ไม่ใช่แค่ 60 วัน!กางประกาศ ป.ป.ช. 5 ตำแหน่ง จนท.รัฐมีเวลาถึง 120 วันยื่นทรัพย์สิน?
“…รวมประกาศ 2 ฉบับ เท่ากับมีเวลาประมาณ 120 วันเป็นอย่างน้อยที่ 5 ตำแหน่งดังกล่าว จะจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช. …”
ในที่สุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็มีมติอย่างเป็นทางการออกมา
ไม่ยอมถอย! ยืนยันเสียงหนักแน่นยังไงนายก และกรรมการสภามหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐ และในกำกับของรัฐทุกแห่ง ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. โดยไม่มีข้อยกเว้น !
และยังรวมไปถึงตำแหน่งประธานสภา รองประธานสภา และกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้าด้วย
อย่างไรก็ดี 5 ตำแหน่งดังกล่าว มีการผ่อนปรนเล็กน้อยคือการ ‘ขยายกรอบเวลา’ จากเดิมมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วัน เพิ่มอีก 30 วัน รวมเป็น 60 วัน เท่ากับว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2562
ส่วนตำแหน่งอื่นใดตามประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ยังมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วันตามเดิม นั่นคือครบกำหนดในวันที่ 2 ธ.ค. 2561 (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไม่ยอมถอย! ยันนายก-กก.สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สินแต่ขยายเวลา 60 วัน)
ไม่สนเสียงบ่น-วิพากษ์วิจารณ์จากบรรดา ‘ท่าน ๆ’ อาจารย์ใหญ่-นักธุรกิจงานรัดตัวทั้งหลายที่ทำหน้าที่บริหารในกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่อ้างว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน หากยื่นผิดอาจทำให้ถูกชี้มูลความผิดจนติดคุกติดตะรางตามรอยนักการเมืองหลายรายในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ?
กรณีการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. โดยเฉพาะตำแหน่งใหม่ 5 ตำแหน่งดังกล่าวที่ยื่นครั้งแรก ปกติแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เข้าไปอธิบายวิธีการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ‘โดยละเอียด’ อยู่แล้ว และที่สำคัญหาก ‘หลงลืม’ จริง สามารถทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงอธิบายกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ ไม่ใช่จะถูกชี้มูลผิดเอาเสียทุกกรณี
ยกตัวอย่าง ก่อนหน้านี้เคยมีนักการเมืองรายหนึ่ง ลืมกรอกหุ้นบริษัทแห่งหนึ่งในบัญชีทรัพย์สิน ผ่านไปราว 20 ปีเศษเพิ่งนึกขึ้นได้ เลยยื่นการเพิ่มถือครองหุ้นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบพร้อมทำหนังสือชี้แจง ป.ป.ช. ก็เข้าใจ และไม่ได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
หรือกรณี อดีตนายพลน้องชาย ‘บิ๊กรัฐบาล’ รายหนึ่ง อ้างว่ากรอกเงินในบัญชีเงินฝากผิดพลาด สอบไปสอบมา ไม่ปรากฏว่าจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินแต่อย่างใด ตีตกข้อกล่าวหาไปเช่นเดียวกัน
กลับมาที่กรณีการขยายเวลาเพิ่มเป็น 60 วัน ในตำแหน่งนายก กรรมการสภามหาวิทยาลัย ประธานสภา รองประธานสภา และกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินกันต่อ
5 ตำแหน่งดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้มีเวลาแค่ 60 วันเท่านั้นในการยื่นบัญชีทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช. แต่ยังมีเวลาเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยรวม 120 วัน ถึงจะยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ได้ และกว่าประชาชนจะเข้าไปตรวจสอบดูได้ก็กินเวลาปาไปถึง 150 วันทีเดียว
อย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
ประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ข้อ 2 ระบุว่า ให้ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ภายใน 30 วัน นั่นคือจะครบกำหนดในวันที่ 2 ธ.ค. 2561 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ขยายเวลาเฉพาะประกาศฉบับนี้เพิ่มเติมอีก 30 วัน รวมเป็น 60 วัน ดังนั้นจะครบกำหนดในวันที่ 31 ม.ค. 2561
