- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- อสส.สั่งพักราชการแล้ว! จับตาบทสรุปคดีอัยการพันขนนอแรด ศาลตัดสิน 20พ.ย.นี้
อสส.สั่งพักราชการแล้ว! จับตาบทสรุปคดีอัยการพันขนนอแรด ศาลตัดสิน 20พ.ย.นี้
"...ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวในสำนักงานอัยการสูงสุด ว่า ในวันที่ 20 พ.ย.2561 นี้ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ จะมีการพิจารณาตัดสินคดีความเกี่ยวกับนายวรภาส บุญศรี เป็นทางการ อย่างไรก็ดี กรณีนี้ที่ผ่านมา อสส. ได้สั่งพักราชการนายวรภาส บุญศรี ไว้แล้ว โดนเป็นกรณีอัยการถูกฟ้องคดีอาญา มาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ให้อัยการสูงสุด โดยการเห็นชอบของ กอ สั่งพักราชการไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด..."
หากสาธารณชนยังจำกันได้!
ในช่วงเดือนก.ค.2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำเสนอข้อเท็จจริงกรณี พนักงานสอบสวน สภ.สุวรรณภูมิ ยื่นคำร้องต่อศาลออกหมายจับ นายวรภาส บุญศรี พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ (ปัจจุบันเป็นพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการ จ.สระบุรี) กรณีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนนอแรด จำนวน 21 นอ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา
โดยการออกหมายจับดังกล่าว นับเป็นการขอออกหมายจับครั้งที่สอง จากครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2560 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว แต่ศาลยกคำร้อง เห็นว่านายวรภาสเป็นข้าราชการ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ทั้งนี้ช่วงก่อนถูกร้องศาลออกหมายจับครั้งที่สอง นายวรภาส ได้ขอเลื่อนเข้าพบตามหมายเรียกพนักงานสอบสวน โดยอ้างว่า ขอเปลี่ยนตัวพนักงานอัยการที่มาร่วมสอบสวน เนื่องจากมีอคติ ไม่เป็นกลาง และขอเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนเป็นวันที่ 20 ก.ค. 2560 ทำให้เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2560 จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายจับอีกครั้ง (อ่านประกอบ : เปิดสำนวนสอบ‘อัยการ’พันขนนอแรดสุวรรณภูมิ ก่อนเบี้ยวนัด-ขอหมายจับหน 2, ออกหมายจับหน 2! ‘อัยการ’พันขนนอแรดคาสุวรรณภูมิ-อสส.ตั้ง กก.สอบ, ช่วยหน่อยเอาเท่าไหร่!เบื้องหลัง‘อัยการ’ พันขนนอแรดคาสุวรรณภูมิ)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวในสำนักงานอัยการสูงสุด ว่า ในวันที่ 20 พ.ย.2561 นี้ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ จะมีการพิจารณาตัดสินคดีความเกี่ยวกับนายวรภาส บุญศรี เป็นทางการ
อย่างไรก็ดี กรณีนี้ที่ผ่านมา อสส. ได้สั่งพักราชการนายวรภาส บุญศรี ไว้แล้ว โดนเป็นกรณีอัยการถูกฟ้องคดีอาญา มาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ให้อัยการสูงสุด โดยการเห็นชอบของ กอ สั่งพักราชการไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ ปรากฎตามบันทึกการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สภ.สุวรรณภูมิ ที่ยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายจับ ว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2560 วันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ศุลกากร กับพวก ได้ตรวจพบนางฐิติรัตน์ อาราอิ (หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา) เข็นรถเข็นที่มีกระเป๋าเดินทางอยู่บนรถเข็นเข้ามาทางช่องตรวจศุลกากรไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (ช่องเขียว) ช่องตรวจ C พร้อมกับพวกรวม 5 ราย คือ น.ส.กานต์สินี อนุตรานุศาสตร์ นายวรรภาส บุญศรี ร.ต.อ.สิทธิพงษ์ ปานไทยสงค์ และ ร.ต.อ.ไพศาล วีระกิจพานิช พนักงานสอบสวน สภ.สุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจึงได้เรียกขอตรวจกระเป๋าเดินทาง ทำให้นางฐิติรัตน์ และ น.ส.กานต์สินี พากันเดินออกไปด้านนอกอาคารและหลบหนีไป ส่วนนายวรภาส ร.ต.อ.สิทธิพงษ์ และ ร.ต.อ.ไพศาล ยืนรอบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจึงแจ้งให้ทราบว่า พบวัตถุต้องสงสัยในกระเป๋าเดินทางดังกล่าว และสอบถามว่าใครเป็นเจ้าของ
