ป.ป.ช.สอบช้าชนวนคนทุจริตไม่กลัวถูกจับ-โดนโทษ! ผลวิจัยแนะต้องรุกสุ่มตรวจพื้นที่บ้าง
ป.ป.ช. ตรวจสอบล่าช้าเหตุผลคนทุจริตไม่กลัวต่อการถูกจับ-โดนโทษ! ผลวิจัย ป.ป.ช. แนะต้องทำอย่างรวดเร็ว-ต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่น ทำงานเชิงรุก-สุ่มตรวจพื้นที่มากขึ้น ควรส่งเสริมให้ภาคประชาชนมาตรวจสอบ
จากกรณีศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำโครงการวิจัยเรื่อง รูปแบบการทุจริตและปัจจัยเสี่ยงทีก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยระบุข้อมูลเบื้องต้นว่า การทุจริตใน อปท. ส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารงบประมาณสูงถึง 81% โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง และการเอื้อประโยชน์-ฮั้วเอกชนในการทำโครงการ (อ่านประกอบ : ฮั้ว-เบิกจ่ายก่อนงานเสร็จ! เปิดผลวิจัย ป.ป.ช.พบ อปท.ทุจริตเรื่องงบประมาณมากสุด 81%)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ศูนย์วิจัยฯ สำนักงาน ป.ป.ช. พบปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการกระทำทุจริตหลายประการ เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนปัจจัยเชิงระบบของการกำกับดูแล ได้แก่ ระบบการตรวจสอบภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขาดประสิทธิภาพเท่าที่ควร การขาดการตรวจสอบหรือการควบคุมดูแลการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชา ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยที่ต้องรักษาความสัมพันธ์ส่วนตัวและในหน้าที่การงาน การเข้าสู่ตำแหน่งของนักการเมืองหรือผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งต้องมีการถอนทุนคืน การถูกครอบงำหรือความเกรงกลัวต่ออิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการขาดความรู้ความใจในกฎหมายและกระบวนการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่น
ศูนย์วิจัยฯ สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุด้วยว่า โดยเฉพาะปัจจัยเรื่อง ความล่าช้าในการตรวจสอบการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวต่อการถูกจับได้และบทลงโทษที่จะได้รับ
สำหรับข้อเสนอแนะแก่สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีดังนี้
1) ควรดำเนินการตรวจสอบการทุจริตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อทำให้เกิดความเกรงกลัวและไม่กล้าที่จะทำการทุจริตรวมทั้งเพื่อให้ผู้ที่จะต้องการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนกล่าวหามีความเชื่อมั่นในระบบการปราบปรามการทุจริตมากขึ้น
2) ควรมีการเสริมสร้างองค์ความรู้อื่นที่จำเป็นต่อการไต่สวนคดีทุจริต เช่น ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานโยธา การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าช่วยการทำงาน เป็นต้น รวมทั้งควรพัฒนาเจ้าหน้าที่ด้านปราบปรามการทุจริตให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการทำคดี เพื่อให้สามารถวางแผนการทำงานและทำคดีได้รวดเร็วขึ้น
3) ควรดำเนินงานในลักษณะเชิงรุกหรือเฝ้าระวังการทุจริตที่จะเกิดขึ้นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เช่น การลงพื้นที่เพื่อสุ่มตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสร้างเครือข่ายช่วยตรวจสอบ เป็นต้นซึ่งจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเกรงกลัวต่อการถูกตรวจสอบ ไม่กล้าที่จะทำการที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งเป็นการสกัดกั้นการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
4) ควรส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบติดตามการบริหารงานและการดำเนินงานขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งควรจัดฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้ที่จำเป็นแก่ประชาชนในพื้นที่ เช่น การงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ความรู้เกี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อสังเกตหรือข้อบกพร่องที่เป็นความเสี่ยงต่อการทุจริต เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเป็นข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากความรู้ที่จำเป็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว สำนักงาน ป.ป.ช. ควรให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการร้องเรียนและมาตรการในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าเมื่อแจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูลแล้วจะมีความปลอดภัยจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถูกร้องเรียน โดยการส่งเสริมการคุ้มครองพยานอย่างจริงจัง และให้มีการนำส่งผลการศึกษาวิจัยให้แก่กระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงระบบการตรวจสอบและกำกับดูแล และแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและลดโอกาสการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น