เปิดคำโต้แย้ง ผู้รับผิดชอบคืนภาษีส่งออกพม่า120ล.ล่าสุด-ขู่สรรพากรระวังโดนม.157 เล่นงาน
"...ในคำสั่งของกระทรวง เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้กล่าวอ้างรายงานของกรมที่รายงานต่อกระทรวงกรณีการคืนภาษี ราย บริษัท บ.บริษัท ป. และบริษัท ซ. ว่า “บริษัททั้ง 3 มีการประกอบธุรกิจผิดปกติในทางการค้าทั่วไป ทั้งด้านการซื้อ/ขายสินค้าและการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกระบวนการซื้อ/ขายสินค้า การจ่ายเงิน การจัดเก็บสินค้า การขนส่งสินค้า ลักษณะสถานประกอบการ ไม่มีความชัดเจน และไม่มีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับเป็นการส่งออกชายแดนและมีข้อมูลร้องเรียนว่า มีการซื้อบิลโดยมิได้มีการซื้อสินค้ากันจริง จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่า อาจมิได้มีการประกอบกิจการส่งออกจริง หรืออาจแสดงเอกสารเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรมีส่วนเกี่ยวข้อง”.."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก คดีขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่ กาญจนบุรี และสมุทรสงคราม ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ในขณะนี้
โดยปรากฎพฤติการณ์ของเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีลักษณะไปกว้านซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของห้างค้าปลีกรายใหญ่ในหลายพื้นที่ อาทิ ยาสีฟัน ผงซักฟอก อ้างว่ามีการส่งออกสินค้าไปขายที่ประเทศพม่า ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ในจังหวัดกาญจนบุรี ก่อนจะมาทำเรื่องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในภายหลัง ขณะที่ในขั้นตอนการทำเรื่องขอคืนภาษีเอกชนกลุ่มนี้นั้น มีนำใบเสร็จซื้อสินค้าจากห้างค้าปลีกรายใหญ่มายืนยันกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลยืนยันในส่วนของกรมศุลกากร ก็พบว่ามีเอกสารยืนยันการส่งสินค้าออกไป แต่จากการสอบสวนของกระทรวงการคลัง พบว่า ไม่ได้มีการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายจริง
ทั้งนี้ สำหรับบริษัทเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในขณะนี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า มีอยู่ 3 ราย คือ บริษัท เบอร์ม่าเทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ปิติพัฒน์ เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท ซี.เอ็น.ดิสทริบิวชั่น จำกัด มีความเชื่อมโยงเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน เบื้องต้น ป.ป.ช. ได้มีการออกหนังสือแจ้งให้กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย รวมไปถึงข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาเป็นทางการแล้ว จำนวนนับ 10 ราย (อ่านประกอบ : เบื้องลึก! ป.ป.ช.ไต่สวน คดีคืนภาษีเท็จโผล่กาญจน์ฯ-สมุทรสงคราม รอบนี้สินค้าส่งออกชายแดน?,คดีคืนภาษีเท็จโผล่กาญจน์ฯ-สมุทรสงคราม! ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาขรก.สรรพากร-เอกชน นับ10 ราย, เผยโฉมหนุ่มสุพรรณ-ที่อยู่ บ.เอี่ยวคดีคืนภาษีส่งออกพม่าสมุทรสงคราม ก่อนย้ายไปบุรีรัมย์)
จากนั้นมีแหล่งข่าวที่อ้าวตัวเองว่า เป็นผู้รับผิดชอบในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออก ในพื้นที่กาญจนบุรี และสมุทรสงคราม ที่เกิดปัญหาดังกล่าว พร้อมส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงปัญหาระบบการเรียกเก็บคืนภาษีในปัจจุบันหลายประเด็น โดยเฉพาะกับปัญหาของหน่วยงานปราบปรามการทําลายระบบภาษีของกรมประเมินจัดเก็บภาษีผู้ส่งออก ที่พบข้อมูลว่าหน่วยงานดังกล่าวนั้นใช้ข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงมาตรวจสอบภาษีเพียง 9 เดือนภาษี เป็นเงินที่ขอคืนภาษีได้อย่างถูกต้อง 5.36 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนเดือนภาษีที่เหลือเป็นการตรวจสอบโดยใช้ดุลยพินิจ เกือบทั้งหมดประมาณร้อยละ 90 ของเดือนภาษีที่ตรวจสอบ โดยไม่ได้ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีอยู่ อาจทำให้เกิดปัญหาในการเก็บภาษีที่ได้ตัวเลขไม่ตรงกับความเป็นจริงได้ (อ่านประกอบ:เอ็กซ์คลูซีฟ : เปิดคำให้การ ผู้รับผิดชอบคืนภาษีส่งออกพม่า120 ล.-ช่องโหว่ใบกำกับภาษีปลอม?)
