การฟอกเงินและสินบนข้ามชาติ ปัญหาแก้ไม่ตกของไทย
คดีสินบน ‘โรลส์รอยซ์ - ปตท.’ ทำให้เห็นว่า การมีมาตรการต่อต้านการฟอกเงินที่ดีจะทำให้การตรวจจับสินบนข้ามชาติสำเร็จได้มากกว่า แต่วันนี้ประเทศไทยกลับถูกชี้ว่า หน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ต่อต้านการฟอกเงิน 19 แห่งมีระบบและมาตรการต่ำกว่ามาตรฐานสากล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยขาดความสามารถในการปราบคอร์รัปชันและไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
คดีสินบนโรลส์รอยซ์ เกิดขึ้นระหว่างปี 2546 – 2555 จากการที่บริษัทได้อาศัยตัวแทนธุรกิจในประเทศไทยเป็นตัวกลางวิ่งเต้นให้มีการล็อคสเปค ด้วยการเขียน ‘ทีโออาร์’ ให้ตนได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ รวมทั้งทำให้สามารถผูกขาดการค้ากับ ปตท. (PTT) และ ปตท.สผ. (PTTEP) ในระยะยาวรวม 7 โครงการ มีการจ่ายสินบนไปทั้งสิ้นราว 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของมูลค่าสัญญางาน โดยแสดงรายการว่าเป็นการจ่าย ‘ค่านายหน้า’ และ ‘ค่าความร่วมมือด้านวิศวกรรม’ ดังปรากฏหลักฐานในอีเมล์ที่ทั้งสองฝ่ายใช้ติดต่อกัน
แผนชั่วของพวกเขาสำเร็จ!!! แต่ปัญหายุ่งยากของการสมรู้ร่วมคิดครั้งนี้คือ บริษัทต้องจ่ายเงินจำนวนมากให้นายหน้าหลายคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้บริหารหน่วยงานและนักการเมือง
“การจ่ายเงินจึงต้องใช้วิธีที่หลากหลายเพื่อให้เกิดความสับสน ปิดบัง อำพรางแหล่งที่มาของเงิน การนำเงินเข้าบัญชีและนำเงินกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมาย การสร้างรายการทางการเงินให้เป็นไปตามกฎหมายและความต้องการของผู้รับเงิน กระบวนการเหล่านี้จึงเข้าข่ายการฟอกเงิน”
การที่โรลส์รอยซ์มีบริษัทแม่ในประเทศอังกฤษและบริษัทลูกที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเมื่อมาติดสินบนเจ้าหน้าที่ของไทย พวกเขาจึงเป็นความผิดตามกฎหมายของทั้งสองประเทศและของไทยด้วย
เห็นได้ว่าหากประเทศไทยมีการต่อต้านการฟอกเงินที่มีประสิทธิภาพ ย่อมจะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันและสินบนข้ามชาติได้เป็นอย่างดี แต่ ‘องค์กรต่อต้านการฟอกเงินเอเซียแปซิฟิก(APG)’ ระบุว่าประเทศไทยยังไม่ผ่านประเมินการปฏิบัติตามและบังคับใช้มาตรการด้านการฟอกเงินและการต่อต้านทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายตามมาตรฐานสากล
โดยหน่วยงานที่ถูกระบุว่าไม่ผ่านการประเมินนี้มีมากถึง 19 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ดีเอสไอ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กรมศุลกากร สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมการปกครอง กรมการจัดหางาน และองค์กรภาคเอกชนอีก 6 แห่ง
ข้อมูลนี้ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2560 สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน
การต่อต้านการฟอกเงินที่ทันสมัยและมีเป้าหมาย ยังช่วยลดความรุนแรงของปัญหาที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ ทั้งยาเสพติด การก่อการร้าย ผู้ทรงอิทธิพล การค้าของเถื่อน ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ และธุรกิจผิดกฎหมาย
มีคดีสินบนข้ามชาติในประเทศไทยที่ถูกเปิดเผยแล้วหลายคดี อันเป็นผลจากการตรวจสอบลงโทษโดยหน่วยงานของต่างชาติทั้งสิ้น เช่น คดี CTX สินบนอดีตผู้ว่า ททท. สินบนภาษีเหล้า รถเรือดับเพลิง กล้องวงจรปิดรัฐสภา สินบนใบยาสูบ เหมืองทองจากออสเตรเลีย สินบนมิตซูบิชิ - โรงไฟฟ้า
แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ประชาชนคลางแคลงใจและรอวันพิสูจน์ว่าโปร่งใสจริงหรือไม่ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีผู้นำที่มาจากรัฐประหารจนอาจทำให้หลายฝ่ายไม่กล้าตรวจสอบ ทั้งที่เกี่ยวกับการซื้ออาวุธหรือซื้อของที่อ้างเป็นความลับและความมั่นคงของชาติ การซื้อสินค้าเทคโนโลยี่ขั้นสูง การร่วมลงทุนกับเอกชนในโครงการขนาดใหญ่ และเมกะโปรเจคต่างๆ ของรัฐ
ท่านที่สนใจสามารถชมสารคดีเกี่ยวกับสินบนข้ามชาติ ที่ให้ข้อมูลพร้อมมุมมองเจาะลึกรอบด้านได้ในรายการ ‘ติดเครื่องชนโกง’ ทางไทยพีบีเอส ทีวีช่องหมายเลข 3 เช้าวันศุกร์ที่ 26 ต.ค. นี้ เวลา 7:30 น.
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
22 ต.ค. 2561