เปิดคำวินิจฉัย ‘จรัญ-นครินทร์-วรวิทย์’คดีเมีย‘ดอน’ถือหุ้นเกิน 5% มีพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ
เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย ‘จรัญ-นครินทร์-วรวิทย์’ คดี‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ ขาดคุณสมบัติ ‘เมีย’ถือหุ้นเกิน 5% ระบุ ข้ออ้าง เอกสาร ขัดกับเหตุผล หลายอย่าง มีพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ เชื่อไม่ได้โอนหุ้นให้ลูกภายใน 30 วัน นับแต่ รธน.มีผลบังคับใช้
31 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร้อง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ถูกร้อง กรณีความเป็นรัฐมนตรีของนายดอนต้องสิ้นสุดเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ โดยสืบเนื่องจากที่นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยานายดอน ถือหุ้นเกิน 5% ในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด ทั้งนี้ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ นายดอนไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าภรรยาครอบครองหุ้นดังกล่าว รวมถึงแจ้งการครอบครองเกินกว่ากำหนดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ.2543
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยว่า ภรรยานายดอน โอนหุ้นภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และเป็นการโอนหุ้นที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น นายดอนจึงไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตามที่ กกต.ร้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ประกอบด้วย นายชัช ชลวร, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นายนุรักษ์ มาประณีต,นายบุญส่ง กุลบุปผา, นายปัญญา อุดชาชน และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นเสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม
เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2561 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่วินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน
ศาลฯตั้งประเด็นวินิจไว้ 2 ประเด็นคือ
ประเด็นที่หนึ่ง รัฐธรรมูญมาตรา 264 ประกอบ 187 นำมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกร้องได้หรือไม่เพียงใด
ประเด็นที่สอง คู่สมรสของผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นให้บุคคลอื่นถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการเสียงข้างน้อยมารายงานเฉพาะประเด็นที่สอง
1.นายจรัญ ภักดีธนากุล
ประเด็นที่สอง คู่สมรสของผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นให้บุคคลอื่นถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่
คดีนี้ ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ซึ่งเป็นคู่สมรสของผู้ถูกร้อง ถือหุ้นในบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด จํานวน 7,200 หุ้น จากหุ้นทั้งหมดของบริษัทจํานวน 60,000 หุ้น และถือหุ้นในบริษัทปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด จํานวน 3,500 หุ้น จากหุ้นทั้งหมดของบริษัทจํานวน 20,000 หุ้น ซึ่งเป็น จํานวนเกินกว่าร้อยละ 5 ของหุ้นที่จําหน่ายได้ หลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว นางนรีรัตน์ยังคงถือหุ้นจํานวนดังกล่าวอยู่
ผู้ถูกร้องชี้แจงว่า นางนรีรัตน์ได้โอนหุ้นให้กับนายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย บุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะ ไปแล้ว โดยเป็นหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด จํานวน 4,800 หุ้น ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติ การโอนหุ้นในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 และหุ้นบริษัท ปานะวงศ์ - รีแอลที่ จํากัด จํานวน 2,700 หุ้น ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติการโอนหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 จนเหลือหุ้นที่ถือครองอยู่ไม่เกินร้อยละ 5 อันเป็นการโอนหุ้นภายใน 30 วัน หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้ โดยอ้าง สัญญาโอนหุ้น รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่คัดและได้รับ การรับรองจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
