- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ‘เรือนจำอยุธยา’ ต้นแบบปฏิบัติ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ เพื่อศักดิ์ศรีนักโทษหญิง
‘เรือนจำอยุธยา’ ต้นแบบปฏิบัติ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ เพื่อศักดิ์ศรีนักโทษหญิง
เรือนจำอยุธยา 1 ใน 6 ต้นแบบไทย ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ตามข้อกำหนดกรุงเทพ เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กลับคืนสู่สังคมอย่างมั่นคง ป้องกันทำผิดซ้ำ ขยายผลสู่ประเทศอาเซียน
ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders) หรือข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) จัดตั้งขึ้นตามมติองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่มีมาตรฐาน
โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีความสนพระทัยในประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้หญิงและเด็กในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งประเทศไทยมีเรือนจำและทัณฑสถานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินเป็นต้นแบบใน 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ ทัณฑสถานหญิง, เรือนจำชายที่มีแดนหญิงขนาดใหญ่ และเรือนจำชายที่มีแดนหญิงขนาดเล็ก
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-59 มีทั้งหมด 6 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี, ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่, เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง, ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และเรือนจำกลางสมุทรสงคราม ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพรวม 154 ข้อ
“เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา” เป็นหนึ่งในเรือนจำต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทั้งหมด 3,647 คน เป็นชาย 3,084 คน และหญิง 563 คน ซึ่งผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่ถูกจำคุกในคดียาเสพติด (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ส.ค. 2560)
ประตูทางเข้าเเดนหญิง
ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ซึ่งสถาบันแห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพในเรือนจำทั้งในและต่างประเทศ ระบุชัดเจนว่า เรือนจำและทัณฑสถานหญิงที่ผ่านการประเมินมุ่งเน้นปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิงทุกประการ
โดยในส่วนของเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น ทุกคนที่เข้ามาใช้ชีวิตต้องผ่านการอบรมวิชาชีพอย่างน้อย 3 ประเภท/คน เพื่อเตรียมตัวออกไปประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษ รวมถึงจัดคอร์สให้ความรู้เรื่องการประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าหน้าที่ยังมีการติดตามผลผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้ว โดยร่วมมือกับมูลนิธิ สมาคม กองทุนช่วยเหลือต่าง ๆ ที่คอยสนับสนุน
“ข้อกำหนดกรุงเทพ ยังเป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดแมนเดลา (ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังฉบับปรับปรุง) ที่ใช้ปฏิบัติในเรือนจำพิเศษธนบุรี เรือนจำที่นี่จึงเปรียบได้กับ ‘บ้านเปลี่ยนชีวิต’ ที่ใครเข้ามาอยู่จะเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น” ที่ปรึกษาพิเศษฯ คาดหวังเช่นนั้น
ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)
“อดุลย์ ชูสุวรรณ” ผบ.เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวเสริมเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำแห่งนี้ นอกจากจะได้เข้าร่วมฝึกวิชาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เสริมสวย นวดแผนไทย เย็บปักถักร้อย สิ่งที่จะขาดไม่ได้เพื่อทำให้วิชาชีพเหล่านั้นถูกต่อยอดจนประสบความสำเร็จ จึงต้องจัดอบรมการประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มเติมด้วย
เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม เรือนจำแห่งนี้จึงสร้างร้านกาแฟตั้งอยู่ด้านหน้าเรือนจำ จำหน่ายกาแฟ และเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ รวมถึงเบเกอรี่ โดยคัดกรองผู้ต้องขังหญิงที่ใกล้พ้นโทษ และมีความสนใจในอาชีพดังกล่าว มาฝึกงาน ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 คน แต่ละคนมีโทษเหลือประมาณ 6 เดือน – 1 ปี
ทั้งนี้ จากการติดตามผลผู้ต้องขังหญิงที่พ้นโทษ พบว่า หลายคนประกอบอาชีพขายน้ำเต้าหู้ ขายผักสด และยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนมอบรถเข็นร้านกาแฟให้ด้วย
