บรรยง พงษ์พานิช:นั่งฟังสภาพัฒน์แถลง มันคนละเรื่องเดียวกัน
"....ประเด็นหลักก็คือ “ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ถึงแม้การกระจายรายได้จะดูเหมือนดีขึ้น แต่จากสถานะนี้ มันจะทัน มันจะพอหรือเปล่าที่จะไม่ให้เกิดวิกฤตด้านสังคม วิธีที่ทำอยู่มันถูกต้องยั่งยืนอย่างไร …นี่คือประเด็นข้อเท็จจริงที่ผมพยายามนำเสนอ จะแก้ปัญหาก็ต้องยอมรับความมีอยู่ ความรุนแรงของปัญหาก่อน Face the brutal fact เท่านั้น คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน..."
นั่งฟังสภาพัฒน์แถลง…มันคนละเรื่องเดียวกันเลย
ที่เป็นประเด็น (จากfbผมที่เอามาจากCS Global Wealth Report)เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่ง(Wealth Inequality) ...แต่ท่านมาแถลงเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านรายได้(Income Inequality)
สองเรื่องนี้มันคนละเรื่อง ถึงแม้จะเกี่ยวกันบ้าง …เหมือนผมบอกว่า วัวป่วย รีบรักษาเถอะ ท่านมาแถลงว่าควายยังสุขภาพดี แถมแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ยังใช้ไถนาได้ดี
ท่านบอกว่า ด้านการกระจายรายได้ ในภาพใหญ่เราดีขึ้น สบายใจได้ …ผมก็ยังสงสัยนะครับ ปี 2550 มาปัจจุบัน Income Gapของ10%บน หาร10%ล่าง ลดจาก 25 เท่า เหลือ19 เท่า มันเป็นได้ตั้งหลายทาง เช่น 10%ล่างส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะตำ่ ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหลายสิบเปอร์เซนต์(ผลงานรัฐบาลที่แล้ว)ย่อมรายได้ดีขึ้น แต่10%บนส่วนล่าง(ซึ่งผมเดาว่าเป็นพวกSMEs)เจ๊งกันระนาวรายได้หด อย่างนี้ก็ทำให้Gapลดได้ (ผมไม่ได้กล่าวหานะครับ แค่ยกตัวอย่างที่เป็นไปได้) มันมีรายละเอียดอีกเยอะครับ ต้องศึกษาวิจัยให้ลึกที่สุด อย่าเพิ่งประมาทง่ายๆ
ส่วนในด้านมิติความมั่งคั่ง(Wealth) ท่านบอกว่าเราไม่ได้มีตัวเลข และพูดเหมือนว่าไม่ใช่มิติที่สำคัญ(เพราะWorld Bankไม่ได้บอกว่าสำคัญ) ซึ่งผมคิดตรงข้ามว่านี่สำคัญมาก โดยเฉพาะในประเทศที่จะแก่ก่อนรวย ท่านไม่ได้บอกว่าจะมีแผนศึกษาวิจัยใดๆซึ่งผมคิดว่าอันตรายมาก ที่จะออกนโยบายอย่างตาบอดไปเรื่อยๆ
สรุป ท่านขอให้สบายใจว่า เราไม่ได้เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก(อันนี้ผมเห็นด้วย) แถมสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ(อันนี้ไม่แน่ใจ) และมาตรการที่ทำอยู่กับที่มีอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติพอเพียงจะแก้ปัญหาได้(อันนี้ผมไม่เห็นด้วย)
โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง……ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ (ตอนต่อ)
เมื่อวันหยุดสองวันก่อน ผมนั่งอ่านหนังสือ ไปเจอเอางานวิจัย Credit Suisse Global Wealth Report 2018 ว่าด้วยการกระจายความมั่งคั่ง(Wealth) ที่ออกมาเดือนกว่าแล้ว ทั้งหมดมี167หน้า และในท้ายเล่มมีตารางTable 6.5-6.6 ระบุว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยนั้นหนักที่สุดในบรรดา 40 ประเทศที่อยู่ในตาราง ผมก็เลยจับประเด็นนี้มาเขียนบทความ https://web.facebook.com/banyong.pongpanich/posts/1001185230084776 เพื่อเน้นให้เห็นความรุนแรงของปัญหา และเสนอหลักการแนวทางแก้ไว้เบื้องต้น …ปรากฎว่าเป็นบทความที่มีการแชร์ต่อค่อนข้างมาก(1.4k) และสื่อทั้งหลายเอาไปขยายต่อกันมากมาย รวมทั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยเกี่ยวกับข้อมูล ว่าล้าสมัย ว่าไม่ถูกต้อง ถึงกับมีบอกว่ามั่ว บิดเบือนเลยทีเดียว (ไม่รู้ว่าผม หรือว่าCredit Suisse)
