“my boss wants it” คือ‘ทักษิณ’ แต่ไม่ได้รับประโยชน์ คำพิพากษาฉบับเต็มคดีฟื้นฟู TPI
ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาลฎีกาฯ ยกฟ้องอดีตนายกฯ คดีสั่ง ก.คลังบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TPI คำเบิกความ ร.อ.สุชาติ บอก ‘ประชัย’ “my boss wants it” คือ ‘ทักษิณ’ แต่เป็นเพียงคำพูดลอยๆ ไม่ได้รับประโยชน์ ไม่มีเจตนาพิเศษ ไม่ผิด
29 ส.ค.2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา ‘ยกฟ้อง’ คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำลย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่พอรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยมีเจตนาพิเศษประสงค์ต่อผล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ฟังไม่ได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงสาระสำคัญของคำพิพากษาตามที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 4 ธ.ค.2561 มารายงาน
@ คำฟ้อง เห็นชอบ ให้พรรคพวกบริหาร ค่าตอบแทนเดือนละ 4 ล.
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องหรือไม่ โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องกำกับดูแลและควบคุมการบริหารราชการของกระทรวงการคลังให้เป็นไปตามกรอบอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยกลับให้ความยินยอมและเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ ทั้งที่กระทรวงการคลังไม่มีอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 จำเลยเชิญตัวแทนธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เจ้าหนี้ และผู้บริหารของทีพีไอ ลูกหนี้ เข้าร่วมหารือที่บ้านพิษณุโลก เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ ตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางและการตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้คนใหม่ จำเลยเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยขอให้ฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้เสนอตัวแทนมา ฝ่ายละ 15 คน คัดเลือกให้เหลือฝ่ายละ 7 คน เสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และจะตั้งตวั แทนของฝ่ายรัฐบาล 1 คน ร่วมกันเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ แต่ต่อมา เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังเพื่อขอความยินยอม จำเลยกลับเห็นชอบและเสนอรายชื่อบุคคล 5 คน เป็นผู้บริหารแผน เป็นเหตุให้มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่คณะผู้บริหารแผนซึ่งเป็นพรรคพวกของ จำเลยเดือนละสี่ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2546 มีการนำเรื่องที่กระทรวงการคลังยินยอม เข้าเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็มิได้ทักท้วง หรือสั่งการให้กระทรวงการคลังปฏิเสธการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารแผน จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแก่คณะผู้บริหารแผนซึ่งเป็นพรรคพวก จำเลยและก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบบริหารราชการกระทรวงการคลังและกิจการของลูกหนี้
@พิษลอยตัวค่าเงินบาทยุคบิ๊กจิ๋ว หนี้เพิ่ม 1.3 แสนล.
ข้อเท็จจริงจากสำนวนไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และจากพยานโจทก์ในชั้นพิจารณาได้ความว่า ทีพีไอเป็นบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก ช่วงปี 2540 ทีพีไอมีทุนประกอบกิจการด้วยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศและในประเทศหลายสถาบัน โดยมีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ครั้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลังประกาศปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ให้ใช้ค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะตลาดเงินตราต่างประเทศ ใช้ระบบ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นแบบลอยตัว (Managed Float) แทนที่ระบบตะกร้าเงิน ( BasketCurrency) ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างหนัก ปริมาณหนี้ที่ลูกหนี้ในประเทศเป็นหนี้เจ้าหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยทันที ส่งผลกระทบทางการเงินและเศรษฐกิจในประเทศไทยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ วิกฤตเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของทีพีไออย่างรุนแรง เนื่องจากทีพีไอกู้ยืมเงิน ในรูปเงินตราต่างประเทศจึงประสบปัญหาขาดทุนจากอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราทันที