โอกาส ของผู้ก้าวพลาด
"ข้อกำหนดกรุงเทพ Bangkok Rules ทำให้ผมคิดกระบวนการ Disrupt โอกาสของผู้ก้าวพลาดคืนคนดีสู่สังคมด้วยการนำ social business model และการลงทุนทางสังคม social impact investment มาใช้ในกระบวนการ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสอย่างมาก มีงานรองรับผู้เคยก้าวพลาดนับหมื่นคน"
14% ของผู้พ้นโทษจะกระทำความผิดซ้ำภายใน 1 ปี ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้รับโอกาสจากสังคม การให้โอกาสที่ทุกคนคิดว่ายาก การรับอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงานมีหลายๆ องค์กร หลายหน่วยงานทำให้เห็นแล้ว
ลองมาดูตัวอย่าง 3 องค์กรสนับสนุนการสร้างโอกาสแก่ผู้เคยต้องโทษ ซึ่งได้รับรางวัล Craftig Hope Awards 2018 จากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
สำหรับรางวัล Craftig Hope Awards ปีนี้นั้น สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลหรือหน่วยงานภาคเอกชน ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน
@ ลีลา นวดไทย จังหวัดเชียงใหม่
ก่อตั้งเมื่อปี 2550 โดย "เนาวรัตน์ ธนะศรีสุธารัตน์" อดีตผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิง เชียงใหม่ คนแรกที่เป็นสุภาพสตรี ปัจจุบันลีลานวดไทย มีสาขากระจายทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ถึง 7 สาขา มีพนักงานซึ่งเป็นอดีตผู้ต้องขังเกือบทั้่งหมด 220 คน ช่วงเวลา 11 ปีลีลานวดไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งจากลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ
"การให้ที่ยิ่งใหญ่ คือการให้โอกาสคน พวกเขาเหล่านั้นมีโอกาสทำอะไรให้กับประเทศชาติได้อีกเยอะ เขาฝึกอาชีพมาแล้ว ให้โอกาสเขาเถอะ เพื่อไม่ให้เขากลับไปเรือนจำอีก" เนาวรัตน์ ให้มุมมอง
@วิสาหกิจสุขภาพชุมชน บ้านกึ่งวิถี SHE
การนวดดัดจัดสรีระ บำบัดอาการ “ออฟฟิตซินโดรม” ก่อตั้งเมื่อปี 2556 โดยนายแพทย์ พูลชัย จิตอนันตวิทยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ สร้างอาชีพผู้ต้องขังหญิงคืนสู่สังคม
นพ.พูลชัย มองถึงความสำคัญของการให้โอกาส คือสิ่งที่พ่อหลวงสอนมาตลอด การคืนคนดีสู่สังคมการลดคนกระทำผิด คนติดยาเสพติด ปัญหาอยู่รอบตัว หากพวกเราไม่ช่วยกันแล้วใครจะทำ
"ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules)ทำให้ผมคิดกระบวนการ Disrupt โอกาสของผู้ก้าวพลาดคืนคนดีสู่สังคมด้วยการนำ social business model และการลงทุนทางสังคม ( social impact investment) มาใช้ในกระบวนการ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสอย่างมาก มีงานรองรับผู้เคยก้าวพลาดนับหมื่นคน"
นพ.พูลชัย กล่าวย้ำ "ขอให้สังคมกรุณาช่วยกันขยายข่าวดีๆ แบบนี้ออกไป เชิญทีมเราเข้าไปในหน่วยงานของท่าน บ้านกึ่งวิถี SHE ได้รับการรับรองเป็นกิจการเพื่อสังคม ฉะนั้นค่าใช้จ่ายทั้งหมดสามารถหักภาษีได้ ผมมีความหวังประดิษฐ์ ทักทอสิ่งนี้ นวัตกรรมนี้ เพื่อสร้าง culture social re-Indication"
สุดท้าย @ บ้านพระพร มูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน
ก่อตั้งเมื่อปี 2514 ซึ่งปัจจุบันศาสนาจารย์สุนทร สุนทรธารา รับผิดชอบการบริหารงาน การดำเนินงานของมูลนิธินอกจากส่งวิทยากรเข้าไปอบรมการพัฒนาชีวิต ส่งเสริมการศึกษาในเรือนจำแล้ว มูลนิธิยังช่วยเหลือผู้พ้นโทษให้เข้ามาพักพิงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่จำกัดศาสนา และเชื้อชาติ แต่จะมีระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้เข้ามาอยู่ทุกคน มีการฝึกวิชาชีพที่เหมาะสม จัดหางานให้ผู้พ้นโทษ และติดตามผลเป็นระยะๆ
นอกจากนี้ บ้านพระพร ยังรับเด็กเล็กเข้ามาดูแล ภายใต้โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
ศาสนาจารย์สุนทร เล่าว่า มูลนิธิฯ ทำงานกับกรมราชทัณฑ์มาเกือบ 40 ปี พันธกิจคือการสร้างชีวิตคน เรามีโอกาสสร้างคน รับผู้ต้องขังที่พ้นโทษ เด็กและเยาวชน สร้างอาชีพที่หลากหลายที่ภาคภูมิคือการรับเด็กติดผู้ต้องขัง ลูกผู้ต้องขังเข้ามาอยู่ รวมกว่า 100 คน
งานที่ทำด้วยหัวใจเพียงหวังเห็นคนที่ทำงานด้วยมีอนาคต เขาบอกว่า ทำงานกับนักโทษมา 40 ปี รางวัลสำหรับเขาคือการเห็นคนก้าวพลาดได้มีโอกาสยืนอยู่ในสังคมอย่างมั่นคง และเห็นเหล่านั้นทำมาหากินอย่างมีความสุข
นี่คือความสุขของศาสนาจารย์สุนทร สุนทรธารา หนึ่งในผู้ได้รับรางวัล Craftig Hope Awards 2018 ผู้หยิบยื่น “โอกาส” ให้กับผู้เคยผิดพลาดในอดีต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘หมอ-พยาบาล’ ในเรือนจำ งานที่ยังคงขาดแคลน
กำหนดราคากลาง 600 บาท กรมราชทัณฑ์ เล็งซื้อที่นอนยางพาราให้ผู้ต้องขังแทนผ้าห่ม 3 ผืน
‘เรือนจำอยุธยา’ ต้นแบบปฏิบัติ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ เพื่อศักดิ์ศรีนักโทษหญิง
“สงขลาโมเดล” ต้นแบบการจัดบริการสุขภาพให้แก่กลุ่มผู้ต้องขัง
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยผู้ต้องขังเจ็บป่วยต้องส่งรพ.ปีละ 5 หมื่น-เสียชีวิต 1 พันคน
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"