ผ่าปมร้อน ปปง.ไล่บี้ทวงเงินจนท.คืนกองทุน-โยงคดีร้องป.ป.ช.สอบ 'บิ๊ก' ทอนเงินสินบน?
"...ก่อนหน้าที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา จะวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการจ่ายเงินกองทุนฯดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง.รายหนึ่ง ได้ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวหาว่า อดีตผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งใน สำนักงาน ปปง. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยใช้อำนาจสั่งการพนง.ปปง. นำของกลางจากการใช้อำนาจสั่งยึดอายัด ส่งให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งสั่งให้ทรัพย์สินเหล่านั้น ตกเป็นของแผ่นดิน แล้วมาทอนเงินให้โดยผ่านระเบียบเงินสินบนรางวัล..."
หากสาธารณชนยังจำกันได้ ในช่วงเดือนส.ค.2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำเสนอข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาจำนวน 2 ครั้ง เพื่อหารือข้อกฎหมาย กรณี ปปง. ได้รับหนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่า ให้พนักงานและข้าราชการของสำนักงาน ปปง. ที่ได้รับเงินจากกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเรียกเงินค่าตอบแทนที่จ่ายให้สำนักงาน ปปง. เพื่อจัดสรรให้แก่ข้าราชการและพนักงานราชการของสำนักงาน ปปง. จำนวน 5 ล้านบาท คืนแก่กองทุนฯโดยเร็ว เนื่องจาก สตง. เห็นว่า ข้าราชการและพนักงานของสำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากกองทุนฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา 2 คณะ คือ คณะที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 คณะที่ 11 และคณะที่ 12) รวมถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยว่า สำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธินำเงินกองทุนดังกล่าวจัดสรรให้กับบุคลากรในสำนักงาน ปปง. แต่อย่างใด (อ่านประกอบ : ปปง.ต้องคืนเงินกองทุนฯ 5 ล.! กฤษฎีกาชี้ตาม สตง.ท้วง ยันไว้จ่ายคนสนับสนุน, ชัด ๆ ปปง.ถาม-กฤษฎีกาตอบ ทวงเงินกองทุนฯ 5 ล. เบิกจ่ายแล้วเอาคืนยังไง?)
ขณะที่ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า กรณีดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่สตง.ตรวจสอบพบว่า สำนักงานปปง.มีการนำเงินกองทุนฯ มาจัดสรรให้กับพนักงาน และข้าราชการของสำนักงาน ปปง. ทั้งที่ ไม่มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนฯดังกล่าว เนื่องจากการใช้จ่ายเงินตามกองทุนฯแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้ประสบผลสำเร็จ และการจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานภายนอก ดังนั้นการใช้จ่ายเงินนี้มุ่งวัตถุประสงค์ให้แก่ผู้ช่วยเหลือหรือผู้สนับสนุนดังกล่าว การจ่ายค่าตอบแทนจากกองทุนฯให้แก่บุคลากรในสำนักงาน ปปง. ทุกคน จึงไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และไม่เป็นรายจ่ายของกองทุนฯ แห่งระเบียบคณะกรรมการ ปปง. ว่าด้วยกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2556 และไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพราะกฎหมายและระเบียบดังกล่าวไม่ให้มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้สำนักงาน ปปง. เพื่อนำไปจัดสรรให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ปปง. เนื่องจากอาจเป็นสิ่งจูงใจให้มีการใช้อำนาจในทางมิชอบหรือเกินขอบเขตได้
ผู้ว่าฯ สตง. ยังระบุด้วยว่า "สตง.ทำตามหน้าที่ในการทักท้วงเรื่องการจ่ายเงินให้ทุกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 2 ชุด วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายออกมาชัดเจนแล้ว ก็เป็นเรื่องที่สำนักงาน ปปง. จะต้องปฏิบัติตาม เรียกคืนเงินจำนวน 5 ล้านบาท แก่กองทุนฯ โดยเร็ว ซึ่งในส่วนของสตง. จะมีการติดตามตรวจสอบขั้นตอนการปฏิบัติงานเรียกเงินคืนของ ปปง.ต่อไปด้วย" (อ่านประกอบ : ผู้ว่าฯ สตง. ยันกฤษฎีกาชี้ขาดชัด2ครั้ง สำนักงานปปง.ต้องเรียกเงิน5ล. คืนกองทุนฯ)
หลังจากนั้นเรื่องราวกรณีนี้ ก็ดูเหมือนจะเงียบหายไป
ไม่มีใครล่วงรู้ว่า สำนักงาน ปปง. ได้เรียกคืนเงินจำนวน 5 ล้านบาท จากพนักงานและข้าราชการของสำนักงาน ปปง. ที่ได้รับการจัดสรร คืนกลับเข้ากองทุนฯ แล้วหรือไม่
