เอ็กซ์คลูซีฟ : เปิดคำให้การ ผู้รับผิดชอบคืนภาษีส่งออกพม่า120 ล.-ช่องโหว่ใบกำกับภาษีปลอม?
"...หน่วยงานปราบปรามการทําลายระบบภาษีของกรมประเมินจัดเก็บภาษีผู้ส่งออกจากเงินภาษีที่ได้รับ คืนไปแล้ว 104.50 ล้านบาท และประเมินภาษีจากการยื่นแบบขอคืนแต่ยังไม่ได้รับคืนเงินภาษี 15.87 ล้านบาท รวมเป็นเงินประเมินภาษี 120.37 ล้านบาท (ไม่รวมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม) จากการตรวจสอบข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากการประกอบกิจการ ผู้ส่งออกขอคืนภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเฉพาะในช่วงเวลาที่ใช้ข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงมาตรวจสอบภาษีเพียง 9 เดือนภาษี เป็นเงินที่ขอคืนภาษีได้อย่างถูกต้อง 5.36 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนเดือนภาษีที่เหลือเป็นการตรวจสอบโดยใช้ดุลยพินิจ เกือบทั้งหมดประมาณร้อยละ 90 ของเดือนภาษีที่ตรวจสอบ โดยไม่ได้ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ผลการตรวจสอบจากการใช้ดุลยพินิจ ผู้ตรวจสอบให้ความเห็นว่าผู้ขอคืนจากการส่งออกไม่ได้ประกอบกิจการจริง..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก คดีขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่ กาญจนบุรี และสมุทรสงคราม ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ในขณะนี้
โดยปรากฎพฤติการณ์ของเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีลักษณะไปกว้านซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของห้างค้าปลีกรายใหญ่ในหลายพื้นที่ อาทิ ยาสีฟัน ผงซักฟอก อ้างว่ามีการส่งออกสินค้าไปขายที่ประเทศพม่า ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ในจังหวัดกาญจนบุรี ก่อนจะมาทำเรื่องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในภายหลัง ขณะที่ในขั้นตอนการทำเรื่องขอคืนภาษีเอกชนกลุ่มนี้นั้น มีนำใบเสร็จซื้อสินค้าจากห้างค้าปลีกรายใหญ่มายืนยันกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลยืนยันในส่วนของกรมศุลกากร ก็พบว่ามีเอกสารยืนยันการส่งสินค้าออกไป แต่จากการสอบสวนของกระทรวงการคลัง พบว่า ไม่ได้มีการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายจริง
ทั้งนี้ สำหรับบริษัทเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในขณะนี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า มีอยู่ 3 ราย คือ บริษัท เบอร์ม่าเทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ปิติพัฒน์ เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท ซี.เอ็น.ดิสทริบิวชั่น จำกัดมีความเชื่อมโยงเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน เบื้องต้น ป.ป.ช. ได้มีการออกหนังสือแจ้งให้กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย รวมไปถึงข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาเป็นทางการแล้ว จำนวนนับ 10 ราย (อ่านประกอบ : เบื้องลึก! ป.ป.ช.ไต่สวน คดีคืนภาษีเท็จโผล่กาญจน์ฯ-สมุทรสงคราม รอบนี้สินค้าส่งออกชายแดน?,คดีคืนภาษีเท็จโผล่กาญจน์ฯ-สมุทรสงคราม! ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาขรก.สรรพากร-เอกชน นับ10 ราย, เผยโฉมหนุ่มสุพรรณ-ที่อยู่ บ.