นายวรภาส ได้แจ้งว่า ไม่ใช่กระเป๋าเดินทางของตน ตนมารับ น.ส.กานต์สินี ซึ่งแจ้งว่าจะเดินทางกลับมาจากประเทศสิงคโปร์ ส่วนตำรวจทั้ง 2 นาย เป็นผู้อำนวยความสะดวก พานายวรภาสเข้าไปในพื้นที่ควบคุมห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าด้านใน เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจึงแจ้งให้บุคคลทั้ง 3 อยู่เป็นพยานในการเปิดกระเป๋าดังกล่าว พบนอแรดจำนวน 21 นอ จึงทำบันทึกตรวจยึดโดยให้บุคคลทั้ง 3 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน
จากการสอบสวนเบื้องต้น พนักงานสอบสวนมีหลักฐานตามสมควรเชื่อว่า นางฐิติรัตน์ และ น.ส.กานต์สินี เป็นตัวการร่วมกระทำความผิด ปัจจุบันถูกฝากขังไว้ในอำนาจของศาล
อย่างไรก็ดีรับฟังข้อเท็จจริงได้เพิ่มเติมว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ นายวรภาส ได้แจ้งให้ ร.ต.อ.สิทธิพงษ์ และ ร.ต.อ.ไพศาล พาเข้าไปภายในเขตพื้นที่หวงห้ามของอาคารผู้โดยสารขาเข้าชั้น 2 เพื่อไปรับ น.ส.กานต์สินี แฟนของนายวรภาส ซึ่งแจ้งว่าจะเดินทางมาจากสิงคโปร์
ทั้งนี้ นายธนิต วัฒน์ธนนันท์ ผอ.ส่วนการควบคุมทางศุลกากร สอบถามนายวรภาสเป็นการส่วนตัว โดยนายวรภาส อ้างว่า ไม่รู้เห็น และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
นายธนิต จึงสอบถามว่า “เมื่อท่านไม่เกี่ยวข้องแล้วไปรอรับกระเป๋าทำไม” นายวรภาส อ้างว่า เนื่องจากไม่เห็นผู้หญิงทั้ง 2 ราย ว่าได้ออกไป นึกว่ารออยู่ด้วยกัน นายธนิตได้ให้นายวรภาส โทรศัพท์ติดต่อหญิงทั้ง 2 กลับเข้ามา และได้ยินนายวรภาสพูดทางโทรศัพท์ว่า “หากไม่กลับมาจะทำให้เดือดร้อน”
จากนั้นนายวรภาสได้สอบถามว่า “ถ้าหญิงทั้ง 2 รายไม่กลับมา จะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นายธนิต ได้แจ้งว่า ขอให้นายวรภาส และเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ก่อน เพื่อเป็นพยานในการเปิดกระเป๋า และระหว่างที่รอหญิงทั้ง 2 ราย กลับมา นายวรภาส ได้ขอให้ปล่อยตัวกลับไป พร้อมพูดเสนอวิธีการว่า “ถ้าผู้โดยสารทั้ง 2 ราย ไม่ยอมมา ให้ไปเขียนบันทึกอายัดไว้ที่สายพาน ทำเป็นกระเป๋าไม่มีเจ้าของ” นายธนิตจึงแจ้งว่า “ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้” เนื่องจากมีภาพกล้องวงจรปิดบันทึกไว้
ปรากฏว่า น.ส.กานต์สินี และนางฐิติรัตน์ ไม่กลับมา เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงทำการเปิดตรวจกระเป๋าเดินทางของกลาง โดยมีนายวรภาสร่วมเป็นพยานด้วย และได้พบนอแรดคละขนาด จำนวน 21 นอ อยู่ในกระเป๋าเดินทางดังกล่าว เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงบันทึกการตรวจยึดไปตามข้อเท็จจริง
นายวรภาสได้ขอให้เจ้าหน้าที่ทำการแก้ไขข้อความบางข้อความในบันทึกการตรวจยึดดังกล่าวจำนวนหลายครั้ง จึงยินยอมลงลายมือชื่อในฐานะพยานในบันทึกการตรวจยึดดังกล่าว
จากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้ความว่า น.ส.กานต์สินี เดินทางมาจากนครโฮจิมินท์ เวียดนาม และนางฐิติรัตน์ เดินทางมาจากกรุงพนมเปญ กัมพูชา ส่วนกระเป๋าเดินทางของกลางเดินทางมาจากเมืองไนโรบี เคนย่า โดยกระเป๋าเดินทางของกลางถูกส่งมาตามสายพานที่ 9 และนางฐิติรัตน์ได้ไปรับกระเป๋ษดังกล่าวยกใส่รถเข็นมาพบกับ น.ส.กานต์สินี และรอนายวรภาส พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 2 นาย เข้าไปรับ
ต่อมาผู้ถูกกล่าวหากับพวก ทำการเอ็กซ์เรย์ตรวจพบสิ่งขอต้องสงสัย จึงได้นำกระเป๋าไปตรวจ พบนอแรดจำนวน 21 นอ ของกลางในคดีนี้ โดยปรากฏว่า น.ส.กานต์สินี และนางฐิติรัตน์ ไม่ได้เดินทางมาจากสิงคโปร์ตามที่นายวรภาสได้แจ้งให้ ร.ต.อ.สิทธิพงษ์ และ ร.ต.อ.ไพศาล ทราบแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในช่วงการตรวจสอบมีสิ่งของต้องสงสัย ยังปรากฎข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ได้สอบถามนายวรภาสแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่า “เป็นเหล้า” แต่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรทราบว่า สิ่งของในกระเป๋าดังกล่าวต้องเป็นสิ่งต้องห้าม จึงนำไปสำนักงานฝ่ายบริการผู้โดยสารเพื่อเปิดตรวจ โดยระหว่างนั้นนายวรภาส ได้ขอให้ไม่ต้องเปิดตรวจ และขอให้ทิ้งกระเป๋าดังกล่าวไว้ แต่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไม่ยอม เพราะเป็นกระเป๋ามีเจ้าของ โดยระหว่างที่จะเปิดกระเป๋า นายวรภาส ไม่ยอมให้เปิดกระเป๋า และขอร้องให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรช่วยหน่อย