ล่าสุด แหล่งข่าวรายเดิมได้ส่งหนังสือมายังสำนักข่าวอิศราเพื่อข้อชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยในหนังสือระบุถึงความผิดพลาดบกพร่องในการประเมินภาษีผู้ใช้ใบกำกับภาษี มีรายละเอียดดังนี้
การประเมินจัดเก็บภาษีของหน่วยงานปราบปรามการทำลายระบบภาษีของกรม ได้ตรวจสอบภาษีที่น่าจะไม่ถูกต้องหลายประการ เป็นต้นว่า
1.หน่วยงานปราบปรามฯ ประเมินจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย (บริษัท บ. บริษัท ป. และ ซ.) เฉพาะตัวภาษีอย่างเดียวตามมาตรา 82/5(5) ไม่รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดย
1.1 บริษัท บ. ถูกประเมินภาษีทั้งสิ้น 99,646,792.14 บาท เป็นภาษีที่คืนไปแล้ว 89,646,082.96 บาท เป็นภาษีที่ยื่นขอคืนแต่ระงับการคืน 9,700,709.18 บาท
1.2 บริษัท ป. ถูกประเมินภาษีทั้งสิ้น 8,211,868.29 บาท เป็นภาษีที่คืนไปแล้ว 7,162,555.35 บาท เป็นภาษีที่ขอคืนแต่ระงับการคืน 1,049,312.94 บาท
1.3 บริษัท ซ. ถูกประเมินภาษีทั้งสิ้น 12,509,548.11 บาท เป็นภาษีที่คืนไปแล้ว 7,390,511.55 บาท เป็นภาษีที่ขอคืนแต่ระงับการคืน 5,119,036.56 บาท
1.4 รวมทั้ง 3 บริษัท ถูกประเมินภาษี 120,368,208.54 บาท เป็นภาษีที่คืนไปแล้ว 104,499,149.86 บาท เป็นภาษีที่ขอคืนแต่ระงับการคืน 15,869,058.68 บาท
2.หน่วยงานปราบปรามฯ ประเมินภาษีตามมาตรา 82/5(5) พร้อมทั้งเบี้ยปรับตามมาตรา 89(7) และเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 โดย
2.1 บริษัท บ. ประเมินภาษีทั้งสิ้น 354,061,077.30 บาท เป็นภาษีที่คืนไปแล้ว 322,780,877.27 บาท เป็นภาษีที่ยื่นขอคืนแต่ระงับการคืน 31,280,190.03 บาท
2.2 บริษัท ป. ประเมินภาษีทั้งสิ้น 28,465,424.06 บาท เป็นภาษีที่คืนไปแล้ว 24,830,439.91 บาท เป็นภาษีที่ขอคืนแต่ระงับการคืน 3,634,984.15 บาท
2.3 บริษัท ซ. ประเมินภาษีทั้งสิ้น 43,196,288.19 บาท เป็นภาษีที่คืนไปแล้ว 25,630,753.28 บาท เป็นภาษีที่ขอคืนแต่ระงับการคืน 17,565,534.91 บาท
2.4 รวมทั้ง 3 บริษัท ถูกประเมินภาษี 425,722,789.55 บาท เป็นภาษีที่คืนไปแล้ว 373,242,080.46 บาท เป็นภาษีที่ขอคืนแต่ระงับการคืน 52,480,709.09 บาท
3. หน่วยงานราชการที่กำกับดูแล Modern Trade รายที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำการประเมินภาษีบริษัทนี้เป็นภาษีตามมาตรา 86/13 เป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 89(6) และเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 รวมประมาณ 70.51 ล้านบาท โดยเป็นการประเมินภาษีในปี 2555 จำนวนประมาณ 5.30 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 56.08 ล้านบาท และปี 2557 ในเดือนมกราคม – เมษายน 9.14 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้อาจจะเป็นการประเมินจัดเก็บภาษีจากความบกพร่องของ Modern Trade รายนี้ในกรณีอื่นๆ รวมเข้าไปด้วย เพราะมีการประเมินภาษีตามมาตรา 86/13 เงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 และในปี 2556 มีการประเมินภาษีในช่วงเวลาที่บริษัท บ. ไม่ได้ขอคืนภาษีรวมเข้าไปด้วย คือเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2556 เฉพาะตัวเลขภาษีอย่างเดียวตามมาตรา 86/13 ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่บริษัทขอคืนภาษีเป็นเงินประมาณ 15 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นถ้าประเมินภาษีเฉพาะที่ 3 บริษัทนี้ใช้ใบกำกับภาษีจึงน่าจะเป็นการประเมินภาษี Modern Trade รายนี้ เฉพาะค่าปรับตามมาตรา 89(6) เพียงประมาณ 30 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วน Modern Trade รายอื่น ๆ อีก 4 บริษัท ยอดประเมินภาษีทางด้านผู้ออกใบกำกับภาษีเป็นตัวเลขแค่หลักหมื่นเท่านั้น และ Modern Trade ทั้ง 4 ราย ยกเว้น 1 ราย กำลังนำคดีขึ้นพิจารณาในศาลภาษีอากร ซึ่งจะต้องรอผลการพิจารณาของศาลต่อไป
4.ถ้าหน่วยงานปราบปรามฯ ประเมินภาษีได้อย่างถูกต้อง ภาษีที่หน่วยงานปราบปรามฯ ประเมินภาษีทั้ง 3 บริษัทตามข้อ 1.4 จะต้องเท่ากันกับภาษีที่หน่วยงานสรรพากรอื่นประเมินภาษีทางด้านผู้ออกใบกำกับภาษีตามข้อ 3 แต่จากข้อเท็จจริงปรากฎว่าตัวเลขภาษีที่หน่วยงานปราบปรามฯ ประเมินภาษีผู้ใช้ใบกำกับภาษี หน่วยงานสรรพากรอื่นไม่สามารถจะนำตัวเลขนี้ไปใช้ประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้ออกใบกำกับภาษี ในจำนวนที่เท่ากันได้เลย แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาด คลาดเคลื่อน ความบกพร่อง ความด้อยคุณภาพของสำนวนตรวจสอบภาษี ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานปราบปรามฯ ซึ่งหน่วยงานราชการจะนำสำนวนที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อนเหล่านี้ หรือจะนำเรื่องที่ไม่ถูกต้องไปดำเนินการใด ๆ กับทั้งข้าราชการ และผู้ประกอบการรายอื่นไม่ได้ ทั้งนี้เพราะการตรวจสอบภาษีของหน่วยงานปราบปรามฯ มากกว่าร้อยละ 90 ของเดือนภาษีที่ตรวจเป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจทั้งสิ้น กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานในการใช้ดุลยพินิจเฉพาะการปิดสำนวนในรายผู้ประกอบการที่กำลังตรวจสอบภาษีอยู่เท่านั้น โดยเฉพาะการใช้ดุลยพินิจในการตรวจสอบภาษีของหน่วยงานปราบปรามฯ เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะมีข้อมูลที่หน่วยงานปราบปรามฯ ขอมาจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสงครามประมาณ 40 กล่อง แต่ใช้ข้อมูลตรวจสอบภาษีอยู่เพียง 3 กล่อง เท่านั้น และผลการตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารทั้ง 3 กล่องพบว่า บริษัท บ. มีการประกอบการจริง มีการซื้อสินค้ามาจริง และมีการส่งออกจริง ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) โดย
4.1 ผลการตรวจสอบภาษี บริษัท บ. ของหน่วยงานปราบปรามฯ ในเดือนภาษีมีนาคม – พฤศจิกายน 2553 หน่วยงานปราบปรามฯ ยอมรับว่าบริษัทซื้อสินค้ามาจริง จำนวน 101,516,181.38 บาท และส่งออกจริง จำนวน 190,598,574.20 บาท ยอดแตกต่างระหว่างการส่งออก และการซื้อสินค้าที่เกินกว่าอัตราส่วนของยอดซื้อต่อยอดขายรวม (ค่า P/T) ของบริษัทอย่างมากมายไม่ทราบว่าหน่วยงานปราบปรามฯ ตรวจสอบได้ว่าบริษัทนำสินค้าจากที่ไหนไปส่งออก
4.2 ผลการตรวจสอบภาษี บริษัท บ. ของหน่วยงานปราบปรามฯ ในเดือนภาษีมีนาคม 2553 – กรกฎาคม 2556 หน่วยงานปราบปรามฯ ยอมรับว่าบริษัทซื้อสินค้ามาจริง จำนวน 203,539,858.77 บาท มีการส่งออกจริง จำนวน 190,598,574.20 บาท และ มีการขายภายในประเทศจริง จำนวน 102,023,677.39 บาท หรือสรุปได้ว่ามีการประกอบการจริง
