กม.ไม่ชัด-เปิดช่องฮั้วง่าย! งานวิจัย ป.ป.ช. เผยปัจจัยเสี่ยง อปท.ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง
กฎหมายไม่ชัดเจน-เปิดช่องเอื้อให้มีการฮั้วกับเอกชน! เปิดรายละเอียดผลวิจัย ป.ป.ช. ปัจจัยเสี่ยงทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง แม้ กม.ใหม่บังคับใช้แล้ว แต่ระบุถึงวิธีจัดซื้อเฉพาะเจาะจงตั้งวงเงินสูงมาก ต้องติดตามต่อ
จากกรณีศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำโครงการวิจัยเรื่อง รูปแบบการทุจริตและปัจจัยเสี่ยงทีก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยระบุข้อมูลเบื้องต้นว่า การทุจริตใน อปท. ส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารงบประมาณสูงถึง 81% โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง และการเอื้อประโยชน์-ฮั้วเอกชนในการทำโครงการ โดยปัจจัยเสี่ยงหลักนอกเหนือจากกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตแล้ว ยังเป็นเพราะการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ล่าช้า ทำให้คนทุจริตไม่เกรงกลัวด้วย (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.สอบช้าชนวนคนทุจริตไม่กลัวถูกจับ-โดนโทษ! ผลวิจัยแนะต้องรุกสุ่มตรวจพื้นที่บ้าง, ฮั้ว-เบิกจ่ายก่อนงานเสร็จ! เปิดผลวิจัย ป.ป.ช.พบ อปท.ทุจริตเรื่องงบประมาณมากสุด 81%)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ผลการวิจัยดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ถือว่าเป็นรูปแบบที่ถูกนำไปทุจริตมากที่สุดนั้น พบว่า ข้อเท็จจริงจากการศึกษา และคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิด ระบุว่า การทุจริตเกิดขึ้นทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยรูปแบบการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่พบมากที่สุดอยู่ในขั้นตอนการหาผู้รับจ้าง/ผู้ขาย คือ การปกปิดประกาศสอบราคา/ประกวดราคา การเอื้อประโยชน์หรือกีดกันผู้เสนอราคาบางราย รองลงมาเป็นการทุจริตในขั้นตอนการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้าง ทั้งที่ยังทำงานไม่แล้วเสร็จหรืองานไม่ถูกต้องตามสัญญา
สำหรับการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างเกิดจากเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารท้องถิ่น ได้แก่ เจ้าหน้าที่พัสดุ ผู้ควบคุมงาน ผู้มีอำนาจในการสั่งซื้อหรือจ้าง คณะกรรมการต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานโดยขาดจิตสำนึก ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ได้อาศัยช่องทางในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทำแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต หรือทำการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่มีสายสัมพันธ์และเป็นพวกพ้องของตนเอง เช่น การเลือกผู้ประกอบการที่มีความสัมพันธ์ให้เป็นผู้ได้รับงานทั้งที่เสนอราคาสูงกว่าผู้เสนอราคารายอื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือการกำหนดคุณลักษณะของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้างให้ตรงกับผู้ประกอบการที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกัน เป็นต้น
ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการทุจริตมากที่สุด ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงของการที่จะเกิดการทุจริต นอกจากนี้การทุจริตที่เกิดขึ้นยังเกิดจากความล่าช้าในการตรวจสอบการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ส่งผลให้ผู้กระทำผิดเกิดความไม่เกรงกลัวต่อการถูกจับได้หรือบทลงโทษที่จะได้รับเมื่อกระทำผิด ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อการดำเนินงานด้านการปราบปรามการทุจริตคือ การขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้อื่นที่จำเป็นนอกจากกฎหมาย เพราะบางคดีเป็นคดีทางเทคนิค ที่จำต้องอาศัยความรู้อื่นมาประกอบการไต่สวนข้อเท็จจริง เช่น การตรวจสอบการสร้างถนนคอนกรีตจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับงานโยธา เป็นต้น รวมทั้งระบบการตรวจสอบภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีประสิทธิภาพก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการทุจริตได้เช่นกัน
สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการทุจริตได้ เพราะกฎหมายมีความไม่ชัดเจน รวมทั้งมีการกำหนดกฎเกณฑ์มากเกินไป ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความสับสน อีกทั้งยังมีการกำหนดให้อำนาจแก่ผู้บริหารท้องถิ่น ที่จะสามารถเลือกใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคาหรือวิธีพิเศษได้ ทำให้เป็นช่องทางให้มีการเลือกผู้ประกอบการที่มีความสัมพันธ์กับตนเองหรือเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องได้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย/ระเบียบพัสดุเดิมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แม้ว่าปัจจุบันได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยใช้บังคับกับการจัดหาพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทนระเบียบกฎหมายเดิม เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งกฎหมายพัสดุฉบับใหม่ได้มีการหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินงานที่แตกต่างจากกฎหมายเดิม เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างมีความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้ เช่น การกำหนดวิธีการจัดซื้อสินค้าบางประเภทที่ให้ดำเนินการในระบบ e - market หรือ e – bidding หรือการกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทำแผนการจัดซื้อจัดจ้าง จนถึงการบริหารสัญญา หรือการกำหนดบทลงโทษทางอาญาในกรณีที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีการดำเนินการโดยมิชอบหรือโดยทุจริตซึ่งจะทำให้เกิดความเกรงกลัว เพราะมีบทลงโทษอย่างชัดเจน เป็นต้น
“คณะผู้วิจัยเห็นว่า พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 น่าจะช่วยลดโอกาสการทุจริตได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวเพิ่งมีการประกาศใช้ และยังไม่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต ดังนั้น เมื่อมีการใช้บังคับไประยะเวลาหนึ่ง ควรมีการประเมินผลการใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ ช่องทางที่จะก่อให้เกิดการทุจริต เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อลดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดการทุจริตในการจัดซื้อจัดจัดจ้าง นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับวงเงินการใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งผู้มีอำนาจสามารถจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ในวงเงินสูงสุด 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าวงเงินตามกฎหมายเดิมมาก จึงควรมีการติดตามผลในกรณีดังกล่าวต่อไป” ผลวิจัยดังกล่าว ระบุ