สภาพัฒน์ฯ โต้ไทยไม่ใช่ประเทศเหลื่อมล้ำสุดในโลก ตามมาตรฐานเวิลด์เเบงก์
สภาพัฒน์ฯ ยืนยันไทยไม่ใช่ประเทศความเหลื่อมล้ำสูงสุดในโลก ตามมาตรฐานธนาคารโลก -CS Global Wealth Report 2018 ใช้ข้อมูลเก่าปี 49 ด้านโฆษก รบ. เเจง สัดส่วนรายได้ดีขึ้น เหลือ 19.29 เท่า ในปี 60 ยืนยันที่ผ่านมาเเก้ไขปัญหาต่อเนื่อง
วันที่ 7 ธ.ค. 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการและโฆษก สศช. แถลงข่าวชี้แจงประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ภายหลังปรากฎมีการอ้างข้อมูลจากรายงานของ CS Global Wealth Report 2018 ที่ระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก
นายดนุชา เปิดเผยว่า การวัดเรื่องความเหลื่อมล้ำของไทยเป็นไปตามมาตรฐานของธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวใช้กับประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาใน 110 ประเทศ สิ่งที่ใช้วัด เรียกว่า “ค่าสัมประสิทธิ์กระจายรายได้” มีค่าระหว่าง 0 (กระจายรายได้ดี) -1 (กระจายรายได้ไม่ดี ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว ประเทศต่าง ๆ จะมีค่าสัมประสิทธิ์กระจายรายได้ระหว่าง 0.2-0.5
สำหรับกรณีของไทย ข้อมูลที่ใช้ในการหาค่าสัมประสิทธิ์กระจายรายได้ มาจากฐานข้อมูลการสำรวจจริง ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติจะทำการสำรวจตามวงรอบ มีกลุ่มตัวอย่างประมาณ 5.2 หมื่นตัวอย่าง กระจายในกลุ่มรายได้ต่าง ๆ เรียกว่า “ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน”
“ปัจจุบันไทยมีค่าสัมประสิทธิ์กระจายรายได้ ในส่วนของรายได้อยู่ที่ 0.453 หรือ 45.3% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ 0.499 หรือ 49.9%” โฆษก สศช. กล่าว และระบุต่อถึงส่วนรายได้ ปัจจุบันอยู่ที่ 0.364 หรือ 36.4% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ 0.398 หรือ 39.8%
จะเห็นว่า ทั้งในฝั่งรายได้และรายจ่ายมีสัดส่วนลดลงต่อเนื่อง หมายความว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยปรับตัวดีขึ้น
นายดนุชา กล่าวต่อว่า ในส่วน “ช่องว่างระหว่างรายได้” ทั้งรายได้ของประชากรที่มีรายได้สูงสุด 10% แรก และต่ำสุด 10% สุดท้ายนั้น ปัจจุบันช่องว่างระหว่างรายได้อยู่ที่ 19.29 เท่า ลดลงจากปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ 25.1 เท่า ซึ่งช่องว่างดังกล่าวแคบลงเรื่อย ๆ
ถามว่าไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ของโลก โฆษก สศช. กล่าวว่า จากรายงานธนาคารโลก ในปี 2558 ไทยอยู่อันดับ 40 จาก 67 ประเทศ ถือว่าปรับตัวดีขึ้น จากปี 2556 อยู่อันดับ 46 จาก 74 ประเทศ
ส่วนสาเหตุประเทศไม่เท่ากันนั้น เนื่องจากธนาคารโลกจะนำข้อมูลในประเทศที่มีความสมบูรณ์แล้วเท่านั้นมาเปรียบเทียบ ฉะนั้นประเทศที่ไม่มีข้อมูลจะไม่นำมาจัดอันดับด้วย
“ตัวเลขของไทยไม่แตกต่างจากประเทศอื่นมากนัก ฉะนั้นยืนยันไทยไม่ใช่ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุด”
นายดนุชา กล่าวด้วยว่า สำหรับรายงานของ CS Global Wealth Report 2018 จัดอันดับโดยใช้ค่าดัชนีกระจายความมั่นคั่ง ซึ่งมีประเทศที่มีข้อมูลสมบูรณ์เพียง 35 ประเทศ และส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร จีน สวีเดน สิงคโปร์ เกาหลีใต้
“ข้อมูลการถือครองความมั่นคั่ง การจับเก็บค่อนข้างซับซ้อน ต้องมีการให้คำนิยามที่ชัดเจนว่า ทรัพย์สินคืออะไรบ้าง เช่น การถือครองที่ดิน ต้องดูว่า สมมติถือครองที่ดิน 40 ไร่ กับ 200 ตร.ว. หาก 40 ไร่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ 200 ตร.ว. อยู่ในย่านสีลม อันนี้ต้องมีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นข้อมูลตรงนี้ไทยจึงไม่มีการสำรวจและจัดเก็บ”
โฆษก สศช. กล่าวอีกว่า ข้อมูลที่นำไปจัดอันดับของไทยเป็นของปี 2549 ซึ่งนานมากแล้ว แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก จึงยืนยันว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยตามมาตรฐานของธนาคารโลก ไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในโลก ขณะเดียวกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลับปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าช่องว่างระหว่างรายได้และค่าสัมประสิทธิ์กระจายรายได้ดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันเดียวกันนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยจากการตรวจสอบพบว่า ข้อมูลที่รายงานฉบับนี้นำมาอ้างอิงเป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 แล้วพยายามนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลบางส่วนของปีปัจจุบัน ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์และขาดความน่าเชื่อถือ และแหล่งข้อมูลที่ถูกนำไปวิเคราะห์ 2 แหล่ง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยและองค์กรการเงินระหว่างประเทศ ก็ไม่มีส่วนใดเลยที่แสดงถึงการถือครองมูลค่าทรัพย์สินของคนรวย 1% ในประเทศไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ประเทศที่ถูกนำมาเทียบส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD ยกเว้นจีน อินเดีย อินโดนีเซีย โคลัมเบีย โรมาเนีย แอฟริกาใต้ และไต้หวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเรื่องความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก
ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยดีขึ้นเป็นลำดับ โดยสัดส่วนรายได้ของกลุ่มคนรวยที่สุดแตกต่างจากกลุ่มคนจนที่สุด ลดลงจาก 29.92 เท่าในปี 2549 เหลือ 19.29 เท่าในปี 2560
“รัฐบาลยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การฝึกอาชีพเพิ่มทักษะ กองทุนการออมแห่งชาติ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การจัดสรรที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้ เป็นต้น” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
อ่านประกอบ:30 ปี ขับเคลื่อน ศก. ‘กอบศักดิ์’ ชี้ไม่แก้ความเหลื่อมล้ำ คนจนไร้เงินออม เข้าไม่ถึงความมั่นคั่ง