4.3 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 – กันยายน 2556 มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงของบริษัท บ. แต่หน่วยงานปราบปรามฯ ไม่ใช้เป็นข้อมูลมาตรวจสอบภาษี เป็นการใช้ดุลยพินิจเป็นหลัก ซึ่งไม่เป็นธรรม และไม่สมเหตุสมผลทั้งสิ้น
4.4 กรณีของบริษัท ป. และ บริษัท ซ. มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง แต่หน่วยงานปราบปรามฯ ไม่ใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงนี้มาตรวจสอบภาษี ซึ่งเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เป็นธรรม และไม่สมเหตุสมผลทั้งสิ้นเช่นเดียวกัน
4.5 หน่วยงานปราบปรามฯ ตรวจสอบภาษี บริษัท บ. ตั้งแต่เดือนมีนาคม – เดือนพฤศจิกายน 2553 คงยอดขายไว้เท่ากับตัวเลขที่บริษัทยื่นแบบ แต่ลดยอดซื้อลงตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เพื่อกลั่นแกล้งให้บริษัทเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมากขึ้น เดือนอื่นๆ ใช้ดุลพินิจโดยไม่ดูข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง
4.6 หน่วยงานปราบปรามฯ ตรวจสอบภาษีซ้ำเดือนกับสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสงคราม โดยผลการตรวจสอบของทั้ง 2 หน่วยงานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะสมุทรสงครามใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง แต่หน่วยงานปราบปรามฯ ใช้ดุลยพินิจในการตรวจสอบภาษีเป็นหลัก (ทั้งๆ มีข้อเท็จจริงให้ตรวจสอบ) ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งให้บริษัทต้องรับผิดชอบภาษีมากขึ้น
4.7 หน่วยงานปราบปรามฯ ประเมินภาษีในรูปของเบี้ยปรับ 2 เท่าตามมาตรา 89(7) แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ทั้ง 3 บริษัทไม่ได้ เพราะใบกำกับภาษีออกมาจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงจริง เป็นผู้ประกอบการที่สามารถจะพิสูจน์การมีตัวตนได้จริง และมีการประกอบการจริง ในขณะนี้ก็ยังประกอบการจริงอยู่ทุกราย หรือหน่วยงานปราบปรามฯ สามารถจะออกไปสอบยันใบกำกับภาษีได้โดยไม่ต้องมีการนำพิสูจน์ เมื่อตรวจพบชื่อและที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษีในใบกำกับภาษีซื้อ และมีใบกำกับภาษีขายซึ่งเป็นสำเนาของใบกำกับภาษีซื้อ จากการขายสินค้าให้กับทั้ง 3 บริษัทที่นำมาขอคืนภาษีครบทุกฉบับ ณ สำนักงานของบริษัทผู้ขายสินค้า การประเมินภาษีตามมาตรา 89(7) จึงมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกลั่นแกล้งให้บริษัทต้องได้รับโทษมากขึ้น เป็นตัวเลขการประเมินภาษีที่มิชอบด้วยกฎหมายจากเบี้ยปรับตามมาตรา 89(7) มากถึงจำนวน 223,494,049.72 บาท
4.8 หน่วยงานปราบปรามฯ ไม่สอบยันใบกำกับภาษีซื้อ ไม่สอบยันข้อมูลของกรมศุลกากร และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกรมสรรพากรที่ ป.97/2543
4.9 หน่วยงานปราบปรามฯ ใช้ข้อมูลบางส่วนในการตรวจสอบภาษีของบริษัท บ. เพียงร้อยละ 20 ของเดือนภาษีที่ตรวจสอบทั้งหมด อีกร้อยละ 80 เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่สมเหตุสมผล ส่วนบริษัท ป. และ บริษัท ซ. ก็ใช้ดุลพินิจทั้ง 100% โดยไม่ใช้ข้อมูลที่มีอยู่จริงเลย ทั้งๆ ที่มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงให้ตรวจสอบอย่างครบถ้วน
4.10 หน่วยงานปราบปรามฯ ไม่ดำเนินการจัดเก็บภาษีจากผู้ขายสินค้าให้กับทั้ง 3 บริษัทให้ครบทุกราย (ประเมินภาษี 5 ราย จาก 21 ราย) กรณีที่มีความเห็นว่าผู้ขายสินค้าไม่ได้ขายสินค้าจริง ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นความบกพร่องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 154 และ 157
4.11 ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซื้อที่ผู้ส่งออกนำมาหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/5(5) จำนวน 120,348,208.54 บาท ที่หน่วยงานปราบปรามฯ ประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้ใช้ใบกำกับภาษีไม่เท่ากับ ประเด็นความผิดที่หน่วยงานสรรพากรอื่น ประเมินจัดเก็บภาษีจากผู้ออกใบกำกับภาษี ซึ่งการประเมินภาษีในรูปของเบี้ยปรับจากผู้ออกใบกำกับภาษีที่มีฐานความผิดเพียงประมาณ 15 ล้านบาท โดยจะต้องประเมินภาษีในรูปของเบี้ยปรับตามมาตรา 89(6) มียอดการประเมินเพียงประมาณ 30 ล้านบาท เท่านั้น และผู้ออกใบกำกับภาษีกำลังนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาในศาลภาษีอากรเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง
5.ในคำสั่งของกระทรวง เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้กล่าวอ้างรายงานของกรมที่รายงานต่อกระทรวงกรณีการคืนภาษี ราย บริษัท บ.บริษัท ป. และบริษัท ซ. ว่า “บริษัททั้ง 3 มีการประกอบธุรกิจผิดปกติในทางการค้าทั่วไป ทั้งด้านการซื้อ/ขายสินค้าและการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกระบวนการซื้อ/ขายสินค้า การจ่ายเงิน การจัดเก็บสินค้า การขนส่งสินค้า ลักษณะสถานประกอบการ ไม่มีความชัดเจน และไม่มีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับเป็นการส่งออกชายแดนและมีข้อมูลร้องเรียนว่า มีการซื้อบิลโดยมิได้มีการซื้อสินค้ากันจริง จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่า อาจมิได้มีการประกอบกิจการส่งออกจริง หรืออาจแสดงเอกสารเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรมีส่วนเกี่ยวข้อง”
กรมรายงานกระทรวงว่ายังไม่แน่ใจว่าบริษัททั้ง 3 บริษัทมีการส่งออกจริงหรือไม่ และยังไม่แน่ใจว่าบริษัทนำเอกสารเท็จมาขอคืนภาษีหรือไม่ แต่กลับรายงานว่ามีข้าราชการกรมสรรพากรมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งการตรวจสอบความถูกต้องในการคืนภาษี กรมจะต้องตรวจสอบให้ได้ผลงานเป็นที่ประจักษ์ อย่างครบถ้วน ถูกต้องเสียก่อนจึงจะรายงานผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกับข้าราชการได้ โดยจะต้องรายงานว่า ผู้ประกอบการมิได้มีการส่งออกจริง หรือแสดงเอกสารขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ โดยอาจมีเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรมีส่วนเกี่ยวข้อง หน่วยงานต่างๆ จึงจะดำเนินการกับข้าราชการต่อไปได้ เพราะหน่วยงานที่มีอำนาจในการตรวจสอบภาษีมีเพียง 2 หน่วยงานเท่านั้น คือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ และ หน่วยงานภายในกรมอีก 1 หน่วยงาน
