ไบโอไทพบ 8 คำขอ “สิทธิบัตรกัญชา” มาจาก บ.แห่งเดียว-กรมทรัพย์สินฯ ไม่ยกเลิกเสี่ยงผิดกม.
ภาคประชาสังคมยันกรมทรัพย์สินฯ มีอำนาจเต็มยกเลิกคำขอ "สิทธิบัตรกัญชา" ตั้งเเต่ขั้นตอนเเรก หากขัด กม. เป็นสารสกัดธรรมชาติ เผยพบ 8 คำขอมาจากกลุ่มเดียว "จี ดับบลิว ฟาร์มา"
กรณีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พาณิชย์) และนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา แถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2561 ยืนยันกระบวนการยื่นคำขอสิทธิบัตรกัญชาทำได้ แต่จดสิทธิบัตรไม่ได้ในกรณีที่เป็นสารสกัดกัญชา เพราะผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรมฯ ไม่มีอำนาจปฏิเสธยื่นคำขอ แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อยื่นคำขอแล้ว จะได้รับสิทธิบัตร
(อ่านประกอบ:พณ.ยันจดสิทธิบัตร “สารสกัดกัญชา” ไม่ได้ เหตุขัด กม.)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 14 พ.ย. 2561 เครือข่ายภาคประชาสังคม จัดแถลงข่าว เรื่อง ภาคประชาสังคมจับโกหกกรมทรัพย์สินทางปัญญา ด้อยประสิทธิภาพ ตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรกัญชาทำคนทั้งชาติเสียหาย” ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี(ไบโอไท) เปิดเผยข้อมูลจากการตรวจสอบขององค์การเภสัชกรรมและเครือข่ายภาคประชาสังคม พบว่า ปัจจุบันมีการยื่นคำขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตร 11 คำขอสิทธิบัตร มี 7 คำขอสิทธิบัตร อยู่ในชั้นประกาศโฆษณาแล้ว แสดงว่าได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบเบื้องต้น ก่อนจะออกสิทธิบัตรรับจดทะเบียนต่อไป ทั้งนี้ พบว่า มีหลายคำขอขัดต่อพ.ร.บ.สิทธิบัตร มาตรา 9 (1) ระบุว่า “จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช” เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง
“หากมีคำท้วงติงคำขอสิทธิบัตรที่ผ่านมาขัดต่อมาตรา 9 แสดงว่า ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาละเมิดกฎหมายเสียเอง ที่ไม่ได้ยกคำขอเรื่องนี้”
ผอ.มูลนิธิชีววิถี ยังระบุว่า ในจำนวนที่มีการยื่นคำขอ 11 สิทธิบัตร มี 8 คำขอสิทธิบัตร มาจากกลุ่มเดียวกัน คือ “จี ดับบลิว ฟาร์มา” สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ ดำเนินกิจกรรมในประเทศสหรัฐฯ บริษัทแห่งนี้มีผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชาจำหน่ายทั่วโลก 30 ประเทศ และเป็นบริษัทที่กระตือรือร้นมากที่สุดในโลกในเรื่องสิทธิบัตรกัญชา ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบคำขอในสหรัฐฯ บริษัทนี้แห่งเดียวมีคำขอสิทธิบัตรทั้งหมด 52 คำขอ
ขณะนี้กรณีประเทศไทย บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด เป็นบริษัทผลิตยาและอาหาร มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยมีความร่วมมือกับตลาดสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนต่าง ๆ ดำเนินการมาแล้ว และเป็นไปอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้นจำเป็นต้องเพิกถอนหรือยกคำขอสิทธิบัตรตั้งแต่ขั้นตอนก่อนประกาศโฆษณาด้วยซ้ำไป เพราะขัดมาตรา 5 และมาตรา 9 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงสามารถยกคำขอได้ตั้งแต่ต้น และไม่มีข้ออ้างอื่นใดเลยว่าทำไม่ได้
“สิ่งที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแถลงต่อสื่อมวลชนจึงขัดต่อกฎหมาย และหากหน่วยงานหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องผู้รับผลกระทบจะฟ้องร้องสามารถยกกฎหมายข้อดังกล่าวขึ้นมาได้”
นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า กรณีประกาศโฆษณาแล้ว 7 คำขอสิทธิบัตร กฎหมายยังระบุหากไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตรา 5 และมาตรา 9 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยกคำขอสิทธิบัตรได้ทันที โดยให้พนักงานทำจดหมายแจ้ง จะเห็นได้ว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีอำนาจในการจัดการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่ในเมื่อกระบวนการยกเลิกไม่ดำเนินการตามกฎหมาย ในแง่บังคับบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือรัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่วันนี้ยังไม่เห็นการรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว
ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือเอฟ ที เอ ว็อทซ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ทางเคมี ยื่นคำขอ จากนั้นต้องขอตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งขั้นตอนนี้กฎหมายระบุว่า สิ่งประดิษฐ์ต้องไม่ขัดต่อมาตรา 9 มิฉะนั้นจะต้องถูกยกเลิกคำขอ ซึ่งกฎกระทรวงพาณิชย์ ฉบับ 22 พ.ศ. 2542 บัญญัติกรณีที่พบว่าผิดตามมาตรา 9 และอื่นๆ ให้แจ้งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาทำหนังสืออย่างเป็นทางการส่งไปรษณีย์ถึงผู้ยื่นคำขอ แต่ปรากฎว่า อธิบดีฯ ไม่ได้ทำ ซึ่งกำลังทำผิดกฎหมายของตนเอง แล้วปล่อยให้มีคำขอออกมา จนกระทั่งประกาศโฆษณา
“ตอนนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา บอกว่า การประกาศโฆษณาไม่ได้แสดงว่า ผู้ขอจะได้รับสิทธิบัตร แต่อย่าลืมว่า การขอรับสิทธิบัตร ถ้าเมื่อใดก็ตามได้รับสิทธิบัตรแล้ว การคุ้มครองจะย้อนหลังมาตั้งแต่วันแรกที่ยื่นคำขอ”
รองประธาน เอฟ ที เอ ว็อทซ์ กล่าวต่อว่า คงจำกันได้ คนที่ทำเรื่องยา ตอนที่ยื่นคำขอในลักษณะนี้ แม้ขั้นตอนการตรวจสอบจะค้าง 4-5 ปี ช่วงนี้ผู้ขอสามารถทำหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้อื่นที่คิดว่าจะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพราะคิดว่าจะได้ในอนาคต ว่ากำลังละเมิดสิทธิบัตรที่กำลังขอเรื่องนี้อยู่ ฉะนั้นหากวันใดวันหนึ่งได้สิทธิบัตรเมื่อไหร่ จะต้องจ่ายค่าชดเชยย้อนหลังให้ ดังนั้น สิ่งที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า การประกาศโฆษณา ไม่ได้แสดงว่าจะได้รับสิทธิบัตร ซึ่งความเป็นจริง ผู้ยื่นคำขอนำขาข้างหนึ่งไปอยู่ในสิทธิบัตรแล้ว และสามารถใช้ขาไปเตะใครก็ได้ ฉะนั้น การกล่าวว่า ยังไม่ได้สิทธิบัตรจึงเป็นเรื่องโกหก .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์เอ็มไทย