- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เจาะคำพิพากษา!ไฉนศาลฎีกาฯยกฟ้อง‘ทักษิณ’ปม ก.คลังเข้าฟื้นฟู TPI-'มาย บอส'คือใคร?
เจาะคำพิพากษา!ไฉนศาลฎีกาฯยกฟ้อง‘ทักษิณ’ปม ก.คลังเข้าฟื้นฟู TPI-'มาย บอส'คือใคร?
“…ขณะที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้ก่อตั้ง และอดีตบอร์ดบริหาร TPI และเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบนั้น นายประชัยไม่มีส่วนรู้เห็นในเหตุการณ์ดังกล่าว การที่นายประชัย อ้างต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ได้คุยกับ ร.อ.สุชาติ และ ร.อ.สุชาติ บอกว่า “มาย บอส ว้อน อิท (My boss want it)” เป็นการเบิกความลอย ๆ บางเบาจนไม่อาจรับฟังได้ แม้คำว่า ‘มาย บอส’ อาจหมายถึงนายทักษิณจริง แต่ปรากฏว่า ตัวแทนกระทรวงการคลัง 5 ราย ไม่มีใครทำให้นายทักษิณ ได้รับผลประโยชน์ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับ TPI…”
ปิดฉากเรียบร้อยไปอีกหนึ่งคดีสำคัญที่เป็นชนักติดหลัง ‘นายใหญ่คนแดนไกล’ !
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา ‘ยกฟ้อง’ คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI
หลักใหญ่ใจความสำคัญของคำพิพากษานี้คือ นายทักษิณ ไม่มีเจตนาพิเศษให้กระทรวงการคลังไปฟื้นฟูกิจการ TPI แต่ขณะนั้น TPI เป็นเอกชนยักษ์ใหญ่ของประเทศด้านปิโตรเคมี มีส่วนสำคัญด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ศาลล้มละลายกลางยังใช้ดุลยพินิจแล้วให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารแผนฟื้นฟู TPI ได้
ส่วนข้อครหาว่า มีคนใกล้ชิดของนายทักษิณ เป็นตัวแทนกระทรวงการคลังเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟู TPI นั้น พยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่า นายทักษิณได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟังไม่ขึ้น (อ่านประกอบ : ชี้ไม่มีเจตนาพิเศษ! ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องทักษิณ คดีอนุมัติ ก.คลังบริหารแผนฟื้นฟู TPI)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบความชัดเจนมากขึ้นในคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปเนื้อหาจากคำพิพากษาให้ทราบ ดังนี้
@กลุ่มเจ้าหนี้-ลูกหนี้ยินยอมให้ ก.คลัง เข้ามาบริหารแผน
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลย (นายทักษิณ) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับดูแลกระทรวงการคลัง ร่วมกับ ร.อ.สุชาติ เชาววิศิษฐ รมว.คลัง (ขณะนั้น) ยินยอมให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู TPI โดยเสนอชื่อ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผน และนายทนง พิทยะ เป็นผู้บริหารแผน
เบื้องต้น TPI เป็นบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก โดยช่วงปี 2540 TPI มีทุนประกอบกิจการด้วยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศ และในประเทศหลายแห่ง โดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ต่อมารัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา โดยการลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อน ส่งผลกระทบทางการเงินและเศรษฐกิจในไทย เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของ TPI อย่างรุนแรง ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นรวมกว่า 1.3 แสนล้านบาทในชั่วข้ามคืน ต่อมา TPI ประกาศหยุดพักชำระหนี้ ทำให้ธนาคารกรุงเทพ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อจัดทำแผนบริหารฟื้นฟูกิจการ TPI
หลังจากนั้น สหภาพแรงงาน TPI กว่า 7,000 ราย ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว กระทั่งกลุ่มเจ้าหนี้ (ธนาคารกรุงเทพ) ได้เข้าพบกับนายทักษิณ ที่บ้านพิษณุโลก โดยนายทักษิณ ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยจะให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TPI หลังจากนั้นกลุ่มลูกหนี้ (TPI) ได้เสนอให้กระทรวงการคลังเป็นคนกลาง กลุ่มเจ้าหนี้จึงมีมติพิเศษตามที่กลุ่มลูกหนี้ร้องขอ จึงถือว่ากลุ่มเจ้าหนี้ และกลุ่มลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมในการที่ให้กระทรวงการคลังเข้ามาเป็นผู้บริหารแผน
@ศาลล้มละลายกลางใช้ดุลยพินิจเลือก ก.คลัง เข้ามา
กรณีการฟื้นฟูกิจการ TPI ตอนแรกกลุ่มเจ้าหนี้เสนอชื่อให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเข้ามาดำเนินการฟื้นฟู อย่างไรก็ดีต่อมาพบว่า เอกชนรายนี้ อาจบริหารแผนอยู่ในความเสี่ยง ทำให้กลุ่มลูกหนี้ และกลุ่มเจ้าหนี้ ยื่นร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเปลี่ยนผู้บริหารแผนฟื้นฟูรายใหม่ ศาลล้มละลายกลางอนุมัติตามคำขอ