ข้อเท็จจริงจากพยานเอกสารที่ทั้งสองฝ่ายนําส่งและจากการไต่สวนนายตรีวัฒน์ ทั้งสุบุตร ตัวแทนบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ซึ่งเป็นประธานการประชุมผู้ถือหุ้น และนายภัฏฏการก์ บุนนาค ตัวแทนบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ซึ่งเป็นประธานการประชุมผู้ถือหุ้นและเป็นผู้ลงลายมือชื่อ เป็นพยานในหนังสือสัญญาโอนหุ้นของแต่ละบริษัทด้วย ได้ให้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ได้แจ้งขอโอนหุ้นของบริษัททั้งสองต่อกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 ต่อมาบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจําปี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 และ บริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด จัดประชุมใหญ่สามัญประจําปี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 ทั้งสอง บริษัทกําหนดวาระการประชุมใหญ่สามัญประจําปีเพียง 2 วาระ คือ วาระที่ 1 พิจารณาอนุมัติรับรอง งบการเงินประจําปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 วาระที่ 2 พิจารณาเรื่องอื่น โดยอ้างว่า วาระการประชุมเรื่องที่เคยปฏิบัติตามปกติอีกหลายเรื่องยังไม่แล้วเสร็จ โดยในวาระที่ 2 ของการ ประชุมสามัญของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติการโอนหุ้นของนางนรีรัตน์ตามที่แจ้งและ บันทึกรายงานการประชุมไว้ว่า จะดําเนินการแจ้งการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งต่อมาได้มีการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 เพื่อรับรองบัญชีผู้ถือหุ้นหลังการโอนกรรมสิทธิ์หุ้น
@ข้อกล่าวอ้าง เอกสาร ขัดกับเหตุผล สภาพปกติ
เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างและเอกสารของผู้ถูกร้องขัดกับเหตุผล สภาพปกติธรรมดาของ เหตุการณ์และข้อกฎหมายหลายประการ กล่าวคือ รายงานการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1/2560 ของทั้งสองบริษัทมีวาระการประชุมเพียง 2 วาระ ซึ่งขัดกับการประชุมทุกปีที่ผ่านมาที่มีวาระการประชุม 5 วาระ ทั้งนี้ ได้ความจากข้อบังคับของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ข้อ 18 ที่มีสาระสําคัญได้ กําหนดให้การประชุมใหญ่สามัญประจําปี นอกจากวาระการอนุมัติบัญชีงบดุลของบริษัทแล้ว ยังกําหนดให้มีวาระการเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ครบวาระ และให้เลือกตั้งผู้สอบบัญชีและ กําหนดค่าตอบแทนด้วย ส่วนข้อบังคับของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด กําหนดไว้ให้ใช้ประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นข้อบังคับของบริษัท ซึ่งข้อบังคับของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด สอดคล้อง กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยกําหนดให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจําปีจะต้องพิจารณาเรื่อง สําคัญไว้คือ การอนุมัติงบดุลตามมาตรา 1197 การเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ต้องออกตาม วาระตามมาตรา 1152 และมาตรา 1153 และการเลือกผู้สอบบัญชีตามมาตรา 1209
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ต้องออกตามวาระ การเลือกผู้สอบบัญชีและ กําหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีนี้ กฎหมายกําหนดให้กระทําโดยที่ประชุมใหญ่สามัญ การที่บริษัททั้งสอง จัดประชุมใหญ่สามัญโดยไม่กําหนดวาระการประชุมครบถ้วนเหมือนทุกปีที่เคยปฏิบัติ มีเพียงวาระ รับรองงบดุลและพิจารณาเรื่องการอนุมัติการโอนหุ้นของนางนรีรัตน์ย่อมขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับ ของบริษัท จึงเป็นพิรุธอันควรสงสัย ไม่น่าเชื่อถือ และสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งที่ประชุมใหญ่ สามัญครั้งที่ 1/2560 ของทั้งสองบริษัทได้อนุมัติการ โอนหุ้นแล้ว ก็ไม่มีการนําส่งให้แก่กรมพัฒนา ธุรกิจการค้าภายใน 14 วัน ตามมาตรา 1139 วรรคสอง ทั้งการอ้างว่า ในการเรียกประชุมใหญ่สามัญ ข้อมูลในวาระอื่นยังไม่พร้อม ยิ่งไม่น่าเป็นไปได้ ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพยานที่ศาลเรียกมา ให้ถ้อยคําก็ยอมรับว่า เป็นบริษัทในครอบครัว กรรมการก็เป็นกรรมการชุดเดิม ผู้สอบบัญชีก็เป็นคนเดิม ค่าตอบแทนเท่าเดิม จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องเตรียมข้อมูลใด ๆ การไม่กําหนดวาระการออกและเข้าสู่ ตําแหน่งกรรมการและการเลือกผู้สอบบัญชีจึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง
@ ขัดต่อเหตุผลและปกติประเพณีที่เคยปฏิบัติมาฟังไม่ขึ้น
นอกจากนี้ ข้ออ้างที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า จะต้องประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลง การโอนหุ้นของนางนรีรัตน์อีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะแจ้งต่อนายทะเบียนนั้น ข้ออ้างดังกล่าวไม่มีกฎหมาย หรือข้อบังคับของบริษัทบัญญัติให้การแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต้องขออนุมัติหรือแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ ผู้ถือหุ้นรับทราบอีกครั้งหนึ่งก่อน ทั้งตามมาตรา 1139 วรรคสอง กําหนดให้เป็นหน้าที่ของกรรมการ ที่จะต้องส่งสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ที่เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ณ วันประชุมใหญ่สามัญเท่านั้น ไม่มีเหตุที่จะต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่ออนุมัติหรือรับทราบอีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับบริษัททั้งสอง เคยมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ก็ไม่ปรากฏว่า