ปปง.แจงข้อมูล มีมาตรฐานสากล-ประสิทธิผลสูง 4 ด้าน
...จากรายงานผลการประเมินประเทศไทย ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ประเทศไทยมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลใน "ด้านกรอบกฎหมาย" จำนวน 25 ข้อ จาก 40 ข้อ และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ได้รับการยกระดับความสอดคล้องด้านกฎหมายเพิ่มอย่างต่อเนื่องอีก 2 ข้อ รวมเป็น 27 ข้อ...
ตามที่สำนักข่าวอิศราเผยแพร่บทความเรื่อง "การฟอกเงินและสินบนข้ามชาติ ปัญหาแก้ไม่ตกของไทย" โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2561 เวลา 16.22 น. เนื้อหาส่วนหนึ่ง กล่าวถึงมาตรฐานการต่อต้านการฟอกเงินของประเทศไทยต่ำกว่ามาตรฐานสากล ล่าสุด 25 ต.ค.2561 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ส่งหนังสือชี้แจงในเรื่องดังกล่าวดังนี้
เรียน บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวอิศรา
ตามที่ สำนักข่าวอิศรา (Isaranews) ได้เผยแพร่ข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ www.isaranews.org หมวดหมู่ เวทีทัศน์ เรื่อง “การฟอกเงินและสินบนข้ามชาติ ปัญหาแก้ไม่ตกของไทย” โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เมื่อวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2561 เวลา 16.22 น. โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับคดีสินบนโรลส์รอยซ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2546 – 2555 มีการกล่าวถึงกระบวนการดำเนินการในคดีดังกล่าวว่าเข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งบริษัทได้อาศัยตัวแทนธุรกิจในประเทศไทยเป็นตัวกลางในการเขียน TOR ให้ตนได้เปรียบคู่แข่งและผูกขาดการค้ากับบริษัทอื่นในระยะยาวรวม 7 โครงการ มีการตรวจพบการจ่ายสินบนกว่า 11 ล้านเหรียญ และใช้วิธีการจ่ายเงินที่หลากหลาย เพื่อปิดบังอำพรางแหล่งที่มาของเงิน การนำเงินเข้าบัญชีและนำเงินกลับสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมาย การสร้างรายงานทางการเงินให้เป็นไปตามกฎหมายและความต้องการของผู้รับเงิน นอกจากนี้ ข่าวดังกล่าวยังได้มีการกล่าวถึงมาตรการด้านการต่อต้านการฟอกเงินของประเทศไทย โดยอ้างผลประเมินการปฏิบัติติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT ด้วย นั้น
จากการตรวจสอบพบว่า ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอในบางประเด็นมีความคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง โดยสำนักงาน ปปง. ขอเรียนชี้แจงดังนี้
1. เรื่อง ผลการประเมินฟอกเงินไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติและหน่วยงาน 19 หน่วยงานมี การดำเนินการต่ำกว่ามาตรฐานสากล ส่งผลให้ขาดความสามารถในการปราบคอรัปชั่น ซึ่งตามข่าวกล่าวว่าประเทศไทยยังไม่ผ่านการประเมิน และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ต่อต้านการฟอกเงิน 19 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ดีเอสไอ มีระบบและมาตรการต่ำกว่ามาตรฐานสากล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยขาดความสามารถในการปราบคอร์รัปชันและไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ นั้น
ข้อเท็จจริง ประเทศไทยเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism - AML/CFT) ตามข้อแนะนำของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force หรือ FATF) เมื่อปี 2559 - 2560 โดยกลุ่มความร่วมมือเพื่อต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Group on Money Laundering - APG) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ มาตรฐานสากลดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่นานาประเทศให้การยอมรับและนำมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการทั้งเชิงป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรงและความผิดมูลฐานต่างๆ อาทิ การทุจริต ยาเสพติด การลักลอบหนีภาษี อาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปิดช่องว่างไม่ให้อาชญากรแสวงหาประโยชน์จากประเทศที่มีความหย่อนยานของกฎระเบียบและมาตรการ AML/CFT และเพื่อตัดวงจรอาชญากรรมให้หมดไป ซึ่งในการประเมินมาตรฐานสากลจะไม่มีการใช้คำว่าผ่านหรือไม่ผ่าน และไม่ได้มีการนำไปจัดลำดับประเทศอย่างเช่นดัชนีคอรัปชั่น แต่เป็นการพิจารณาว่าแต่ละประเทศมีการดำเนินงานที่มีผลสัมฤทธิ์สอดคล้องกับข้อแนะนำตามที่มาตรฐานสากลกำหนดมากน้อยเพียงใด ภายใต้บริบทความเสี่ยงด้านฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศนั้นๆ เอง และจากรายงานผลการประเมินประเทศไทย ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ประเทศไทยมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลใน "ด้านกรอบกฎหมาย" จำนวน 25 ข้อ จาก 40 ข้อ และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ได้รับการยกระดับความสอดคล้องด้านกฎหมายเพิ่มอย่างต่อเนื่องอีก 2 ข้อ รวมเป็น 27 ข้อ สำหรับผลการประเมิน "ด้านประสิทธิผล" ประเทศไทยได้รับผลประเมินในระดับสูง 4 ด้านจาก 11 ด้าน ในระดับเดียวกับมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยด้านที่ไทยมีผลดำเนินงานที่ดีได้แก่ (1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและมีมาตรการในการจัดการความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายเป็นอย่างดี (2) มีการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ดี (3) สำนักงาน ปปง. ในฐานะหน่วยข่าวกรองทางการเงินของประเทศไทยมีผลการดำเนินการเป็นที่น่าพอใจ (4) ผลงานในการริบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยได้รับการชื่นชมว่าเป็นประเทศที่สามารถแสดงประสิทธิผลได้ในระดับสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ในรายงานการประเมินของ APG ไม่ได้มีการระบุเจาะจงถึงหน่วยงาน 19 หน่วยงานว่ามีผลการปฏิบัติที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลอันนำไปสู่การปราบปรามคอรัปชั่นที่ไม่เป็นผลตามที่กล่าวอ้างถึงในข่าว อีกทั้งข้อมูลที่ผู้เขียนอ้างอิงเป็นข้อมูลการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่รายงานประเมินจะเผยแพร่ในเดือนธันวาคม 2560 ทำให้ผู้เขียนอาจได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากผู้ที่จัดทำข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งอาจไม่ทราบข้อมูลจริง อย่างไรก็ดี จากผลการประเมินพบว่ายังมีหลายเรื่องที่ไทยต้องปรับปรุง และไทยควรมุ่งเน้นการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทุจริต/รับสินบน ยาเสพติด การเลี่ยงภาษี การปั่นหุ้นและการลักลอบหนีศุลกากร โดยเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท. ควรเพิ่มการดำเนินคดีฟอกเงินควบคู่กับการดำเนินคดีทุจริต ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2560-2564 เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านฟอกเงินให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. เรื่อง มาตรฐานฟอกเงินต่ำทำให้การปราบคอรัปชั่นไม่เป็นผล
ข้อเท็จจริง การปราบคอรัปชั่นที่ไม่เป็นผล เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ได้เกิดจากผลการประเมินมาตรฐานสากลด้านฟอกเงินเท่านั้น การนำมาตรการฟอกเงินมาใช้สามารถสนับสนุนการดำเนินมาตรการปราบคอรัปชั่นได้ตามที่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต กำหนดให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อยับยั้ง และป้องกันการทุจริต รวมถึงการยึด อายัด และริบทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริต อย่างไรก็ดี ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จำเป็นต้องพิจารณาดำเนินการอย่างรอบด้านจากทุกภาคส่วน โดยควรพิจารณาปรับกฎเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานจริงมากกว่ามุ่งเน้นปราบโกงจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการปราบทุจริต สร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานต่อต้านทุจริตเร่งดำเนินการตามหน้าที่ตนเอง และทำงานเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น และเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการเฝ้าระวัง เป็นหูเป็นตา และแจ้งเบาะแสให้หน่วยงานรัฐเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการแก้ไขข้อมูลข่าวให้ถูกต้องต่อไป
อ่านประกอบ :