ชัด ๆ อำนาจ กก.สภามหาวิทยาลัย ทำไม ป.ป.ช.ชี้มีส่วนได้เสีย-ต้องยื่นทรัพย์สิน?
“…แม้ว่านายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการใช้งบประมาณ แต่มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการอนุมัติการกู้ยืมเงิน การตั้งงบประมาณรายรับรายจ่าย การอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างวงเงินหลัก 50-100 ล้านบาท การแต่งตั้งถอดถอนบุคลากรมหาวิทยาลัย เป็นต้น จึงถือว่ามีอำนาจในการบริหารงาน และอาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือเข้าไปมีส่วนได้เสียในการใช้งบประมาณ….”
กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างร้อนแรง!
กรณีการกำหนดตำแหน่งผู้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามประกาศ ป.ป.ช. ฉบับใหม่ โดยเป็นไปตามมาตรา 102 ประกอบมาตรา 106 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2561 สาระสำคัญคือการกำหนด ‘ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง’ ที่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐนับร้อยตำแหน่ง รวมไปถึงตำแหน่งนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วย
ทำให้เกิดกระแสต้านจากรุนแรงจากนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ยื่นคำขาดหากต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจะลาออก โดยอ้างว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวเป็นไปด้วยความยุ่งยาก หากยื่นผิดพลาด จะถูกเอาผิดถึงขั้นติดคุกได้ ขณะที่มีบอร์ด สปสช. อย่างน้อย 4 ราย ยื่นลาออกแล้ว
ร้อนถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะรัฐมนตรี ต้องร่วมหารือกัน โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถกแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเนื่องจากคณะรัฐมนตรีเห็นว่า หากปล่อยให้ลุกลามอาจเกิดวิกฤติปัญหาในแวดวงการศึกษาได้ เบื้องต้นมีข้อเสนอว่า อาจขยายเวลาเป็น 60 วันจากเดิมแค่ 30 วัน เพื่อให้ผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินเตรียมตัวให้พร้อม แต่จะมีการชงข้อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาให้ชัดในช่วงสัปดาห์หน้า (อ่านประกอบ : ครม.เป็นห่วง-หวั่นเกิดวิกฤติ! ป.ป.ช.จ่อขยายเวลาตำแหน่งใหม่ยื่นทรัพย์สินหลังโดนค้าน)
อย่างไรก็ดีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. ถึงหลักการและเหตุผลที่ชี้แจงต่อนายวิษณุว่า ที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เนื่องจาก ตำแหน่งนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยถูกกำหนดว่าเป็น ‘ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง’ ตามมาตรา 4 ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 102 (7) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
แหล่งข่าว ระบุว่า ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ดังกล่าว บังคับให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องกำหนดให้ทุกตำแหน่งที่อยู่ในมาตรา 102 ต้องมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจที่จะกำหนดเพียงบางตำแหน่งให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน แตกต่างจากบทบัญญัติตามมาตรา 103 ที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า การกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐอื่นนอกจากมาตรา 102 ให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะกำหนดตามที่เห็นสมควร
“ด้วยเหตุผลนี้ ป.ป.ช. เลยกำหนดให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน หาก ป.ป.ช. ยกเว้นไม่กำหนดบางตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนด ก็อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการยกร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่ต้องการให้มีกลไกและมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวดได้” แหล่งข่าว ระบุ
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า และแม้ว่านายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการใช้งบประมาณ แต่มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการอนุมัติการกู้ยืมเงิน การตั้งงบประมาณรายรับรายจ่าย การอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างวงเงินหลัก 50-100 ล้านบาท การแต่งตั้งถอดถอนบุคลากรมหาวิทยาลัย เป็นต้น จึงถือว่ามีอำนาจในการบริหารงาน และอาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือเข้าไปมีส่วนได้เสียในการใช้งบประมาณ