ได้เคยนํามาเสนอให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณา รับรองก่อนที่จะยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนเลย เพิ่งจะมีในครั้งนี้เท่านั้น ข้ออ้างของผู้ถูกร้อง จึงไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทเอง ทั้งยังขัดต่อเหตุผลและปกติประเพณีที่เคย ปฏิบัติมา ข้ออ้างของผู้ถูกร้องจึงฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ข้อเท็จจริงยังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 นายตรีวัฒน์ ทังสุบุตร และ นายภัฏฏการก์ บุนนาค ผู้เป็นกรรมการผู้จัดการและเป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญของบริษัททั้งสอง ได้แจ้งข้อมูลต่อคณะกรรมการไต่สวนของกรรมการการเลือกตั้งตามที่สอบถามไปว่า “จํานวนหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนยังเป็นจํานวนเท่าเดิม” ส่วนที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าเป็นการตอบไปตาม ข้อมูลที่มีอยู่ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้านั้น ย่อมเป็นการกล่าวอ้างที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เนื่องจากหากข้ออ้างนั้นเป็นความจริงการโอนหุ้นย่อมมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน และ 30 เมษายน 2560 แล้ว เมื่อการโอนหุ้นมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ณ วันประชุมใหญ่สามัญแล้ว บริษัทจึงมีหน้าที่ต้องนําส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนภายใน 14 วัน นับแต่วันประชุมใหญ่ สามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1139 วรรคสอง ไม่มีเหตุต้องให้ที่ประชุมใหญ่ วิสามัญพิจารณารับรองอีกครั้งหนึ่ง การส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้นายทะเบียนทราบเป็นเพียงการแจ้ง ให้บุคคลภายนอกสามารถตรวจสอบได้เท่านั้น หนังสือแจ้งข้อมูลลงวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ของ กรรมการผู้จัดการของบริษัททั้งสองได้ทําขึ้นก่อนมีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกร้องทราบในวันที่ 16 ตุลาคม 2560 หนังสือแจ้งข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าได้ตอบไปตามความเป็นจริง ข้ออ้างของผู้ถูกร้องในกรณีนี้จึงฟังไม่ขึ้น
@เอกสารนำมาอ้าง จัดทําขึ้นเองภายในบริษัท ไม่น่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ เอกสารต่าง ๆ ตามที่ผู้ถูกร้องอ้าง มีเพียงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ระบุว่านางนรีรัตน์ ได้โอนหุ้นให้นายเพื่อนแล้วเท่านั้นที่เป็นเอกสารที่มีการนําส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งผู้ถูกร้องคัดรับรองมาแสดงเป็นหลักฐาน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เอกสารดังกล่าวบริษัทได้จัดทําขึ้นและนําส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายหลังจากผู้ถูกร้องถูกตรวจสอบแล้ว ส่วนเอกสารอื่น ๆ ล้วนเป็นเอกสารที่ผู้ถูกร้องจัดทําขึ้นเองภายในบริษัท มิใช่เอกสารของทางราชการ เอกสารดังกล่าวจึงไม่มีน้ําหนักน่าเชื่อถือที่จะรับฟังได้ว่า คู่สมรสของผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นไปภายใน 30 วัน นับจากวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้
ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าคู่สมรสของผู้ถูกร้องได้ถือครองหุ้นในบริษัทเกินกว่าจํานวนที่ กฎหมายกําหนดอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ผู้ถูกร้องจึงต้องพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)ประกอบมาตรา 187 ตั้งแต่วันที่ศาลมีคําวินิจฉัยเป็นต้นไปตามมาตรา 82 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 170 วรรคสาม
2.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ประเด็นที่สอง คู่สมรสของผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นให้บุคคลอื่นถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่
การกระทําอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็น หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นนี้ ให้ใช้บังคับแก่คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของรัฐมนตรี และการถือหุ้น ของรัฐมนตรีที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางใด ๆ ด้วย ดังที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ มาตรา 187 วรรคสี่
