อย่าเอาใจใคร! เลขาฯ ACT หนุน ป.ป.ช. ให้บอร์ดมหาวิทยาลัย-กองทุนยื่นทรัพย์สิน
เลขาฯ ACT ยันจุดยืน ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง-บอร์ดสภามหาวิทยาลัย-กองทุนต่าง ๆ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนุน ป.ป.ช. ยึดมั่นในหลักการเปิดเผย-โปร่งใส ตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐทุกตำแหน่ง รับแม้ไม่เปิดเผยสาธารณะก็ยังดีกว่าไม่ยื่น แต่ต้องอธิบายหนักแน่นให้คนเข้าใจ เอาอกเอาใจใครบางกลุ่มหรือไม่
จากกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ชาติ (คสช.) ที่ 21/2561 ระบุสาระสำคัญคือให้แก้ไขนิยามของ ‘ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง’ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ใหม่ โดยตัดคำว่า ‘กรรมการ’ ออกและเพิ่มเติม ‘ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด’ แทน โดยมีผลให้กรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการในกองทุนต่าง ๆ เป็นต้น ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปกำหนดใหม่นั้น (อ่านประกอบ : รีเซ็ตใหม่! ม.44 แก้ กม.ป.ป.ช. กก.สภามหาวิทยาลัย-บอร์ดกองทุนไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน)
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 นายมานะ นิมิตรมงคล ในฐานะเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 21/2561 ที่ใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายลูก ป.ป.ช. มีสาระสำคัญคือ การถอดนิยามของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง โดยไปเริ่มต้นใหม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ดุลพินิจว่า กรรมการในหน่วยงานอื่นของรัฐใดบ้างที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. อย่างไรก็ดีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นขอสนับสนุนให้ ป.ป.ช. ยืนหยัด ยึดมั่นในหลักการเรื่องการเปิดเผยและโปร่งใส สามารถตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐทุกตำแหน่ง โดยไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ในการจะกำหนดตำแหน่งใหม่คราวนี้ ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และหน่วยงานอื่นอย่างรอบคอบ
เมื่อถามว่า ป.ป.ช. มองเรื่องความโปร่งใสเป็นหลัก ส่วน คสช. กังวลว่าอาจเกิดวิกฤติทางการศึกษาหากบอร์ดสภามหาวิทยาลัยลาออกกันหมด นับเป็นการมองคนละมุมกันนั้น นายมานะ กล่าวว่า มาตรการพวกนี้ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นแนวทางที่คนไทย และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุก ๆ คนต้องปฏิบัติตาม มีการระบุชัดเจนว่า ใครต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือกฎหมายมาตราไหน ดังนั้นต้องมีการชี้ชัดออกมา หากต้องทำ ก็คือต้องทำ ไม่มีข้อยกเว้น
เมื่อถามว่า แนวทางขณะนี้มี 2 ทาง คือ การยื่นทรัพย์สินและเปิดเผยสาธารณะ และยื่นทรัพย์สินแต่ไม่เปิดเผย ตรงนี้จะแตกต่างกันอย่างไร นายมานะ กล่าวว่า ของเดิมคือผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินเลย ดังนั้นอย่างน้อยเมื่อมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินจะทำให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบได้ ถือว่าดีขึ้น แม้ว่าจะไม่เปิดเผยก็ตาม อย่างไรก็ดีเดิมในประกาศ ป.ป.ช. ระบุว่า ตำแหน่งเหล่านี้ต้องยื่นทรัพย์สินและเปิดเผยตามมาตรา 102 และ 106 ในกฎหมายลูก ป.ป.ช. ดังนั้นหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ต้องมีเหตุผลอธิบายหนักแน่นว่า ทำไมถึงเปลี่ยนแปลง อยากเอาอกเอาใจใครบางกลุ่มหรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ผ่าปมร้อน! กก.สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สิน ป.ป.ช. เหลือ 2 ทางเปิด-ไม่เปิดสาธารณะ?
รีเซ็ตใหม่! ม.44 แก้ กม.ป.ป.ช. กก.สภามหาวิทยาลัย-บอร์ดกองทุนไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน
อาจชง สนช.แก้ กม.ลูก! ปธ.ป.ป.ช.ชี้ทางออกให้ จนท.รัฐยื่นแต่ไม่เปิดเผยทรัพย์สิน
ป.ป.ช.ถกใหม่ กก.สภามหาวิทยาลัย-จนท.รัฐใดบ้างต้องยื่นทรัพย์สินหลังถูก ม.44 แก้
รีเซ็ตใหม่! ม.44 แก้ กม.ป.ป.ช. กก.สภามหาวิทยาลัย-บอร์ดกองทุนไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน
อาจชง สนช.แก้ กม.ลูก! ปธ.ป.ป.ช.ชี้ทางออกให้ จนท.รัฐยื่นแต่ไม่เปิดเผยทรัพย์สิน
ไม่ถอย!ป.ป.ช.ยันผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องยื่นทรัพย์สิน-ถ้า รบ.จะสั่งเลิกก็แล้วแต่
ราชกิจจาฯแพร่แล้ว! ประกาศ ป.ป.ช.ขยายเวลา จนท.รัฐยื่นทรัพย์สินฉบับใหม่
กลัวไม่เสมอภาค! ป.ป.ช.เคาะเพิ่มตำแหน่ง 5 ประเภทขยายเวลายื่นทรัพย์สินอีก 60 วัน
ป.ป.ช.ไม่ยอมถอย! ยันนายก-กก.สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สินแต่ขยายเวลา 60 วัน