แต่เมื่อถึงวันที่ 31 ม.ค. 2561 แล้ว 5 ตำแหน่งดังกล่าว จะยื่นเลย หรือรอครบกำหนดเวลาค่อยยื่นก็ได้ เพราะ
ประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ.2561 ข้อ 4 ให้นิยาม ‘ผู้ยื่นบัญชี’ ว่า คือเจ้าพนักงานของรัฐตามมาตรา 102 และมาตรา 103 นั่นคือกินความไปถึง 5 ตำแหน่งดังกล่าวข้างต้นด้วย
ข้อ 11 ระบุว่า ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 102 และ 103 ยื่นภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(1) กรณีเข้ารับตำแหน่งให้ยื่นภายใน 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันเข้ารับตำแหน่ง
(2) กรณีพ้นจากตำแหน่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ยื่นภายใน 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่ง
(3) กรณีทุก 3 ปีตลอดเวลาที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ยื่นภายใน 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันดำรงตำแหน่งครบทุก 3 ปี
ข้อ 12 ระบุว่า กรณีมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้มีผลย้อนหลัง หรือกรณีคำสั่งแต่งตั้งให้มีผลย้อนหลัง ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินภายใน 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่มีพระบรมราชโองการ หรือวันที่คำสั่งแต่งตั้ง (อ่านประกาศดังกล่าว ฉบับเต็ม คลิกที่นี่)
นั่นหมายความว่า 5 ตำแหน่งดังกล่าวข้างต้น ยังมีเวลาอีก 60 วัน ในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน นับแต่วันที่ดำรงตำแหน่ง หรือวันที่ครบ 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง
รวมประกาศ 2 ฉบับ เท่ากับมีเวลาประมาณ 120 วันเป็นอย่างน้อยที่จะจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช.
นี่ยังไม่นับกรณีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินให้แก่สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้เพิ่มอีก 30 วัน ตามประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ.2561 ที่กว่าจะสามารถให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปดูได้ กินเวลารวมเบ็ดเสร็จ 150 วัน นับจากนี้
นี่คือช่วงกำหนดเวลาตามประกาศ ป.ป.ช. 3 ฉบับสำคัญเกี่ยวกับการยื่น-เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน ดังนั้น ‘ท่าน ๆ’ ทั้งหลายยังมีเวลา ‘เหลือเฟือ’ ตามที่ ป.ป.ช. บอกอย่างแน่นอน !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.เคาะพระผู้ใหญ่ต้องยื่นทรัพย์สินเว้น‘สมเด็จพระสังฆราช’-ขยายเวลาอีก60วัน
สมเด็จพระสังฆราชไม่ต้อง! ป.ป.ช.ถกขยายเวลา จนท.รัฐยื่นทรัพย์สิน 13 พ.ย.
ชัด ๆ อำนาจ กก.สภามหาวิทยาลัย ทำไม ป.ป.ช.ชี้มีส่วนได้เสีย-ต้องยื่นทรัพย์สิน?
มีอำนาจอนุมัติงบ-จัดซื้อจัดจ้าง!เหตุผล ป.ป.ช. ชี้ กก.สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สิน
ครม.เป็นห่วง-หวั่นเกิดวิกฤติ! ป.ป.ช.จ่อขยายเวลาตำแหน่งใหม่ยื่นทรัพย์สินหลังโดนค้าน
ป.ป.ช.ส่งรองเลขาฯหารือ‘วิษณุ’สางปัญหา กก.สภามหาวิทยาลัยค้านยื่นทรัพย์สิน
ทปอ. มติ กก.สภามหาวิทยาลัย ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน -เตรียมชง ป.ป.ช. ทบทวน
ไม่ใช่เรื่องเล็ก! 'บิ๊กตู่'สั่ง'วิษณุ'ถก ป.ป.ช. ปมตำแหน่ง จนท.รัฐเปิดเผยทรัพย์สิน
ผ่าปมร้อน! กฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่ เช็คตำแหน่ง ‘บิ๊ก'หน่วยงานรัฐต้อง‘เปิดเผย’ทรัพย์สิน
เพื่อความโปร่งใส! ปธ.ป.ป.ช.ลั่น‘บิ๊กมหาวิทยาลัย’ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน
อ้างประกาศป.ป.ช.ทำป่วน!'ดํารง พุฒตาล' ลาออกกก.สภามหาวิทยาลัย 2 แห่ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก posttoday