Back to the Farm (2)“การต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียม”
ในชั้นศาลเราจะยึดถือ “ระบบกล่าวหา” อย่างเคร่งครัด ทำให้ผู้พิพากษาต้องวางตัวเป็นกลาง เหมือนเป็นกรรมการในการต่อสู้คดีระหว่างอัยการซึ่งเป็นโจทก์กับจำเลย มีข้อน่าสังเกตว่าหลักการของ “ระบบกล่าวหา” วางอยู่บนพื้นฐาน “ทฤษฎีการต่อสู้” (fight theory) ที่ว่า “ความจริงจะปรากฏถ้าคู่กรณีต่อสู้กันอย่างยุติธรรมโดยมีอาวุธเท่าเทียมกัน” แต่ถ้าในกรณีที่คู่ต่อสู้มี “อาวุธไม่เท่าเทียมกัน” น่าสงสัยว่าความจริงจะปรากฎได้อย่างไร
ตอนผมสมัครเรียนปริญญาเอกที่ Stanford ผมไม่ได้สนใจในประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย ปรัชญาแห่งเสรีภาพ หรือ spirit of entrepreneurship อันเป็นที่มาในการพลิกโฉมสร้างโลกแห่งอนาคตเหล่านี้เลย
ตอนนั้นความสนใจมุ่งไปที่การตามหาปรมาจารย์ในสาย Criminal Justice ถ้าเทียบก็คงเป็นเหมือนนิยายกำลังภายในที่ต้องการฝากตัวเพื่อเรียนวิทยายุทธกับปรมาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดโดยไม่สนใจว่าอยู่สำนักไหน ซึ่งตอนนั้นในด้าน Criminal Justice Policy ชื่อ Professor John Kaplan อยู่ในระดับต้นๆของโลก และสำนักวิทยายุทธของท่านอยู่ที่ Stanford
เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ผมจึงตั้งมั่นเขียนจดหมายตรงถึง Professor Kaplan โดยที่ไม่รู้ว่าโชคชะตาจะพลิกผัน และจะต้องพบเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน...
ผมบอกว่าอยากไปเรียนปริญญาเอกกับท่านเพราะต้องการกลับมาทุ่มเทเวลาให้กับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอย่างจริงจัง
ผมเล่าให้ท่านฟังว่าเรียนจบปริญญาโทด้านกฎหมายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจาก Cornell มาแล้ว และเดิมไม่เคยสนใจด้านกฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญามาก่อนเลย แต่รับทุนรัฐบาลไปเรียนเลยต้องมาใช้ทุนที่กรมอัยการ (สำนักงานอัยการสูงสุดในปัจจุบัน) ทำให้มีโอกาสได้มาทำหน้าที่อัยการฟ้องคดีอาญาซึ่งเป็นงานหลักของหน่วยงาน
ตอนเริ่มเป็นอัยการใหม่ๆรู้สึกสนุกกับงานและพอใจกับบทบาทตัวเองมากเพราะรู้สึกว่าเรามีส่วนคุ้มครองสังคมโดยการเอาคนที่ทำผิดกฎหมายมาลงโทษ
จำได้ว่ามีสมุดบันทึกปกแข็งลายทองเล่มใหญ่คอยจดว่าฟ้องดคีสำเร็จเอา “คนเลวเข้าคุก” ไปกี่คน คนละกี่ปี เคยคำนวณว่ากว่าจะเกษียณอายุน่าจะได้ถึง 10,000 ปีเลยทีเดียว!
แต่พอทำไปได้สักพักผมก็เริ่มเปลี่ยนมุมมอง เพราะมีหลายคดีที่ทำให้ผมรู้สึกว่าจำเลยที่เรากำลังฟ้องคือ “แพะ”!
เพราะโดยระบบของเราตำรวจมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการสอบสวนคดีอาญาโดยแทบไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลเลย อัยการซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการฟ้องคดีและดำเนินคดีไม่สามารถกำกับการสอบสวนเหมือนเช่นในหลายประเทศ โอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือจากทนายที่มีประสิทธิภาพก็มีน้อยมาก
ที่สำคัญในชั้นศาลเราจะยึดถือ “ระบบกล่าวหา” อย่างเคร่งครัด ทำให้ผู้พิพากษาต้องวางตัวเป็นกลาง เหมือนเป็นกรรมการในการต่อสู้คดีระหว่างอัยการซึ่งเป็นโจทก์กับจำเลย
มีข้อน่าสังเกตว่าหลักการของ “ระบบกล่าวหา” วางอยู่บนพื้นฐาน “ทฤษฎีการต่อสู้” (fight theory) ที่ว่า “ความจริงจะปรากฏถ้าคู่กรณีต่อสู้กันอย่างยุติธรรมโดยมีอาวุธเท่าเทียมกัน” แต่ถ้าในกรณีที่คู่ต่อสู้มี “อาวุธไม่เท่าเทียมกัน” น่าสงสัยว่าความจริงจะปรากฎได้อย่างไร
ในความเห็นของผมการนำระบบกล่าวหามาใช้ในประเทศไทยคงยากที่จะมีประสิทธิภาพ เพราะระบบของเรา ”อาวุธไม่เท่าเทียมกัน” มาแต่แรก ฝ่ายรัฐคือตำรวจและอัยการมีอำนาจและทรัพยากรทุกอย่างในการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินคดี แต่จำเลยที่ส่วนใหญ่ยากจนไม่มีความรู้แม้แต่สิทธิพื้นฐานของตนเอง
ในความเป็นจริงผมว่าไม่ใช่เป็น “การต่อสู้” ด้วยซ้ำ เป็น “การมัดมือชก” ในชั้นสอบสวน และเป็น “การชกข้างเดียว” ในชั้นดำเนินคดีเสียมากกว่า
ตอนนั้นผมรู้สึกผิดหวังมาก รับไม่ได้กับบทบาทที่เป็นอยู่ เพราะนอกจากเราจะไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมแล้ว ยังมีส่วนในการ “ทำให้ความอยุติธรรมกลายเป็นความยุติธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย” ด้วย
ขณะที่กำลังคิดที่จะเปลี่ยนงานไปที่กระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีโอกาสคุยกับศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ในเรื่องนี้ตอนไปประชุมด้วยกันที่อินโดนีเซีย ท่านอาจารย์คณิตทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นและมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง เพราะนอกจากท่านมองเห็นปัญหาที่ผมเล่าให้ฟังนี้แล้ว ท่านยังสามารถวิเคราะห์ทางวิชาการได้ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย
การคุยกับอาจารย์คณิตครั้งนั้นทำให้ผมอยากกลับไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอีกเพื่อกลับมาทำความชัดเจนและมีส่วนร่วมในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยอย่างจริงจัง และได้สอบแข่งขันจนได้รับทุน Fulbright เพื่อไปเรียนปริญญาเอกด้านนี้
Professor Kaplan คงประทับใจกับความมุ่งมั่นของผมเลยรับผมเข้าเรียนปริญญาเอกเลยแม้ผมจะไม่จบปริญญาโทสาขานี้มาก่อนก็ตาม
ก่อนเดินทางไป Stanford ผมได้รับตอบรับเข้าเรียนปริญญาโทในสาขานี้ที่ Harvard อีกแห่งหนึ่งด้วย ซึ่งท่านก็อนุญาตให้ผมไปเรียน coursework เกี่ยวกับระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นและจีนที่ทาง Stanford ไม่มีสอน ก่อนที่จะมาร่วมงานในการเขียนวิทยานิพนธ์กับท่าน
ในที่สุดในเดือนกันยายนปี 1988 ผมก็ได้ฤกษ์เดินทางไป The Farm หลังจากจบปริญญาโทเน้นด้านกฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมจาก Harvard แล้ว ชีวิตดูเหมือนจะเข้าที่เป็นไปตามแผน...
แต่แล้วฝันร้ายที่สุดของนักศึกษาปริญญาเอกทุกคนก็เกิดขึ้นกับผมโดยไม่คาดคิดมาก่อน เพราะวันแรกที่เดินทางไปที่คณะก็ได้ทราบว่า Professor Kaplan เกิดล้มป่วยกระทันหัน ตอนนั้นผมเตรียมเก็บของกลับบ้านแล้ว แต่ทางมหาวิทยาลัยบอกว่าให้ผมรออยู่สัก 2 อาทิตย์จะพยายามหาที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์คนใหม่ให้
ท่านอาจารย์ Kaplan เชิญผมไปพบที่บ้าน ขออภัยผมเป็นการใหญ่ที่ทำให้ชีวิตผมต้องได้รับผลกระทบไปด้วย จากนั้นไม่นานท่านก็เสียชีวิต ผมอดน้ำตาไหลไม่ได้ทุกครั้งที่คิดถึงภาพความห่วงใยที่ท่านอาจารย์มีต่อผม และรู้สึกเป็นเกียรติที่สุดที่มีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่าน
สัปดาห์ต่อมาผมได้รับนัดหมายให้ไปพบ Professor Barbara Babcock นักกฎหมายหญิงที่เป็นตำนานอีกท่านหนึ่งของอเมริกา Professor Babcock เป็นอาจารย์ผู้หญิงคนแรกของ Stanford Law School อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม (เคยถูกทาบทามเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยประธานาธิบดีคลินตันแต่เธอปฏิเสธคำเชิญ) ก่อนมาเป็นอาจารย์มีชื่อเสียงมากในฐานะเป็นทนายจำเลยและนักต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ด้อยโอกาสมาตลอดชีวิตการทำงาน ตอนนั้นผมเก็บกระเป๋าเตรียมกลับบ้านแล้วเพราะสืบทราบมาว่า Professor Babcock ไม่เคยรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้ใครมาก่อน แต่ก็แอบหวังเล็กๆว่าปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทยและความตั้งใจจริงของผมอาจกระตุ้นจิตวิญญาณความเป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของเธอ
หลังจากสัมภาษณ์ผมอยู่เกือบชั่วโมง Professor Babcock ก็ตอบรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้ผม ทำให้ผมผ่านวิกฤตไปได้
ที่ Barbara รับเป็นที่ปรึกษาให้ผมจะเป็นเพราะเธอประทับใจในความมุ่งมั่นของผมหรือเปล่าไม่ทราบแน่ แต่ที่มีส่วนแน่ๆเป็นเพราะเธอเพิ่งไปเที่ยวเมืองไทยกลับมาไม่นานและรู้สึกประทับใจประเทศไทยและคนไทยมาก
ผมกับ Barbara เข้ากันได้อย่างดีมาก เธอได้ถ่ายทอดความรู้ทั้งด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติจากประสบการณ์อันมากมายของเธอ เหนืออื่นใดคือแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อสังคมและประสบการณ์จริงในการบริหารงานยุติธรรมและผลักดันนโยบายสาธารณะที่ไม่สามารถไปหาเรียนได้จากที่ใด
ผมจำได้ว่าวันหนึ่งหลังจากทำงานด้วยกันมายาวนาน Barbara บอกกับผมว่าผมไม่ควรใช้เวลามากเกินไปในการทำให้งานเขียนวิทยานิพนธ์ของผมสมบูรณ์ เพราะอย่างไรก็คงไม่สมบูรณ์เท่าที่ผมอยากให้เป็น แต่ในความเห็นของเธอวิทยานิพนธ์นี้มีเนื้อหาที่ดีมากแล้ว และจะน่าเสียดายมากถ้าจะเป็นเพียงข้อเขียนที่อยู่แค่ในกระดาษ ผมจึงควร “เอาเวลาที่เหลือไปทำให้ข้อเสนอแนะในวิทยานิพนธ์นี้เป็นจริงมากกว่า”
เมื่อย้อนนึกกลับไปสิ่งที่ Barbara บอกผมวันนั้นก็คือสปิริตของมหาวิทยาลัย Stanford ที่เน้นการศึกษาวิจัยที่มุ่งผลในการนำไปใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงนั่นเอง
ผมใช้เวลารวมทั้งหมด 3 ปีจึงเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมปริญญาสองใบและความตั้งใจเต็มเปี่ยมที่จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
และหลังจากใช้เวลาเกือบ 30 ปีทุ่มชีวิตเพื่อทำตามความฝัน ผมก็มีโอกาสกลับไป The Farm และพบกับ Barbara อีกครั้ง
แต่ก่อนจะไปมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมหนักใจเหลือเกิน…
กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
19 ตุลาคม 2561
Picture cr. Natreeya Kraichitti
ที่มา : เฟซบุ๊กJustWrite
อ่านประกอบ :
Back to “The Farm” (1) “Leland Stanford Jr. University”