ถึง 65,261 ล้านบาท ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นรวมกว่า 130,000 ล้านบาท ในชั่วข้ามคืน ขณะนั้นทีพีไอ มีพนักงาน 7,000 คนเศษ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบหากทีพีไอไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เดือนสิงหาคม 2540 ทีพีไอประกาศหยุดพักการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดจนทำให้ถูกเจ้าหนี้ยื่นฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และทีพีไอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ในชั้นพิจารณาตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่ ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2546 ว่า กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ของทีพีไอประสบปัญหา เพราะบริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ จำกัด บริหารแผนล้มเหลว เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และพนักงานซึ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อันอาจส่งผลให้การฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ไม่ประสบผลสำเร็จอันจะส่งผลให้ลูกหนี้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อสหภาพแรงงานของทีพีไอซึ่งมีพนักงานกว่า 7,000 คน อาจได้รับผลกระทบหากการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ไม่ประสบผลสำเร็จยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้เข้ามาแก้ไขปัญหา ประกอบกับธุรกิจของทีพีไอเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตปิโตรเคมีเม็ดพลาสติก โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นธุรกิจพลังงานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ในการขับเคลื่อนพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของประเทศ แม้การเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งเป็นธุรกิจของเอกชน ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติโดยตรงให้อำนาจกระทรวงการคลังที่จะทำได้ แต่กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจ ในการกำกับดูแลนโยบายการเงินการคลังของแผ่นดิน และดูแลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่อประเทศซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงลุกลามไปสู่เศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ของประเทศ อย่างต่อเนื่องอาจก่อความเสียหายแก่ประเทศชาติในระยะยาวจนยากที่จะฟื้นตัวในเวลาอันสั้น สอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ข้อ 2.1 นโยบายด้านการคลังที่ต้องหยุดการทรุดตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อพฤติการณ์มีความจำเป็นอย่างยิ่งและเร่งด่วนเช่นนี้ ทั้งการปกป้องระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงเป็นกิจการสาธารณประโยชน์ ในกรณีนี้ กระทรวงการคลังย่อมมีความจำเป็นที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการเงินการคลังของแผ่นดิน เพราะการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งกระทบต่อธุรกิจของเอกชนเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจซึ่งต้องติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ยิ่งมีผลกระทบโดยตรงมากยิ่งขึ้นไปอีก ปัญหาการเงินของทีพีไอจึงมิได้เกิดจากการขาดประสิทธิภาพ ในการบริหาร แต่เป็นผลเชื่อมโยงมาจากนโยบายการลอยตัวค่าเงินบาทของรัฐบาลโดยแท้ ดังจะเห็น ได้จากเมื่อกระทรวงการคลังมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ครั้นถึง เดือนสิงหาคม 2540 ทีพีไอได้ประกาศขอพักการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ก็เป็นผลมาจาก การดำเนินการด้านการเงิน การคลังของประเทศเอง กระทรวงการคลังจึง มีเหตุผลที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหาร แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้เพื่อพยุงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้ทรุดตัวมาก ยิ่งขึ้น
