Back to the Farm (3)“ทุ่มเทเท่าไรก็ยังไม่พอ”
แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่มีหลักการและรายละเอียดในการคุ้มครองสิทธิของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ชัดเจนไม่น้อยกว่าประเทศใดๆ มีโครงสร้างกระทรวงยุติธรรมที่เป็นระบบชัดเจนยิ่งกว่าระบบของประเทศอังกฤษและประเทศในเครือสหราชอาณาจักรทั้งหลาย มีการศึกษาวิจัยและการตั้งคณะกรรมการในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมากชุดที่สุดโดยไม่น้อยหน้าประเทศใด แต่เราก็ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพของกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรมได้
หลังจากจบการศึกษาปริญญาเอกจาก Stanford มาเกือบ 30 ปี ผมแทบจะไม่ได้กลับไปที่ The Farm อีกเลย
แม้ในช่วงหลังได้มีโอกาสไปประชุมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำใน Silicon Valley หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีโอกาสกลับไปที่มหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง จนกระทั่งน้องแอ๊ม กันต์รวี ลูกสาวคนโตของผมตัดสินใจมาเรียนที่ Stanford จึงถึงเวลาได้กลับมาที่ The Farm อีกครั้ง
สำหรับผมการกลับไป The Farm เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากทางความรู้สึก
บนเครื่องบินระหว่างทางไป California ผมหวนระลึกถึงอดีตตอนเรียนปริญญาเอกอยู่ที่นั่น จำได้ว่าช่วงที่เหนื่อยมากๆผมเคยจินตนาการว่าหากเรียนจบกลับไปได้ทำงานตามที่ใฝ่ฝันจนประสบความสำเร็จ เมื่อมีโอกาสกลับมาที่ The Farm อีกครั้ง จะมี 2 เรื่องที่หากเป็นจริงได้ผมจะรู้สึกภาคภูมิใจมากและคงจะถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งในชีวิตผม
เรื่องแรกคือกลับมาที่ The Farm เพื่อพาลูกมาเรียนที่นี่เหมือนเรา
เรื่องที่สองคือได้มาเล่าให้อาจารย์ที่ปรึกษาฟังว่า จากความรู้ ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจที่เธอทุ่มเทให้ ผมได้ไปทำอะไรบ้างที่เป็นการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของไทยที่สอดคล้องกับสิ่งที่เขียนเอาไว้ในวิทยานิพนธ์
เรื่องแรกเป็นความโชคดีของชีวิตที่เกิดขึ้นได้จริงอย่างเหลือเชื่อ เมื่อน้องแอ๊ม กันต์รวี ลูกสาวคนโตของผมสอบได้ทุน Fulbright เหมือนผม และได้รับการตอบรับจากทั้ง Harvard และ Stanford แต่เธอมั่นใจมากที่จะเลือกมาที่นี่
สำหรับเรื่องที่สอง พอได้มาคิดทบทวนจริงๆแล้ว ผมรู้สึกตกใจมาก เพราะแม้หลังกลับจาก Stanford ผมจะทุ่มเททำงานเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่มาตลอดชีวิตการทำงาน แต่ก็นึกแทบไม่ออกเลยว่าเรื่องไหนบ้างที่ผมได้ทำ“สำเร็จ” ถึงขนาดที่จะเอาไปเล่าให้เธอฟังอย่างที่ผมตั้งใจไว้ได้
คิดแล้วรู้สึกเสียดายที่น้องแอ๊มเกิดช้าไปหน่อย เพราะถ้าสามารถย้อนเวลา และได้มีโอกาสกลับไปที่ Stanford เร็วกว่านี้ สักช่วงปี 2540 ผมคงมีเรื่องโม้ได้บ้างว่ามีส่วนจัดเวทีระดมความคิดในเวทีระดับชาติเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่เป็นครั้งแรกๆที่มีส่วนร่วมจากบุคคลหลากหลาย และได้นำข้อสรุปหลายประเด็นเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติด้านการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง
หรือถ้ากลับมาในช่วงที่ผมโอนย้ายจากสำนักงานอัยการสูงสุดมาสร้างกระทรวงยุติธรรมตอนปี 2543 ก็คงพอเล่าได้ว่าผมเอาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาช่วยปรับโครงสร้างองค์กรกระทรวงยุติธรรมให้เป็นสากลมากขึ้นได้อย่างไร
