รับ 3 พันล.-จ่าย 1.2 หมื่นล.! ขสมก. ประมาณรายได้ปี’62 ขาดทุนยับ-ชนวนขอกู้เงินเพิ่ม?
“…จากการประมาณการเงินสดรับ-จ่ายดังกล่าว ขสมก. มีเงินสดรับไม่เพียงพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินจากการดำเนินงาน ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นเพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงินอย่างเพียงพอ ขสมก. จึงมีความจำเป็นต้องขอกู้เงินเพื่อสภาพคล่องทางการเงิน และใช้เป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงาน รวมจำนวน 9,217 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2562…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรีกู้เงินกว่า 2.8 พันล้านบาท เพื่อนำไปชำระค่าเชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม และค่าเสริมสภาพคล่องที่ครบกำหนดชำระในงวดแรก เนื่องจากนำรายได้จากการให้บริการ และรายได้อื่น ๆ ไปโปะหนี้เก่าไว้จนหมดแล้ว โดยช่วงกลางเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ ขสมก. เสนอ (อ่านประกอบ : เอาค่าโดยสารโปะหนี้เก่าหมด! เบื้องหลัง ขสมก. ขอกู้ 2.8 พันล.จ่ายเชื้อเพลิง-ซ่อม)
รายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับหนี้สินสะสมของ ขสมก. ที่ถูกระบุไว้ในมติคณะรัฐมนตรีหลายครั้งที่ผ่านมา สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า นับตั้งแต่ก่อตั้ง ขสมก. เมื่อปี 2519 หรือประมาณ 42 ปีก่อน ขสมก. ขาดทุนมาโดยตลอดต่อเนื่อง เบ็ดเสร็จมีหนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาทเศษ และมีหนี้ที่ต้องชำระตามงบประมาณปี 2562 ประมาณ 9 พันล้านบาทเศษ
อย่างไรก็ดีในหนังสือที่ ขสมก. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอนุมัติเงินกู้ก้อนแรก 2.8 พันล้านบาท มีการประมาณรายรับ และรายจ่ายของ ขสมก. ไว้ด้วย โดยเชื่อว่าในงบประมาณปี 2562 ขสมก. จะมีรายจ่ายประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และมีรายรับแค่ 3 พันล้านบาทเศษเท่านั้น ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปให้ทราบ ดังนี้
ขสมก. ประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ประจำปี 2562 ระบุว่า รายงานการเงินสดรับคาดว่าจะได้ประมาณ 3,046 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ค่าโดยสาร 1,007 ล้านบาท เงินอุดหนุนบริการสาธารณะ 1,593 ล้านบาท รายได้อื่น ๆ 445 ล้านบาท
ส่วนรายการเงินสดจ่าย คาดว่าจะจ่ายประมาณ 12,263 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินเดือน ผลประโยชน์ตอบแทน และสวัสดิการ 5,126 ล้านบาท ค่าเชื้อเพลิง 2,887 ล้านบาท ค่าเหมาซ่อมรถยนต์โดยสาร 1,536 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรถตามสัญญา PBC 117 คัน 146 ล้านบาท ค่าเช่าระบบตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติการเดินรถ (GPS) 79 ล้านบาท ค่าเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) 253 ล้านบาท รายจ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าสถานที่ และค่าใช้จ่าย PSO รถร้อน เป็นต้น 2,232 ล้านบาท
ส่วนหนี้สินสะสมของ ขสมก. จำนวน 107,876 ล้านบาท พบว่า เป็นหนี้พันธบัตรเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย 73,812 ล้านบาท หนี้เงินกู้ระยะยาวพร้อมดอกเบี้ย 25,933 ล้านบาท หนี้ค่าเชื้อเพลิง 152 ล้านบาท หนี้ค่าเหมาซ่อม 242 ล้านบาท หนี้กองทุนบำเหน็จบำนาญพนักงาน 4,513 ล้านบาท และหนี้สินอื่น ๆ 3,221 ล้านบาท
ดังนั้นจากการประมาณการเงินสดรับ-จ่ายดังกล่าว ขสมก. มีเงินสดรับไม่เพียงพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินจากการดำเนินงาน ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นเพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงินอย่างเพียงพอ ขสมก. จึงมีความจำเป็นต้องขอกู้เงินเพื่อสภาพคล่องทางการเงิน และใช้เป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงาน รวมจำนวน 9,217 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2562 (ระหว่าง ต.ค. 2561-ก.ย. 2562) โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ในการกู้เงิน
เบื้องต้นกระทรวงการคลัง มีความเห็นว่า เนื่องจาก ขสมก. มีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างต่อเนื่อง มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ จึงประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน อย่างไรก็ดี ขสมก. ยังคงมีความจำเป็นต้องให้บริการเดินรถสาธารณะต่อไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้ใช้บริการขนส่งในเขต กทม. และปริมณฑล จึงเห็นสมควรให้คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติการกู้เงินดังกล่าวของ ขสมก.
กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ได้ทำความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรี และ ขสมก. ด้วยว่า การกู้เงินดังกล่าวต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ต้องทำด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงความคุ้มค่า ความสามารถในการชำระหนี้ การกระจายภาระการชำระหนี้ พร้อมเร่งให้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยเร็ว หาแนวทางการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินอย่างยั่งยืน รวมถึงให้คำนึงถึงภาระของรัฐบาล เพื่อให้ทราบถึงภาระงบประมาณที่รัฐต้องสนับสนุนด้วย
นี่คือสาเหตุที่ว่าทำไม ขสมก. จึงจำเป็นต้องขออนุมัติการกู้เงินเฉพาะช่วงปีงบประมาณ 2562 วงเงินกว่า 9 พันล้านบาทเศษ
แต่สาเหตุสำคัญกว่านั้นคือ ทำไมผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ ขสมก. จึงขาดทุนสะสมบักโกรกรวมถึง 1 แสนล้านบาทเศษ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานอยู่ตรงไหน อย่างไร ยังคงไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน หรือแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวจากฝ่ายบริหารแต่อย่างใด ?
อ่านประกอบ :
โชว์หนังสือ ก.คลัง! เปิด 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้แสนล้าน ขสมก.ชง ครม. รับผิดชอบ
ติดหนี้ 42 ปีคงค้าง 1 แสนล.! ขสมก.ชงขอกู้เงิน3.6พันล.โปะดอกเบี้ย-ก.คลังปฏิเสธ
หมายเหตุ : ภาพประกอบรถเมล์จาก becteroradio.com