สอดคล้องกับความเห็นของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งการที่กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผน ก็สืบเนื่องมาจากเจ้าหนี้มีมติพิเศษเลือกให้กระทรวงการคลังซึ่งเป็นคนกลางเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ ตามรายงานการประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 โดยผู้ที่เสนอเช่นนี้ก็คือทีพีไอ ที่มี นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และ นายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ เป็นกรรมการ และบริษัท ทีพีไอ อินเตอร์เน็ต พอร์ทัล จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 207 กับบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด ซึ่งทั้งสองบริษัท ก็มี นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นกรรมการอยู่ด้วยและเป็นบริษัท ในเครือของทีพีไอ ที่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของทีพีไอด้วยเช่นกัน สอดคล้องกับคำ ให้การของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ที่ให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน และเบิกความต่อศาลว่าตนเองเป็นผู้เสนอให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นคนกลางในการบริหารแผน
จึงถือว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมในการที่กระทรวงการคลังจะเข้ามาเป็นคนกลางในการบริหารแผน และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแต่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ตามมติที่ประชุม เจ้าหนี้ตามมาตรา 90/68 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 90/52 และมาตรา 90/17 วรรคสองและวรรคหก แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาตั้งบุคคลใด ๆ ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเลือกให้เป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ ไปตามความเหมาะสมหรือไม่ก็ได้ หาเป็นการบังคับให้ศาลต้องตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ ตามมติเจ้าหนี้เสมอไปไม่ ดังเช่นคำวินิจฉัยของศาลล้มละลายกลาง กรณีมีคำสั่งไม่เห็นชอบแต่ตั้ง บริษัท ผู้บริหารแผนไทย จำกัด เป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่กระทรวงการคลังเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนจึงเกิดจากความตกลงยินยอมของเจ้าหนี้และลูกหนี้ประกอบดุลพินิจของศาลล้มละลายกลางเฉพาะคดี เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ มิใช่เป็นการเข้าไปก้าวล่วงสิทธิของเอกชน จึงไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงหรือครอบงำกิจการของเอกชน ข้อเท็จจริงรับฟัง ไม่ได้ว่า จำเลยเป็นผู้เสนอแนวทางให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอ หรือลูกหนี้ในคดีล้มละลายดังที่โจทก์อ้างในฟ้องเมื่อการตั้งผู้บริหารแผนไม่ได้อยู่ในอำนาจของจำเลย แต่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอันได้แก่ คู่ความศาลล้มละลายกลาง เจ้าหนี้ ลูกหนี้ สหภาพแรงงานลูกจ้างของทีพีไอและกระทรวงการคลังต่างเห็นชอบในการที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอลูกหนี้ ซึ่งเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนั้น แม้เกิดจากการสำคัญผิดอันเนื่องมาจาก การตีความข้อกฎหมาย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วกระทรวงการคลังไม่อาจถูกแต่งตั้งเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ของลูกหนี้ซึ่งเป็นธุรกิจของเอกชนในคดีล้มละลายได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด กับแม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64 บัญญัติเป็นใจความว่า บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดอาญาไม่ได้ก็ตาม แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานว่าปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติ หรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ย่อมต้องอาศัยเจตนาพิเศษคือเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้อื่น หรือกระทำโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) ด้วย แม้จำเลยมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการ ของกระทรวงการคลังในทางอ้อมแต่สำคัญผิดว่ากระทรวงการคลังมีอำนาจได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีล้มละลายดังที่จำเลยเคยให้การแก้ข้อกล่าวหาต่อประธานอนุกรรมการไต่สวน หากจำเลยมิได้มีเจตนาพิเศษดังกล่าวมาแล้ว ก็มิอาจเป็นความผิด ดังที่โจทก์ฟ้องได้
ส่วนความรับผิดในทางปกครองหรือทางแพ่งสำหรับความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันทางการเมือง ทางปกครอง หรือทางแพ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญา การจะหยั่งทราบเจตนาพิเศษของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงขณะจำเลยรู้เห็นยินยอม ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผน การแต่งตั้งคณะผู้บริหารแผน และผลจากการดำเนินงาน ของคณะผู้บริหารแผนซึ่งจำเลยเห็นชอบในการแต่งตั้ง รวมทั้งข้อเท็จจริงอื่น ๆ ว่ามีผลเกี่ยวพันกับ จำเลยหรือไม่ ซึ่งศาลจะได้วิเคราะห์เพิ่มเติมเป็นลำดับไป