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย คู่สมรสของผู้ถูกร้องถือหุ้นในบริษัทปานะวงศ์ จํากัด จํานวน 7,200 หุ้น เลขหมายของหุ้น 15001 ถึง 22200 ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้น วันที่ 30 มิถุนายน 2542 คิดเป็นร้อยละสิบสองของจํานวนหุ้นทั้งหมดที่จําหน่ายได้ ต่อมาคู่สมรส ของผู้ถูกร้องได้มีหนังสือลงวันที่ 10 เมษายน 2560 แจ้งความประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ในหุ้น ของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด เลขหมายของหุ้น 17401 ถึง 22200 รวมจํานวน 4,800 หุ้น ให้กับ นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย บุตรที่บรรลุนิติภาวะ โดยได้ทําหนังสือสัญญาโอนหุ้น ลงวันที่ 27 เมษายน 2560 และตามรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 ระบุในวาระที่ 2 ว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้วอนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าว และจะดําเนินการแจ้งการ เปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหกเดือน ซึ่งบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ได้นําส่งข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ DBD e-Filing เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 โดยบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 จํานวนหุ้นของคู่สมรสของผู้ถูกร้องคงมีจํานวน 7,200 หุ้น มิได้มีการเปลี่ยนแปลง
ต่อมาคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้มีหนังสือที่ ลต 0203/5395 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ถึงประธานกรรมการบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นของคู่สมรสของรัฐมนตรี ซึ่งบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด มีหนังสือลงวันที่ 3 สิงหาคม 2560 แจ้งข้อมูลการถือหุ้นของคู่สมรสของผู้ถูกร้องว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึงปี พ.ศ. 2560 นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ถือหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด จํานวน 7,200 หุ้น คิดเป็นร้อยละสิบสองของจํานวนหุ้นทั้งหมดในบริษัท และจํานวนหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนยังเป็นจํานวนเท่าเดิม และต่อมาในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 บริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ได้นําส่งข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ DBD e-Filing โดยบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 จํานวนหุ้นของคู่สมรส ของผู้ถูกร้องมีการเปลี่ยนแปลงเหลือ 2,400 หุ้น โดยได้โอนหุ้นเลขหมายของหุ้น 17401 ถึง 22200 รวมจํานวน 4,800 หุ้น ให้แก่นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นวันที่ 9 ตุลาคม 2560 และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น โดยระบุวันที่ 9 ตุลาคม 2560 เป็นวันเดือนปีที่มีการโอนและการได้มาซึ่งหุ้นดังกล่าว ตามหนังสือ สัญญาโอนหุ้นลงวันที่ 27 เมษายน 2560
นอกจากนี้ คู่สมรสของผู้ถูกร้องยังถือหุ้นในบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด จํานวน 3,500 หุ้น เลขหมายของหุ้น 08001 ถึง 11500 ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นวันที่ 28 กันยายน 2537 คิดเป็นร้อยละสิบเจ็ดครึ่งของจํานวนหุ้นทั้งหมดที่จําหน่ายได้ ต่อมาคู่สมรสของผู้ถูกร้องได้มีหนังสือ ลงวันที่ 10 เมษายน 2560 แจ้งความประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด เลขหมายของหุ้น 08801 ถึง 11500 รวมจํานวน 2,700 หุ้น ให้กับนายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย บุตรที่บรรลุนิติภาวะ โดยได้ทําหนังสือสัญญาโอนหุ้น ลงวันที่ 30 เมษายน 2560 และตามรายงาน การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 ระบุไว้ในวาระที่ 2 ว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้วอนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าว และจะดําเนินการแจ้งการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหกเดือน ซึ่งบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ได้นําส่งข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ DBD e-Filing เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 โดยบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 จํานวนหุ้นของคู่สมรสของผู้ถูกร้องคงมี จํานวน 3,500 หุ้น มิได้มีการเปลี่ยนแปลง
ต่อมาคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงได้มีหนังสือที่ ลต 0203/5396 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ถึงประธานกรรมการบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นของคู่สมรสของรัฐมนตรี ซึ่งบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด มีหนังสือลงวันที่ 3 สิงหาคม 2560 แจ้งข้อมูลการถือหุ้นของคู่สมรสของผู้ถูกร้องว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึงปี พ.ศ. 2560 นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ถือหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด จํานวน 3,500 หุ้น คิดเป็นร้อยละสิบเจ็ดครึ่งของจํานวนหุ้นทั้งหมดในบริษัท และจํานวนหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนยังเป็นจํานวนเท่าเดิม และต่อมาในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 บริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ได้นําส่งข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ DBD e-Filing โดยบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 จํานวนหุ้นของคู่สมรส ของผู้ถูกร้องมีการเปลี่ยนแปลงเหลือ 800 หุ้น โดยได้โอนหุ้นเลขหมายของหุ้น 17401 ถึง 22200 รวมจํานวน 2,700 หุ้น ให้แก่นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นวันที่ 9 ตุลาคม 2560 และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น โดยระบุวันที่ 9ตุลาคม 2560 เป็นวันเดือนปีที่มีการโอนและการได้มาซึ่งหุ้นดังกล่าว ตามหนังสือ สัญญาโอนหุ้นลงวันที่ 30 เมษายน 2560
@ กก. 2 บริษัทแจ้ง กก.ไต่สวน จำนวนหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง
พิจารณาแล้วเห็นว่า คู่สมรสของผู้ถูกร้องได้โอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด รวมจํานวน 4,800 หุ้น และของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด รวมจํานวน 2,700 หุ้น ให้แก่นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว โดยหลังจากคู่สมรสของผู้ถูกร้องโอนหุ้นให้แก่ นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย แล้ว คู่สมรสของผู้ถูกร้องยังคงถือหุ้นในบริษัททั้งสองโดยคิดเป็นร้อยละสี่ ของจํานวนหุ้นทั้งหมดที่จําหน่ายได้ในบริษัทนั้น จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสของผู้ถูกร้องประสงค์จะไม่คงไว้ซึ่งความเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทในส่วนที่เกินกว่าจํานวนที่กฎหมายบัญญัติ และทําให้การขัดกันแห่ง ผลประโยชน์อันเกิดจากการที่คู่สมรสของผู้ถูกร้องถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้านั้นได้ถูกปลดเปลื้องให้สิ้นไป นับแต่วันที่กรรมสิทธิ์ในหุ้นของทั้งสองบริษัทได้โอนไปยังนายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย เนื่องจากได้มีการทํา สัญญาโอนหุ้นถูกต้องตามแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กําหนดไว้ในมาตรา 1129 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อ ของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย” ดังนั้น การโอนดังกล่าวจึงสมบูรณ์ ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม แม้หนังสือสัญญาโอนหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด จะได้ระบุว่าทําขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2560 และหนังสือสัญญาโอนหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด จะได้ระบุว่า ทําขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 2560 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายตรีวัฒน์ ทังสุบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาโอนหุ้นของคู่สมรสของผู้ถูกร้องและเป็น ประธานในที่ประชุมตามรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2560 ซึ่งมีวาระพิจารณาอนุมัติ การโอนหุ้นดังกล่าว และนายภัฏฏการก์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาโอนหุ้นของคู่สมรสของผู้ถูกร้องและเป็นประธานในที่ประชุม ตามรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 ซึ่งมีวาระพิจารณาอนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าว บุคคลทั้งสองจึงเป็นผู้รู้เห็นและทราบข้อมูลรายละเอียดการโอนหุ้นดังกล่าว และถือว่าบริษัททราบเรื่อง การโอนหุ้นดังกล่าวแล้ว แต่กลับแจ้งข้อมูลการถือหุ้นของคู่สมรสของผู้ถูกร้องต่อคณะกรรมการ ไต่สวนข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2560 คู่สมรสของผู้ถูกร้องได้ถือหุ้น ในบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด จํานวน 7,200 หุ้น คิดเป็นร้อยละสิบสองของจํานวนหุ้นทั้งหมดในบริษัท และจํานวนหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนยังเป็นจํานวนเท่าเดิม และในระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2560 คู่สมรสของผู้ถูกร้องได้ถือหุ้นในบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด จํานวน 3,500 หุ้น คิดเป็นร้อยละสิบเจ็ดครึ่งของจํานวนหุ้นทั้งหมดในบริษัท และจํานวนหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนยังเป็นจํานวนเท่าเดิม โดยกรรมการผู้จัดการบริษัททั้งสองอ้างว่า ได้รายงานตามข้อมูลเดิมที่ปรากฏในทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งที่กรรมการผู้จัดการบริษัท ทั้งสองทราบถึงข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก่อนแล้วและสามารถแจ้งข้อมูลนี้ต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ แต่มิได้แจ้งข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของกรรมการผู้จัดการบริษัททั้งสอง
ประกอบกับบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ที่บริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ได้นําส่งต่อกรมพัฒนา ธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ DBD e-Filing เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ปรากฏว่า ณ วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 นั้น จํานวนหุ้นของคู่สมรส ของผู้ถูกร้องคงมีจํานวน 7,200 หุ้น มิได้มีการเปลี่ยนแปลง และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ที่บริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ได้นําส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ DBD e-Filing เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ปรากฏว่า ณ วันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 จํานวนหุ้นของคู่สมรสของผู้ถูกร้องจึงมีการเปลี่ยนแปลงเหลือ 2,400 หุ้น โดยได้ โอนหุ้นจํานวน 4,800 หุ้น ให้แก่นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นวันที่ 9 ตุลาคม 2560 และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ที่บริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ได้นําส่งต่อกรมพัฒนา ธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ DBD e-Filing เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ปรากฏว่า ณ วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 จํานวนหุ้นของคู่สมรส ของผู้ถูกร้องคงมีจํานวน 3,500 หุ้น มิได้มีการเปลี่ยนแปลง และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ที่บริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ได้นําส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ DBD e-Filing เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ปรากฏว่า ณ วันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 จํานวนหุ้นของคู่สมรสของผู้ถูกร้องจึงมีการเปลี่ยนแปลงเหลือ 800 หุ้น โดยได้โอนหุ้นจํานวน 2,700 หุ้น ให้แก่นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ซึ่งสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ที่บริษัททั้งสองส่งไว้ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้านั้นเป็นเอกสารราชการและบริษัทได้รับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น โดยสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยระบุวันที่ 9 ตุลาคม 2560 เป็นวันเดือนปีที่มีการโอนและการได้มาซึ่งหุ้นดังกล่าว ทั้งที่การจดแจ้งการโอนและการรับโอนลงใน สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองเป็นเรื่องที่บริษัทสามารถดําเนินการได้เองหลังจากที่ประชุม ได้อนุมัติการโอนหุ้นของคู่สมรสของผู้ถูกร้องแล้ว
@เชื่อโอนให้ลูก 9 ต.ค.60
นอกจากนี้ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ที่บริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ได้นําส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ DBD e-Filing เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ยังปรากฏว่า ณ วันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 จํานวนหุ้นของผู้ถือหุ้นอีกหนึ่งราย คือ นายตรีวัฒน์ ทังสุบุตร ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการโอนหุ้นจํานวน 1,000 หุ้น ให้แก่นางธัญญา วงศ์ยืน และโอนหุ้นจํานวน 1,000 หุ้น ให้แก่นายวิรวัฒน์ ทั้งสุบุตร ซึ่งลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นวันที่ 9 ตุลาคม 2560 และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น โดยระบุวันที่ 9 ตุลาคม 2560 เป็นวันเดือนปีที่มีการโอนและการได้มาซึ่งหุ้นดังกล่าว โดยมิได้มีการระบุถึงหนังสือสัญญาโอนหุ้นดังเช่นกรณีของคู่สมรสของผู้ถูกร้องแต่อย่างใด ดังนั้น แม้คู่สัญญาตาม หนังสือสัญญาโอนหุ้นจะได้แสดงเจตนาให้สัญญาโอนหุ้นนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2560 และวันที่ 30 เมษายน 2560 ตามลําดับก็ตาม แต่การใช้สิทธิแห่งตนดังกล่าวนั้นย่อมมีผลต่อการ พิจารณาว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ดังนั้น จึงไม่อาจอ้างวันที่ตามที่ ลงในหนังสือสัญญาโอนหุ้นได้ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าวันที่ 9 ตุลาคม 2560 เป็นวันที่คู่สมรสของ ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด รวม 4,800 หุ้น และของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด รวม 2,700 หุ้น ให้แก่นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งเป็นบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 วรรคหนึ่ง มีความมุ่งหมายให้รัฐมนตรีต้องแสดงความประสงค์ ไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในส่วนที่เกินกว่าจํานวนที่กฎหมาย บัญญัติไว้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญนี้ คือ วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้ บังคับ โดยโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นส่วนที่เกินนั้นให้แก่บุคคลอื่นภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ 6 เมษายน 2560แต่คู่สมรสของผู้ถูกร้องไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นส่วนที่เกินกว่าจํานวนที่กฎหมาย บัญญัติภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องได้กระทําการ อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 187 และเป็นเหตุให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 264 วรรคสอง ประกอบมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 และให้พ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย
3.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม
พิจารณาแล้วเห็นว่า หุ้นในบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด เป็นหุ้นชนิดระบุชื่อ ซึ่งการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 บทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อจะต้องทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้โอนและผู้รับโอน โดยมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นด้วยแล้ว มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ ซึ่งเป็นไปตามแบบที่กําหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง และจะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้มีการแจ้งการโอนให้บริษัทจดทะเบียนการโอนลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น หากไม่มีการจดแจ้งการรับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น การโอนนั้นก็ยังใช้ยันบริษัทหรือบุคคลภายนอก ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม และให้เป็นหน้าที่ของกรรมการ ที่จะส่งสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดในเวลาที่ประชุม และรายชื่อผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นจําเดิมแต่วันประชุมสามัญครั้งที่แล้ว ไปยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้ง และมิให้ช้ากว่าวันที่ สิบสี่นับแต่การประชุมสามัญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1139 วรรคสอง การที่คู่สมรสผู้ถูกร้องได้ดําเนินการ โอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัททั้งสองให้บุตรที่บรรลุนิติภาวะ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 และที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 รวมทั้งที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 ได้อนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าว นั้น ปรากฏว่า นายตรีวัฒน์ ทังสุบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ได้ลงชื่อในฐานะพยานในหนังสือสัญญา โอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นของคู่สมรสผู้ถูกร้อง และเป็นประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 และนายภัฏฏการก์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ได้ลงชื่อ ในฐานะพยานในหนังสือสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นของคู่สมรสผู้ถูกร้อง และเป็นประธาน ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 บุคคลทั้งสองจึงเกี่ยวข้องโดยตรงและทราบข้อมูล รายละเอียดการโอนหุ้นดังกล่าว และถือว่าบริษัททราบเรื่องการโอนหุ้นดังกล่าวแล้ว โดยในทางไต่สวน กรรมการผู้จัดการบริษัททั้งสองแห่งได้ให้การตรงกันว่าหุ้นของบริษัทเป็นหุ้นประเภทระบุชื่อ ถ้ามีการ โอนหุ้นต้องแจ้งให้บริษัททราบและแก้ไขในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งในทางปฏิบัติจะต้อง นําเข้าที่ประชุมเพื่อรับรองก่อนนําข้อมูลแจ้งให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ประกอบ กับสํานักงานบัญชีขอเวลาในการดําเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนผู้ถือหุ้นให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน
@ข้อกล่าวอ้างไม่สมเหตุสมผล
เห็นว่า เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นบริษัทภายในครอบครัวมีผู้ถือหุ้นจํานวนไม่มาก การเรียกประชุม ผู้ถือหุ้น การจัดทําเอกสารการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นสามารถกระทําได้ภายในระยะเวลาที่ กฎหมายกําหนด และการดําเนินการแจ้งเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนของผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทครั้งที่ผ่าน ๆ มา บริษัททั้งสองจัดให้มีการประชุมวิสามัญในการพิจารณา การโอนหุ้น โดยใช้ระยะเวลาในการดําเนินการแล้วเสร็จไม่เกินสามสิบวัน ข้อกล่าวอ้างของบริษัท ทั้งสองที่คู่สมรสผู้ถูกร้องถือหุ้นอยู่ว่าต้องใช้เวลา 6 เดือน จึงไม่สมเหตุผล นอกจากนี้ การที่กรรมการ ผู้จัดการบริษัททั้งสองแจ้งข้อมูลการถือหุ้นต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของผู้ร้องว่าจํานวนหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน สัดส่วนยังเป็นจํานวนเท่าเดิม โดยกรรมการผู้จัดการของบริษัททั้งสอง อ้างว่าได้รายงานตามข้อมูลเดิมที่ปรากฏในทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทั้งที่ กรรมการทั้งสองบริษัททราบถึงข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก่อนแล้ว และสามารถแจ้งข้อมูลที่ว่านี้ต่อ คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ แต่มิได้มีการแจ้งข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยของกรรมการผู้จัดการบริษัททั้งสอง ทั้งที่ปรากฏชัดเจนในหนังสือของสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด่วนที่สุด ที่ ลต 0203/4395 และที่ ลต 0203/4396 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ถึงบริษัททั้งสอง เพื่อขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นของ คู่สมรสของรัฐมนตรีโดยมีใจความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน ข้อเท็จจริง กรณีมีการร้องขอให้ตรวจสอบรัฐมนตรีว่ามีการกระทําเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่ง ผลประโยชน์ตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญ และจะเข้าข่ายเป็นการขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 กรรมการผู้จัดการบริษัททั้งสองย่อมทราบดีว่าเป็นเรื่องสําคัญอย่างยิ่งต่อการดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสมควรให้ข้อมูลนี้ต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ว่าได้ลงรายการหุ้นที่โอนไป ของคู่สมรสผู้ถูกร้อง ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2560 เลขหมายหุ้น 17401 ถึง 22200 ให้นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย จํานวน 4,800 หุ้น ตามหนังสือโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 และ ตามสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ได้ลงรายการหุ้นที่โอนไปของคู่สมรส ผู้ถูกร้อง ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2560 เลขหมายหุ้น 08801 ถึง 11500 ให้นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย จํานวน ๒,๗๐๐ หุ้น ตามหนังสือโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 ซึ่งมีวันที่โอนตรง กับเอกสารสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสอง ครั้งที่ 1/2560 ที่ระบุว่าจํานวนหุ้นของคู่สมรสผู้ถูกร้องได้เปลี่ยนแปลงลดลงไม่เกินจํานวนที่กฎหมาย กําหนดในวันที่ 9 ตุลาคม 2560 การที่สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองลงรายการในการโอนหุ้นของคู่สมรสผู้ถูกร้องเป็นวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ย่อมเป็นการผิดปกติ เนื่องจากการลงรายการ ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองเป็นเรื่องที่บริษัทสามารถแก้ไขการโอนหุ้นลงในสมุด ทะเบียนผู้ถือหุ้นได้เองภายในบริษัทหลังจากที่ประชุมได้อนุมัติการโอนหุ้นของคู่สมรสผู้ถูกร้องตั้งแต่ วันที่ 27 เมษายน 2560 และวันที่ 30 เมษายน 2560 แล้ว โดยไม่จําต้องรอให้สํานักงาน บัญชีดําเนินการ ประกอบกับสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งบริษัททั้งสอง ได้ส่งทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 เป็นเอกสารที่บริษัททั้งสอง จัดทําส่งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยมีกรรมการผู้มีอํานาจของบริษัททั้งสองเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นเอกสารของทางราชการที่รายการ จํานวนหุ้นที่ถือของคู่สมรสผู้ถูกร้องมี การเปลี่ยนแปลงลดลงและไม่เกินกว่าจํานวนที่กฎหมายบัญญัติ
@เชื่อไม่ได้โอนหุ้นให้ลูกภายใน 30 วัน นับแต่ รธน.มีผลบังคับใช้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่ายังไม่มี การโอนหุ้นภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง ดังนั้น คู่สมรสของผู้ถูกร้องมิได้โอนหุ้นให้บุคคลอื่นโดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงถือว่าผู้ถูกร้องได้ กระทําการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187
ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเมื่อพ้นกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) บัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เฉพาะตัวเมื่อกระทําการอันต้องห้ามตามมาตรา 187 ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ตามที่กําหนดไว้เกิดขึ้นความเป็นรัฐมนตรีย่อมต้องสิ้นสุดลงทันที ไม่ใช่สิ้นสุดลงในวันที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 187 ตั้งแต่วันที่พ้นกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญนี้ คือ วันที่ รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
'ดอน' รอด! ศาลรธน.วินิจฉัยไม่สิ้นสุดความเป็น รมต.-ภรรยาโอนหุ้นถูกต้องตาม กม.
ศาล รธน.นัด 31 ต.ค. วินิจฉัยคดี ‘เมียดอน’ ถือหุ้นเกิน 5%
ยันฝ่ายบัญชีทำล่าช้า! 2เอกชนเบิกความศาล รธน. ปม‘เมียดอน’ถือหุ้นเกิน5%
ศาลรัฐธรรมนูญ รอคำชี้แจง ‘ดอน’ คดีเมียถือครองหุ้นเกิน 5%
ศาล รธน.ยัน‘ดอน’ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ปมหุ้นเกิน5% ชี้ไม่ส่งผลการบริหารแผ่นดิน
กางกฎหมาย-ขมวด 2 ปมสำคัญคดี ‘ดอน’ถือหุ้นเกิน 5% ก่อนศาล รธน. รับวินิจฉัย
เทียบคดี ‘เมียดอน-เมียไชยา’ เหมือนกันเป๊ะ ปมถือหุ้นเกิน 5%
เมีย‘ดอน’ลดสัดส่วนเหลือ 4% เพิ่งโอนหุ้นส่วนเกินให้ลูกชาย หลังนั่ง รมต.2 ปี