ส่วนกรณีกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิที่บางรายได้รับการแต่งตั้งจากภาคเอกชนนั้น แหล่งข่าว ระบุว่า การได้มาซึ่งกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย แต่กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิมีหน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายจัดตั้งของแต่ละมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยปกติ ดังนั้นจึงมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเช่นเดียวกัน (อ่านประกอบ : มีอำนาจอนุมัติงบ-จัดซื้อจัดจ้าง!เหตุผล ป.ป.ช. ชี้ กก.สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สิน)
สำหรับอำนาจหน้าที่ของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย จากการตรวจสอบของ ป.ป.ช. มีอย่างน้อย 3 ประการสำคัญ ได้แก่
@ด้านงบประมาณ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา และตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยมีอำนาจ
1.อนุมัติการกู้ยืมเงินและให้กู้ยืมเงิน การถือหุ้น การเข้าเป็นหุ้นส่วนและการลงทุนหรือการร่วมลงทุน
2.อนุมัติการตั้งงบประมาณรายรับและรายจ่ายของมหาวิทยาลัย
3.การสั่งซื้อหรือสั่งจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป กรณีวงเงินเกิน 200 ล้านบาท
4.การสั่งซื้อหรือสั่งจ้างโดยวิธีคัดเลือก กรณีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท
5.การสั่งซื้อหรือสั่งจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง กรณีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท
6.การสั่งจ้างงานจ้างที่ปรึกษา กรณีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท
7.การสั่งจ้างงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง กรณีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท
@อำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน บุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในมหาวิทยาลัย
1.พิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และพิจารณาถอดถอนนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ อธิการบดี ศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์พิเศษ
2.แต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และตำแหน่งทางวิชาการที่เรียกชื่ออย่างอื่น
3.แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการ และหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
4.ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของอธิการบดีและหัวหน้าส่วนงานต่าง ๆ
5.แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งมอบอำนาจให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลดังกล่าวทำการแทนแล้วรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ
@อำนาจอื่น ๆ ในการจัดการมหาวิทยาลัยตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้งของแต่ละมหาวิทยาลัย
1.ออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัย เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย และอาจมอบหมายให้ส่วนงานใดในมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศสำหรับส่วนงานนั้นเป็นเรื่อง ๆ ไปก็ได้
2.ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย
3.ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
4.อนุมัติการจัดตั้ง การรวม หรือการยุบเลิกส่วนงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการแบ่งหน่วยงานภายในของส่วนงานดังกล่าว
5.อนุมัติการรับเข้าสมทบ การจัดการศึกษาร่วม หรือการยกเลิกการสมทบ การยกเลิกการจัดการศึกษาร่วมของสถานศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่น การอนุมัติหลักสูตรการศึกษาและการเปิดสอน รวมทั้งการปรับปรุง การยุบรวม หรือการยกเลิกหลักสูตรการศึกษา
ทั้งหมดคือ 3 ส่วนอำนาจหน้าที่สำคัญที่อยู่ในมือของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มองว่า มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ต้องถูกกำหนดอยู่ในประเภท ‘ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง’ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 102 และต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 106 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.
ท้ายที่สุดบทสรุปเรื่องเหล่านี้จะเป็นอย่างไร คงต้องรอมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในห้วงสัปดาห์หน้านี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ส่งรองเลขาฯหารือ‘วิษณุ’สางปัญหา กก.สภามหาวิทยาลัยค้านยื่นทรัพย์สิน
ทปอ. มติ กก.สภามหาวิทยาลัย ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน -เตรียมชง ป.ป.ช. ทบทวน
ไม่ใช่เรื่องเล็ก! 'บิ๊กตู่'สั่ง'วิษณุ'ถก ป.ป.ช. ปมตำแหน่ง จนท.รัฐเปิดเผยทรัพย์สิน
ผ่าปมร้อน! กฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่ เช็คตำแหน่ง ‘บิ๊ก'หน่วยงานรัฐต้อง‘เปิดเผย’ทรัพย์สิน
เพื่อความโปร่งใส! ปธ.ป.ป.ช.ลั่น‘บิ๊กมหาวิทยาลัย’ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน
อ้างประกาศป.ป.ช.ทำป่วน!'ดํารง พุฒตาล' ลาออกกก.สภามหาวิทยาลัย 2 แห่ง