ให้อำนาจนักการเมืองมากไป! ป.ป.ช.ชี้ระบบคัดคนเข้า อปท. ไม่โปร่งใส ต้นตอเกิดทุจริต
ผลวิจัย ป.ป.ช. ชี้การทุจริตใน อปท. ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารงานบุคคลที่สุด เหตุเป็นขั้นแรกในการคัดกรองคนซื่อสัตย์มาทำงาน แต่พบปัญหาทุจริตแข่งขันสอบเกิดขึ้นถี่สุด เรียกรับเงินแลกตำแหน่งสูง ช่องโหว่กฎหมายให้อำนาจผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งมากไป ไร้การตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี
จากกรณีศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำโครงการวิจัยเรื่อง รูปแบบการทุจริตและปัจจัยเสี่ยงทีก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า การทุจริตใน อปท. มีอย่างน้อย 5 รูปแบบ โดยการบริหารงบประมาณมีการทุจริตถึง 81% โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง เกิดจาการเอื้อประโยชน์-ฮั้วเอกชนในการทำโครงการ รวมถึงกฎหมายเปิดช่อง และการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ล่าช้า ทำให้คนทุจริตไม่เกรงกลัวโดนลงโทษนั้น (อ่านประกอบ : กม.ไม่ชัด-เปิดช่องฮั้วง่าย! งานวิจัย ป.ป.ช. เผยปัจจัยเสี่ยง อปท.ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ศูนย์วิจัยฯ สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นใน อปท. ที่มีการศึกษาทั้ง 5 รูปแบบ ควรให้ความสำคัญกับการบริหารงานบุคคลมากที่สุด เพราะเป็นกระบวนการขั้นแรกของการคัดกรองบุคลากรที่มีความซื่อสัตย์/มีความสามารถ มาทำงานในระบบราชการ เนื่องจากพบว่ามีการทุจริตในการสอบแข่งขัน ซึ่งมีการเรียกรับเงินสูง มีผู้เกี่ยวข้องหลายคน และทำเป็นกระบวนการ ทำให้กระบวนการคัดบรรจุบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดประสิทธิภาพ มีผลให้ได้บุคลากรที่ไม่จิตสำนึกในความซื่อสัตย์สุจริต/ไม่เชื่อในระบบคุณธรรม อันส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่และอาจมีพฤติกรรมเรียกรับผลประโยชน์เป็นลูกโซ่ เพราะต้องการเอาคืนและเห็นว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันอย่างเป็นปกติของระบบราชการ รวมทั้งอาจนำไปสู่การทุจริตอื่น ๆ ด้วย
สำหรับการทุจริตในการบริหารงานบุคคลนั้น ศูนย์วิจัยฯ สำนักงาน ป.ป.ช. อธิบายว่า เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ และมักเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน/กระบวนการของการดำเนินการ ตั้งแต่การออกระเบียบเพื่อการสอบแข่งขัน การกำหนดคุณสมบัติของตำแหน่ง การบรรจุ การแต่งตั้ง การโยกย้าย การจ่ายเงินโบนัส ฯลฯ
จากการศึกษาข้อมูลคดีทุจริต พบว่า คดีทุจริตที่เกิดขึ้นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล ที่มีความถี่เกิดขึ้นมากที่สุดคือ การเรียกรับเงินของผู้มีอำนาจในการบรรจุแต่งตั้ง โอนย้าย การต่อสัญญาจ้าง การประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งมักจะมีผู้ร่วมกระทำการหลายคน ทั้งฝ่ายคนที่ต้องการได้รับการบรรจุแต่งตั้ง คนกลางที่ช่วยติดต่อและเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการบรรจุแต่งตั้ง โดยส่วนใหญ่จะมีการยื่นข้อเสนอผ่านคนกลางและมักจะได้รับการสนองจากผู้ที่ต้องการบรรจุแต่งตั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจบรรจุแต่งตั้งหรือมีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล สามารถใช้ช่องทางเพื่อเรียกรับผลประโยชน์แก่ตนเองหรือพวกพ้องได้ง่าย
การเรียกรับส่วนแบ่งเงินโบนัสจากพนักงาน ลูกจ้าง เพื่อเป็นค่าตอบแทนการอนุมัติเบิกจ่าย โดยผู้บริหารท้องถิ่น ที่มีอำนาจในการอนุมัติเงินโบนัสประจำปี แต่ผู้บริหารท้องถิ่นไม่สามารถรับเงินส่วนนี้ได้ จึงมีการต่อรองกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เพื่อให้ตนเองได้ผลประโยชน์แลกกับการอนุมัติเงินโบนัส นอกจากกรณี ที่กล่าวมาแล้ว ยังพบว่า การทุจริตในการบริหารงานบุคคลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นยังมีหลายรูปแบบ เช่น การละเว้นไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาแต่งตั้งพนักงานให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น การแต่งตั้งพนักงานทั้งที่ขาดคุณสมบัติ/ออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานโดยมิชอบ การจ่ายเงินพนักงานทั้งที่ไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่จริง การเบิกจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการโดยมิชอบ การไม่พิจารณาลงนามในคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนของพนักงานและการไม่ต่อสัญญาจ้างและยกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันควร เป็นต้น