โดยมีคำพูดหนึ่งระบุว่า “ที่จริงผมก็ไม่อยากจะพูดแบบนี้ พี่ช่วยผมหน่อยจะเอาเท่าไหร่” แต่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไม่ยอม กระทั่งเปิดออกมาเป็นนอแรดจำนวน 21 นอดังกล่าว
ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับนายวรภาสมาดำเนินคดีเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2560 ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยศาลเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นข้าราชการ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และยังไปให้การต่อพนักงานสอบสวน ล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2560 รวมถึงทำบันทึกชึ้แจงต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2560 จึงเห็นควรให้ออกหมายเรียกผู้ตอ้งหามาสอบสวนก่อนในเบื้องต้น
ต่อมาผู้ต้องหาได้ยื่นขอความเป็นธรรมให้สอบสวนพยานในประเด็นต่าง ๆ และขอให้เปลี่ยนตัวพนักงานอัยการที่มาร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวน เนื่องจากมีอคติ และสอบสวนไม่เที่ยงธรรม ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2560 นัดหมายให้มาพบในวันที่ 29 พ.ค. 2560 ผู้ต้องหาไม่มาตามนัด ขอเลื่อน ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2560 พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีกครั้ง ให้มาพบในวันที่ 5 มิ.ย. 2560 ผู้ต้องหาไม่มาพบ โดยขอเลื่อน อ้างเหตุผลว่า ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากอัยการสูงสุด (อสส.) ให้เปลี่ยนตัวพนักงานอัยการที่มาร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวน เนื่องจากมีอคติ สอบสวนไม่เที่ยงธรรม และ อสส. ได้สั่งให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว เพื่อรอผลการพิจารณาการตรวจสอบข้อเท็จจริง และคำสั่งของ อสส. และติดภารกิจหน้าที่ราชการ เป็นตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เดินทางมาจาก จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อหาช่องทางต่อสู้คดี จึงขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนเป็นวันที่ 20 ก.ค. 2560
ขณะที่ พนักงานอัยการที่มาร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวน เห็นว่า ผู้ต้องหาขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวน โดยอ้างเหตุว่า ติดราชการ และรอผลการพิจารณาขอเปลี่ยนตัวพนักงานอัยการจาก อสส. นั้น ยังไม่เป็นเหตุจำเป็นตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 108 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงแนะนำให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดีต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 นายวรภาส ได้มามอบตัวกับพนักงานสอบสวนอีกครั้ง ก่อนที่จะนัดให้มาพบพนักงานอัยการในวันที่ 8 มิ.ย. 2560 เพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาล แต่นายวรภาสไม่ได้มาตามนัดแต่อย่างใด
แต่หลังจากนั้นมีรายงานข่าวแจ้งว่า นายวรภาส ได้เดินทางมาพบพนักงานอัยการ จ.สมุทรปราการ และถูกนำตัวส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการแล้ว ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2467 มาตรา 27 พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16 และ 17 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 มาตรา 23 และ 24 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 144
จนกระทั่งสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลล่าสุดว่า ในวันที่ 20 พ.ย.2561 นี้ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ จะมีการพิจารณาตัดสินคดีนี้เป็นทางการ และที่ผ่านมาอสส.ได้สั่งพักราชการไว้แล้ว จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ส่วนผลการพิจารณาคดีของศาล และเส้นทางชีวิตอัยการ ของนายวรภาส จะเป็นอย่างไร จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง จากข้อกล่าวหาคดีความต่างๆ ได้หรือไม่ ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ สาธารณชนคงได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนกัน!
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เรื่องนี้นับเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ อัยการ รวมไปถึงผู้มีอำนาจ และข้าราชการทั่วไปได้เป็นอย่างดีอีกเรื่องหนึ่ง