@“my boss wants it”อาจเป็น‘ทักษิณ’ แต่ไม่ได้รับประโยชน์
ส่วนการเสนอชื่อ พลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผน และ นายทนง พิทยะ เป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารแผน ได้ความจากบันทึกคำให้การของ นายอดุลย์ ศรีชูชาติ ผู้รับมอบอำนาจจากนายประชัย ในชั้นไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน เอกสารหมาย จ. 91 ว่า ร้อยเอก สุชาติ เบิกความในฐานะโจทก์ในนคดีอาญาหมายเลขคดีดำ ที่ 1641/2548 ของศาลอาญาว่า ร้อยเอก สุชาติปรึกษาจำเลยในการที่กระทรวงการคลังจะเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอลูกหนี้แล้ว จำเลย จึงเสนอชื่อ พลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการผู้บริหารแผน และเสนอชื่อ นายทนง พิทยะ เป็นคณะผู้บริหารแผนด้วย แต่คำเบิกความของ ร้อยเอก สุชาติ ที่เบิกความในคดีดังกล่าวเป็นคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่น ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/5บัญญัติให้ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่นประกอบพยานหลักฐานอื่น ในคดีได้หากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร แต่โจทก์คงมีเพียง นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งไม่มีส่วน รู้เห็นในพฤติการณ์ที่เบิกความจึงเป็นพยานบอกเล่า ส่วนที่ นายประชัย เบิกความว่าได้พูดคุยกับ ร้อยเอก สุชาติ ถึงการที่ตนเองต้องการกลับเข้าไปบริหารทีพีไอ
แต่ ร้อยเอก สุชาติ กลับบอกกับ นายประชัย ว่า “my boss wants it” ความข้อนี้เป็นแต่เพียงคำเบิกความลอย ๆ ของ นายประชัย ไม่มีหลักฐานอื่นประกอบจึงบางเบาไม่อาจรับฟังเป็นจริงได้ แม้อาจเป็นไปได้ว่า my bossที่ ร้อยเอก สุชาติ กล่าวถึงจะหมายความถึงตัวจำเลยซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงการคลังด้วย แต่ต่อมาไม่ปรากฏว่า จำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการหรือเข้าไปรับโอนถือครองหุ้นของทีพีไอ อันจะแสดง ให้เห็นว่าขณะจำเลยเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จำเลยวางแผนที่จะยึดถือครอบครองกิจการทีพีไอเป็นของตนเอง เมื่อไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่เชื่อมโยง ให้เห็นถึงพฤติการณ์ของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้าง คำเบิกความของ นายประชัย พยานโจทก์ จึงมีน้ำหนักน้อย แม้ตามบันทึกคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของ ร้อยเอก สุชาติ ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2552 มีข้อความระบุว่า ร้อยเอก สุชาติ ปรึกษากับ คณะที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังแล้วเห็นพ้องว่าอยู่ในอำนาจกระทรวงการคลังที่จะต้องเข้าไปแก้ไข จึงนำเรื่องเข้าปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการกับจำเลย จำเลยเห็นพ้องด้วย และเห็นชอบกับการตั้งพลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ นายพละ สุขเวช นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา นายทนง พิทยะ และ นายอารีย์ วงศ์อารยะ เป็นตัวแทนกระทรวงการคลัง เห็นว่า ในการเสนอชื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟู กิจการของลูกหนี้นั้นเป็นการพิจารณาถึงความเหมาะสมของสถานะแต่ละบุคคลที่จะเข้าร่วมเป็นตัวแทน ของกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่จะกำหนดตัวบุคคลได้เอง
ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้และพนักงานของทีพีไอก็ไม่ได้โต้แย้ง และอำนาจการแต่งตั้งคณะผู้บริหารแผนเป็นดุลพินิจของศาลล้มละลายกลาง หาได้บังคับศาลต้องตั้งคณะผู้บริหารแผนตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ทุกกรณีดังได้วินิจฉัยข้างต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลทั้งห้ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับจำเลยหรือจำเลยมีส่วนได้เสียหรือได้รับผลประโยชน์จากบุคคลทั้งห้าในการเข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนกระทรวงการคลัง จึงไม่อาจรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยร่วมกับ ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เสนอชื่อพลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผน และ นายทนง พิทยะ เป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารแผนเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็น