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจในการบริหารงานบุคคลแก่ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากเกินไป โดยให้อำนาจแก่ผู้บริหารท้องถิ่นที่มีที่มาจากการเลือกตั้งในเรื่องของการออกคำสั่งเกี่ยวกับการบรรจุ แต่งตั้ง การย้าย การโอนการรับโอน การเลื่อนระดับ การเลื่อนขึ้นเงินเดือน การสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ถึงแม้ว่าจะมีองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของท้องถิ่นเข้ามากำกับดูแล แต่การจัดโครงสร้างองค์กรกลางที่กำกับดูแล มีจำนวนมากเกินไป โดยมีถึง 3 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) คณะกรรมการข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) และ คณะกรรมการข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จังหวัด)
อำนาจในการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างมากประกอบกับองค์กร ที่ทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่สามารถควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้บริหารท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ ทำให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ตลอดจนประชาชนที่ต้องการทำงานหรือต้องการปรับเปลี่ยนตำแหน่งหรือหน่วยงาน จำต้องแสวงหาช่องทางพิเศษเพื่อให้ตนสมประโยชน์โดยการเสนอให้เงินหรือผลประโยชน์แก่ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นแสวงหาประโยชน์จากอำนาจตามกฎหมายของตนในการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์จากข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างตลอดจนประชาชน รวมถึงทำให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องตกเป็นเครื่องมือของผู้บริหารท้องถิ่นในการกระทำทุจริตอีกด้วย
จากรูปแบบการทุจริตข้างต้นจะเห็นว่า การทุจริตในการบริหารงานบุคคลนั้น พบมากที่สุดในกรณีการเรียกรับเงินของผู้มีอำนาจในการบริหารงานบุคคล เช่น การบรรจุแต่งตั้ง การย้าย การโอนย้าย การต่อสัญญาจ้าง การประเมินผลการปฏิบัติงาน เป็นต้น ซึ่งมักจะมีผู้ร่วมกระทำการหลายคน กรณีการเรียกรับส่วนแบ่งในเงินโบนัสจากพนักงานท้องถิ่นของผู้บริหารที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินดังกล่าว ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่มีการทุจริต
ปัญหาสำคัญของการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น พบว่า การที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจในการบริหารงานบุคคลแก่ผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งมากเกินไป ไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี ดังนั้นคณะผู้วิจัยเห็นว่าหากจะให้การทุจริตในรูปแบบการบริหารงานบุคคลลดลง จำเป็นต้องมีการปรับแก้กฎหมายการบริหารงานบุคคล จัดระบบตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของผู้บริหารท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด รวมถึงปรับแก้โครงสร้างองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งระบบให้สามารถปฏิบัติการตรวจสอบได้อย่างจริงจังและเกิดประโยชน์สูงสุด
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.สอบช้าชนวนคนทุจริตไม่กลัวถูกจับ-โดนโทษ! ผลวิจัยแนะต้องรุกสุ่มตรวจพื้นที่บ้าง
ฮั้ว-เบิกจ่ายก่อนงานเสร็จ! เปิดผลวิจัย ป.ป.ช.พบ อปท.ทุจริตเรื่องงบประมาณมากสุด 81%