ปปง.ต้องคืนเงินกองทุนฯ 5 ล.! กฤษฎีกาชี้ตาม สตง.ท้วง ยันไว้จ่ายคนสนับสนุน
กฤษฎีกาตีความ 2 ครั้งติด ยันชัด ปปง. ไม่มีสิทธิ์นำเงินกองทุนป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน 5 ล้าน จ่าย สนง.ปปง.-พนง.-ขรก.-จนท. เหตุวัตถุประสงค์ระบุชัด ต้องจ่ายเงินเหล่านี้ให้ผู้สนับสนุน-คนช่วยเหลือ ส่วนบุคลากร ปปง. มีเงินเดือน-โบนัสอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ กรณี ปปง. ได้รับหนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่า ให้พนักงานและข้าราชการของสำนักงาน ปปง. ที่ได้รับเงินจากกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเรียกเงินค่าตอบแทนที่จ่ายให้สำนักงาน ปปง. เพื่อจัดสรรให้แก่ข้าราชการและพนักงานราชการของสำนักงาน ปปง. จำนวน 5 ล้านบาท คืนแก่กองทุนฯโดยเร็ว เนื่องจาก สตง. เห็นว่า ข้าราชการและพนักงานของสำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากกองทุนฯ
ทั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา 2 คณะ คือ คณะที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 คณะที่ 11 และคณะที่ 12) รวมถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยว่า สำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธินำเงินกองทุนดังกล่าวจัดสรรให้กับบุคลากรในสำนักงาน ปปง. แต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีนี้มาจาก สตง. ที่เห็นว่าพนักงานและข้าราชการของสำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนฯดังกล่าว เนื่องจาก การใช้จ่ายเงินตามกองทุนฯแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้ประสบผลสำเร็จ และการจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานภายนอก ดังนั้นการใช้จ่ายเงินนี้มุ่งวัตถุประสงค์ให้แก่ผู้ช่วยเหลือหรือผู้สนับสนุนดังกล่าว นอกจากนี้การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ปปง. ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติหน้าที่จนงานแล้วเสร็จ ต้องกำหนดผู้รับผิดชอบหลัก ต้องมีรายงานว่ามีผู้ช่วยเหลือหรือสนับสนุนเป็นใครบ้าง และเมื่อเสร็จแล้วต้องจ่ายเงินให้ผู้ช่วยเหลือหรือผู้สนับสนุนเท่าใด ขณะเดียวกันผู้ขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯต้องชี้แจงว่า จ่ายให้บุคคลใด และบุคคลนั้นช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อเป็นหลักฐานในการเบิกจ่าย
ดังนั้นการจ่ายค่าตอบแทนจากกองทุนฯให้แก่บุคลากรในสำนักงาน ปปง. ทุกคน จึงไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และไม่เป็นรายจ่ายของกองทุนฯ แห่งระเบียบคณะกรรมการ ปปง. ว่าด้วยกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2556 และไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพราะกฎหมายและระเบียบดังกล่าวไม่ให้มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้สำนักงาน ปปง. เพื่อนำไปจัดสรรให้เจ้าหน้าที่ ปปง. เนื่องจากอาจเป็นสิ่งจูงใจให้มีการใช้อำนาจในทางมิชอบหรือเกินขอบเขตได้
ด้านสำนักงาน ปปง. ระบุว่า เคยชี้แจง สตง. แล้ว สรุปได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ที่จะเป็นผู้มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนจากเงินกองทุนต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่ความรับผิดชอบได้เกินกว่ามาตรฐานกำหนดตำแหน่งตามอำนาจหน้าที่กำหนดไว้ในมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. กล่าวคือ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. สามารถผลักดันให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานจนสามารถนำเงินเข้ากองทุนได้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ในปีงบประมาณใด จึงจะมีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่สำนักงานส่งเข้ากองทุน แต่ทั้งนี้จำนวนเงินที่ส่งเข้ากองทุนที่ใช้คำนวณต้องไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
สำนักงาน ปปง. จึงขอหารือ 2 ประเด็น 1.หน่วยงานที่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนจากกองทุนตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. มีความหมายครอบคลุมเพียงใด และสำนักงาน ปปง. ถือเป็นหน่วยงานที่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนจากกองทุนตามบทบัญญัติมาตรานี้ด้วยหรือไม่ อย่างไร
2.พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ที่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนจากกองทุนฯตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง. มีความหมายครอบคลุมเพียงใด และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. เป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนจากกองทุนฯตามบทบัญญัติมาตรานี้ด้วยหรือไม่ อย่างไร
เบื้องต้นคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 คณะที่ 11 และคณะที่ 12) พิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้ว โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ผู้แทนสำนักงาน ปปง. และผู้แทน สตง. สรุปได้ว่า มาตรา 59/6 บัญญัติให้กองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือค่าตอบแทนอื่นซึ่งจำเป็นต้องจ่ายแก่หน่วยงาน บุคคลภายนอก พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ปปง. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น กรณีต้องจ่ายค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทน ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา 59/1 แห่ง พ.ร.บ.ปปง.
กองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานอื่น ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนในการดำเนินการ การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการปฏิบัติหน้าที่แต่ละครั้ง และอาจมีค่าใช้จ่ายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ประกอบกับแต่ละหน่วยงานอาจไม่มีงบประมาณสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
กรณีตามประเด็นปัญหานี้ การดำเนินการของสำนักงาน ปปง. มีพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ปปง. หากมีค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดำเนินงานตามมาตรา 59/6 พ.ร.บ.ปปง. พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากกองทุนฯได้
อย่างไรก็ดีในส่วนการจ่ายค่าตอบแทนอื่นในกองทุนฯตามมาตรา 59/6 นั้น โดยที่สำนักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ปปง. โดยตรง และได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ในรูปของเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนที่เรียกชื่ออื่น เช่น เงินเพิ่มพิเศษ หรือเงินประจำตำแหน่งตามที่มีกฎหมายกำหนดให้จ่ายแล้ว จึงไม่มีค่าตอบแทนอื่นใด ซึ่งจำเป็นต้องจ่ายแก่สำนักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ในการปฏิบัติหน้าที่ หรือช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอีก
ดังนั้นสำนักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่ายตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง.
ทั้งนี้ภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 คณะที่ 11 และคณะที่ 12) ได้วินิจฉัยข้อหารือนี้แล้ว สำนักงาน ปปง. ได้ส่งเรื่องมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้วินิจฉัยอีกครั้ง โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยออกมาในทำนองเดียวกันกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 คณะที่ 11 และคณะที่ 12) นั่นคือ สำนักงาน ปปง. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่ายตามมาตรา 59/6 แห่ง พ.ร.บ.ปปง.