ครม.เป็นห่วง-หวั่นเกิดวิกฤติ! ป.ป.ช.จ่อขยายเวลาตำแหน่งใหม่ยื่นทรัพย์สินหลังโดนค้าน
รองเลขาฯ ป.ป.ช. พบ ‘วิษณุ’ ถกปมประกาศกำหนดตำแหน่งผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน เผย ครม. เป็นห่วง ขอให้ขยายเวลามีผลบังคับใช้ได้หรือไม่ เพื่อให้ประเด็นตกผลึก หลัง นายก-กก.สภามหาวิทยาลัยออกโรงค้านหัวชนฝา หวั่นเกิดวิกฤติ ยังไม่หารือปม 'สมเด็จพระสังฆราช' ต้องยื่นทรัพย์สิน แต่รับมีข้อเสนอชงใช้ ม.44 ไว้พิจารณาด้วย รอประมวลเหตุผลทั้งหมดเข้าที่ประชุม กก. ชี้ขาดสัปดาห์หน้า
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมด้วยนายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผอ.สำนักกฎหมาย ป.ป.ช. และคณะ เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงปัญหาข้อท้วงติงจากหลายฝ่ายที่มีต่อประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561
นายนิวัติไชย กล่าวภายหลังเข้าหารือกับนายวิษณุว่า เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มารับฟังความเห็นของนายวิษณุที่เป็นตัวแทนของคณะรัฐมนตรี ได้แสดงความเห็นห่วงเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายว่า ประกาศดังกล่าวสามารถขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปได้อีกหรือไม่ เพื่อให้โอกาสบุคคลในตำแหน่งที่ไม่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้เตรียมตัว เพื่อให้ได้หลังจากนี้ให้แต่ละฝ่ายได้หารือกันเพื่อให้ข้อสรุปที่ตกผลึก ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมาได้หารือกับตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีบางคนกังวลถึงประเด็นเหล่านี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเบื้องต้นจะรวบรวมความเห็นดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในช่วงสัปดาห์หน้า
“ท่านวิษณุบอกว่า คณะรัฐมนตรีเป็นห่วงในประเด็นข้อกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยอาจลาออกเพื่อค้านการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตรงนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปจากเดิมมีผล 30 วัน เป็น 60 วัน หรืออะไรก็ตามแต่ เพราะหากให้บังคับใช้เลยใน 30 วันนี้ อาจทำให้เกิดวิกฤติปัญหาในแวดวงการศึกษา เกิดการชะงักในการทำงานได้” นายนิวัติไชย กล่าว
เมื่อถามว่า กรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินโดยตำแหน่ง หมายรวมไปถึงสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ รวมถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปอื่นที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วยหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่หารือกับนายวิษณุ โดยเจตนารมณ์ของประกาศ ป.ป.ช. ฉบับนี้ คือการบังคับใช้กับฆราวาส ขณะนี้จึงยังไม่มีความเห็นที่ชัดเจนว่าพระชั้นผู้ใหญ่ที่มาดำรงตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจะต้องยื่นด้วยหรือไม่ เพราะพระชั้นผู้ใหญ่ใช้กฎหมายแตกต่างกัน ต้องรอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. หารือก่อน
ทั้งนี้ในช่วงเช้า นายนิวัติไชย ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าพบนายวิษณุถึงกรณี นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งเตรียมลาออกเนื่องจากไม่พอใจประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินว่า กรณีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่เป็นที่ยุติ ในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. แสดงความเป็นห่วง ประกอบกับนายวิษณุเชิญมาหารือในเรื่องดังกล่าว สำหรับการแก้ปัญหาขณะนี้รอรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไป เบื้องต้นยังพอมีเวลาก่อนที่ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค. 2561
เมื่อถามว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รักษาการแทนคณบดี สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ เสนอให้ใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหา โดยยกเว้นบางตำแหน่งไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า เป็นข้อพิจารณาหนึ่ง มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป แต่หากจะมีการแก้ไข หรือผ่อนปรนประกาศดังกล่าว ต้องนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาในข้อกฎหมาย และระเบียบที่ต้องปฏิบัติตาม
รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า เบื้องต้นมาเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากรัฐบาล ก่อนจะประมวลและสรุปนำเสนอที่ประชุมคณะกรมการ ป.ป.ช. ในสัปดาห์หน้า ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มีผลอย่างไร ต้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณา แม้ว่าในประกาศระบุว่าเป็นอำนาจของประธานกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตาม แต่ ป.ป.ช. ต้องยึดข้อกฎหมายเป็นหลัก เพราะประกาศดังกล่าวมีขึ้นตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และรัฐธรรมนูญปี 2560
วันเดียวกัน นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 ได้เชิญตัวแทนเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. มาชี้แจง จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องการเข้าใจผิดคำนิยามของคำว่า “ผู้บริหารระดับสูง” ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 โดย ป.ป.ช. ตีความว่า หมายถึงกรรมการในทุกหน่วยงานของรัฐ รวมถึงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐด้วย ทั้งที่ตามเจตนารมณ์ ตอนที่ สนช. พิจารณา พ.ร.บ.ดังกล่าว ต้องการให้ ป.ป.ช. ไปกำหนดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงว่ามีตำแหน่งใดบ้างที่อยู่ในข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไม่ได้หมายความว่า กรรมการในหน่วยงานรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งหมด
"เบื้องต้นการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ป.ป.ช.จะเลื่อนการประกาศบังคับใช้การแสดงบัญชีทรัพย์สินในวันที่ 2 ธ.ค. นี้ ออกไปก่อน ส่วนการกำหนดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงตำแหน่งใดจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินบ้างนั้น เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. ต้องนำกลับไปทบทวน และแก้ประกาศ ป.ป.ช.ต่อไป" นายทวีศักดิ์กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ส่งรองเลขาฯหารือ‘วิษณุ’สางปัญหา กก.สภามหาวิทยาลัยค้านยื่นทรัพย์สิน
ทปอ. มติ กก.สภามหาวิทยาลัย ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน -เตรียมชง ป.ป.ช. ทบทวน
ไม่ใช่เรื่องเล็ก! 'บิ๊กตู่'สั่ง'วิษณุ'ถก ป.ป.ช. ปมตำแหน่ง จนท.รัฐเปิดเผยทรัพย์สิน
ผ่าปมร้อน! กฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่ เช็คตำแหน่ง ‘บิ๊ก'หน่วยงานรัฐต้อง‘เปิดเผย’ทรัพย์สิน
เพื่อความโปร่งใส! ปธ.ป.ป.ช.ลั่น‘บิ๊กมหาวิทยาลัย’ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน
อ้างประกาศป.ป.ช.ทำป่วน!'ดํารง พุฒตาล' ลาออกกก.สภามหาวิทยาลัย 2 แห่ง