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวใน ปปง. ว่า ภายหลังจากที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยว่า สำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธินำเงินกองทุนฯ จัดสรรให้กับบุคลากรในสำนักงาน ปปง. ดังกล่าว
ในช่วงปลายเดือนต.ค.2561 ที่ผ่านมา ผู้บริหารสำนักงาน ปปง. ได้ทำหนังสือแจ้งให้ พนักงานและข้าราชการ ที่ได้รับจัดสรรเงินไป นำเงินมาส่งคืนให้แก่สำนักงาน ปปง. ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งหนังสือเป็นทางการ
โดยมี พนักงานและข้าราชการ บางราย ถูกเรียกเงินคืน ตั้งแต่ช่วงปี 2558 ด้วย
ปัญหาเรื่องนี้ จึงดูเหมือนว่า จะยุติลงไปด้วยดี เพราะสำนักงาน ปปง. ได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายในการเรียกเงินที่จ่ายผิดพลาดไปกลับคืนมาเข้ากองทุนฯ แล้ว
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการจัดสรรเงินส่วนนี้ ที่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการ คือ
ก่อนหน้าที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา จะวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการจ่ายเงินกองทุนฯดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง.รายหนึ่ง ได้ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวหาว่า อดีตผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งใน สำนักงาน ปปง. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยใช้อำนาจสั่งการพนง.นำของกลางจากการใช้อำนาจสั่งยึด/อายัด ส่งให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งสั่งให้ทรัพย์สินเหล่านั้น ตกเป็นของแผ่นดินแล้วมาทอนเงินให้โดยผ่านระเบียบเงินสินบนรางวัล
เบื้องต้น หน่วยงานที่ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปสอบสวนต่อ
ซึ่งในขั้นตอนการสอบสวน เจ้าหน้าที่ ปปง.รายนี้ ได้นำเงินสดจำนวน 1.7 หมื่นบาท ที่ได้รับจัดสรรมาไปมอบให้ป.ป.ช. เป็นของกลางในการสอบสวนด้วย
แต่ล่าสุด ในช่วงปลายเดือน ส.ค.2561 ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือแจ้งถึง เจ้าหน้าที่ ปปง. รายนี้ ถึงผลการสอบสวน
โดยระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าการจ่ายเงินค่าตอบแทนในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ ได้จ่ายโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว กรณีการประเมินการปฏิบัติราชการเพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่รายนี้ ผู้บังคับบัญชาได้ประเมินตามหลักเกณฑ์การให้คะแนน ตามที่กำหนดในตัวชี้วัด และมีการนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น พยานหลักฐานในชั้นนี้ ยังไม่อาจระบุชี้ชัดว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงมีมติไม่รับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ ปปง. รายนี้มารับเงินสด จำนวน 1.7 หมื่นบาท ที่นำมามอบให้ไว้ประกอบคดีคืนกลับไป
แต่ที่น่าสนใจสำหรับกรณี คือ เงินจำนวน 1.7 หมื่นบาท ที่สำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งให้ เจ้าหน้าที่ ปปง.รายนี้ไปรับคืนกลับมา เป็นเงินก้อนเดียวกับ ที่สำนักงาน ปปง. แจ้งขอเรียกเงินคืนจาก เจ้าหน้าที่ ปปง. ที่ได้รับการจัดสรรมาจากกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
หลังจากที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยว่า สำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธินำเงินกองทุนฯ จัดสรรให้กับบุคลากรในสำนักงาน ปปง.
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ ปปง.รายนี้ อ้างว่า เป็นเงินที่ได้รับแบ่งมาจากกระบวนการทอนเงิน ผ่านระเบียบเงินสินบนรางวัล ที่ไม่ถูกต้อง
และนั้นอาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ปัญหาเรื่องการนำเงินกองทุนฯ มาจัดสรรให้กับบุคลากรของ สำนักงาน ปปง. อาจจะยังไม่จบสิ้นลงไปได้ง่ายๆ เหมือนที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้
แถมปัญหานี้ อาจจะเชื่อมโยงไปถึงปัญหาใหม่ เรื่อง 'ทอนเงิน' ปริศนาผ่านระเบียบเงินสินบนรางวัล อีกด้วย!