30 ปี ขับเคลื่อน ศก. ‘กอบศักดิ์’ ชี้ไม่แก้ความเหลื่อมล้ำ คนจนไร้เงินออม เข้าไม่ถึงความมั่นคั่ง
'กอบศักดิ์ ภูตระกูล' ถอดบทเรียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ 30 ปี ไม่เเก้เหลื่อมล้ำไทยเเท้จริง สัดส่วนรายได้ยังเเตกต่าง คนจนไร้เงินออม เข้าไม่ถึงความมั่นคั่งเท่าคนรวย ระบุ ปชช.มีเงินฝากไม่เกิน 5 หมื่นบาท สูงถึง 74 ล้านบัญชี จาก 90 ล้านบัญชี เผยถ้าไม่มีศาสตร์พระราชา ประเทศส่อประสบวิกฤติเหมือนเวเนซูเอล่า
วันที่ 6 ธ.ค. 2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และภาคี จัดสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษา โครงการ “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน และตัวชี้วัดความยั่งยืนชุมชนมั่นพัฒนา” ณ โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพฯ
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยเริ่มต้นระบุถึงเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 หากไม่มีศาสตร์พระราชา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ประเทศไทยคงเกิดวิกฤติเหมือนเวเนซูเอล่า ดังนั้นเราโชคดีที่มีพระองค์
อย่างไรก็ตาม ต้องกลับมาทบทวนว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจถูกต้องหรือไม่ เพราะตลอดเกือบ 30 ปี พบว่า ตัวเลขสัดส่วนรายได้ไม่แตกต่างกัน พัฒนาเท่าไหร่ ได้เท่านั้น คนจนต่ำมาก ประมาณ 4% ส่วนคนรวยมีส่วนแบ่งประมาณ 52-54% ต่อเนื่องตลอดเวลา
ในเรื่องของรายได้ต่อหัวประชากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนมีฐานะยากจนต่ำสุด 20% มีรายได้ เพิ่มขึ้นเพียง 2,000 บาท แตกต่างจากคนที่มีฐานะร่ำรวย กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 20,000 บาท ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ข้อมูลการออมจากบัญชีทั้งหมดประมาณ 90 ล้านบัญชี เชื่อหรือไม่ว่า คนมีเงินออมเกิน 10 ล้านบาท มีเพียง 1 แสนบัญชีเท่านั้น และส่วนใหญ่ 74 ล้านบัญชี จะมีเงินออมไม่เกิน 5 หมื่นบาท
“ท้าพิสูจน์ให้ไปตู้เอทีเอ็ม หากมีคนยืนอยู่ข้างหน้า ให้พยายามหยิบสลิปที่ทิ้งไว้ขึ้นมา มั่นใจว่าแต่ละคนมีเงินเหลือในบัญชีไม่เกิน 4,000 บาท” และนี่คือความจริงในประเทศไทยว่า คนไทยมีเงินในบัญชีเฉลี่ยแค่ 5,000 บาท/คน
ทั้งนี้ ที่แย่กว่ารายได้ คือ ที่ดิน ข้อมูลพบผู้ที่มีที่ดินมากที่สุดในประเทศไทย สะสมมา 1 ชั่วชีวิตคน สูงถึง 6 แสนไร่
ดร.กอบศักดิ์ ยังระบุถึงข้อมูลที่มีการเผยแพร่ว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดของโลก จริงหรือไม่จริง ไม่ทราบ แต่ตัวเลขที่ถูกพูดถึงนี้เป็นข้อมูลจริง นั่นหมายความว่า การพัฒนาที่เราภาคภูมิใจทั้งหมด ปรากฎสัดส่วนรายได้ไม่เปลี่ยนแปลง แต่สัดส่วนความมั่นคั่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะคนที่มีฐานะยากจนที่สุดไม่มีเงินออม แต่คนที่มีฐานะร่ำรวยมีเงินออม ทำให้เข้าถึงโอกาส และสามารถสะสมความมั่นคั่งได้อย่างรวดเร็ว
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ขอให้บรรลุความสำเร็จที่แท้จริง แต่วันนี้ไม่จริง เพราะดูเหมือนจะสำเร็จ แต่ไม่สำเร็จ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายบรรยงค์ พงษ์พานิช ได้อ้างข้อมูลจากรายงานของ CS Global Wealth Report 2018 ที่ระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก โดยในปี 2016 คนไทย 1% มีทรัพย์สินรวม 58% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่า คนไทย 1% มีทรัพย์สินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 66.9% ในปัจจุบัน แซงหน้ารัสเซียที่ลดจาก 78% เหลือเพียง 57.1% ตกเป็นอันดับ 2 ของโลก .
อ่านประกอบ:ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