การตรวจสอบภาษีอากรของหน่วยงานปราบปรามฯ มีความผิดพลาดบกพร่องในหลายเรื่องดังที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่มีความผิดพลาด บกพร่องชัดเจนที่สุดเป็นเรื่องของการประเมินเบี้ยปรับตามมาตรา 89(7) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 2 เท่าของตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า “ในกรณีที่ใบกำกับภาษีที่ผู้ได้รับประโยชน์ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม” แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นมานี้สามารถจะพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่า กลุ่ม Modern Trade และกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่รวมประมาณ 21 รายเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี มีสำเนาใบกำกับภาษีซื้อ หรือใบกำกับภาษีขาย อยู่ ณ สำนักงานของผู้ออกใบกำกับภาษีครบทุกฉบับและทุกราย ในขณะนี้ผู้ออกใบกำกับภาษีก็ยังประกอบการจริงอยู่ทุกราย กรณีที่กฎหมายกำหนดบทลงโทษไว้เช่นนี้เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการจะลงโทษผู้ออกใบกำกับภาษีที่เป็นผู้ทำลายระบบภาษีอากรของกรมสรรพากรเท่านั้น ในกรณีของผู้ใช้ใบกำกับภาษีเพียงแต่สามารถจะบอกได้ว่าใครเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี และมีสำเนาใบกำกับภาษีซื้อ หรือใบกำกับภาษีขายอยู่ ณ สำนักงานของผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีเท่านั้น ใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการส่งออกนำมาขอคืนภาษีก็ไม่เป็นใบกำกับภาษีปลอมตามประมวลรัษฎากรแล้ว ผู้ใช้ใบกำกับภาษีจะไม่ถูกประเมินภาษีในรูปของเบี้ยปรับ 2 เท่าของตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏในใบกำกับภาษีแล้ว ในกรณีความผิดพลาด บกพร่องในการตรวจสอบภาษีของหน่วยงานปราบปรามฯ นี้ ถ้าผู้ประกอบการส่งออกล่วงรู้ถึงความผิดพลาด บกพร่องในการตรวจสอบภาษี ผู้ประกอบการอาจจะนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลคดีทุจริตตามมาตรา 157 อาจจะทำให้ข้าราชการผู้รับผิดชอบได้รับความเดือดร้อนได้
--------------
ทั้งนี้ สำหรับคดีขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่ กาญจนบุรี และสมุทรสงคราม ที่ผ่านมากรมสรรพากร ยังไม่เคยออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนแต่อย่างไร ทั้งพฤติการณ์การกระทำความผิด รวมไปถึงตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงในทางคดีด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
พบหลักฐานมัด 3 เอกชน เอี่ยวคดีคืนภาษีส่งออกพม่า 'กลุ่มเดียวกัน'
แจ้งที่อยู่สุพรรณ-กาญฯ! เปิดตัว 2 กก.บ.เบอร์ม่า ป.ป.ช.เรียกสอบเอี่ยวคดีคืนภาษีส่งออกพม่า
ก่อนโชว์รายได้พันล.! บ.เบอร์ม่า เอี่ยวคดีภาษีส่งออกพม่า เปลี่ยนชื่อทำธุรกิจ3ปี 2 ครั้ง
โชว์หนังสือสรรพากร อุบเงียบสอบเอกชนเอี่ยวคดีภาษีส่งออกพม่า-หราชื่อ 3 บ.ตรงข้อมูลอิศรา
เจาะถุงเงิน บ.เบอร์ม่า ก่อนถูกสอบคดีคืนภาษีส่งออกพม่า-รายได้ 3 ปี 1,142 ล้าน
ได้ชื่อ2บ.ใหม่เอี่ยวคดีคืนภาษีส่งออกพม่าแล้ว! ส่งงบดุลแค่ปี56 -แจ้งที่อยู่บุรีรัมย์ด้วย
แจ้งที่ตั้ง 2 จว.-ทุน 1ล.! เปิดตัวบ.เบอร์ม่าเทรดดิ้ง เอี่ยวคดีขอคืนภาษีสินค้าส่งออกพม่า
กว้านซื้อยาสีฟัน-ผงซักฟอก อ้างส่งออกพม่า! เปิดพฤติการณ์บ.ขอคืนภาษี กาญจน์ฯ-สมุทรสงคราม