เอี่ยวคดีคืนภาษีส่งออกพม่าสมุทรสงคราม ก่อนย้ายไปบุรีรัมย์)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการติดต่อจากแหล่งข่าวที่อ้างตัวเองว่า เป็นผู้รับผิดชอบในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออก ในพื้นที่กาญจนบุรี และสมุทรสงคราม ที่เกิดปัญหาดังกล่าว พร้อมส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงปัญหาระบบการเรียกเก็บคืนภาษีในปัจจุบันหลายประเด็น โดยเฉพาะกรณีการใช้เจ้าหน้าที่เพื่อพิจารณาการเรียกคืนภาษีส่งออกทั้งที่ตามกฎหมายระบุชัดเจนว่า ผู้ที่ส่งออกไม่ต้องต้องเสียภาษี ซึ่งกรณีนี้นำไปสู่การทุจริตในเรื่องการขอคืนภาษี รวมไปถึงการออกใบกำกับภาษีปลอม
โดยรายละเอียดของหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกล่าวถึงกระบวนการขอคืนภาษี และปัญหารวมไปถึงทางแก้ไขในการคืนภาษีดังต่อไปนี้
1. ผู้ส่งออกหรือผู้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออก
เป็นผู้ประกอบกิจการส่งออกสินค้าอุปโภค บริโภค ไปยังประเทศเมียนมาร์ ทางด้านด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี ในส่วนของทางราชการได้จัดแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ ผู้ประกอบการส่งออกที่ดี ผู้ประกอบการส่งออกขึ้นทะเบียน และ ผู้ประกอบการส่งออกทั่วไป
บริษัทผู้ส่งออกรายนี้เป็นผู้ประกอบการ ส่งออกทั่วไป ซึ่งจะไม่มีสิทธิพิเศษใด ๆ ที่จะได้รับยกเว้นในการตรวจสอบความถูกต้องในการขอคืนภาษี ผู้ประกอบการมีความมั่นคง มีความน่าเชื่อถือในระดับปกติ ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นมาอาจจะจัดเก็บภาษี คืนกลับมาได้ยากเหมือนๆ กับผู้ประกอบส่งออกทั่วไปรายอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
2.ผู้ขายสินค้าหรือผู้ออกใบกํากับภาษี
ใบกำกับภาษีมากกว่าร้อยละ 90 ออกมาจากผู้ประกอบการในกลุ่ม Modern Trade รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ประมาณ 7 รายตามลำดับของขนาดกิจการ ใบกำกับภาษีที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 10 ก็ออกมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ทุกราย ประมาณ 14 ราย เช่น บริษัทผู้ผลิตเส้นหมี่ บริษัทผลิตน้ำปลา บริษัทผลิตกระดาษทิชชู เป็นต้น และในขณะนี้ผู้ออกใบกำกับภาษีก็ยังประกอบการจริงอยู่ทุกราย ผู้ออกใบกำกับภาษีเป็นผู้ประกอบการที่มีมาตรฐานสูง มีความมั่นคง หรือมีเงิน มีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก มีความน่าเชื่อถือสูงมาก บางรายเป็นผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ทางราชการมีความเชื่อถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบด้านภาษี จึงไม่น่าจะเป็นผู้ออกเอกสารที่ไม่ถูกต้อง
ผู้ออกใบกำกับภาษีทุกรายอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นจากใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือใบกำกับภาษีปลอมตามมาตรา 86/13 มาตรา 89(6) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร นั่นหมายความว่าถ้าเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือใบกำกับภาษีปลอมจะต้องรับผิดชอบภาษีอย่างน้อย 2 เท่าของตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏในใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้นๆ ตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือถ้า “ผู้ขอคืนภาษี” นำใบกำกับภาษีซื้อที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือใบกำกับภาษีปลอมมาขอคืนภาษี “ผู้ออกใบกำกับภาษี” จะต้องรับผิดชอบเสียภาษีในรูปของเบี้ยปรับจำนวน 2 เท่าของตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏในใบกำกับภาษีด้วย
จึงสรุปได้ว่ากรณีที่ผู้ออกใบกํากับภาษีเป็นผู้ประกอบการที่มีความมั่นคง มีความน่าเชื่อถือสูงมากเช่นนี้ จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในราชการ หรือกรณีที่เกิดความผิดพลาดในการคืนภาษีทางราชการจะสามารถจัดเก็บ ภาษีจากผู้ประกอบการในกลุ่มนี้กลับคืนมาได้ครบทั้งจํานวนในทันที
3.การพิจารณาคืนภาษีของสํานักงานสรรพากรพื้นที่ 1
ในการพิจารณาคืนภาษีให้แก่ผู้ส่งออก ทางราชการได้กําหนดระบบงานไว้เพื่อรองรับภารกิจในกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องในการคืนภาษีไว้ถึง 6 ระบบงานด้วยกันคือ 1
3.1 ระบบการตรวจสอบความถูกต้องก่อนการคืนภาษี 4 ระบบงาน คือระบบการพิจารณาคืนภาษี ระบบ การตรวจสอบความถูกต้องในการคืนภาษี ระบบการสอบยันใบกํากับภาษี และระบบการตรวจสอบความถูกต้องใน การส่งออกโดย 2 ใน 4 ของระบบงาน คือระบบพิจารณาคืนภาษี และระบบการตรวจสอบความถูกต้องในการคืนภาษี อยู่ภายใต้การกํากับดูแล และความรับผิดชอบของสํานักงานสรรพากรพื้นที่ทุกพื้นที่ แต่มี 2 ระบบงาน คือระบบการสอบยันใบกํากับภาษี และระบบการตรวจสอบการส่งออก เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของสํานักงานสรรพากรพื้นที่ แต่สํานักงานสรรพากรพื้นที่จะนําความสําเร็จของงานที่ผ่านการตรวจสอบ ความถูกต้องจากมืออาชีพในแต่ละระบบงานมาใช้งาน
ในการพิจารณาอนุมัติคืนภาษีของสำนักงานสรรพากรพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง ได้พิจารณาตามข้อ 2 และข้อ 3.1แล้ว โดยจะไม่มีความเสี่ยงใดๆในการคืนภาษีทั้งสิ้นและระบบงานทุกระบบได้ตรวจสอบพบว่ามีความถูกต้อง จึงได้พิจารณาอนุมัติคืนภาษี
3.2 ระบบการตรวจสอบความถูกต้องภายหลังจากการคืนภาษีไปแล้ว 2 ระบบงาน คือระบบการตรวจราชการของสำนักงานสรรพากรภาค และคณะผู้ตรวจราชการของสรรพากรที่จะต้องทำการคัดเลือกสำนวนราชการจัดเก็บ และสำนวนการตรวจคืนภาษีไปตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนอีกครั้งหนึ่ง
สำนวนการตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกของบริษัทส่งออกในกลุ่มนี้หน่วยงานภายในของกรมที่มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานงานตรวจสอบภาษีเคยนำสำนวนไปตรวจสอบมาแล้ว แต่ไม่พบความผิดปกติในการคืนภาษีแต่อย่างใด
ตลอดระยะเวลาในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในช่วงปี 2553-2557 ระบบงานตรวจราชการตามข้อ 3.2 ยังไม่เคยตรวจพบประเด็นความผิดจากการนำเอาใบกำกับภาษีปลอมของบริษัทนี้มาใช้ในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกแต่อย่างใด
3.3 เมื่อเจ้าหน้าที่รายงานความบกพร่องในขณะขอตรวจคืนภาษีโดยข้อมูลจากกรมศุลกากรที่ปรากฎบนระบบงานยังไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่มาขอคืนภาษี ได้ระงับการขอคืนภาษีทันทีเป็นจำนวนเงิน 15.87 ล้านบาท ถึงแม้ว่าต่อมาภายหลังข้อมูลการส่งออกได้ปรากฏบนระบบงานของทางราชการอย่างครบถ้วนแล้วก็ตาม
3.4 ผู้ส่งออกขอคืนภาษีทั้งหมด 127.47 ล้านบาท สรรพากรพื้นที่อนุมัติการคืนภาษีทั้งหมด 111.57 ล้านบาท
