือไม่ว่า บางแห่ง 6 เดือน ยังเบิกไม่ได้เลย ทำให้งานใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะต้องควักกระเป๋าสำรองจ่ายไปก่อนอีกก้อนหนึ่ง
หากดื้อดึง ปฏิเสธไม่นำทัวร์ต่อ จนกว่าจะได้รับเงินก้อนแรกที่จ่ายสำรองไป บริษัทอาจไม่จ้างต่อ และหาเรื่องไม่จ่ายเงินก้อนแรกด้วย
จ่ายประกันสูงสุดหลักแสน-บ.ทัวร์ หอบเงินซื้อทัวร์จีน
ไม่พอเท่านั้น มัคคุเทศก์ในปัจจุบันยังต้องจ่ายเงินประกันให้แก่บริษัทที่จะเข้าทำงานด้วย เฉลี่ยอยู่ที่ 50,000-100,000 บาท ซึ่งอาจหักเป็นรายเดือน หรือหักเป็นรายกร๊ปป จนกว่าจะครบตามที่ตกลงไว้ คิดดูว่า หากบริษัทมีมัคคุเทศก์ต่อคิวรอทำงานด้วย 100 คน จ่ายเงินประกันคนละ 100,000 บาท บริษัทจะได้รับเงินประกันทั้งสิ้น 10 ล้านบาท
โดยบริษัทจะนำเงิน 10 ล้าน ไปซื้อนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามา จะเห็นว่า บริษัทแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แต่มัคคุเทศก์ต่างหากที่ต้องลงทุนให้
(ภาพประกอบ:http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/719665)
จ่าย (2 หมื่น) ครบ จบแน่ หลักสูตรไกด์ 14 วัน
มัคคุเทศก์รายนี้ ยังสะท้อนถึงหลักสูตรการอบรมมัคคุเทศก์ ทราบกันดีว่า เปิดอบรมบัตรสีชมพู 14 วันเท่านั้น จ่ายคนละ 2 หมื่นบาท ถามว่า ทำอะไรได้บ้าง และ 2 ปีที่ผ่านมา อธิบดีกรมการท่องเที่ยวเซ็นอนุมัติ บางสถาบันอบรม 40 รุ่น/ปี หนึ่งรุ่นมีกำไรประมาณ 1 ล้านบาท แต่สถาบันที่จัดการอบรมได้เพียงร้อยละ 5-10 ที่เหลือไปอยู่ไหน
“ส่วนใหญ่สถาบันอุดมศึกษาจะจัดอบรมหลักสูตร แต่เป็นส่วนที่แยกออกมาต่างหาก และจะจัดอบรมตามสถานที่ต่าง ๆ จะเช่าห้องเล็ก ๆ จัดก็ได้ โดยมีผู้อำนวยการจากการแต่งตั้ง บางคนเป็นเซลส์แมน ไม่ได้เป็นอาจารย์ แต่มาตั้งตัวเป็นอาจารย์ ถามว่าอธิบดีกรมการท่องเที่ยวอนุมัติเรื่องลักษณะนี้ได้อย่างไร และเคยกลับไปตรวจสอบคุณภาพการอบรมหรือไม่”
รูปแบบการศึกษาเช่นนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จ่ายครบ จบแน่ ปัญหาทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องลงมาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เพราะเกี่ยวกับคอร์รัปชัน และถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง แย่กว่ากรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเสียอีก
ข้อมูลในเว็บไซต์ของกองธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว ระบุข้อมูลสถาบันที่มีการจัดอบรมหลักสูตรแขนงต่าง ๆ ตั้งแต่กลางปี 2559-ปัจจุบัน อาทิ วิทยาลัยอินเตอร์เทค ลำปาง, ม.ศิลปากร, มหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก, มหาวิทยาลัยพิษณุโลก, มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์, มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (อ่านประกอบ:สถานที่มีจัดการอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์)
‘เซ็ตซีโร่’ เรียก บ.ทัวร์ ตีทะเบียนใหม่-รัฐตั้งทัวร์ศูนย์เหรียญแข่งนอมินี
ดร.ปรเมษฐ์ บุญนำศิริกิจ ประธานสมาคมนักวิชาการการท่องเที่ยว (ประเทศไทย) ให้มุมมองถึงความเป็นไปได้ในการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญเกิดขึ้นได้ยาก โดยเปรียบกับตำรวจวิ่งไล่จับผู้ขับขี่ไม่สวมหมวกนิรภัย ฉะนั้นต้องแก้ที่ต้นเหตุ ทำอย่างไรให้คนไทยไม่รับช่วงซื้อนักท่องเที่ยวต่อจากจีน หรือไม่ให้บัตรประจำตัวประชาชนสวมสิทธิ
ส่วนการเซ็ตซีโร่ปัญหาทั้งหมดและเริ่มต้นใหม่อย่างที่นางกอบกาญจน์ รมว.การท่องเที่ยวฯ ระบุนั้น ประธานสมาคมนักวิชาการฯ เชื่อว่า ตราบใดไม่แก้ต้นเหตุ จะไปเริ่มต้นใหม่ได้อย่างไร ยกเว้นทางเดียว คือ เซ็ตซีโร่โดยมีคำสั่งให้บริษัททัวร์ทั้งหมดมาจดทะเบียนใหม่ หากทำได้จริงจะต้องตรวจสอบด้วยว่าบริษัททัวร์ใดมีรายชื่อขึ้นบัญชีดำด้วย