จึงกล่าวได้ว่า ‘การฝึกวิชาชีพ’ เป็นจุดเด่นของการพัฒนาศักยภาพผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ฝึกอบรมทำเบเกอรี่
ห้องเปลี่ยนชีวิต บ่มเพาะแรงบันดาลใจ
“ห้องเปลี่ยนชีวิต” (Happy center) เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้บริการแก่ผู้ต้องขังหญิงเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตและปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตต่าง ๆ
ผบ.เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พาชมภายในห้องแห่งนี้ ซึ่งภายในถูกทาสีสดใส เพื่อให้ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจของผู้ต้องขังหญิง ที่จะสื่อถึงความร่าเริง กระตุ้นการเรียนรู้
กิจกรรมจะแบ่งเป็นการทำงานเชิงรับ โดยการบำบัดรักษา คือ เน้นการประเมินทางจิต โดยใช้แบบประเมินต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การบำบัดรักษา ซึ่งจะจับมือกับโรงพยาบาลภายนอกและนักจิตวิทยา พยาบาลในเรือนจำ
บรรยากาศในห้องเปลี่ยนชีวิต
นอกจากนี้ในเชิงรุก ห้องแห่งนี้ยังทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาสุขภาพจิต ใช้ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด ละครบำบัด สมาธิบำบัด ซึ่งกิจกรรมทั้งหมด ทุก ๆ วันจะเห็นผู้ต้องขังหญิงนั่งล้อมลงเป็นกลุ่ม ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือบางคนเข้ามาปรึกษาเป็นรายบุคคลก็มี
โดยผู้ต้องขังที่เข้าสู่กระบวนการเหล่านี้จะเป็นผู้ต้องขังหญิงเหลือโทษจำคุกน้อย อยู่ระหว่างการรอปล่อยตัว
น.ส. เอ ผู้ต้องขังหญิงในคดียาเสพติด บอกว่า การเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของห้องเปลี่ยนชีวิต ช่วยให้เธอผ่อนคลายมากขึ้น จากสมัยก่อนที่มีอาการเครียดบ้างในบางครั้ง
ห้องเลี้ยงเด็ก
นอกจากนี้เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังจัดสร้างห้องเลี้ยงเด็ก ที่กว้างขวาง ปลอดโปร่ง เต็มไปด้วยสื่อการเรียนรู้ สำหรับผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ หรือมีบุตรแล้ว โดยจะอนุญาตให้บุตรอยู่กับแม่ได้ถึงอายุ 3 ขวบ ก่อนจะส่งให้ญาตินำไปเลี้ยงต่อ
ส่วนเรื่องสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก ไม่ต้องกังวล เนื่องจากจะมีแพทย์เข้ามาดูแลตลอดเวลา ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ต้องขังหญิง 5 คน กำลังตั้งครรภ์, เด็กชาย 3 คน และเด็กหญิง 4 คน รวม 7 คน ที่อยู่ในความดูแล
“ไทย” ต้นแบบเรือนจำ ญ. ในสายตา “อาเซียน”
ความสำเร็จของการนำข้อกำหนดกรุงเทพมาปฏิบัตินี้ ทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเล็งเห็นถึงความสำคัญ และเข้ามาศึกษาโครงการฯ เพื่อนำไปปฏิบัติในประเทศต่อไป
“Marie Rose Laguyo” ผู้บัญชาการเรือนจำ Quezon City ประเทศฟิลิปปินส์ บอกว่า ฟิลิปปินส์มีเรือนจำทั้งหมด 60 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นทัณฑสถานหญิง 2 แห่ง และเรือนจำชายที่มีแดนหญิง 58 แห่ง ซึ่งการบริหารจัดการในประเทศแตกต่างจากไทยมาก เพราะรัฐไม่ได้เข้ามาดูแลทุกอย่าง
เมื่อเปรียบเทียบกับไทยในการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้กับผู้ต้องขังหญิง เธอยอมรับฟิลิปปินส์ยังอยู่ในระดับกลางเท่านั้น ในขณะที่ 6 แห่งของไทยที่นำร่องไปแล้ว อยู่ในระดับสูงสุด แต่อนาคตหวังว่าจะทำได้อย่างไทย
Salwa Salleh หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัย ประเทศบรูไน
เช่นเดียวกับ “Salwa Salleh” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัย ประเทศบรูไน ที่เห็นว่าไทยเป็นต้นแบบของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิง
โดยกล่าวว่า ปี 2560 เป็นครั้งแรกที่บรูไนเข้าร่วมการอบรมข้อกำหนดกรุงเทพ เพราะอยากทำความเข้าใจถึงสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องขังหญิงตามมาตรฐานระหว่างประเทศเป็นอย่างไร และคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้ให้มากที่สุดเพื่อไปปรับใช้ในประเทศ
เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างเรือนจำหญิงในไทยและบรูไน เธอบอกว่า บรูไนมีเรือนจำหญิงเพียง 1 แห่ง เพราะฉะนั้นผู้ต้องขังหญิงจึงมีทั้งโทษต่ำและสูงอยู่รวมกัน ซึ่งย่อมส่งผลให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะต่อเด็ก ที่เข้ามาอาศัยอยู่กับแม่ในเรือนจำ เด็กไม่ได้มีห้องดูแลเฉพาะเหมือนไทย บรูไนจึงให้ความสำคัญเรื่องเด็กมากที่สุด
การปฏิบัติตามมาตรฐานของข้อกำหนดกรุงเทพ จึงเป็นการทำให้ผู้ต้องขังหญิงที่เคยหลงผิดทุกคนกลับไปยืนในสังคมได้อย่างมั่นคงสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เเละไม่กระทำผิดซ้ำนั่นเอง .