ติดหนี้ 42 ปีคงค้าง 1 แสนล.! ขสมก.ชงขอกู้เงิน 3.6 พันล.โปะดอกเบี้ย-ก.คลังปฏิเสธ
เปิดมติ กก.กำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ก.คลัง ชำแหละหนี้ ขสมก. พบคงค้างถึง 1 แสนล้าน ขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งลากยาวมา 42 ปี พบปี’62 ชงขอวงเงินกู้ชำระดอกเบี้ย 3.6 พันล้าน แต่ถูกปฏิเสธ เหตุไม่สอดคล้องวินัยการเงินการคลัง ไม่คุ้มค่า บั่นทอนเสถียรภาพความน่าเชื่อถือ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง รายงานแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ระบุถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้คงค้างขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตอนหนึ่งว่า ขสมก. มีหนี้คงค้างที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 101,421 ล้านบาท เป็นหนี้คงค้าง ณ เดือน มิ.ย. 2561 โดยเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้เพื่อชำระดอกเบี้ยสะสม เพื่อมาชำระดอกเบี้ยเนื่องจากปัญหาการขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มก่อตั้งตาม พ.ร.ก.จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 (ประมาณ 42 ปีที่แล้ว)
ขณะเดียวกัน ขสมก. ได้บรรจุวงเงินกู้เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยในแผนประจำปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 3,641 ล้านบาท เนื่องจากไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 แต่คณะกรรมการฯพิจารณาเงื่อนไขในการกู้เงินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2561 แล้วเห็นว่า การกู้เงินเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยของ ขสมก. ไม่สอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลังตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
การกู้เพื่อชำระดอกเบี้ยของ ขสมก. เป็นการกู้เงินที่ไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางการเงิน สะท้อนถึงการขาดความสามารถในการชำระหนี้ อีกทั้งก่อให้เกิดการกระจุกตัวของการชำระหนี้ในอนาคต และบั่นทอนเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ตลอดจนความน่าเชื่อถือของหน่วยงานผู้กู้และผู้ค้ำประกัน
คณะกรรมการฯจึงเห็นควรไม่บรรจุวงเงินกู้ชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ปี 2562 ของ ขสมก. วงเงิน 3,641 ล้านบาท ในแผนประจำปีงบประมาณ 2562 โดยให้กระทรวงคมนาคม และ ขสมก. และเห็นควรให้กระทรวงคมนาคม และ ขสมก. นำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้รัฐบาลรับภาระหนี้ของ ขสมก. เฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นจริง และให้ ขสมก. ขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบรถเมล์จาก kapook.com