เบื้องลึก! ป.ป.ช.ไต่สวน คดีคืนภาษีเท็จโผล่กาญจน์ฯ-สมุทรสงคราม รอบนี้สินค้าส่งออกชายแดน?
"...เกี่ยวกับคดีขอคืนภาษีในส่วนของ จังหวัดกาญจนบุรี และสมุทรสงคราม นั้น ทางกรมสรรพากร และกระทรวงการคลัง ได้มีการแต่งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนนานแล้ว แต่ไม่มีใครทราบรายละเอียดมากนัก ข้อเท็จจริงวงในที่รับทราบกันอยู่ในขณะนี้ มีเพียงแค่ เหตุเริ่มต้นเกิดที่จังหวัดกาญจนบุรีก่อน มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งมาขอคืนภาษี เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากกาญจนบุรีเป็นพื้นที่อยู่ติดชายแดนและเมื่อผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรพื้นที่กาญจนบุรี ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่ สมุทรสงคราม ในเวลาต่อมา..."
ดูเหมือนว่าข้อมูลปัญหาการทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ของ กรมสรรพากร ยังคงปรากฎให้เห็นอย่างต่อเนื่อง!
เพราะนอกเหนือจากคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท ของกรมสรรพากร ที่ถูกเปิดโปงต่อสาธารณชนเป็นทางการในช่วงปลายปี 2558 เกี่ยวกับพฤติการณ์ของกลุ่มเอกชน ที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เอาชื่อชาวบ้านมาเป็นกรรมการ อ้างว่าส่งออกแร่ทองแดงไปต่างประเทศ แต่ไม่ได้ประกอบการจริง กลับยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ปช.) ชี้มูลความผิดไปแล้ว 1 สำนวน คือ นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร และนายศุภกิจ วริยะการ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับ 9 สรรพพากรพื้นที่ กทม. 22 (บางรัก) ส่วนสำนวนที่สอง มีการกล่าวหาผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 10 ราย ได้แก่ นายพายุ สุขสุดเขียว อดีตสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 (ซี 9) นายป้อมเพชร วิทยารักษ์ อดีตนักวิชาการสรรพากร พื้นที่สรรพากรภาค 4 นางศศิพิมพ์ บรรดาเสียง เจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากร นางอารีวัลย์ เถาสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากร และนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 (ซี 8) และกลุ่มเอกชนที่กระทำการคืนภาษี ได้แก่ นายวีรยุทธ แซ่หลก น.ส.สายธาร แซ่หลก นายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และนายสุรเชษฐ์ มหารำลึก (ปัจจุบันกลุ่มนายวีรยุทธ อยู่ระหว่างหลบหนีไปต่างประเทศ) (อ่านประกอบ : ป.ป.ช. ติดประกาศแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม 'กลุ่มวีรยุทธ' คดีทุจริตคืนภาษี 4.3 พันล.)
และคดีคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 39 บริษัท จำนวน 2 พันล้านบาท ในกลุ่มบริษัท เอ แอนด์ เอ เอ็กซิม (2012) จำกัด ซึ่งพฤติการณ์กระทำความผิดมีลักษณะคล้ายกับกรณีแรก จนถูกเรียกว่า คดีคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาค 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขณะนี้ ( อ่านประกอบ : ผัง 20 ตัวละคร 39 บ.เครือข่ายคดีคืนภาษี 2 พันล. ใครคนพักเงิน?, ‘ห้องเช่า’ถ.เพชรบุรีที่ตั้ง 2 บ.เครือข่ายคืนภาษีพื้นที่กรุงเทพฯ-เปิด‘เอแอนด์เอฯ’ราย 11)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า มีข้อมูลเกี่ยวกับคดีขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหนึ่งคดี ที่กรมสรรพากร ยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลเป็นทางการต่อสาธารณชน นั้นคือ กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในส่วนของพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และสมุทรสงคราม
โดยที่มาที่ไปเกี่ยวกับข้อมูล สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวจากกรมสรรพากร ว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ ของเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กาญจนบุรี และสมุทรสงคราม ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของข้าราชการ และเอกชน ให้รับทราบและใช้สิทธิชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว เป็นจำนวนนับ 10 ราย โดยผู้ถูกกล่าวหาบางรายมีตำแหน่งเป็นข้าราชการระดับสูงในสรรพากรพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดด้วย
เมื่อสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลยืนยันจาก สำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า ในช่วงต้นเดือนมี.ค.2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงกับผู้ถูกกล่าวหาเป็นทางการ
โดยผู้ถูกกล่าวหา มีทั้งในส่วนข้าราชการ และเอกชน รวมจำนวน 10 ราย แต่ในส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเอกชนบางราย มีการส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว แต่ปรากฎว่าไม่มารับทราบข้อกล่าวหา และไม่แจ้งเหตุขัดข้องด้วย
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาในส่วนของข้าราชการนั้น รายหนึ่ง มีตำแหน่งเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูง ทั้งในส่วนของพื้นที่ กาญจนบุรี และสมุทรสงคราม ด้วย (อ่านประกอบ : คดีคืนภาษีเท็จโผล่กาญจน์ฯ-สมุทรสงคราม! ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาขรก.สรรพากร-เอกชน นับ10 ราย)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในกรมสรรพากรเพิ่มเติม ว่า เกี่ยวกับคดีขอคืนภาษีในส่วนของ จังหวัดกาญจนบุรี และสมุทรสงคราม นั้น ทางกรมสรรพากร และกระทรวงการคลัง ได้มีการแต่งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนนานแล้ว แต่ไม่มีใครทราบรายละเอียดมากนัก
ข้อเท็จจริงวงในที่รับทราบกันอยู่ในขณะนี้ มีเพียงแค่ เหตุเริ่มต้นเกิดที่จังหวัดกาญจนบุรีก่อน มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งมาขอคืนภาษี เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากกาญจนบุรีเป็นพื้นที่อยู่ติดชายแดน
และเมื่อผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรพื้นที่กาญจนบุรี ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่ สมุทรสงคราม ในเวลาต่อมา
บริษัทเอกชนรายนี้ ก็ย้ายตามเข้ามาในพื้นที่ สมุทรสงคราม ด้วย และก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
ว่ากันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่สมุทรสงคราม ดูเหมือนจะมีจำนวนมากกว่ากาญจนบุรีหลายเท่านัก
ส่วนตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงในคดีส่วนนี้ว่ามีจำนวนเท่าไร? ข้อเท็จจริงพฤติการณ์รายละเอียดที่เกิดขึ้นในคดี? รายชื่อผู้เกี่ยวข้องเป็นใครบ้าง? ที่ผ่านมาดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง?
คงต้องรอให้ กรมสรรพากร ออกมายืนยันข้อเท็จจริงเป็นทางการอีกครั้ง?