การกระทำการโดยทุจริตแม้ต่อมา ร้อยเอก สุชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหนังสือ ที่ กค 0100/15949 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งเรื่องกระทรวงการคลังยินยอมเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ของทีพีไอ นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2546 โดยจำ เลยมิได้ทักท้วงนั้น ได้ความจากคำ เบิกความของ ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะเกิดเหตุประกอบ หนังสือชี้แจงต่อประธานอนุกรรมการไต่สวน ว่า แนวทางปฏิบัติการเสนอเรื่อง เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2520 ระบุว่า เรื่องที่ไม่ใช่นโยบายหรือไม่ใช่เรื่องสำคัญ และมีระเบียบปฏิบัติปกติอยู่แล้ว ให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้สั่งหรือปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติไปได้ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2531 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 การนำเรื่องเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อทราบมี 2 กรณี กรณีแรก เป็นการนำเรื่องแจ้งให้ทราบ โดยไม่ต้องมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตัวอย่างเช่น เรื่อง การแจ้งเตือนสภาพภูมิอากาศของ กรมอุตุนิยมวิทยา และกรณีที่สอง เป็นการนำเรื่องแจ้งให้ทราบโดยต้องมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และอนุมัติสั่งการ ตัวอย่างเช่น เรื่อง แจ้งการดำเนินโครงการจัดทำฝายน้ำล้นของรัฐบาล เมื่อแจ้งให้ทราบแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาเพื่อดำเนินการและสั่งการต่อไป สำหรับวาระการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ กรณีที่กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอนั้น นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ รองเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธกิ ารคณะรัฐมนตรี มีความเห็นว่า จัดอยู่ในประเภทเรื่องที่เสนอ คณะรัฐมนตรีได้โดยตรง ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ เบิกความอธิบายว่าเป็นการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ โดยไม่มีการพิจารณาอนุมัติหรือเห็นชอบ เป็นอำนาจของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในการบรรจุวาระเข้าที่ประชุม คณะรัฐมนตรีได้โดยตรง ขอบเขตของการรับทราบ จึงเป็นไปเท่าที่มีการเสนอโดยไม่มีการพิจารณา อนุมัติหรือเห็นชอบ การนำเรื่องที่กระทรวงการคลังยินยอมเข้าเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอเสนอต่อ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบจึงไม่ผ่านการอนุมัติสั่งการของจำเลย การที่จำ เลยในฐานะหัวหน้ารัฐบาลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11ซึ่งมีอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายไม่ทักท้วงว่ากระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งเป็นเอกชนในคดีล้มละลาย ไม่พอฟังว่าจำเลยปกปิดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริต ทั้งได้วินิจฉัย ในตอนต้นแล้วว่าการเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของกระทรวงการคลัง มิใช่การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ประกอบกับการที่จำเลยทราบเรื่องที่กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอ จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2546 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนแล้ว กระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนต้องปฏิบัติตามแผนภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ส่วนที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่ามีการจ่ายเงินค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารแผนซึ่งเป็นพรรคพวกของจำเลย ทางไต่สวนก็ไม่ปรากฏว่า พลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์นายพละ สุขเวช นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา นายทนง พิทยะ นายอารีย์ วงศ์อารยะหรือบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับจำเลยแต่อย่างใด ประกอบกับคู่ความและศาลในคดีล้มละลายเห็นชอบด้วยแล้วจึงไม่ใช่กรณีแสวงหาผลประโยชน์ที่ทับซ้อนให้แก่พวกพ้อง ข้อกล่าวหาของโจทก์ในส่วนนี้ไกลเกินเหตุ
