ชี้ไม่มีเจตนาพิเศษ! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องทักษิณ คดีอนุมัติ ก.คลังบริหารแผนฟื้นฟู TPI
ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องคดี 'ทักษิณ' อนุมัติให้ ก.คลัง เข้าบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TPI ชี้ข้อกล่าวหา ป.ป.ช. ฟังไม่ขึ้น จำเลยไม่มีเจตนาพิเศษ ข้อครหาตั้งคนใกล้ชิดบริหารแทน ไม่มีหลักฐานรับฟังได้ว่า 'ทักษิณ' ได้ประโยชน์ ศาลล้มละลายกลางใช้ดุลยพินิจโดยชอบแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI
องค์คณะผู้พิพากษา พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากจำเลยไม่ได้มีเจตนาพิเศษในการให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI และไม่ได้แสวงผลประโยชน์ หรือกระทำการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้อง จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง
โดยองค์คณะผู้พิพากษา พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วรับฟังได้ว่า TPI เป็นบริษัทเอกชนระดับชาติในด้านการผลิตปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีภายหลังนโยบายของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ TPI ซึ่งกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนจำนวนมาก มีหนี้สินเพิ่งสูงขึ้นถึง 1.3 แสนล้านบาท ทำให้ธนาคารกรุงเทพที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง
ต่อมา ศาลล้มละลายกลาง วินิจฉัยให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้ามาบริหารแทน แต่เกิดปัญหากลุ่มลูกหนี้ (TPI) และเจ้าหนี้ (ธนาคารกรุงเทพ) เห็นว่า กลุ่มผู้บริหารจากเอกชนรายนี้ บริหารทำให้เกิดความเสี่ยง จึงยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลางขอเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ กระทั่งกลุ่มเจ้าหนี้ ได้เข้าพบกับนายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพิษณุโลก โดยนายทักษิณเสนอทางแก้โดยให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารฟื้นฟูแทน โดยตั้งคณะกรรมการบริหารที่เป็นตัวแทนของกระทรวงการคลัง 5 ราย หนึ่งในนั้นมีนายทนง พิทยะ ที่ถูกระบุว่า เป็นคนใกล้ชิดนายทักษิณ รวมอยู่ด้วย ต่อมาศาลล้มละลายกลาง ใช้ดุลยพินิจแล้ว วินิจฉัยให้กระทรวงการคลังเข้ามาเป็นผู้บริหารฟื้นฟูกิจการของ TPI
อย่างไรก็ดี องค์คณะผู้พิพากษา พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่กลุ่มเจ้าหนี้ และกลุ่มลูกหนี้เข้าพบนายทักษิณเอง ที่บ้านพิษณุโลก และนายทักษิณเสนอให้กระทรวงการคลังเข้าไปฟื้นฟูนั้น นายทักษิณไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหา ส่วนข้อกล่าวหาว่า เอื้อประโยชน์ให้คนใกล้ชิดนายทักษิณเป็นคณะกรรมการบริหารนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการบริหาร 5 รายที่เป็นตัวแทนกระทรวงการคลัง พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่า นายทักษิณได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้ นอกจากนี้การที่ศาลล้มละลายกลาง เห็นควรให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นนั้น ถือว่า ศาลล้มละลายกลางได้ใช้ดุลยพินิจดังกล่าวแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีเป็นคดีแรกที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่บัญญัติให้สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ แม้จำเลยหลบหนีคดี โดยก่อนหน้านี้ศาลฎีกาฯได้รับคดีที่มีนายทักษิณเป็นจำเลยมาพิจารณาลับหลังแล้วรวมคดีนี้ ทั้งหมด 5 คดี และได้ออกหมายจับนายทักษิณ 5 ใบด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายทักษิณ จาก bbc