พร้อมกับเห็นว่า อาชีพมัคคุเทศก์ยังต้องสงวนไว้กับคนไทยอยู่ ไม่ควรให้สิทธิคนต่างชาติเข้ามายึดอาชีพ ไม่ว่าจะในรูปแบบใด
“เรามักพูดว่าไทยมีทัวร์ศูนย์เหรียญ ถามว่า ประเทศอื่นไม่มีหรือ คำตอบคือมี ไม่ว่าจะจีนหรือเกาหลี แต่ทัวร์ศูนย์เหรียญของประเทศเหล่านั้นจัดขึ้นโดยรัฐ ไม่ใช่บริษัทนอมินี โดยรัฐจะบริหารจัดการทั้งหมด จึงไม่เสียหาย เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาจะถูกบังคับให้ชมสถานที่หรือร้านค้าของรัฐ ทำให้ผลประโยชน์ทั้งหมดตกอยู่กับประเทศ ก่อนจะกระจายไปยังชุมชน” ดร.ปรเมษฐ์ กล่าว
(ภาพประกอบ:บริษัท มีเดีย สตูดิโอ จำกัด)
ล้ำเส้นการตลาด กระทบภาพลักษณ์ท่องเที่ยว
ขณะที่ อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (The Association of Thai Travel Agents:ATTA) เห็นว่า ทัวร์ศูนย์เหรียญ เป็นเพียงปัญหาที่เกิดจากการล้ำเส้นทางการตลาด มีการข่มขู่บีบบังคับนักท่องเที่ยว จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ฉะนั้นเบื้องต้นต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปฏิบัติอยู่ในกรอบกติกา ไม่หลอกลวง ข่มขู่บีบบังคับ ให้ซื้อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
เมื่อถามว่า หากวันนี้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกรอบกติกาจะไม่มีทัวร์ศูนย์เหรียญหรือไม่ เลขาธิการแอตต้า ระบุว่า กลไกตลาดจะกลับมาอัตโนมัติทันที เพราะทุกอย่างเป็นมาตรฐานแล้ว ขอเพียงเดินไปตามกรอบ ยกตัวอย่าง เมื่อ 30 ปีก่อน มีไต้หวันทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว นักท่องเที่ยวไต้หวันมาพักโรงแรมระดับ 4-5 ดาว เพราะทุกคนเข้าใจมากขึ้น นิยมมาท่องเที่ยวกันเอง และต้องการเฉพาะสินค้าเกรดดี ยอมจ่ายในราคาที่ควรจะเป็น
‘ไกด์’ ต้องผ่านสอบภาษามาตรฐานสากล- มีประสบการณ์ทำทัวร์
อดิษฐ์ ยังกล่าวถึงปัญหามัคคุเทศก์อ่อนด้อยด้านภาษาว่า อนาคตต้องให้ผู้ที่ต้องการสอบมัคคุเทศก์ ต้องสอบผ่านมาตรฐานด้านภาษาในระดับสากลก่อน เพราะที่ผ่านมาจะสอบสัมภาษณ์ปกติ 3-5 นาทีเท่านั้น ทำให้ไม่ทราบว่า ผู้เข้าทดสอบมีศักยภาพระดับใด ขณะที่ช่วงอบรมต้องเน้นชั่วโมงการฝึกประสบการณ์ภาคปฏิบัติเพิ่มเติมจากภาคทฤษฎีด้วย
“สมัยผมกว่าจะเป็นมัคคุเทศก์ได้ ต้องเป็นผู้ช่วยมัคคุเทศก์มาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี จึงจะมีโอกาสเป็นมัคคุเทศก์จริง ๆ”
ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาคมฯ ได้หารือกับกรมการท่องเที่ยว จะจัดฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติมเชิงปฏิบัติการให้แก่มัคคุเทศก์จบใหม่ มีบัตรมัคคุเทศก์ แต่ขาดประสบการณ์ กับบริษัททัวร์ เพื่อเรียนรู้การเป็นมัคคุเทศก์ โดยจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมด้วย เชื่อว่า จะช่วยแก้ปัญหาได้
แม้ทัวร์ศูนย์เหรียญจะเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน เหมือนกับปรสิตตัวร้ายที่คอยกัดกินบ่อนทำลายธุรกิจท่องเที่ยวไทย แต่เชื่อเหลือเกินว่า หากภาครัฐและเอกชน จับมือแก้ไขปัญหากันจริงจัง ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ปัญหาจะค่อย ๆ ลดน้อยไปในที่สุด .
อ่านประกอบ:เบื้องหลังแก้ไกด์ขาดแคลน ‘กอบกาญจน์’ สั่งเซ็ตซีโร่ ไม่พูดถึงอดีต -สมาพันธ์ฯ สวนรัฐตัดปัญหา
สมาพันธ์มัคคุเทศก์ค้าน รบ.ให้สิทธิต่างชาติยึดอาชีพ ‘ไกด์’ เเก้ไขขาดเเคลน 3 ภาษา
รมว.ท่องเที่ยว ยันยังไม่นำเข้าชาวต่างชาติเป็นมัคคุเทศก์
เปิด บ.ทัวร์จีนล่าสุด! เชิดนอมินี มีรถหรู เงินฝาก ปปง.อายัดฟอกเงิน 33 รายการ
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ Sanook