ขอชี้แจงดังนี้ครับ … ทั้งหมดนี่เป็นงานวิจัยที่เพิ่งออกมา และเขาบอกวิธีการวิจัยไว้อย่างละเอียด ซึ่งผมก็เอางานวิจัยทั้งฉบับมาแปะไว้ที่โพสต์ผมแล้วด้วย(ถึงได้ค้นคว้าวิจารณ์จับผิดกันได้ทั่วไงครับ) ไม่ได้คิดปิดบังบิดเบือนอะไร แถมผมเองก็ได้เขียนบอกถึงความอาจจะไม่ครบถ้วนถูกต้องไว้ย่อหน้าหนึ่ง …ขอเอามาให้อ่านอีกทีนะครับ “…เห็นตัวเลข หลายคนคงจะยังสงสัย ว่าวิธีการเก็บข้อมูล วิธีการสำรวจ วิธีการประเมินของCredit Suisse น่าเชื่อถือและถูกต้องแค่ไหน หรือหลายคนอาจจะปลอบใจว่า นี่มันวัดละเอียดเทียบกันแค่ 40ประเทศ ไอ้ประเทศจนๆในซับซาฮาร่า หรือพวกประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชโดยเฉพาะที่พวกชีคเป็นเจ้าของทุกอย่างมันน่าจะแย่กว่าเรานะ …อย่างรายงานบอกว่าความมั่งคั่งรวมของคนไทยมีแค่ $505billion หรือ 16.5ล้านๆบาท ผมก็คิดว่ายังตกหล่นไปเยอะ เพราะเฉพาะทรัพย์สินทางการเงินรวมในตลาดก็มีขนาด 40ล้านๆบาทแล้ว ไม่รวมอสังหาและทรัพย์สินอื่นๆ ก็หวังว่าที่ตกหล่นน่ะส่วนใหญ่เป็นของคนจนนะครับ (กลัวจะตรงกันข้ามซะละมากกว่า)”
ส่วนไอ้ที่ผมจั่วหัวเพื่อเรียกความสนใจว่า”ไอ้ย่ะ สองปีที่แล้วแค่ได้ขึ้นโพเดียม(อันดับสาม) ปีนี้ครองแชมป์โลกไปซะแล่ว” แล้วก็เลยกลายเป็นประเด็นข่าวพาดหัวไปนั้น …ก็ขอบอกว่ามันเป็นการต่อยอดจากของเดิมสองปีที่แล้วที่มีการระบุไปทั่วตามข่าว ตามเวทีต่างๆ(พวกรัฐมนตรีก็พูดกันหลายคนครับ) ว่าไทยอยู่อันดับสามของโลกในด้านความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง(Wealth Inequality) https://www.google.co.th/search…: ซึ่งมันก็มาจากงานวิจัยเดียวกันนี่แหละครับ มาจากวิธีวิจัยเดียวกัน มาจากตารางสี่สิบประเทศเหมือนกันนี่แหละครับ …ก็ต้องขอโทษด้วยที่ไม่ได้เขียนบอกไว้ให้ละเอียด
ในเรื่องข้อโต้แย้งโจมตีว่า งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ใช้ฐานข้อมูลเก่า2006 แล้วปรับแค่ราคา กับเรื่องว่าเปรียบเทียบกันแค่40ประเทศนั้น จะอธิบายดังนี้นะครับ …งานวิจัยลักษณะนี้เป็นงานยากมากๆเพราะฐานข้อมูลและมาตรฐานข้อมูลมีไม่เท่าไม่เหมือนกันในประเทศต่างๆทั่วโลก เขาจึงต้องหาวิธีที่เป็นไปได้ที่คิดว่าจะให้ผลที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งเขาก็บอกรายละเอียดวิธีการไว้หมดแล้ว และยังแยกแยะให้ชัดด้วยว่า ประเทศที่มีข้อมูลcomplete data มีอยู่ 28ประเทศ ที่มีincompleteอีก 24 ประเทศ(ไทยอยู่กลุ่มนี้) ส่วนที่เหลืออีก154ประเทศใช้คาดคะเนเอา …แต่แค่สองกลุ่มแรก 52ประเทศ ก็มีความมั่งคั่งรวมกัน 96.1%ของความมั่งคั่งทั้งโลกแล้ว งานวิจัยนี้จึงถือว่าครอบคลุมได้
ส่วนในเรื่องตาราง6.5-6.6ที่เป็นประเด็น …เขาก็เลือกเอาประเทศในสองกลุ่มแรก 40 ประเทศที่เขามีข้อมูลพอมาหาค่าการกระจาย กับแยกกลุ่มชั้นต่างๆ …จริงๆเขาคงไม่ได้ตั้งใจจะให้เปรียบเทียบจัดอันดับอะไรหรอกครับ แต่ก็มีคนเอาไปจัดกันตั้งแต่สองปีก่อน ผมก็เลยจัดตาม ไม่มีอะไรมาก
