เรือนจำกลางระยอง (1) :ต้นแบบ ‘แดนขังหญิง’ เคารพสิทธิเท่าเทียม
เรือนจำกลางระยองโชว์ศักยภาพต้นเเบบเเดนขังหญิงของกรมราชทัณฑ์ ดูเเลเคารพสิทธิมนุษยชน ยึดหลักเท่าเทียม ตามข้อกำหนดกรุงเทพ
การสร้างกระบวนการดูแลผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำของไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
‘เรือนจำกลางระยอง’ ถือเป็นหนึ่งใน ‘เรือนจำต้นแบบ’ ของกรมราชทัณฑ์ ที่มีกระบวนการดังกล่าวดีเยี่ยม โดยนำหลักปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules) หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง มาดำเนินงาน
มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการทำงานในเรือนจำ ดูแลผู้ต้องขังหญิงตั้งแต่กระบวนการแรกรับ จนถึงการเตรียมความพร้อมปล่อยตัวผู้ต้องขังสู่โลกภายนอกและไม่กลับเข้ามาถูกคุมขังอีกต่อไป
ปัจจุบันเรือนจำกลางระยองเป็นเรือนจำความมั่นคงสูง (Supermax) มีผู้ต้องขังหญิง 984 คน ส่วนใหญ่กระทำความผิดยาเสพติดมากถึง 801 คน รองลงมาทรัพย์สิน 127 คน ร่างกายและชีวิต 28 คน เพศ 12 คน และอื่น ๆ 16 คน มีพื้นที่ในแดนหญิงรวม 13,600 ตารางเมตร จึงจัดอยู่ในประเภทเรือนจำที่มีแดนหญิงขนาดใหญ่
โดยมีไฮไลต์สำคัญที่นำมาพัฒนาผู้ต้องขังตามข้อกำหนดดังกล่าว คือ โปรแกรมฝึกอาชีพ ได้แก่ นวดแผนไทย เสริมสวย ทำเบเกอรี่ อาหารและเครื่องดื่ม ซักรีดและซ่อมเสื้อผ้า และงานฝีมือ ซึ่งลูกค้าเป็นกลุ่มผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ภายในเรือนจำ และเมื่อจำหน่ายสินค้าได้ ผู้ต้องขังจะได้รับส่วนแบ่งไม่เกิน 50% ในลักษณะเงินปันผล
กิตติพงษ์ ละชั่ว รองผู้บัญชาการเรือนจำกลางระยอง เปิดเผยถึงการบริหารงานในเรือนจำแห่งนี้ว่า เรือนจำฯ ยึดหลักตามข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามหลักการสากล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือความเป็นอยู่ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ฝึกวิชาชีพ การศึกษา รวมถึงศาสนบำบัด
“การบริหารจัดการเรือนจำกลางระยองมีผู้บริหารมาแล้วหลายท่าน ซึ่งเรายึดนโยบายของกรมราชทัณฑ์เป็นหลักยกตัวอย่างเช่น เรื่องความเป็นอยู่ต้องมีความเท่าเทียม ทั้งการได้รับอาหาร การเข้าถึงการรักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องปฏิบัติเหมือนกันทุกคน”
ส่วนเรื่องการหลบหนีของผู้ต้องขังหญิงนั้น รองผู้บัญชาการเรือนจำฯ ขอให้เลิกกังวล ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ดูแลปฏิบัติตามมาตรฐานและมีความเป็นธรรม อยู่อย่างเท่าเทียมตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ เรื่องดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น
ด้านดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) กล่าวถึงการเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานของเรือนจำ ทำให้พบว่าเรือนจำกลาง จ.ระยอง มีมาตรฐานสอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรับตัว การอบรม การดูแล การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและชายอย่างชัดเจน โดยต้องปฏิบัติคำนึงถึงความเปราะบางของผู้หญิง ทั้งนี้ TIJ ให้การสนับสนุนด้านวิชาการเป็นหลัก ส่วนการปฏิบัติเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์และเรือนจำกลาง จ.ระยอง
ส่วนอนาคตจะขยายการดำเนินงานไปยังเรือนจำอื่น ๆ ในประเทศอีกหรือไม่ ที่ปรึกษาพิเศษฯ ระบุว่า TIJ และกรมราชทัณฑ์เตรียมแผนจะดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งในปี 2561 มีการขับเคลื่อนในภาคใต้ ซึ่งมี 9 แห่ง สมัครเข้าร่วมโครงการ ขณะที่ปี 2560 มีเรือนจำเพียง 2 แห่ง ผ่านการคัดเลือก คือ เรือนจำกลางโคราช จ.นครราชสีมา และเรือนจำรัตนบุรี จ.สุรินทร์
“กรมราชทัณฑ์ให้การสนับสนุนขับเคลื่อนหลายเรือนจำตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรม TIJ ร่วมมือกัน ทำให้ขณะนี้ในเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศมีการขับเคลื่อนสอดคล้องทั่วประเทศ ทั้งนี้ การดูแลสิทธิผู้ต้องขัง เพื่อเติมเสริมข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติดูแลสิทธิผู้ต้องขังและในข้อกำหนดกรุงเทพเป็นในส่วนผู้ต้องขังหญิง แม้จะกระทำความผิดยังจะต้องดูแลในด้านสิทธิต่าง ๆ อยู่” ดร.นัทธี กล่าว
เรือนจำกลางระยอง ถือเป็นเรือนจำต้นแบบของกรมราชทัณฑ์ที่เป็นผลจากโครงการสืบเนื่องโครงการนำร่องโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ตามมาตรฐานข้อกำหนดกรุงเทพ ภายใต้ปรัชญาของเรือนจำแห่งนี้ ที่ว่า “เราจะทำทุกวิธีเพื่อคืนคนดีกลับสู่ครอบครัว” .
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:โอกาส ของผู้ก้าวพลาด
‘หมอ-พยาบาล’ ในเรือนจำ งานที่ยังคงขาดแคลน
กำหนดราคากลาง 600 บาท กรมราชทัณฑ์ เล็งซื้อที่นอนยางพาราให้ผู้ต้องขังแทนผ้าห่ม 3 ผืน
‘เรือนจำอยุธยา’ ต้นแบบปฏิบัติ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ เพื่อศักดิ์ศรีนักโทษหญิง
“สงขลาโมเดล” ต้นแบบการจัดบริการสุขภาพให้แก่กลุ่มผู้ต้องขัง
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยผู้ต้องขังเจ็บป่วยต้องส่งรพ.ปีละ 5 หมื่น-เสียชีวิต 1 พันคน
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"