3.5 หน่วยงานปราบปรามการทําลายระบบภาษีของกรมประเมินจัดเก็บภาษีผู้ส่งออกจากเงินภาษีที่ได้รับ คืนไปแล้ว 104.50 ล้านบาท และประเมินภาษีจากการยื่นแบบขอคืนแต่ยังไม่ได้รับคืนเงินภาษี 15.87 ล้านบาท รวมเป็นเงินประเมินภาษี 120.37 ล้านบาท (ไม่รวมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม) จากการตรวจสอบข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากการประกอบกิจการ ผู้ส่งออกขอคืนภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเฉพาะในช่วงเวลาที่ใช้ข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงมาตรวจสอบภาษีเพียง 9 เดือนภาษี เป็นเงินที่ขอคืนภาษีได้อย่างถูกต้อง 5.36 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนเดือนภาษีที่เหลือเป็นการตรวจสอบโดยใช้ดุลยพินิจ เกือบทั้งหมดประมาณร้อยละ 90 ของเดือนภาษีที่ตรวจสอบ โดยไม่ได้ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ผลการตรวจสอบจากการใช้ดุลยพินิจ ผู้ตรวจสอบให้ความเห็นว่าผู้ขอคืนจากการส่งออกไม่ได้ประกอบกิจการจริง
4.ความบกพร่องในการคืนภาษีให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก
การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ส่งออกในกรณีที่เกิดขึ้นมานี้จะพบว่าผู้ที่ออกใบกำกับภาษีซื้อเป็นรายผู้ประกอบการที่มีมาตรฐาน มีความมั่นคง มีความน่าเชื่อถือสูงมากทุกรายและระบบการตรวจสอบความถูกต้องในการคืนภาษีอากรทั้ง 6 ระบบงานตรวจสอบ ไม่พบประเด็นความผิด และยังไม่มีหน่วยงานใดให้การยืนยันอย่างแน่ชัดได้ว่าเป็นการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเติมอันเป็นเท็จหรือไม่ เพราะหน่วยงานปราบปรามการทำลายระบบภาษีของกรมได้สรุปผลการตรวจสอบภาษีจากความเห็นส่วนใหญ่อันเกิดจากการใช้ดุลยพินิจเป็นหลัก โดยเป็นกรณีที่ขอคืนภาษีถูกต้องจากการใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากการประกอบกิจการอยู่เพียง 9 เดือนภาษีเท่านั้น จากข้อมูลที่ผู้ประกอบการส่งให้ตรวจสอบครบทุกเดือนภาษี ซึ่งผลการตรวจสอบของทั้ง 9 เดือนภาษี พบว่ามีการส่งออกจริงตามที่ผู้ประกอบการยื่นแบบขอคืนภาษี และมีการซื้อสินค้ามาจริง ถึงแม้จะมีความเห็นว่าซื้อสินค้ามาในจำนวนที่ไม่เท่ากับยอดการส่งออกก็ตาม
จากข้อมูลดังกล่าวจึงสรุปได้ว่าความบกพร่องในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกในกรณีที่เกิดขึ้นมานี้เป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของระบบงานของกรมเอง ทั้งนี้เพราะการส่งออก กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการส่งออกจะต้องเสียภาษีขายในอัตราร้อยละ 0 ดังนั้นเมื่อคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายซึ่งเท่ากับภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อแล้ว กรมจะต้องคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกเพียงอย่างเดียวทุกราย
การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ส่งออกซึ่งนอกจากจะเป็นการทํางานในกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้แก่รัฐบาล มีการกระทําการทุจริตเกิดขึ้นอย่างมากมายจนยากที่จะแก้ไขได้แล้ว ภาครัฐยังจะต้องทุ่มเททรัพยากรเป็นจํานวนมากไปดําเนินการในภารกิจการคืนภาษีอีกด้วย รัฐบาลจึงไม่สมควรจะ กระทํากิจกรรมนี้อีกต่อไป โดยการปรับเปลี่ยนระบบงานใหม่ ดังนี้
4.1 ถ้ายังมีความสุขกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอีกต่อไป จะต้องวางระบบงานใหม่โดยการกําหนดให้การ จ่ายเงินในการซื้อสินค้าเพื่อการส่งออกจะต้องจ่ายผ่านระบบสถาบันการเงินจากบัญชีของตัวผู้ประกอบการเองเท่านั้น จึงมีสิทธิที่จะเสียภาษีขายในอัตราร้อยละ 0 การจ่ายด้วยเงินสดจะต้องเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร
4.2 ถ้าต้องการจะยกเลิกภารกิจการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกอย่างถาวร ซึ่งนอกจากจะทําให้ การกระทําการทุจริตในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกอันเป็นเท็จหมดสิ้นไปในทันทีแล้ว กรมยังสามารถจะนำทรัพยากรไปปฏิบัติภารกิจในกระบวนการจัดเก็บ และการให้บริการที่ดีแก่ผู้เสียภาษี เพื่อหารายได้ด้านภาษีอากรให้แก่รัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย โดยการกําหนดให้ผู้ที่ขายสินค้าให้กับผู้ส่งออกไม่ต้องจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) ส่งให้กรมอีกต่อไป แต่จะต้องสร้างระบบงานใหม่ขึ้นมารองรับเพื่อให้ผู้ขายสินค้าให้แก่ผู้ ส่งออกใช้ตรวจสอบข้อมูลของผู้ส่งออกได้โดย
4.2.1 จัดทําบัตรประจําตัวผู้ส่งออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยที่สุดมามอบให้ผู้ส่งออกไว้แสดง ตัวตนว่าเป็นผู้ประกอบการส่งออกจริง
4.2.2 เชื่อมโยงข้อมูลจากกรมศุลกากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร ไว้ในเว็บไซต์ ของทาง ราชการหลายๆ หน่วยงานเพื่อให้ผู้ขายสินค้าให้ผู้แก่ส่งออกใช้ตรวจสอบข้อมูลของผู้ส่งออก
4.2.3 กําหนดให้การจ่ายเงินในการซื้อสินค้าเพื่อการส่งออกจะต้องจ่ายเงินผ่านระบบสถาบันการเงิน จากบัญชีของตัวผู้ประกอบการเองเท่านั้น จึงมีสิทธิที่จะเสียภาษีขายในอัตราร้อยละ 0 การจ่ายด้วยเงินสดจะต้อง เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร
5.ผลการตรวจสอบภาษีของกรม
นอกจากจะมีการประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้ส่งออก หรือผู้ใช้ใบกํากับภาษีตามตัวเลขที่ปรากฏในใบกํากับภาษีที่หน่วยงานปราบปรามการทําลายระบบภาษีของกรม ประเมินภาษีถึงจํานวน 120.37 ล้านบาท ดังที่ กล่าวมาแล้ว (ไม่รวมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม กรณีการประเมินเบี้ยปรับ ที่หน่วยงานปราบปรามการทําลายระบบภาษี ของกรม ประเมินภาษีตามมาตรา 89 (7) วรรคสอง เป็นการประเมินภาษีที่ผิดพลาดไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกําหนด เพราะผู้ออกใบกํากับภาษีมีตัวตนที่สามารถจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ และในขณะนี้ก็ยังประกอบการจริงอยู่ทุกราย)
กรมยังได้ประเมินจัดเก็บภาษีจากทางด้านผู้ออกใบกํากับภาษีอีกด้วย โดยได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเฉพาะ จากผู้ประกอบการในกลุ่ม Modern Trade เพียง 5 ราย เป็นเงินภาษีเฉพาะตัวเลขที่ปรากฏในใบกํากับภาษีเพียง ประมาณ 70 ล้านบาท เท่านั้น ถ้าเป็นการประเมินภาษีที่ครบถ้วน ถูกต้อง ตัวเลขที่ประเมินภาษีจากผู้ออกใบกํากับ ภาษี จะต้องเท่ากันกับตัวเลขที่ประเมินภาษีจากผู้ใช้ใบกํากับภาษี (ไม่รวมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม) เพราะเป็นใบกํากับ ภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายฉบับเดียวกัน ผู้ประกอบการหนึ่งรายไม่ขออุทธรณ์ภาษีเพราะภาษีที่ประเมินมี เพียงเล็กน้อย และเจ้าหน้าที่ให้คําแนะนําว่าถ้าแพ้คดีในชั้นศาลจะต้องถูกดําเนินคดีอาญาด้วย แต่ผู้ประกอบการอีก 5 ราย ได้นําคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลภาษีอากรแล้ว ซึ่งจะต้องรอผลการพิจารณาของศาลต่อไป