สรุปว่า เราไม่มีการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง(Wealth Inequality)อื่นใด ที่ประกาศที่ศึกษาก็เป็นเรื่องการกระจายรายได้(Income Distribution) ซึ่งถึงจะเกี่ยวกันบ้างแต่มันไม่เหมือนกัน ความมั่งคั่ง(Wealth)นั้น มันก็คือรายได้ (income) ส่วนเกิน(ที่เหลือจากใช้จ่าย)สะสม ลองคิดดูว่าคนรายได้น้อย จะกินไปวันๆเดือนๆยังไม่ค่อยจะพอ จะเหลืออะไรไปสะสม ผมเลยไม่แปลกใจที่รายงานบอกว่าคนครึ่งประเทศ(25 ล้านadults)ถือครองความมั่งคั่งแค่ 1.7%ของความมั่งคั่งทั้งประเทศ ที่ไหนๆในโลก Wealth Distributionมันแย่กว่าIncome Dirtributionแน่นอนอยู่แล้วครับ เพียงแต่ในประเทศรายได้สูง การกระจายดี คนตัวเล็กๆเขาก็ยังมีเหลือเก็บออมแม้จะรายได้ตำ่ (ลองนึกภาพคนเสิร์ฟอาหารในลอนดอนได้เดือนละแสนห้า กับคนเสิร์ฟไทยได้เดือนละเก้าพัน …ใครมีเก็บมากกว่าครับ)
ที่ถูกแทนที่จะไปด่าไปโต้ไปจับผิดรายงานเขา เราต้องทำวิจัยของเราเองสิครับ ทำให้เราเองเป็นประเทศComplete Data และมีงานสรุปที่เชื่อถือได้ จะได้สามารถเข้าใจปัญหาได้ลึกซึ้งขึ้น ออกนโยบาย ออกมาตรการที่ได้ผลจริง ประเมินได้ …นี่เป็นการบ้านที่สภาพัฒน์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ต้องไปทำ หรือจะให้พวกเก่งๆจากธปท.มาเสริมก็ได้ครับ
ที่คนโต้แย้งว่า ข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี2006 ผมอยากถามว่า สิบสองปีที่ผ่านมาใครคิดว่าสถานการณ์การกระจายความมั่งคั่งดีขึ้นบ้างครับ เศรษฐกิจโตเฉลี่ยแค่ 3% แต่กำไรบริษัทจดทะเบียนโตกว่าสิบเปอร์เซนต์เกือบทุกปี ประกาศอันดับมหาเศรษฐีทีเพิ่มทั้งคนเพิ่มทั้งทรัพย์กันหลายเท่าตัว …กับอีกพวกบอกว่าไปเปรียบเทียบแต่ประเทศเจริญ …แล้วจะไปเทียบกับพวกห่วยๆหาอะไรล่ะครับ อยากสูงก็ต้องยืดตัว อยู่ในหมู่คนเตี้ยไม่ทำให้เราสูงขึ้นหรอกครับ
จริงๆที่ถกเถียงกันมานั้นไม่ใช่ประเด็นหลักเลยครับ …ประเด็นหลักก็คือ “ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ถึงแม้การกระจายรายได้จะดูเหมือนดีขึ้น แต่จากสถานะนี้ มันจะทัน มันจะพอหรือเปล่าที่จะไม่ให้เกิดวิกฤติด้านสังคม วิธีที่ทำอยู่มันถูกต้องยั่งยืนอย่างไร …นี่คือประเด็นข้อเท็จจริงที่ผมพยายามนำเสนอ จะแก้ปัญหาก็ต้องยอมรับความมีอยู่ ความรุนแรงของปัญหาก่อน Face the brutal fact เท่านั้น คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ทั้งหมดนี่ผมไม่เคยโทษใคร โทษรัฐบาลไหนเลยนะครับ สถานการณ์เราแย่ลงๆมาตลอด คนรวยก็ไม่ใช่คนผิด(ถ้ารวยมาอย่างถูกต้อง รวยมาจากการแข่งขัน การเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่จ่ายเงินคอร์รัปชั่นให้ตนได้เปรียบได้ผูกขาด ไม่ลอบบี้ให้ไม่เกิดการกระจาย) มันเป็นเรื่องของโครงสร้างที่บิดเบือน มันเป็นเรื่องของการขาดโอกาส
ไหนๆก็จุดประเด็นสังคมมาได้ขนาดนี้ ผมก็ดีใจนะครับ พรรคต่างๆจะได้ไประดมความคิด ระดมนโยบายที่จะแก้ไขปัญหามานำเสนอ ส่วนผมก็จะใช้ความรู้อันจำกัดเสนอทางแก้ที่ผมเชื่อไปเรื่อยๆก็แล้วกันนะครับ …สงสัยได้เวลาเขียนซีรีส์ยาวอีกแล้วครับ
อ่านประกอบ : ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ
ที่มา : เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich