ขอให้ช่วย-เสนอสินบน! เปิดคำพิพากษาศาลสั่งคุก 4 ปี อัยการ จ.สระบุรี-พวก คดีขนนอแรด
“…จำเลยที่ 3 (นายวรภาส บุญศรี) รู้ดีว่าภายในกระเป๋าของกลางมีสิ่งของผิดกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 พบเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอีกรายหนึ่ง จำเลยที่ 3 พูดในทำนองขอให้ช่วยเหลือ และยังมีการเสนอที่จะให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรด้วย…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 นายวรภาส บุญศรี พนักงานอัยการ จ.สระบุรี กับพวกรวม 3 ราย ถูกศาล จ.สมุทรปราการ พิพากษาจำคุกคนละ 4 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีลักลอบนำเข้า ‘นอแรด’ จำนวน 21 ชิ้น โดยถูกจับได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ช่วงเดือน มี.ค. 2560 (อ่านประกอบ : ศาลสั่งคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา อัยการ จ.สระบุรี-พวก คดีขนนอแรดเข้าไทย)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจที่มาที่ไปของคดีมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปพฤติการณ์คดีนี้ตามคำพิพากษา ดังนี้
คดีนี้อัยการ จ.สมุทรปราการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางฐิติรัตน์ อาราอิ น.ส.กานต์สินี อนุตรานุศาสตร์ และนายวรภาส บุญศรี เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันนำพานำเข้านอแรด 19 ชิ้น นอแรดดำ 2 ชิ้น รวม 21 ชิ้น น้ำหนัก 49.4 กิโลกรัม ราคารวม 49.4 ล้านบาท เข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีและเป็นของที่แหล่งกำเนิดในต่างประเทศ ยังไม่ได้เสียภาษี ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร และไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้นำเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นการร่วมกันเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมาย และข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้าโดยเจตนาร่วมกันจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล จึงขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 และ 27 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 4 6 23 และ 47 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 4 31 68 และ 78
จำเลยทั้ง 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2560 เวลา 13.50 น. เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรประจำจุดตรวจช่องไม่มีของต้องสำแดงหรือช่อง C เขียว ตรวจพบกระเป๋าห่อหุ้มด้วยเทปพลาสติกใส มีแท็กป้ายแสดงรายละเอียดการเดินทาง เมื่อนำไปผ่านเครื่องตรวจเอ็กซ์เรย์แล้ว ปรากฏภาพบนจอเป็นสีส้ม แสดงว่าเป็นวัตถุอินทรีย์ จึงนำไปตรวจสอบ เมื่อเปิดกระเป๋าออกมาพบว่า ภายในมีนอแรด 21 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 49 กิโลกรัม
ปัญหามีอยู่ว่า จำเลยที่ 1 (นางฐิติรัตน์ อาราอิ) เป็นผู้นำหรือพานอแรดของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่ โจทก์มีพยานเบิกความว่า จากการตรวจสอบวันที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เดินทางมากับเที่ยวบิน TG581 จากกรุงพนมเปญ กัมพูชา จะต้องรับกระเป๋าเดินทางที่สายพานหมายเลข 15 แต่ไม่ได้ไปรับสัมภาระของตนเอง กลับไปนั่งรอบริเวณสายพานหมายเลข 9 แล้วยกกระเป๋าของกลางขึ้นใส่รถเข็นไป ขณะกำลังจะผ่านบริเวณที่ตรวจเอ็กซเรย์ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร 2 รายสังเกตเห็นจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ส่อพิรุธ จึงเรียกขอตรวจสอบกระเป๋าของกลาง ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 เดินหลบหนีออกไป
เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ แทนที่จะสนใจติดตามไปรอรับกระเป๋าเดินทางของตนเองที่สายพานหมายเลข 15 เป็นอันดับแรก แต่กลับไปให้ความสำคัญกับกระเป๋าเดินทางของกลางที่สายพานหมายเลข 9 มากกว่ากระเป๋าของตัวเอง และเมื่อจำเลยที่ 1 รับกระเป๋าเดินทางของกลางมาแล้ว ก็เข็นกระเป๋าเดินทางของกลางออกไปบริเวณจุด C สีเขียว ซึ่งเป็นจุดที่ผู้โดยสารไม่มีสิ่งของจะต้องสำแดง
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองหรือมีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งขณะใดในสิ่งของที่บรรจุอยู่ในกระเป๋าเดินทางของกลางนับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้รับมอบไปโดยถูกต้องพ้นจากความอารักขาของพนักงานศุลกากร จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้นำของเข้า ตามคำนิยามในมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และมีความผิดฐานนำนอแรดของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า โดยมีเจตนาร่วมกันจะฉ้อค่าภาษี และฐานนำนอแรดซึ่งเป็นซากของสัตว์ป่าและเป็นซากสัตว์ป่าเข้มาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 2 (น.ส.กานต์สินี อนุตรานุศาสตร์) เมื่อศาลพิเคราะห์พฤติการณ์ตามภาพเคลื่อนไหวที่พนักงานอัยการเปิดดูนาทีที่ 01.02 เห็นจำเลยที่ 2 แตะแขนจำเลยที่ 1 แล้วเดินออกไปพร้อมกัน ขณะที่กระเป๋าเดินทางของกลางถูกนำขึ้นเอ็กซเรย์ ส่อเป็นพิรุธแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระเป๋าของกลาง เพราะหากจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องมาช่วยเหลือจำเลยที่ 3 (นายวรภาส บุญศรี) ในการชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและต้องช่วยติดตามจำเลยที่ 1 มาแสดงความรับผิดชอบ
สำหรับจำเลยที่ 3 (นายวรภาส บุญศรี) ที่อ้างว่าไม่ทราบว่าของกลางคืออะไร และไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเมื่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรสอบถามว่า ของข้างในกระเป๋าเป็นอะไร จำเลยที่ 3 กลับตอบว่า เป็นไวน์ อีกทั้งจำเลยที่ 3 บอกว่า กระเป๋าใบนี้ไม่ต้องตรวจ อันเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่กระเป๋าของกลางไม่ใช่ของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย และเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรตรวจเอ็กซเรย์กระเป๋าของกลาง
เมื่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเข็นกระเป๋าของกลางไปกลางห้องทำงานฝ่ายบริการผู้โดยสาร จำเลยที่ 3 ก็พูดอีกว่า ไม่ต้องเปิดตรวจได้มั้ย ออกไปเลยได้หรือไม่ และจำเลยที่ 3 ยังเสนอว่า ถ้ามันยุ่งยากก็เอากระเป๋าไปทิ้งไว้ที่สายพาน เป็นกระเป๋าไม่มีเจ้าของได้หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรตอบไปว่า ไม่ได้
กรณีเช่นนี้เป็นข้อยืนยันว่า จำเลยที่ 3 รู้ดีว่าภายในกระเป๋าของกลางมีสิ่งของผิดกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 พบเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอีกรายหนึ่ง จำเลยที่ 3 พูดในทำนองขอให้ช่วยเหลือ และยังมีการเสนอที่จะให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรด้วย
เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรรายนี้ อายุ 58 ปี ใกล้เกษียณอายุราชการ ย่อมต้องระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ หากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกลงโทษทางวินัย และถูกดำเนินคดีอาญาอันอาจมีจะมีผลกระทบต่อการได้รับบำเหน็จบำนาญ และเมื่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรรายนี้มาเบิกความ จำเลยที่ 3 ก็มิได้ถามค้านในประเด็นที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรรายนี้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือและเรียกรับผลประโยชน์ตามที่จำเลยที่ 3 อ้าง
อีกทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 รับราชการเป็นพนักงานอัยการ ย่อมรู้ว่า การที่เจ้าพนักงานของรัฐกระทำความผิดฐานเรียกรับสินบนจะเป็นความผิดที่มีอัตราโทษสูง หากจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและถูกเรียกร้องผลประโยชน์จริง ย่อมต้องรีบไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน เพื่อหยุดยั้งการกระทำมิให้เกิดเป็นผลร้ายแก่ตนเอง แต่จำเลยที่ 3 หาดำเนินการแต่อย่างใดไม่ กลับพยายามที่จะหาวิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดกระเป๋าของกลาง
และยังบอกกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรว่า สามารถที่จะนำกระเป๋าของกลางไปไว้ที่สายพานแล้วทำทีว่า เป็นกระเป๋าไม่มีเจ้าของแล้วให้เจ้าพนักงานอายัดไว้ได้หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรตอบว่า ไม่ได้ เพราะกล้องวงจรปิดบันทึกภาพไว้หมดแล้ว ยิ่งเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 3 ย่อมจะต้องรู้ว่าในกระเป๋าของกลางมีสิ่งของผิดกฎหมาย
ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า การสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวนที่มีพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ 3 ถูกกลั่นแกล้ง ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 ได้ดำเนินการอย่างไรเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง ประกอบกับศาลได้ตรวจสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนโดยละเอียดแล้ว เห็นว่า คณะพนักงานสอบสวนได้สอบสวนไปตามขั้นตอน แม้จะมีการตั้งเรื่องการสอบสวนแบบคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นความผิดที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรก็ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีไปตามนั้น ทั้งเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อพิรุธหรือเป็นการกระทำเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมและรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง
พิพากษาว่า จำเลยทั้ง 3 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 31 และมาตรา 68 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันนำหรือพาของต้องจำกัด หรือของเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นบทหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกคนละ 4 ปี ริบของกลาง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
อสส.สั่งพักราชการแล้ว! จับตาบทสรุปคดีอัยการพันขนนอแรด ศาลตัดสิน 20พ.ย.นี้
เปิดสำนวนสอบ‘อัยการ’พันขนนอแรดสุวรรณภูมิ ก่อนเบี้ยวนัด-ขอหมายจับหน 2
ออกหมายจับหน 2! ‘อัยการ’พันขนนอแรดคาสุวรรณภูมิ-อสส.ตั้ง กก.สอบ
ช่วยหน่อยเอาเท่าไหร่!เบื้องหลัง‘อัยการ’ พันขนนอแรดคาสุวรรณภูมิ