แฉ 5 วิธีเลี่ยงด่านชายแดนใต้ - เล่นง่าย...เทปดำแปะป้าย"จยย.บอมบ์"
มีประเด็นต่อเนื่องจากเหตุรุนแรงที่ชายแดนใต้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ต.ค.61 เป็นเหตุ "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" หรือเรียกง่ายๆ ว่า "จยย.บอมบ์" คนร้ายใช้โจมตีรถตำรวจ สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทำให้มีตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายนาย
"มอเตอร์ไซค์บอมบ์" ลูกนี้ มีเบื้องหลังมากกว่าที่เห็น และสะท้อนถึงวิธีการทำงานของกลุ่มก่อความไม่สงบ กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้อย่างแจ่มชัด
แม้อานุภาพของระเบิดที่คาดว่ามีน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม ทำให้รถพังยับเยิน แต่จากเลขเครื่อง และเลขตัวรถทำให้ทราบสภาพเดิมๆ ของรถคันนี้ได้ เป็นรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นคลิก-ไอ สีขาวสลับน้ำตาล ที่น่าเศร้าก็คือเป็นรถของ นางนิตยา และ ด.ญ.อัจฉริยา แก่นเรือง สองแม่ลูกที่ถูกประกบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ส.ค.61 ก่อนวันแม่เพียง 1 วัน ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส โดย ด.ญ.อัจฉริยา ที่ต้องสังเวยชีวิตด้วยนั้น อายุเพียง 13 ปี หลังก่อเหตุคนร้ายได้ชิงรถจักรยานยนต์ของสองแม่ลูกไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ติดตามค้นหาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่พบแม้เงา
รถจักรยานยนต์คันนี้ ป้ายทะเบียนเดิมหมายเลข ขตท 329 นราธิวาส ถูกขึ้นบัญชี "รถเฝ้าระวัง" ของ จ.นราธิวาส รถคันนี้หายสาบสูญไปนานกว่า 2 เดือน จึงโผล่กลับมาเป็น "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" ที่ อ.รือเสาะ โดยป้ายทะเบียนที่พบตกอยู่ในที่เกิดเหตุ คือ ขตท 828 นราธิวาส
ป้ายนี้ไม่ใช่ป้ายปลอม เพราะเมื่อส่องดูแบบละเอียด ก็จะพบว่าคนร้ายใช้เพียงสติ๊กเกอร์ หรือเทปพันสายไฟสีดำ แปะดัดแปลงตัวเลขป้ายทะเบียนจาก 329 เป็น 828 อย่างง่ายๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจด่านสกัดต่างๆ
นี่คือยุทธวิธีง่ายๆ ที่กลุ่มคนร้ายนำมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีกำลังพลอยู่ในพื้นที่เกือบ 40,000 นาย มีด่านตรวจด่านสกัดที่เป็น "ด่านถาวร" มีเจ้าหน้าที่ประจำ มากถึง 66 ด่าน กระจายอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่นับรวม "ด่านลอย" หรือ "ด่านทางยุทธวิธี" คือไปตั้งด่านตรงจุดที่ไม่เคยตั้งมาก่อน หรือไม่ก็พวก "ด่านชะลอรถ" ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้า ซึ่งมีอีกมากมายนับไม่ถ้วน
ปัจจุบัน ด่านตรวจทุกด่านจะมีข้อมูลรถยนต์และรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยที่เรียกว่า "รถเฝ้าระวัง" บ้างก็ติดตั้งเป็นป้ายขนาดใหญ่ บ้างก็ทำเป็นเอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ประจำด่าน ซึ่งทั้งหมดเป็นรถที่ถูกโจรกรรม หรือไม่ก็ถูกชิงไปหลังก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ข้อมูล "รถเฝ้าระวัง" จะมีรูปถ่ายจริงของรถ ข้อมูลเกี่ยวกับรถ ทั้งสี ป้ายทะเบียน ชื่อผู้ครอบครอง และคดีต้นทางที่รถถูกชิงไป รวมทั้งพฤติกรรมของคนร้ายในคดีนั้นด้วย โดยแยกเป็นรายพื้นที่ รายจังหวัดอย่างชัดเจน