เช่นเดียวกันกับการนำเอาแนวคิดผู้เสพเป็นผู้ป่วยมาใช้เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดและลดปริมาณผู้ต้องขังในปี 2546 จนผู้ต้องขังที่มีปริมาณพุ่งสูงขึ้นกว่า 220,000 คนจากที่จุได้แค่แสนเศษลดลงมาเหลือแค่ 160,000 คน ตลอดจนในโอกาสต่อๆมาที่ได้มี่ส่วนในการผลักดันแนวคิดเรื่องยุติธรรมสมานฉันท์ (Restorative Justice) และยุติธรรมชุมชน (Community Justice) มาใช้ในทางปฏิบัติในระบบยุติธรรมของไทย รวมทั้งมีโอกาสได้ร่วมคณะกับ พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ผลักดันการปฏิรูปตำรวจที่นำไปสู่การระดมความคิดครั้งใหญ่และข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดครั้งหนึ่ง ฯลฯ
แต่พอมาถึงวันนี้ เมื่อมองย้อนกลับไป ผมกลับรู้สึกว่าชีวิตการทำงานของตัวเอง แทบจะเรียกได้ว่า ‘ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง’
เพราะแม้จะได้พยายามทำอะไรไปมากแค่ไหน ผมไม่สามารถตอบตัวเองได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ผมสามารถบรรลุเป้าหมายสุดท้าย ซึ่งคือการทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยมีคุณภาพดีขึ้นจริงๆ ได้
แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่มีหลักการและรายละเอียดในการคุ้มครองสิทธิของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ชัดเจนไม่น้อยกว่าประเทศใดๆ มีโครงสร้างกระทรวงยุติธรรมที่เป็นระบบชัดเจนยิ่งกว่าระบบของประเทศอังกฤษและประเทศในเครือสหราชอาณาจักรทั้งหลาย มีการศึกษาวิจัยและการตั้งคณะกรรมการในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมากชุดที่สุดโดยไม่น้อยหน้าประเทศใด แต่เราก็ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพของกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรมได้
ก่อนผมแวะไป The Farm ในทริปนั้นผมได้มีโอกาสแวะไปดูงานและประชุมหารือกับบริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีหลายแห่งใน Silicon Valley ในหมวกของรัฐวิสาหกิจที่ช่วยดูแลอยู่ด้วย เช่นที่ Facebook, Apple และ Microsoft ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆมหาวิทยาลัย
พอเข้าไปที่แคมปัสน้องแอ๊มชวนผมไปแวะเยี่ยม Law School เดินเล่นรอบๆมหาวิทยาลัย และมาจบด้วยการเยี่ยมชมที่ Hasso Platter Institute of Design หรือ d.School อันโด่งดัง หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้น้องแอ๊มเลือกที่นี่โดยไม่ลังเล
ไม่น่าเชื่อว่าการเดินรอบนั้นได้นำเอาความรู้สึกและความทรงจำเก่าๆในครั้งก่อนของผมกลับมาอย่างชนิดที่ว่าถ้าหลับตาอยู่และไม่มีน้องแอ๊มเดินส่งเสียงเจื้อยแจ้วอยู่ข้างๆ ผมคงคิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้!
ก่อนนอนคืนนั้นผมได้มีโอกาสคิดทบทวนชีวิตเกือบ 30 ปีตั้งแต่จากไป จนได้เวียนกลับมาที่นี่อีกครั้ง…และในช่วงเวลานั้นเองความคิดหนึ่งก็ปรากฏขึ้นเหมือนแสงสว่างวูบหนึ่งในใจผม
ทำให้ผมรู้สึกว่าการกลับมา The Farm ครั้งนี้มีความหมายยิ่งใหญ่มากกว่าที่ผมคาดคิดเสียอีก…
ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมน้องแอ๊มถึงตัดสินใจมาที่ Stanford…
และที่สำคัญที่สุด ผมรู้แล้วว่าผมจะเล่าอะไรให้ Barbara ฟังพรุ่งนี้!
กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
24 ตุลาคม 2561
ที่มา : เฟซบุ๊กJustWrite
อ่านประกอบ :