หลังจากนั้น กลุ่มเจ้าหนี้เข้าพบนายทักษิณ ที่บ้านพักพิษณุโลก นายทักษิณเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการ แต่กลุ่มเจ้าหนี้บางส่วนได้เสนอให้บริษัทเอกชนอีกแห่งเข้ามาฟื้นฟูกิจการ และยื่นร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลล้มละลายกลางอนุมัติอีกครั้ง แต่กลุ่มลูกหนี้บางส่วนไม่เห็นด้วย และยื่นขอเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เปลี่ยนผู้บริหารแผนฟื้นฟูอีกครั้ง ศาลล้มละลายกลางใช้ดุลยพินิจแล้วเห็นว่า เอกชนรายใหม่นี้อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอ จึงอนุมัติตามคำขอ
ต่อมา กลุ่มเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ยื่นขอเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้กระทรวงการคลังเข้ามาบริหารจัดการ ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งแต่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนรายใหม่ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ โดยศาลล้มละลายกลางมีอำนาจใช้ดุลยพินิจพิจารณาตั้งบุคคลใด ๆ ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเลือกให้เป็นผู้บริหารรายใหม่ไปตามความเหมาะสมหรือไม่ก็ได้ การที่กระทรวงการคลังเข้ามาเป็นผู้บริหารแผน เกิดจากความตกลงยินยอมของกลุ่มเจ้าหนี้และกลุ่มลูกหนี้
แม้ว่าแผนฟื้นฟูเอกชนจะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการ แต่กระทรวงการคลังมีภารกิจกำกับการเงินการคลังของแผ่นดิน และกรณีนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงลุกลามก่อให้เกิดความเสียหายยาวนาน ดังนั้นการที่กระทรวงการคลังเข้าไปฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เป็นการป้องกันปัญหาด้านเศรษฐกิจ กรณีนี้กระทรวงการคลังย่อมมีความจำเป็น และมีเหตุผลที่จะเข้าไปบริหารจัดการแทนเพื่อพยุงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับดุลยพินิจของศาลล้มละลายกลางเฉพาะคดี เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ มิใช่เข้าไปก้าวล่วงสิทธิเอกชน จึงไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซง หรือครอบงำกิจการของเอกชน
@รับฟังไม่ได้ว่า ‘ทักษิณ’ ได้ประโยชน์จากการตั้งคนใกล้ชิดนั่งบอร์ดบริหารแผนฟื้นฟู
ส่วนการเสนอชื่อ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผน และนายทนง พิทยะ เป็นผู้บริหารแผน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนใกล้ชิดนายทักษิณ เป็นตัวแทนกระทรวงการคลังไปบริหารแผนฟื้นฟูนั้น ร.อ.สุชาติ ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเบิกความต่อศาลว่า ร.อ.สุชาติ ได้ปรึกษากับนายทักษิณ และนายทักษิณได้เสนอชื่อบุคคลให้เป็นตัวแทนกระทรวงการคลังเป็นบริหารแผนฟื้นฟูจำนวน 5 ราย โดยมี พล.อ.มงคล และนายทนง ด้วย
ขณะที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้ก่อตั้ง และอดีตบอร์ดบริหาร TPI และเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบนั้น นายประชัยไม่มีส่วนรู้เห็นในเหตุการณ์ดังกล่าว การที่นายประชัย อ้างต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ได้คุยกับ ร.อ.สุชาติ และ ร.อ.สุชาติ บอกว่า “มาย บอส ว้อน อิท (My boss want it)” เป็นการเบิกความลอย ๆ บางเบาจนไม่อาจรับฟังได้
แม้คำว่า ‘มาย บอส’ อาจหมายถึงนายทักษิณจริง แต่ปรากฏว่า ตัวแทนกระทรวงการคลัง 5 ราย ไม่มีใครทำให้นายทักษิณ ได้รับผลประโยชน์ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับ TPI นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏว่านายทักษิณวางแผนการดังกล่าวเพื่อครอบครองหุ้นของ TPI ตามที่นายประชัยกล่าวอ้างแต่อย่างใด พยานฝ่ายโจทก์ (นายประชัย) น้ำหนักน้อย นอกจากนี้การตั้งผู้แทนกระทรวงการคลังในการบริหารแผนฟื้นฟู TPI ดังกล่าว ศาลล้มละลายกลางได้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาแล้วเห็นชอบ ดังนั้นจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า นายทักษิณ เสนอชื่อคณะกรรมการบริหารแผน 5 ราย เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และไม่ได้มีเจตนาพิเศษในการให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TPI ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้อง
พิพากษายกฟ้อง
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายทักษิณ จาก indianexpress.com