แต่ข้อมูลเหล่านี้ดูจะไม่เพียงพอสำหรับสกัดกั้นรถต้องสงสัย เพราะที่ผ่านมามีการจับกุมตามด่านตรวจด่านสกัดได้น้อยมาก โดยวิธีการที่คนร้ายใช้หลบเลี่ยง ก็เช่น
1.มีรถของคนในขบวนการขับนำไปก่อน เรียกว่า "ฝ่ายโลจิสติกส์" เพื่อเสาะหาเส้นทางปลอดภัย ปลอดจากด่านเจ้าหน้าที่
2.เปลี่ยนสลับป้ายทะเบียนระหว่างรถที่ถูกโจรกรรมด้วยกัน แต่ข้ามจังหวัด เพราะข้อมูลรถเฝ้าระวังที่เจ้าหน้าที่จัดทำ จะแยกเป็นจังหวัดๆ เช่น นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ด่านตรวจอยู่ในพื้นที่ไหน ก็จะเฝ้าระวังรถในพื้นที่นั้นๆ เป็นหลัก คนร้ายรู้ทันก็เลยสลับป้ายทะเบียนข้ามจังหวัด แล้วนำมาก่อเหตุ ซึ่งมีหลายครั้งเป็นแบบนี้
3.ทำป้ายทะเบียนปลอมขึ้นมา
4.ดัดแปลงป้ายทะเบียน เหมือนเคสล่าสุดที่ อ.รือเสาะ แต่เล่นง่ายแค่นำเทปพันสายไฟสีดำมาแปะแก้ตัวเลขกันเลยทีเดียว
และ 5.นำรถที่โจรกรรมได้ไปก่อเหตุทันที ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะขึ้นทะเบียนเป็นรถเฝ้าระวัง
ยิ่งไปกว่านั้น หลายๆ ครั้งคนร้ายก็นำ "รถเฝ้าระวัง" ไปก่อเหตุโดยไม่มีการปรับแต่งหรือเปลี่ยนป้ายทะเบียนเลยด้วยซ้ำ สะท้อนให้เห็นว่าระบบด่านตรวจด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถคัดกรอง "รถต้องสงสัย" หรือ "รถเฝ้าระวัง ได้จริง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตรวจไม่ละเอียด และไม่รอบคอบพอ
แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเวลาตั้งด่าน ชาวบ้านทั่วไปที่เป็นคนบริสุทธิ์ คนค้าขาย ก็จะเดือดร้อนไปด้วย ยิ่งถ้าตรวจนาน ตรวจละเอียด คนดีๆ ก็จะเสียเวลา กลายเป็นแรงกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่มีระบบข้อมูลและการแจ้งเตือนที่ดีพอสมควร
หลายปีก่อน ฝ่ายความมั่นคงเคยมีไอเดียติดบาร์โค้ดรถมอเตอร์ไซค์ทุกคันที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้เครื่องสแกนตรวจรายละเอียดของรถได้ทุกมิติ สกัดรถโจรกรรมได้ และบังคับทางอ้อมให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถรักษารถของตนเอง ไม่ให้บุคคลอื่นยืมไปใช้ เพราะที่ผ่านมาคนร้ายเคยใช้วิธียืมรถถูกกฎหมายของเพื่อนหรือญาติ ไปสนับสนุนการก่ออาชญากรรม เช่น เป็นฝ่ายโลจิสติกส์ หรือขนระเบิดและอาวุธปืน เนื่องจากไม่ตกเป็นเป้าการตรวจของเจ้าหน้าที่
แต่มาตรการนี้ก็ถูกสร้างกระแสต่อต้าน (อย่างเป็นระบบ) จนฝ่ายความมั่นคงต้องเลิกล้มโครงการ...
สุดท้ายก็กลายเป็นช่องโหว่ให้คนร้ายใช้รถโจรกรรม หรือ "รถเฝ้าระวัง" ไปก่อเหตุได้เรื่อยๆ เหมือนเดิม!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ข้อมูล "รถเฝ้าระวัง" จากคดีฆ่าสองแม่ลูกที่ถูกนำไปทำเป็นมอเตอร์ไซค์บอมบ์ โดยคนร้ายดัดแปลงตัวเลขบนป้ายทะเบียนให้ต่างจากเดิม
อ่านประกอบ :
แฉคนร้ายดัดแปลงป้าย "จยย.บอมบ์" เหตุฆ่าสองแม่ลูก ก่อนโจมตีตำรวจ
ขึ้นทะเบียน"รถยนต์-จยย."วุ่นหนัก ชาวบ้านร้องรถติดสติ๊กเกอร์ทหารถูกทุบ-กรีดเบาะ
รัฐเร่งหามาตรการดูแลชาวบ้าน หลังรถติดสติ๊กเกอร์ทหารเจอกลุ่มป่วนตามกรีด