ส่วนผู้ประกอบการที่ออกใบกํากับภาษีอีก 16 รายยังไม่มีการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรแต่อย่างใด ซึ่ง อาจจะเป็นข้อบกพร่องตามกฎหมายในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบใด เพราะถ้ามีการประเมินเรียกเก็บภาษีผู้ประกอบการทั้ง 36 รายนี้แล้ว ถ้าผู้ออกใบกํากับภาษีมีความผิดจริง จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ถึง 2 เท่าของตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏในใบกํากับภาษีทันที และกรมสามารถจะจัดเก็บภาษีได้ครบทุกรายตามหลักความมั่นคง และความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการผู้ออกใบกํากับภาษี แต่ถ้าผู้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีความผิด ผู้ใช้ใบกํากับภาษีก็ย่อมจะไม่มีความผิดตามไปด้วย แต่การปฏิบัติงานของหน่วยงานปราบปรามการทําลายระบบภาษีในขณะนี้ถือว่าผู้ใช้ใบกํากับภาษีที่ออกมาจากผู้ประกอบการทั้ง 16 ราย เป็นการออกใบกำกับโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้ใช้ใบกํากับภาษี แต่ไม่มีการประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบการที่หน่วยงานปราบปรามการทําลายระบบภาษีให้ความเห็นว่าเป็นผู้ออกใบกํากับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายทั้ง 16 ราย แต่อย่างใด
6.ประสบการณ์ในการถูกตรวจสอบการทํางานจากหน่วยงานของรัฐ
กิจกรรมการตรวจค้นภาษี ที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของกรมจะต้องใช้ความระมัดระวังในการทํางานให้มากที่สุดคือ กิจกรรมการสอบยันใบกํากับภาษี ทั้งในเรื่องของการส่งสอบยัน และการรอผลการสอบยัน เพราะถ้าถูกตรวจสอบการปฏิบัติงานขึ้นมาเมื่อใด ทุกหน่วยงานที่ตรวจสอบการทํางานของข้าราชการจะตั้งข้อกล่าวหาว่า ไม่ส่งสอบยันและไม่รอผลการสอบยัน ไม่ว่าผู้ประกอบการจะมีความมั่นคง มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นมานี้ใบกํากับภาษีมากกว่าร้อยละ 90 ของใบกำกับภาษีทั้งหมด ออกมาจากผู้ประกอบการในกลุ่ม Modern Trade รายใหญ่และมีมาตรฐานมากที่สุดของประเทศไทย
คณะบุคคลซึ่งเป็นข้าราชการของกรม และหน่วยงานที่ทําหน้าที่ตรวจสอบการทํางานของข้าราชการยังตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่ส่งสอบยันใบกํากับภาษี เมื่อส่งสอบยันแล้ว ยังตั้งข้อ กล่าวหาว่าไม่รอผลการสอบยัน ทั้งๆ ที่ไม่มีระเบียบใดๆ ที่กําหนดไว้ว่าจะต้องรอผลการสอบยัน และเมื่อผลการสอบ ยันตอบกลับมาจริงๆ จนครบทุกรายแล้วทุกหน่วยงานสอบยันใบกำกับภาษี ก็ตอบผลการสอบยันว่าถูกต้องทุกหน่วยงาน และหน่วยงานที่ตรวจสอบการทํางานของข้าราชการก็ทราบดีอยู่แล้วว่าการตอบผลการสอบยันที่ตอบกลับมาก็ตอบว่าถูกต้องทุกราย ยังมีการตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่รอผลการสอบยันอีก อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าผลการสอบยันยังตอบกลับมาไม่ครบทุกราย กรณีการกล่าวหาว่าไม่รอผลการสอบยันก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องที่การ ตรวจสอบกิจกรรมอื่นในกระบวนการตรวจสอบภาษีได้ยุติหมดแล้ว