ส่วนที่อ้างว่าค่าตอบแทนที่จ่ายให้ผู้บริหารแผนมีจำนวนสูงมาก ปรากฏว่าภายหลังศาลฎีกาวินิจฉัยในคดีล้มละลายว่าค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารแผนทั้งห้าเป็นค่าตอบแทน ที่สมควรแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 4948/2557 ในส่วนที่จ่ายค่าป่วยการในการดำเนินการ ตามแผนให้แก่บริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด ศาลฎีกาก็มีคำวินิจฉัยในคดีเดียวกันให้ผู้บริหารแผนคืน เงินส่วนที่เป็นค่าจ้างของบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด แก่ลูกหนี้แล้วเป็นเงิน 224,774,193 บาท ค่าป่วยการดังกล่าวแม้เป็นเงินที่สูงแต่หามีความเกี่ยวพันถึงจำเลยไม่ จึงเป็นคนละส่วนกันกับ การเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนและการเลือกสรรรายชื่อคณะบุคคลเป็นผู้บริหารแผน ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนาแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้แก่บริษัท ซินเนอจีโซลูชั่น จำกัด เช่นกัน
@ ไม่พบทักษิณได้รับ ปย.จากขายหุ้นเพิ่มทุน
ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อคณะผู้บริหารแผนเข้าไปดำเนินการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้วมีการขายหุ้น เพิ่มทุนของทีพีไอในราคา 3.30 บาท โดยไม่เปิดขายให้แก่บุคคลทั่วไปหรือขายให้แก่ นายประชัยที่เสนอซื้อ ในราคา 5.50 บาท ปัญหาในข้อนี้ นายประชัย นำขึ้นสู่ศาลจนคดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า การขายหุ้นเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นการขายที่ชอบตามแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ประกอบกับราคาหุ้น 3.30 บาท ได้มีการคำนวณตามหลักมาตรฐานสากลของราคาหุ้นเมื่อมีการเพิ่มทุน อีกทั้งข้อที่โจทก์อ้างว่า กระทรวงการคลังเอื้อประโยชน์ให้แก่บริวารของกระทรวงการคลังในลักษณะของผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่กองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ (ก.บ.ข.) กองทุนวายุภักษ์ 1 ธนาคารออมสิน และบริษัท การปิโตรเลียม
แห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริวารของกระทรวงการคลัง นั้น เห็นว่า การขายหุ้นเพิ่มทุนเป็นอำนาจของผู้บริหารแผนที่กระทำไปตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งศาลล้มละลายกลาง ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังกระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผน ของทีพีไอ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้อง รู้เห็นหรือได้รับผลประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นด้วย แต่อย่างใด กิจการดังกล่าวเป็นองค์กรมหาชนมีคณะกรรมการบริหารแยกต่างหากจากกระทรวงการคลัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์หากองค์กรดังกล่าวรับซื้อหุ้นเพิ่มทุนของทีพีไอไว้ อีกทั้งการขายหุ้น เพิ่มทุนให้แก่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนวายุภักษ์ 1 ธนาคารออมสิน และบริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนหรือรัฐวิสาหกิจ ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องย่อมเล็งเห็นแต่แรกได้ว่าหน่วยงานดังกล่าวซึ่งกระทรวงการคลังกำกับดูแลอยู่มีศักยภาพ ทางการเงินที่มั่นคงเพียงพอที่สามารถช่วยสนับสนุนให้กิจการของทีพีไอสามารถฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งจะทำให้ กิจการของทีพีไออันเป็นกิจการพลังงานที่สำคัญและเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ของประเทศไม่ตกไปอยู่ในการถือครองของต่างชาติ ด้วยเหตุนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเห็นพ้องต้องกัน ให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ หากการบริหารแผนของคณะบุคคล ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ก็เป็นเรื่องภายหลัง คณะผู้บริหารแผน ดังกล่าวจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือทางแพ่งหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำเลย ไม่มีพฤติการณ์ที่พอรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยมีเจตนาพิเศษประสงค์ต่อผล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น
เมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
พิพากษายกฟ้อง
(คดีหมายเลขแดงที่ อม. 144/2561 ลงวันที่ วันที่ 29 เดือน สิงหาคม พุทธศักราช 2561)
อ่านประกอบ:
เจาะคำพิพากษา!ไฉนศาลฎีกาฯยกฟ้อง‘ทักษิณ’ปม ก.คลังเข้าฟื้นฟู TPI-'มาย บอส'คือใคร?
ชี้ไม่มีเจตนาพิเศษ! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องทักษิณ คดีอนุมัติ ก.คลังบริหารแผนฟื้นฟู TPI