นอกจากนั้นยังมีข้อกฎหมายที่กําหนดไว้ซึ่งบ่งบอกว่าการส่งสอบยันในครั้งนี้ไม่ต้องรอผลการสอบยัน เพราะผู้ออกใบกํากับภาษีทุกรายยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความเสียหายอันอาจจะเกิดจากใบกํากับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือใบกํากับภาษีปลอม ตามมาตรา 86/13 มาตรา 89(6) และมาตรา 89/1 อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยงใดๆ ในการคืนเงินภาษี คณะทํางาน และหน่วยงานที่ทําหน้าที่ตรวจสอบข้าราชการยังตั้งข้อกล่าวหาว่า ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงในราชการ และมีการตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่จัดให้มีการค้ำประกัน ทั้งๆ ที่การตรวจสอบเสร็จแล้ว แต่ผลการสอบยันใบกํากับภาษียัง กลับมาไม่ครบทุกรายเท่านั้น ก็ยังมีการตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่จัดให้มีการค้ำประกัน กรณีการจัดให้มีการค้ำประกันนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ขอคืนภาษี ขอให้ส่งคืนเงินไปก่อนการตรวจสอบเพื่อคืนภาษี
ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน เมื่อมีการตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าหน้าที่จึงสมควรจะต้องส่งสอบยันใบกํากับภาษีให้ครบทุกครั้ง และทุกราย จะต้องรอผลการสอบยันให้ครบทุกราย จึงจะพิจารณาคืนภาษี กรณีที่ผลการสอบยันยังตอบกลับมาไม่ครบ แต่ถ้าผู้ประกอบการมีความจําเป็นจะต้องขอเงินคืนไปก่อน หน่วยงานพิจารณาคืนภาษีจะต้องจัดให้มีการค้ำประกันตามระเบียบ คําสั่ง และแนวปฏิบัติของทางราชการที่กําหนด ไว้อย่างเคร่งครัด จึงจะมีโอกาสรอดพ้นจากข้อกล่าวหาได้
กรณีการส่งออก จะต้องมีข้อมลในกระบวนการส่งออกให้ครบถ้วน ถ้าสามารถจะสรุปข้อมูลเป็นกระดาษทําการได้ด้วยก็ยิ่งดี ถ้าข้อมูลไม่ครบถ้วนก็ไม่ต้องคืนเงินภาษีออกไป อย่างเด็ดขาด ใบขนสินค้าขาออกก็จะต้องอยู่ในสถานะที่ส่งออกสําเร็จเท่านั้นจึงจะถือได้ว่ามีการส่งออกจริง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นจากการคืนภาษีผิดพลาด
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีจึงต้องใช้ ความระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้ให้มากที่สุด ให้มีมาตรฐานที่สูงกว่าระเบียบ คําสั่ง และแนวปฏิบัติที่ทางราชการกําหนดไว้
-----------------
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อเท็จจริง จากแหล่งข่าวที่อ้างตัวเองว่า เป็นผู้รับผิดชอบในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออก ในพื้นที่กาญจนบุรี และสมุทรสงคราม ที่เกิดปัญหาดังกล่าว และอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. อยู่ในขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
พบหลักฐานมัด 3 เอกชน เอี่ยวคดีคืนภาษีส่งออกพม่า 'กลุ่มเดียวกัน'
แจ้งที่อยู่สุพรรณ-กาญฯ! เปิดตัว 2 กก.บ.เบอร์ม่า ป.ป.ช.เรียกสอบเอี่ยวคดีคืนภาษีส่งออกพม่า
ก่อนโชว์รายได้พันล.! บ.เบอร์ม่า เอี่ยวคดีภาษีส่งออกพม่า เปลี่ยนชื่อทำธุรกิจ3ปี 2 ครั้ง
โชว์หนังสือสรรพากร อุบเงียบสอบเอกชนเอี่ยวคดีภาษีส่งออกพม่า-หราชื่อ 3 บ.ตรงข้อมูลอิศรา
เจาะถุงเงิน บ.เบอร์ม่า ก่อนถูกสอบคดีคืนภาษีส่งออกพม่า-รายได้ 3 ปี 1,142 ล้าน
ได้ชื่อ2บ.ใหม่เอี่ยวคดีคืนภาษีส่งออกพม่าแล้ว! ส่งงบดุลแค่ปี56 -แจ้งที่อยู่บุรีรัมย์ด้วย
แจ้งที่ตั้ง 2 จว.-ทุน 1ล.! เปิดตัวบ.เบอร์ม่าเทรดดิ้ง เอี่ยวคดีขอคืนภาษีสินค้าส่งออกพม่า
กว้านซื้อยาสีฟัน-ผงซักฟอก อ้างส่งออกพม่า! เปิดพฤติการณ์บ.ขอคืนภาษี กาญจน์ฯ-สมุทรสงคราม